×

เมื่อทหารมองทหาร ผ่านประสบการณ์ของ พล.ท. พงศกร กับอนาคตการเมืองไทย

05.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • พล.ท. พงศกร ในฐานะทหารมองว่า ที่ผ่านมาทหารกำลังทำในสิ่งที่ตนเองไม่ถนัด ควรแก้ปัญหาโดยเร็วแล้วกลับออกไป และหากใช้วิธีคิดแบบทหารก็จะไม่ต้องเข้ามาในสนามการเมือง แต่แม้จะมีพลังที่อยากสืบต่อ แต่ ‘ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามก็จะอยู่ที่นั่น’
  • พรรคทหารจะไม่ง่าย การอยู่ยาวจะมีอุปสรรคจากพรรคการเมือง เพราะ พรรคการเมืองนั่นเองที่จะเป็นฝ่ายไม่ยอมไปด้วย
  • เมื่อมีการปลดล็อกทางการเมือง ประชาชนก็ต้องตื่นตัว เดินหน้าศึกษากติกา หาความรู้ต่อ เพราะท้ายที่สุดนั่นคือการปลดล็อกประเทศไทยที่แท้จริง

เมื่อเอ่ยถึง ‘กองทัพ’ หรือ ‘ทหาร’ ดูเหมือนความสนใจจะถูกพุ่งตรงไปที่ภาวะของ ‘อำนาจ’ พร้อมๆ กันอยู่เสมอ เนื่องด้วยภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา บุคคลในสถาบันดังกล่าวมีบทบาทอย่างยิ่งต่อเส้นทาง ‘ประชาธิปไตย’ ของประเทศและประชาชนมาโดยตลอด

 

และแน่นอนว่าบทบาทดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามมากมายเช่นกัน ขณะที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ได้บันทึกบทเรียนถึงการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของเหตุการณ์ที่มี ‘ทหาร’ เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาด้วย ไม่ว่าประวัติศาสตร์เหล่านั้นฝ่ายใดจะเป็นผู้เขียนก็ตาม

 

THE STANDARD จับเข่าคุยกับ พล.ท. พงศกร รอดชมภู ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับสูงว่า ในฐานะทหารอาชีพ มองบทบาทของทหารต่อการเมืองไทย ทั้งที่ผ่านมาและในบรรยากาศปัจจุบัน รวมถึงอนาคตอย่างไร ขอย้ำว่าในห้วงเวลานี้ ภาพสะท้อนที่ชัดเจนจากคนในที่มองคนในด้วยกันเองเป็นเรื่องชวนติดตามอย่างยิ่ง

 

 

หากให้มอง 3 ปีที่ผ่านมาของภารกิจที่มี ‘ทหาร’ เป็นผู้นำ คิดว่าเป็นอย่างไร?

ปัญหาก็คือว่า 3 ปีที่ผ่านมาทหารทำสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด ทหารเราถูกฝึกมาให้ทำตามคำสั่ง แล้วก็จะมีภารกิจจำกัด ลักษณะทหารทั่วไปก็คือต้องเข้าเร็วออกเร็ว แปลว่าเมื่อเข้ามาทำงานต้องรีบแก้ปัญหาแล้วก็กลับเลย นั่นคือลักษณะของทหาร

 

เมื่อเข้ามาทำสิ่งที่ไม่ถนัด การสั่งการ การดำเนินการต่างๆ ในการบริหารจัดการ ยิ่งเป็นเรื่องบริหารบ้านเมือง เมื่อเป็นลักษณะของทหาร นี่จึงเป็นจุดอ่อนของระบบทหาร ไปพร้อมกันด้วย

 

ดังนั้น 3 ปีที่ผ่านมาเราก็คงเห็นได้ว่าเป็นเรื่องของการรักษาความสงบ ทุกอย่างสงบ แต่ว่าความรู้สึกในการที่จะสร้างการแข่งขัน การสร้างความน่าเชื่อถือของตัวรัฐบาล มันไม่ดึงดูดให้มีการลงทุนของต่างประเทศอยู่แล้วโดยธรรมชาติ อันนี้เป็นข้อจำกัดที่เรารู้อยู่แล้ว มันเลยมี 2 ตัวก็คือ ต่างประเทศก็ไม่เข้า ตัวเองก็บริหารไม่ได้เต็มที่ เพราะความไม่ถนัด เมื่อใช้เวลานานๆ ประเทศก็จะมีปัญหาเรื่องของการเจริญเติบโต

 

 

ที่ผ่านมารัฐบาลก็มีความพยายามในการแก้ปัญหาเหมือนกันไม่ใช่หรือ?

