CNN เผยผลการศึกษาอารมณ์ความรู้สึกของนักลงทุนในตลาด พบส่วนใหญ่เริ่มกล้าเสี่ยงลงทุนเก็งกำไร หรือลงทุนด้วยความ ‘ละโมบ’ มากกว่า ‘ความกลัว’ มากขึ้น
รายงานดังกล่าว มีขึ้นหลังจากที่ช่วงหลายวันที่ผ่านมา ดัชนีหลักในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ทั้งดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ดัชนี S&P 500 และดัชนีแนสแด็ก คอมโพสิต ปรับตัวพุ่งทะยานทำสถิติสูงสุดระลอกใหม่หลายครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน
โดยแม้ส่วนหนึ่งจะเป็นผลมาจากข่าวดีของการผลิตและพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 กระนั้น จากพฤติกรรมความเคลื่อนไหวของนักลงทุนในตลาดในช่วงที่ผ่านมา ก็เพียงพอที่จะชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนเริ่มคลายความระมัดระวัง และยินดีที่จะเสี่ยงเข้ามาเก็งกำไรในตลาดมากขึ้น
ทั้งนี้ CNN Business ได้ติดตามดัชนีที่ชี้วัดอารมณ์ความรู้สึกของตลาด หรือที่เรียกว่า Market’s Mood ด้วยดัชนี Fear & Greed (ความกลัวและความละโมบ) ซึ่งผลของการสำรวจพบว่า อารมณ์ความรู้สึกของนักลงทุนในตลาดขณะนี้ อยู่ในระดับของความละโมบ และใกล้เคียงกับระดับความละโมบขั้นสุด (Extreme Greed)
โดย 7 ปัจจัยบ่งชี้ บรรยากาศการลงทุนของนักลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ที่สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น และบริษัทเพื่อการลงทุนนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการวัดบรรยากาศตลาด ประกอบด้วย
1) ดัชนีผันผวน (CBOE Volatility Index: VIX)
2) Stock Options สัญญาสิทธิซื้อขายหุ้นและสินทรัพย์ในตลาดของนักลงทุน
3) Momentum หรือการเปรียบเทียบทิศทางความเครื่อนไหวในตลาดในช่วง 2-3 เดือน
4) ความต้องการ Junk Bond
5) ปริมาณการซื้อขาย (Trading Volume)
6) ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Demand)
7) จำนวนการซื้อขายหุ้นสูงสุดและต่ำสุด ซึ่งในกรณีที่มีหุ้นทำสถิติสูงสุดได้จำนวนมาก ย่อมเป็นตัวบ่งชี้ว่านักลงทุนในตลาดอยู่ในสภาพกระหายที่จะลงทุนเพื่อเก็งกำไรมากขึ้น
CNN อธิบายว่า ปัจจัยบ่งชี้ทั้ง 7 ข้างต้นจะนำมาประเมินและวัดระดับ พร้อมกับเทียบการเปลี่ยนแปลงในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยให้น้ำหนักคะแนนเรียงตั้งแต่ 0-100 ซึ่งคะแนนต่ำบ่งชี้ถึงความกลัว ที่นักลงทุนจะชะลอการลงทุน ขณะที่ คะแนนสูงบ่งชี้ว่านักลงทุนกำลังเก็งกำไร หรือลงทุนด้วยความละโมบมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ดัชนี Fear & Greed ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบปีที่คะแนน 2 คะแนนเมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่หุ้นในตลาดดิ่งราว 10% จนเข้าสู่ภาวะตลาดหมี หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศสั่งห้ามการเดินทางไป-กลับหลายประเทศในยุโรป เพื่อสกัดกั้นการระบาดของโควิด-19
รายงานระบุว่า อารมณ์ของตลาดที่อยู่ในข่าย ‘ละโมบ’ นี้บ่งชี้ได้ว่า นักลงทุนเริ่มมีความหวังที่วัคซีนจะกลับมาช่วยฟื้นฟูให้สถานการณ์เศรษฐกิจกลับคืนสู่ภาวะปกติอีกครั้ง โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนี Fear & Greed เพิ่งจะปรับตัวอยู่ในระดับ ‘Neutral’ หรือระดับกลางๆ หลังจากที่ Pfizer ประกาศผลสำเร็จของวัคซีน
นอกจากนี้ อารมณ์ความรู้สึกของนักลงทุนในตลาดที่ชี้ไปยัง Greed ยังสะท้อนให้เห็นความร้อนแรงในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เหมาะสมที่จะขายหุ้นบางตัวในพอร์ตออกไป
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: