×

โพลเผยคนไทยเหนื่อยกับอะไรมากสุดในปี 2567 พบกลุ่มตัวอย่างมีความสุข ไร้อุปสรรค เพียง 40%

โดย THE STANDARD TEAM
22.12.2024
  • LOADING...
poll-thai-2024-stress-40-happy

วันนี้ (22 ธันวาคม) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘เหนื่อยหน่ายกับอะไรบ้างในปี 2567 ที่ผ่านมา’ เกี่ยวกับความรู้สึกของประชาชนในปี 2567 

 

จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงความสุขในปี 2567 พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 39.92 ระบุว่า ค่อนข้างมีความสุข เพราะมีความสุขทั้งกับตัวเองและครอบครัว ชีวิตการทำงานราบรื่น ไม่มีอุปสรรค รองลงมา ร้อยละ 32.52 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความสุข เพราะมีปัญหาทางการเงินที่เกิดจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น และรู้สึกเบื่อหน่ายกับความวุ่นวายของสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มีความแน่นอน 

 

ร้อยละ 18.17 ระบุว่า มีความสุขมาก เพราะการใช้ชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่น สุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีเรื่องใดที่ต้องกังวล และร้อยละ 9.39 ระบุว่าไม่มีความสุขเลย เพราะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้สินสะสม การใช้ชีวิตเป็นไปอย่างยากลำบากและไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้

 

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนเหนื่อยหน่ายในปี 2567 พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 52.14 ระบุว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ รองลงมา ร้อยละ 28.09 ระบุว่า ปัญหาภัยไซเบอร์ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การแฮ็กข้อมูล 

 

ร้อยละ 27.86 ระบุว่า ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองทั้งในและนอกสภา ร้อยละ 21.60 ระบุว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด ร้อยละ 14.89 ระบุว่า ปัญหาราคาพลังงาน ร้อยละ 13.59 ระบุว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยทางธรรมชาติ ร้อยละ 13.44 ระบุว่า ปัญหาสุขภาพ โรคระบาด ร้อยละ 12.98 ระบุว่า ปัญหาอาชญากรรม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 12.90 ระบุว่า ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร 

 

ร้อยละ 12.75 ระบุว่า ไม่เหนื่อยหน่ายกับอะไรเลย ร้อยละ 11.45 ระบุว่า ปัญหาความขัดแย้งในสังคม ร้อยละ 9.85 ระบุว่า ปัญหาการคอร์รัปชันในทุกระดับ ร้อยละ 9.69 ระบุว่า ปัญหาการจราจร ร้อยละ 5.57 ระบุว่า ปัญหาความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 4.81 ระบุว่า ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมในระบบราชการ และร้อยละ 2.06 ระบุว่า ปัญหาสงคราม ความขัดแย้งในต่างประเทศ

 

ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ ‘นิด้าโพล’ สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นร้อยละ 97.0

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X