เราจะเห็นว่าการแก้ปัญหาต่างๆ มันไม่สอดคล้องกับการเป็นการเมือง การเมืองต้องบาลานซ์ระหว่างคนมีกับคนไม่มีตลอดเวลา กระจายรายได้บ้าง เพื่อจะผลักดัน เพื่อให้ชาติไปพร้อมๆ กัน ทีนี้เราก็โทษใครไม่ได้ ในเมื่อมีคนอยากให้ทหารเข้ามาบริหารประเทศ ทหารก็บริหารให้ นี่คือ 3 ปีที่ผ่านมา

 

แล้วแบบนี้จะมองไปข้างหน้าอย่างไร?

โดยปกติเมื่อทหารอยู่ในตำแหน่งก็ต้องอยากที่จะต่ออายุราชการไปเรื่อยๆ เป็นธรรมดา ดังนั้นเราก็จะเห็นความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจ ปัญหาคือจะต่อได้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

ถามว่าจะสืบทอดอำนาจได้อย่างไร การสืบทอดอำนาจทำได้อย่างเดียว ถ้าคุณมี พรรคการเมืองที่สนับสนุนทหาร หรือ ส.ว. ที่คุณแต่งตั้งเอง ปัญหาคือใครแต่งตั้ง ส.ว. ในนั้นเขียนว่า คสช. เป็นคนแต่งตั้ง ซึ่งอาจไม่จริงก็ได้เมื่อถึงเวลา หรือไม่รู้ใครเป็นใคร หรือว่ามี stakeholder คสช. สามารถคุมเองได้หมดหรือเปล่า

 

 

พรรคทหาร กับ 2 พรรคใหญ่จะไปต่ออย่างไร?

ตอนนี้เรารู้อยู่แล้วว่าพรรคการเมืองพรรคใหญ่มี 2 พรรค ตัวเลขที่ชัดๆ ก็คือ พรรคเพื่อไทย ต้องมาอย่างน้อย 200 บวก พรรคประชาธิปัตย์ 150 ประมาณนี้ ดังนั้นถ้าพรรคเพื่อไทยสามารถจับมือกับพรรคกลางๆ ที่มีประมาณ 100 เสียง ถ้าจับได้คือจบเลย อย่างนั้นสืบทอดอำนาจไม่ได้

 

หรือถ้าพรรคเพื่อไทยเกิดจับพลัดจับผลูได้ 240 หาพรรคเล็กๆ สัก 15 เสียง จบแล้วเหมือนกัน เพราะว่าถ้าตัวเลข 250+1 นี่คือตัวเลขชี้ขาดในระดับสภาล่าง ถ้าสภาล่างได้ตัวเลขนี้ ส.ว. ไม่เกี่ยว พรรคการเมืองเขาแต่งตั้งรัฐบาลเอง ซึ่งโอกาสที่จะมี ‘นายกฯ คนนอก’ ก็ต้องมีปัจจัยพิเศษ แต่ทหารในระบบปกติจะสนับสนุนไหม

 

เสียงตอนนี้ โอกาสที่จะมีคนนอกเข้ามาค่อนข้างยาก เมื่อได้ 200 กว่า รับรองว่าพรรคการเมืองทุกพรรคที่เป็นพรรคเล็กวิ่งหาหมด

 

ถ้ามองกลับกัน สมมติว่าพรรคประชาธิปัตย์อยากตั้งรัฐบาล มี 150 เสียง คุณต้องหาอีกประมาณ 100 เสียง เป็นพรรคเล็กพรรคน้อย 250 นี่ไม่พอนะ

