วานนี้ (1 ตุลาคม) พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีพรรคก้าวไกลมีมติขับ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ออกจากพรรคก้าวไกล ที่มีผลต่อการคำนวณจำนวนประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร มีเนื้อหาระบุว่า
“ตัวเลขไม่หลอกใคร พรรคก้าวไกลโกงกรรมาธิการฯ จากพรรคที่เคยด่าการสืบทอดอำนาจ กลายเป็นพรรคหวงอำนาจซะเอง อยากได้ทั้งตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ไปจนถึงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1
“พรรคก้าวไกลจึงต้องเล่นละครตบตาคนไทยทั้งประเทศ ขับปดิพัทธ์ออกจากสมาชิกพรรค เพื่อจะได้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 106
“ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่สังคมไม่ได้จับตามอง แต่มีความสำคัญยิ่งยวด คือ ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งมีหน้าที่เต็มในการบริหารติดตามญัตติในสภา พรรคเดียวกันนี้เล่นไม่ซื่อ ต้องการเก็บไว้ 11 อัตราเต็ม ทั้งที่ตามสิทธิได้แค่ 10
“ทุกพรรครู้เรื่องผิดปกตินี้ดี แต่ไม่มีใครกล้าพูด…ลองกดเครื่องคิดเลขตามผมช้าๆ โควตาจำนวนประธานกรรมาธิการฯ 35 ชุด (จาก 500 สส.)
- 500 หารด้วย 35 = 14.2857143 แปลว่า 14.2857143 สส. ได้ 1 ประธานกรรมาธิการฯ
- ก่อนหน้านี้ พรรคก้าวไกล 151 สส. = 10.57 (ได้รับปัดขึ้น เป็น 11)
- ปัจจุบัน พรรคก้าวไกล 150 สส. = 10.50 และพรรครวมไทยสร้างชาติ 36 สส. = 2.52
“จากเลขเต็มจำนวน จะถูกคิดคำนวณเป็นจำนวนประธานกรรมาธิการฯ ไม่มีปัญหาแต่ถ้าพิจารณาเศษทศนิยม หลังจากปดิพัทธ์ถูกขับออกจากพรรค (พรรคก้าวไกลเหลือ 150 สส.) ทำให้เศษส่วนที่มีการปัดขึ้นเปลี่ยนไป กลายเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติมีมากกว่าที่ 0.52 ต่อ 0.50
“ฉะนั้นผมเสนอให้มีการทบทวนจำนวนประธานกรรมาธิการฯ ใหม่อย่างตรงไปตรงมา หลังจากปดิพัทธ์ออกจากพรรคก้าวไกลแล้ว พรรคก้าวไกลต้องคืนโควตา 1 เก้าอี้ อย่าทำหัวหมอ บนความผิดหลักการ เพื่อให้การแต่งตั้งชุดกรรมาธิการสามัญฯ ทั้ง 35 ชุด ในวันที่ 5 ตุลาคม เป็นไปอย่างชอบธรรม อย่าให้ใครครหาว่าเป็นพรรคหวงเก้าอี้ หวงการสืบทอดอำนาจ แบบพรรครุ่นใหม่ อำนาจนิยม 2.0”
ต่อมา ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส. พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า จากการที่รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติออกมาให้ข่าวว่าพรรคก้าวไกลควรคืนตำแหน่งประธานกรรมาธิการฯ ให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติ 1 คณะ
ขอไล่เรียงข้อเท็จจริงในการตกลงเรื่องจำนวนประธานกรรมาธิการฯ ดังนี้
1. ในการประชุมตกลงเรื่องจำนวนประธานกรรมาธิการฯ ครั้งแรก ซึ่งเกิดก่อนวันเลือกตั้งซ่อมที่ระยอง และเมื่อนับ ณ ขณะนั้น พรรคก้าวไกลจะได้ประธานกรรมาธิการฯ 10 คณะ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ 3 คณะ
ผมจึงได้ทักท้วงว่า การคำนวณสัดส่วนนั้นวางอยู่บนฐานของ สส. 499 คน ดังนั้นควรจะสรุปตัวเลขนี้หลังจากเลือกตั้งซ่อมเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อให้ตัวเลขเป็นทางการ แต่ทางพรรครวมไทยสร้างชาติบอกว่า ‘ให้อยู่กับปัจจุบัน’ และให้นับตัวเลข ณ วันที่มีการสรุปในห้องประชุม ไม่ใช่วันที่ตั้งกรรมาธิการฯ หมายความว่า ถ้าสรุปลงตัวทุกคณะ ณ วันนั้น ‘ต่อให้พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งซ่อม ทางพรรครวมไทยสร้างชาติก็จะไม่คืนประธานกรรมาธิการฯ คณะนี้ให้’
