ถ้าเชื่อว่าคุณค่าและความงามของ ‘ธรรมชาติ’ หมายถึงความแตกต่าง คุณก็น่าจะดื่มด่ำกับท้องฟ้าและสายฝนเดือนกรกฎาคมที่เหมือนตกมาร่วมเฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจถึงความหลากหลายทางเพศไปพร้อมกับบรรยากาศงาน THE STANDARD POP Talk Our Pride #แตกต่างเหมือนกัน ทอล์กสุดอบอุ่นจาก 6 สปีกเกอร์ที่ทำให้เราเข้าใจความแตกต่างมากขึ้น
อ๊อฟ-นพณัช ชัยวิมล ผู้กำกับซีรีส์ที่โดดเด่นสุดกับผลงานที่ถ่ายทอดเรื่องราว ‘สาย Y’ อาทิ GAY OK BANGKOK, Bangkok รัก Stories และ เขามาเชงเม้งข้างๆ หลุมผมครับ ฯลฯ ที่ก้าวขึ้นเวทีมาพร้อมกับการแชร์ประสบการณ์เรียนรู้ เติบโต เข้าใจ สู่บทสรุปที่ต้องการจะนำประสบการณ์ต่างๆ มาแชร์ลงในซีรีส์ ซึ่งนอกจากความบันเทิง มันได้ถ่ายทอดถึงความเข้าอกเข้าใจ
“ความหลากหลายทางเพศสำคัญกับเราอย่างไร” คือคำถามแรกที่อ๊อฟนั่งคิดหลังจากได้รับโจทย์จาก THE STANDARD POP หลังจากนั้น อ๊อฟ-นพณัช ชัยวิมล ได้ก้าวขึ้นเวทีมาพร้อมกับการแชร์ประสบการณ์เรียนรู้ เติบโต เข้าใจ สู่บทสรุปที่ต้องการจะนำประสบการณ์ต่างๆ มาแชร์ลงในซีรีส์ ซึ่งนอกจากความบันเทิง มันได้ถ่ายทอดถึงความเข้าอกเข้าใจ
“เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า ความหลากหลายทางเพศนี้มันสำคัญกับเราอย่างไรบ้าง แล้วเราก็เจอคำตอบที่ว่ามันสำคัญมาก เพราะเราโตมากับความไม่หลากหลาย, ในทีวีเราไม่มีแม่แบบอะไรให้เราดูเลย เราโตมากับ โหน่ง วสันต์, ม้า อรนภา, คุณแม่เจินเจิน เราก็เลยซึมซับกับตัวละครแค่นี้มา”
ขณะเดียวกัน เมื่อเขาเติบโตและเริ่มเรียนรู้จักเพศสภาพจากภายในจิตใจของตนเองเขาก็ได้พบถึงสิ่งที่หลากหลายกว่านั้นว่า
“เราไม่ได้อยากแต่งหญิง เราไม่ได้อยากกรี๊ดกร๊าด แต่เราโดนจับไปอยู่กลุ่มตุ๊ดตลอดตอนทำกีฬาสี เพราะเราไม่มีไอดอลให้เราเรียนรู้ได้เลย” แต่หนึ่งในจุดเปลี่ยนที่สำคัญก็เกิดขึ้นเพราะผลงานการแสดงของพี่ชาย ชาตโยดม จากละคร รักเล่ห์เพทุบาย ซึ่งช่วยปลุกและปลูกทัศนคติต่อเพศสภาพของตัวเอง
“ตอนที่เจอพี่ชาย ชาตโยดม ในเวอร์ชันการแสดงที่เป็นเกย์ที่เท่และภูมิใจในความเป็นเกย์ ผมพบแล้วว่านี่คือไอดอลคนใหม่ นั่นเป็นจุดเริ่มต้น เราต้องเชื่อว่าเรามีความรักที่ดีได้ก่อน ไม่ว่าเราจะเป็นเพศอะไร เราถูกปลูกฝังมาว่าเราไม่มีความหวังในความรัก แต่เราต้องเชื่อก่อนว่าเรามีได้”
จนเมื่อเติบโตขึ้นและได้เข้ามาในแวดวงบันเทิง อ๊อฟเปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้ สงสัย เติบโต จนแชร์ออกมาในผลงานการกำกับซีรีส์ของตัวเองได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะกับซีรีส์เรื่องล่าสุด ‘เขามาเชงเม้งข้างๆ หลุมผมครับ’ ที่เขาเปิดประสบการณ์เบื้องหลังให้ฟังว่า ในช่วงทำบทเขาจะทำอย่างไรให้ซีนที่เด็กผู้ชายคนหนึ่ง ‘ต้องสารภาพเรื่องเพศสภาพของตัวเองกับแม่’ ให้ออกมาจริงที่สุด ช่วงทำบทเขาก็เลยตัดสินใจสารภาพกับแม่ในวัย 38 ปี แล้วไดอะล็อกที่แม่บอกกับเขานี่เองก็ได้กลายเป็นสิ่งพิเศษที่อันล็อกอะไรบางอย่างในจิตใจเขา
“เราเกิดการ Coming Out กับแม่ในวัย 38 ปี เหมือนฉากในหนัง แม่ก็บอกว่า เราจะเป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนที่มีความสุขก็พอ เราจะดีเพราะเราดีได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่เพราะเราต้องพิสูจน์ตัวเองให้คนอื่น เพราะเราเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับคนอื่นเหมือนกัน
“สิ่งเหล่านี้ทั้งกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกและเปิดความภาพภูมิใจให้กับตัวเขาเองว่า เราจะส่งต่อความหลากหลายนี้ให้กับคนอื่น เพราะเมื่อตัดเรื่องเพศออกไปแล้ว ก็เหลือเรื่องของความรัก ความรักเป็นสากล และมันมากกว่าแค่การตัดสินว่าใครเป็นเพศไหน”
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า