 

ต่อไปคือ พรรคทหาร ถามว่าหาเสียงจากที่ไหน สมมติว่าพรรคทหารนี่เขาไปลงที่กาฬสินธุ์บ้าง ขอนแก่นบ้าง แต่สุดท้ายก็ต้องมาแย่งกันที่ภาคใต้ ซึ่งจะทำให้ฐานเสียงประชาธิปัตย์ลดลงอีก

 

ฐานประชาชนที่สนับสนุนพรรคทหารกับพรรคการเมืองใหญ่คือกลุ่มใกล้เคียงกัน?

เราก็รู้กันว่าภาคใต้คือฐานเสียงใหญ่ของประชาธิปัตย์ ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับมวลชนส่วนใหญ่ทางภาคใต้ก็สนับสนุนรัฐบาลนี้ ดังนั้นมันยากที่จะไปเอาเสียงจากภาคอื่น ดังนั้นมีภาคกลางนิดหน่อย ผมเดาว่าก็ไม่ซีเรียส พอเป็นอย่างนี้ตัวเลขภาคใต้มีอยู่มากสุด 50-60 คนเท่านั้นเอง จะไปดึงกันมาอย่างไร ทำให้เสียงประชาธิปัตย์ลดลงไปอีกนะ ดังนั้นในแง่หนึ่งผมมองว่าประชาธิปัตย์อาจไม่สบายใจ

 

 

แสดงว่าสืบทอดอำนาจผ่าน ‘พรรคทหาร’ ไม่ง่าย?

จะเห็นได้ว่าที่อยู่ดีๆ จะสืบทอดอำนาจมันไม่ง่าย พรรคการเมืองไม่ยอม สังเกตว่า พรรคการเมืองคุณจะปลดล็อกไม่ปลดล็อกเขาเฉยๆ เพราะเขารู้หมดแล้วเสียงเขามีเท่าไร ทุกคนรู้หมด เพราะประชาชนเปลี่ยนแล้ว เหมือนอเมริกาตอนนี้มีรัฐที่เป็นรีพับลิกัน รัฐที่เป็นเดโมแครต สวิงสเตทนี่ไม่เท่าไร ก็ไปสู้ตรงนั้น ดังนั้นประเทศไทยก็เหมือนกัน จังหวัดที่จะสวิงมี จังหวัดที่ชัดเจนมี ดังนั้นตัวเลขเนี่ยมันสวิงไม่เกิน 30-40 เสียงของแต่ละพรรค

 

ในฐานะทหาร มองว่าทำไมที่ผ่านมาทหารต้องมีความคิดที่อยากอยู่ต่อ?

ในมุมของทหารมันมี 2 อย่าง หลักการทั่วไปมาเร็วและออกเร็ว อันนั้นคือหลักการที่ถูกต้อง แต่เข้ามาถ้าคุณอยากอยู่ต่อคือ position เป็นเรื่องมีผลประโยชน์ บารมี ชื่อเสียง อะไรก็แล้วแต่ที่ทุกคนชอบ แต่ถ้าไม่ติดยึดและไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่ง คุณออกได้เลย แต่ถ้าทำอะไรคุณต้องหวังอนาคต เช่น สมมติปัจจุบันคุณทำอะไรที่ไม่อยากให้ใครรู้ คุณต้องมีทายาทเพื่อมาดูแล

 

พูดตามหลักการทั่วไป คนที่อยากสืบทอดอำนาจก็ต้องมีอะไรบางอย่าง ซึ่งอยากได้คนมาดูแลไปสักระยะหนึ่งก่อนที่ตัวเองจะหายไป การที่เขามาเป็นรัฐบาลจากการรัฐประหารมันก็ต้องมีการย้ายคนบ้าง ทำอะไรกับคนไว้เยอะๆ ธุรกิจอาจจะปั่นป่วน มีคนได้คนเสีย ดังนั้นความไม่มั่นใจที่ตามมาก็มี ทำให้รู้สึกว่าถ้าได้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสักรอบหนึ่งแล้วก็ค่อยเลิกมันลงจอดได้สวย เป็นความคิดทั่วๆ ไป