2. ต่อมาเมื่อเกิดปัญหาตกลงกันไม่ลงตัว ตามที่ทุกคนคงทราบเหตุการณ์กันดี เวลาจึงล่วงเลยมาจนถึงหลังการเลือกตั้งซ่อม และตัวเลขประธานกรรมาธิการฯ ของพรรคก้าวไกลขยับขึ้นเป็น 11 คณะ ทางตัวแทนของพรรครวมไทยสร้างชาติได้มาเจรจากับผมอย่างไม่เป็นทางการว่าตัวเลขทศนิยมต่างกันนิดเดียวเท่านั้น
และยื่นข้อเสนอว่า ขอให้แบ่งประธานกรรมาธิการฯ ในคณะที่คาบเกี่ยวอยู่นี้ พรรคละ 2 ปี จะได้ไม่ต้องมาถกเถียงกันอีกในอนาคต ซึ่งทางผมก็ได้นำข้อเสนอนี้มาปรึกษากับผู้บริหารพรรค และได้ตอบตกลงไปในภายหลังอย่างไม่เป็นทางการ
3. จนถึง 1 วัน ก่อนการนัดประชุมสรุปประธานกรรมาธิการฯ ทุกคณะอย่างเป็นทางการ ทางพรรครวมไทยสร้างชาติมีความพยายามจะขอให้ฝ่ายกฎหมายของสภาตีความว่า การคำนวณสัดส่วนประธานกรรมาธิการฯ นั้นจะสามารถนับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ถูกคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้หรือไม่ หากไม่ได้ จำนวนประธานกรรมาธิการฯ ของพรรคก้าวไกลก็จะลดลงเหลือ 10 คณะ แต่ฝ่ายกฎหมายของสภาได้ออกเอกสารว่า ‘เมื่อตีความตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับฯ แล้ว จำเป็นต้องนับพิธา เนื่องจากยังมีสถานะเป็น สส. อยู่’ จำนวนประธานกรรมาธิการฯ ของทางพรรคก้าวไกล จึงเป็น 11 คณะเช่นเดิม
4. เมื่อเข้าห้องประชุมสรุปเรื่องประธานกรรมาธิการฯ ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ถึงแม้ว่า ณ วันนั้นสามารถยืนยันตัวเลข 11 คณะ ตามตรรกะเดียวกับที่ทางพรรครวมไทยสร้างชาติเคยใช้ไว้ตามข้อ 1.
แต่ผมเห็นว่าก่อนหน้านี้ผมได้ตอบตกลงเรื่องการแบ่งคนละครึ่งไว้กับตัวแทนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ผมจึงตัดสินใจว่าเราควร ‘รักษาคำพูด’ และได้แจ้งข้อตกลงอย่างเป็นทางการในห้องประชุมวันนั้นว่า ในคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระฯ นั้น ทางพรรคก้าวไกลและพรรครวมไทยสร้างชาติจะแบ่งกันเป็นประธานกรรมาธิการฯ พรรคละ 2 ปี โดยให้ทางพรรคก้าวไกลเป็นประธานกรรมาธิการฯ ก่อน เนื่องจาก ณ วันที่สรุปกันนั้นโควตาคณะนี้เป็นของพรรคก้าวไกล
และข้อตกลงเพิ่มเติมคือ เพื่อความราบรื่นในการทำงาน หากการเปลี่ยนแปลงของจำนวน สส. ไม่ได้เปลี่ยนแปลงในระดับที่กระทบจำนวนประธานกรรมาธิการฯ หลายคณะ ก็ให้ยึดถือไปตามนี้ ไม่ต้องมาคำนวณกันใหม่ เนื่องจากจะมีความยุ่งยากหลายประการ
“ตัวผมเองเข้าใจดีว่าตัวแทนของแต่ละพรรคก็ต้องพยายามที่จะรักษาผลประโยชน์ของพรรคตนเองให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ ณ จุดนี้ ผมยืนยันว่าพรรคก้าวไกลขอยึดตามข้อตกลงที่ทุกฝ่ายได้รับทราบร่วมกันอย่างเป็นทางการแล้ว และยืนยันว่า สส. พรรคก้าวไกลที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ นี้ พร้อมที่จะลาออกทันทีเมื่อถึงเวลาที่กำหนดตามที่ตกลงกันไว้ เพื่อหลีกทางให้ตัวแทนจากพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นประธานกรรมาธิการฯ ต่อ
ดังนั้นผมจึงขอให้พรรครวมไทยสร้างชาติยึดถือคำพูดที่ได้ให้ไว้แล้วเช่นกัน
ผมทราบดีว่า เมื่อตั้งกรรมาธิการฯ แล้ว หากจะใช้วิธีการขอโหวตประธานกรรมาธิการฯ ในห้องประชุมกรรมาธิการฯ พรรคก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้านก็คงไม่มีเสียงเพียงพอที่จะทัดทานได้
แต่ผมขอให้กรรมาธิการฯ 15 ท่าน จากทุกพรรคการเมืองที่เข้าไปนั่งในคณะนี้พิจารณาอีกครั้งว่า เมื่อได้เคยมีการให้คำมั่นสัญญาอย่างเป็นทางการแล้ว การขอโหวตเพื่อกลับคำมั่นนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือไม่
เพราะทุกท่านในฐานะ สส. คงทราบดีว่า…ในการทำงานร่วมกันของกรรมาธิการฯ นั้น ไม่ว่าแต่ละพรรคจะเห็นต่างกันอย่างไร ก็สามารถทำงานด้วยกันได้อย่างราบรื่น
แต่การไม่รักษาคำพูดนั้นอาจทำให้ไม่สามารถทำงานด้วยกันได้เลย