วันนี้ (7 กันยายน) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,128 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 3-6 กันยายน 2565 เกี่ยวกับสัญญาณเลือกตั้งใหม่ ปี 2566 หลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุติการปฏิบัติหน้าที่ พบว่า จากกระแสข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงนี้ ทำให้ประชาชนสนใจติดตามข่าวการเมืองมากขึ้น ร้อยละ 50.45, สนใจติดตามข่าวเหมือนเดิม ร้อยละ 40.98 และสนใจติดตามข่าวน้อยลง ร้อยละ 8.57
ส่วนกระแสข่าวอาจจะมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ หลังจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกฯ 8 ปี) ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ร้อยละ 53.92 ระบุ น่าจะเป็นไปได้, ร้อยละ 35.74 ไม่น่าจะเป็นไปได้ และร้อยละ 10.34 เป็นไปไม่ได้
ทั้งนี้ ร้อยละ 52.75 มองว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปผู้สมัครในพรรคฝ่ายค้านจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ, ร้อยละ 41.84 คิดว่าผู้สมัครในพรรคฝ่ายรัฐบาล และร้อยละ 5.41 พอๆ กัน ส่วนการเลือกตั้งครั้งต่อไป ร้อยละ 56.56 การซื้อสิทธิขายเสียงน่าจะมากขึ้น, ร้อยละ 38.71 เหมือนเดิม และร้อยละ 4.73 การซื้อเสียงน่าจะน้อยลง
สิ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนในการเลือก ส.ส. ครั้งต่อไป ร้อยละ 70.10 ระบุ พรรคที่สังกัด, ร้อยละ 64.51 ตัวผู้สมัคร, ร้อยละ 59.98 เป็นคนดี ประวัติดี, ร้อยละ 52.80 เป็นคนรุ่นใหม่ มีวิสัยทัศน์ และร้อยละ 50.67 ขยัน ตั้งใจทำงาน
ส่วนการทำตามสัญญาที่หาเสียงไว้ของพรรคการเมืองและ ส.ส. มีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ร้อยละ 90.84 ระบุ มีผล ส่วนร้อยละ 9.16 ระบุ ไม่มีผล ขณะที่สถานการณ์การเมืองไทยหลังจากนี้ ร้อยละ 68.29 จะร้อนแรงมากขึ้น, ร้อยละ 27.18 เหมือนเดิม และร้อยละ 4.53 ลดลง
สำหรับการเมืองเชิงสร้างสรรค์ที่ประชาชนอยากเห็นคือ นักการเมืองต้องทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติและประชาชน ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ร้อยละ 24.35 รองลงมาร้อยละ 19.56 แข่งขันกันด้วยความรู้ความสามารถและผลงาน ไม่ใส่ร้ายป้ายสี
ขณะเดียวกันมองว่า ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงนี้เป็นการส่งสัญญาณของการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งในการตัดสินใจเลือกผู้แทนครั้งนี้ ประชาชนจะให้ความสำคัญกับพรรคที่สังกัดมาเป็นอันดับแรก จึงได้เห็นการขยับตัวของพรรค ทั้งพรรคเล็ก พรรคใหญ่ชัดเจนยิ่งขึ้น
แต่ไม่ว่าจะงัดยุทธวิธีใด หากนักการเมืองไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน คาดว่าเลือกตั้งครั้งใหม่ไม่ง่ายนัก เพราะประชาชนมองเชื่อมโยงไปยังผลงานที่ผ่านมา รวมถึงยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคล นิสัยใจคอ การเข้าถึงพื้นที่ ผลโพลในครั้งนี้จึงเป็นสัญญาณจากประชาชนส่งไปถึงยังนักการเมืองด้วยเช่นกัน