 

ต่อมาก็คือว่า มีลักษณะเสพติดอำนาจ ชอบที่จะอยู่นาน แต่ทหารทั่วไปคือแก้ปัญหาแล้วออกเลย เพราะคุณไม่ถนัดการเมือง ไม่ใช่หน้าที่ของคุณ ถ้าจะสืบทอดอำนาจไม่ง่าย มีปัญหาเยอะแยะเต็มไปหมด แล้วทหารทั่วไปเป็นอย่างไร จะสนใจการสืบทอดอำนาจหรือไม่

 

 

แต่ก็มีประชาชนที่เห็นว่าการบริหารบ้านเมืองทำได้ดี ถ้าอยู่ต่อก็ไม่มีปัญหาอะไร?

คืออันนี้มันก็เป็นความคิดของตัวเอง เวลาที่เราจะดูดาราเนี่ยนะ ดาราทุกคนก็บอกว่าตัวเองเหมาะบทนั้นบทนี้ แต่จะเหมาะไหมก็อยู่ที่ผู้กำกับหรือคนดู ถ้าพูดกันในทางประชาธิปไตย พูดกันในทางการเมือง หากมั่นใจว่าคุณแน่จริง ก็ต้องลงเลือกตั้งให้ประชาชนตัดสินดีกว่า “กล้าหรือเปล่า”

 

นี่ไง เหมือนมีความพยายาม กำลังฟอร์มพรรคการเมือง?

ก็เนี่ย (สวนทันที) คุณบอกว่าคุณไม่ลง แต่ฟอร์มพรรคทหาร ซึ่งไม่อาจเป็นตัวแทนจริงๆ ได้ เพราะประชาชนไม่รู้ว่าใครคือตัวจริง

 

แต่งตัวรอเป็น ‘นายกฯ คนนอก’?

แปลว่าไม่แน่จริงนี่ ที่บอกว่าสงบเรียบร้อย เจริญรุ่งเรือง คุณเองยังไม่เชื่อตัวเองแล้วคุณจะให้คนอื่นเชื่อได้อย่างไร ถ้าคุณเชื่อนะ ลงเลย เชื่อโพล 99% ทุกคนรัก

 

ก่อนหน้านี้ มีความพยายามอธิบายว่า ‘ไม่ใช่นักการเมือง’?

ต้องถามก่อน คุณรับเงินเดือนรับเท่านักการเมืองหรือเปล่า เวลาคุณติ๊กใบรับเงิน ข้าราชการการเมือง คุณคือนักการเมือง คนที่ exercise ที่ปฏิบัติงานตามกรอบรัฐธรรมนูญ ตามโครงสร้างทั้งหลาย คือนักการเมืองทั้งนั้น การเมืองก็คือการใช้อำนาจ ใช้พาวเวอร์ อำนาจอธิปไตย

 

ประกาศไม่มีคอร์รัปชันแบบนักการเมือง?

เห็นภาพเขาเอามือปิดหน้าไหม แก้ปัญหาตามกระบวนการตรงนี้ให้ได้ก่อน

 

 

โครงสร้างทางการเมืองบ้านเรามีปัญหาตรงไหน?

ถามก่อน คนกวักมือคือใคร คนส่วนใหญ่หรือส่วนน้อย แล้วกล้าเลือกตั้งไหม ไม่ใช่ผมบอกว่าอะไรก็จะลากไปเลือกตั้ง แต่มันก็ต้องมีวิธีการให้คนร่วมกันเลือกและตัดสินใจ

 

ทหารมองทหารด้วยกันแบบนี้ ผิดธรรมเนียมหรือเปล่า?

ทหารต้องอยู่เพื่อปกป้องประชาชน เรื่องระบบเกียรติศักดิ์ คุณจะต้องไม่โกหก ไม่ลักขโมย ไม่โกง 3 เรื่องนี้สำคัญมากต่อทหารอาชีพ และคุณต้องไม่อดทนต่อเรื่องแบบนี้ เมื่อคุณยืนบน 3 เรื่องนี้แล้วคุณไปทำเรื่องโกง เรื่องเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ คุณจะเสียคน เพราะเขาตั้งเป้าไว้แล้ว ทหารต้องเป็นคนซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา

 

ทหารที่มองว่าทหารไม่ควรยุ่งการเมืองล่ะ?

มีเยอะ ก็คือมนุษย์ปกติ เยอะมาก แต่เขาอาจไม่มีอำนาจไง

 

โครงสร้างแบบบูรพาพยัคฆ์ วงศ์เทวัญ ทำไมถึงเติบโตได้ในกองทัพ?

ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ควร ควรพูดกันที่ความสามารถมากกว่า

 

ทำอย่างไรให้ทหารไม่เข้ามายุ่งการเมือง?

แก้ไม่ยาก เพราะทหารมีวินัย ปัญหาก็คือฝ่ายการเมืองที่เข้ามาในอนาคตต้องมองเรื่องปฏิรูปทหารเหมือนกัน แม้จะยากแต่ทุกสถาบันก็เหมือนจะพูดถึงการปฏิรูปทหาร เราก็อยากเห็น

 

จะยากไหม?

ไม่ยาก ทหารมีวินัย บอกให้ทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ต้องแก้กฎหมาย แต่ทุกวันนี้เนี่ยไม่กล้าแก้ เพราะกลัวเขายึดอำนาจ แต่ที่สุดก็โดนยึดอำนาจ

 

 

ในมุมทหารที่มองทหารด้วยกันเอง บทบาทในเชิงอำนาจแบบนี้ควรยุติอย่างไร?

คือคุณทำหน้าที่ทหารให้ดีที่สุด ทหารที่ดีที่สุดเมื่อเดินไปคุณต้องรู้เลยว่าเป็นสถานที่ที่คุณต้องตั้งรับตรงไหน คุณตั้งโจมตีตรงไหน คือคิดอยู่ตลอดเวลาเองอย่างนี้ เรื่องของกลยุทธ์ ซูนวู ฯลฯ ทำหน้าที่แบบทหาร ทหารคิดแบบทหารแล้วจะจบ

 

คิดแบบทหารแล้วจะจบ คิดแบบทหารคืออะไร ขยายความหน่อย?

คิดแบบทหารก็คือ หน้าที่ของทหารคืออะไร ต้องรู้กลยุทธ์ ยุทธศาสตร์ จะทำอย่างไร ต้องฝึกให้ชำนาญมากๆ เพียงพอ ก่อนสถานการณ์ก็มาดูว่าจะเตรียมกำลังพลอย่างไร เตรียมอุปกรณ์อย่างไรที่จะเตรียมการป้องกันประเทศตามมิติความมั่นคงใหม่ๆ ที่มันเกิดขึ้น

 

เมื่อทหารมาแตะเรื่องอำนาจจะเกิดอะไรขึ้น?

พอทหารมาแตะเรื่องอำนาจ ตัวองค์กรก็ถูกมองเป็นปัญหา ซึ่งไม่ควร ถ้าประชาชนไม่ไว้วางใจทหารจะลำบาก และสิ่งที่ไม่ควรก็คือ ห้ามใช้ปฏิบัติการจิตวิทยาข่าวสาร (IO) กับประชาชนตัวเอง เพราะผิดหลักการ

 

ทหารต้องพูดตรงๆ กับประชาชนตัวเอง หากคุณเป็นโฆษกกลาโหม โฆษกอะไรก็แล้วแต่ ต้องพูดความจริงทั้งหมด ทหารห้ามพูดโกหก

 

 

แล้ววิธีของทหารเอามาใช้กับพลเรือนจะเป็นอย่างไร?

เอาหลักการทางทหารก่อนนะ หลักการทางทหารเขาจะเขียนเลยว่า ทำกับประชาชนทำอย่างไร กับศัตรูคุณสามารถพูดโกหกได้ บิดเบือนได้ เพื่อที่จะหาทางเอาชนะได้  ที่เรียกว่าการหลอก แต่ประชาชนทำไม่ได้ เพราะประชาชนต้องไว้ใจในตัวคุณ

 

ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ต้องคิดอย่างนี้ก่อนนะ เพราะประชาชนไม่ใช่พลทหาร แล้วก็ไม่มีสิทธิไปว้ากประชาชน ทหารที่ดีไม่ทำอย่างนี้ เขามีหลักสูตรอยู่ วิธีพูดกับ ประชาชน แม้กับพลทหารเอง คุณไปด่าเขาไม่ได้ คุณพูดเล่นได้ แต่ว่าก็มีขอบเขตอยู่

 

ถามแบบคณิตศาสตร์ผ่านแผนยุทธศาสตร์ พลังแบบนี้จะยังอยู่ไปอีก 20 ปีไหม?

อันนั้นเป็นความพยายาม และความพยายามอยู่ที่ไหนความพยายามก็อยู่ที่นั่น

 

3 ปี ย่างปีที่ 4 อนาคตจะมีแบบนี้อีกไหม?

ถามว่าทหารที่อยู่ในประจำการจะมาช่วยเขาไหมในการจัดตั้งรัฐบาลคราวหน้า ผมไม่เชื่อ 3 ปีเขาจะเห็นแล้วว่าเปลืองตัว ทหารจะอยู่ในกรมกอง ผมเชื่อส่วนตัวนะ

 

เมื่อทหารอยู่ในกรมกอง ผมเชื่อว่าโอกาสจะมาจัดตั้งรัฐบาลพิเศษไม่มี คุณสืบทอดอำนาจไม่ได้ จะใช้ทหารที่ไหนล่ะ ก็เฉยๆ ดีกว่า เปลืองตัว

 

 

ถ้าต้องอยู่ในบรรยากาศที่เราคุยมาทั้งหมด ประชาชนควรอยู่อย่างไร?

ประชาชนควรจะดีใจ เพราะปีนี้เป็นปีที่ดี เป็นปีที่ดีอย่างไร เป็นปีที่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามคุณต้องปลดล็อกให้มีการเคลื่อนไหว แต่ผมเชื่อว่าฝ่ายการเมืองไม่อยากให้ปลดล็อกจริงๆ เพราะถ้าปลดล็อกให้เคลื่อนไหวจริงๆ คุณจะต้องเคลื่อนไหว คุณต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ วุ่นวาย เพราะพรรคการเมืองทุกพรรคเขารู้อยู่แล้วว่าเขาได้เสียงเท่าไร เพราะฉะนั้นไม่สำคัญ การปลดล็อกไม่ปลดล็อกไม่ใช่เรื่องสำคัญเลยสำหรับพรรคการเมือง

 

แต่สำคัญสำหรับประชาชน คุณจัดกิจกรรมการเมืองได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรเรียกร้องไม่ใช่พรรคการเมืองเรียกร้อง เพราะเขาไม่เอา แต่ประชาชนควรเรียกร้อง มันถึงเวลาแล้วที่ ประชาชนจะได้เลือกพรรคการเมืองที่เขาชอบ ซึ่งมันก็ต้องมีการเคลื่อนไหว การพูดคุยทางการเมือง ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีความรู้สิ ไม่มีความรู้ก็เลือกตั้งไม่ได้ แล้วถามว่าคุณจะต้องมีความรู้เรื่องอะไร สิ่งที่ประชาชนปัจจุบันนี้ต้องรู้ก็คือเรื่องของรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ เพราะว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันเป็นการออกแบบพิเศษ มีปัญหาเยอะแยะเลย

 

ดังนั้นถามว่าประชาชนควรทำอะไร ก็นี่ไง ศึกษารัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามา มันก็จะได้ไม่จำกัดอะไร จะได้เหมือนปลดล็อกประเทศเลย ไม่ใช่แค่ปลดล็อกการเมือง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising