*หมายเหตุ-ผลงานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
มอสโก, รัสเซีย ค.ศ. 1991
เสียงนั้นดังขึ้นอีกครั้ง
ท่ามกลางความเงียบงันที่ปกคลุมไปทั้งเมือง
“ข้าพเจ้ายังเป็นห่วงหลายสิ่งหลายอย่างในวันที่ต้องอำลานี้ แต่ข้าพเจ้ายังมีศรัทธาและเชื่อในตัวพวกท่านทั้งหลาย เชื่อในพลังแห่งปัญญาและจิตวิญญาณ เราคือหน่อเนื้อแห่งยุคศิวิไลซ์อันรุ่งโรจน์ และตอนนี้ขึ้นอยู่กับพวกท่านทั้งหลายแล้วว่าจะนำพามันกลับมาสู่วิถีอันเหมาะสมหรือไม่”
สุนทรพจน์สุดท้ายของผู้นำโซเวียตยังไม่จบ แต่มันก็มากพอแล้วสำหรับยาชินที่จะทนดูมันต่อ เขาปิดโทรทัศน์ ลุกขึ้นจากที่นั่ง เหม่อมองไปนอกหน้าต่าง ลมแห่งการเปลี่ยนแปลงพัดเข้ามาปะทะหน้าของเขาและคนโซเวียต ไม่สิ คนรัสเซียนับล้านคน พัดแรงจนหน้าหงายก็ว่าได้
เมื่อปฏิญญาหมายเลข 142-เอชแห่งสภาโซเวียตแห่งสาธารณรัฐถูกประกาศและ มิคาอิล กอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีของโซเวียตลาออกจากตำแหน่ง ถือเป็นจุดสิ้นสุดของฉากหน้าการเมืองโลกสู่บริบทใหม่
25 ธันวาคม 1991 เวลา 19.32 น. กอร์บาชอฟส่งมอบรหัสอาวุธนิวเคลียร์ของโซเวียตให้กับ บอริส เยลต์ซิน ผู้นำคนใหม่ ธงที่เคยโบกสะบัดอย่างภาคภูมิในเครมลินถูกลดลงและแทนที่ด้วยธงไตรรงค์ของรัสเซีย ทั้งที่ไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น กอร์บาชอฟยังเคยหัวเราะเมื่อมีคนเตือนว่ากองทัพวางแผนจะยึดอำนาจของเขา แม้ความพยายามก่อรัฐประหารที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมจะล้มเหลวและเขาได้กลับคืนสู่อำนาจ แต่นั่นคือตราประทับที่ชัดเจนของการล่มสลายแห่งสหภาพโซเวียตและสงครามเย็น
กอร์บาชอฟเคยเขียนประวัติศาสตร์ด้วยแผน Perestroika ซึ่งปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจในแบบที่ไม่มีผู้นำโซเวียตคนใดทำมาก่อน ให้เสรีภาพแก่สื่อมวลชนมากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุด ประชาชนมีทรัพย์สินส่วนบุคคลและดำเนินกิจการเอกชนได้ เขาผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ประชาชน เปลี่ยนแปลงสหภาพโซเวียตสู่สหพันธรัฐ
เศรษฐกิจของรัสเซียในขณะนั้นค่อนข้างลำบาก เดิมสหภาพโซเวียตควบคุมกลไกทางเศรษฐกิจทุกมิติเอาไว้ (Controlled Economy) โดยพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาตลาดทุน (Market Based Economy) เกิดการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เมื่อรัสเซียเปิดบ้านค้าขายและเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ค่าเงินรูเบิลอ่อนยวบต่อเนื่อง รัฐบาลเยลต์ซิน ใช้เวลาหลายปีกว่าจะโงหัวขึ้นได้ในปี 1996 และกลับต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเงินอีกครั้งในปี 1998
แม้จะเติบโตมาท่ามกลางการขัดเกลากึ่งบังคับตามระบอบการปกครองให้เชื่อในความยิ่งใหญ่ของโซเวียตและรักชาติเหนือสิ่งอื่นใด แต่เมื่อท้องหิว ตาพร่า ก็ยากที่คนคนหนึ่งจะยืนหยัดต่ออุดมการณ์ที่มีได้ วิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องคือกลจักรสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม หรือกระทั่งในจิตใจคนก็ตามที
ยาชินเองก็เช่นกัน เขาเลือกแปรพักตร์และทำงานในฐานะสายลับสองหน้าให้กับรัฐบาลอังกฤษเพื่อแลกกับเงินที่จะทำให้เขาเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างสุขสบาย รวมถึงโอกาสในการย้ายถิ่นฐานไปสู่โลกอื่นที่ดีกว่า
เป็นคนทรยศอย่างน้อยก็ยังอยู่รอด ดีกว่าเป็นคนซื่อที่อดตาย ไม่มีใครจดจำ
เขาคิดแบบนั้น
ลอนดอน, สหราชอาณาจักร 2010
20 ปีต่อมา
เขาใช้ชีวิตที่อังกฤษมา 5 ปีแล้ว หลังจากที่ทางการรัสเซียเริ่มระแคะระคายและส่งคนตามประกบเขาและคนในครอบครัวทุกฝีก้าว ภัยคุกคามเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้นจนในที่สุดเขาตัดสินใจหลบหนีออกมาด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนสนิทในกองทัพ อยู่ที่นี่ใช้ชื่อว่า จอห์นสัน เลวิตช์ เขาเปิดร้านขายขนมปังเล็กๆ ไม่สุงสิงกับใคร ขณะเดียวกัน อาชีพที่แท้จริงยังคงเป็นสายลับสองหน้าที่รัฐบาลเมืองผู้ดีให้การดูแล
พรรคอนุรักษ์นิยมนำโดย เดวิด คาเมรอน ชนะการเลือกตั้งแบบทุลักทุเลและไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ จึงต้องจับมือกับพรรคเสรีประชาธิปไตยในการบริหารประเทศ สิ่งที่คาเมรอนประกาศจะทำคือ การจัดการปัญหาขาดดุลงบประมาณที่สูงกว่า 1.6 ล้านปอนด์ด้วยการตัดงบสาธารณะออกและให้อำนาจการจัดการกับองค์กรปกครองท้องถิ่นในการดูแลตนเองมากขึ้น ตั้งเป้ารัดเข็มขัดให้ได้อย่างน้อย 6 พันล้านปอนด์ในปี 2010 นอกจากนี้ยังตั้งเป้าลดขนาดของธนาคารลงเพื่อกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับภาคการเงินโดยแยกธุรกิจบางประเภทจากธนาคารที่มีขนาดใหญ่
นอกจากนี้ยังจะปรับเพิ่มอัตราภาษีกําไรจากการขายทรัพย์สิน (Capital Gains Tax) เฉพาะทรัพย์สินที่มิได้ใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ (Non-Business) เป็น 40% รวมถึงปรับเพิ่มค่าลดหย่อนสําหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและยกเลิกนโยบายเพิ่มอัตราการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นแนวทางเดิมที่รัฐบาลก่อนจากพรรคแรงงานเคยประกาศเอาไว้
เป็นปีที่ยากลำบากของคนอังกฤษ ผู้คนนับแสนออกมาประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล ขณะที่นักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศในนามสหภาพนักศึกษาเคลื่อนไหวต่อต้านการขึ้นค่าเทอมที่สูงลิบถึง 9 พันปอนด์ ขณะที่งบประมาณด้านการสอนของมหาวิทยาลัยกลับโดนตัดออกถึง 40%
ยาชินมองกลุ่มนักเรียนที่ยืนวิจารณ์เรื่องนี้ที่หัวมุมถนน เขายังติดตามข่าวคราวจากบ้านเกิดของเขาอยู่เสมอ รัสเซียที่เขารู้จักเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปพอสมควร
การค้าระหว่างบ้านใหม่และแผ่นดินแม่ของเขาดีขึ้นตามลำดับ ปี 2010 อังกฤษส่งออกสินค้าไปที่รัสเซียมูลค่า 2.7 พันล้านปอนด์ ถือเป็นประเทศผู้ซื้ออันดับที่ 15 ซึ่งยังถือว่าเล็กเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่นำเข้าสินค้าจากอังกฤษถึงกว่า 3 หมื่นล้านปอนด์ หรือกระทั่งเยอรมนีที่ส่งสินค้าไปขายได้ถึงกว่า 2.3 หมื่นล้านปอนด์ แต่เมื่อเปรียบเทียบการค้าระหว่างสองประเทศ อังกฤษขาดดุลการค้าให้กับรัสเซีย เนื่องจากนำเข้าสินค้าถึงกว่า 4.3 พันล้านปอนด์ ซึ่งสินค้าสำคัญคือน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสินแร่ที่รัสเซียมีอย่างเหลือเฟือ
ในยุคที่ข้าวยากหมากแพงสำหรับสหราชอาณาจักร นอกจากนโยบายทางการคลังและการเงินแล้ว รัฐบาลจำเป็นต้องใช้ทุกเครื่องมือเพื่อกระตุ้นและเรียกความเชื่อมั่นอันฮึกเหิมของคนในชาติให้กลับมามีขวัญและกำลังใจให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตามที
แม้จะเป็นนโยบายที่ต่อเนื่องจากปี 2009 แต่เรื่องการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2018 ถือเป็นภารกิจสำคัญของชาติที่อังกฤษต้องการคว้าสิทธิมาให้ได้ ไม่เพียงแต่ความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีเท่านั้น การจัดมหกรรมการแข่งขันกีฬาระดับโลกก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมที่สำคัญในด้านเศรษฐกิจและสังคม ทั้งการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ การจ้างงาน รายได้จากการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง
เหมือนกับทุกสิ้นปีที่ผ่านมา ยาชินนั่งพักที่โซฟาตัวโปรด หยิบรีโมต เปิดโทรทัศน์และฟังรายงานข่าว ปีนี้คึกคักเป็นพิเศษเพราะชาวอังกฤษต่างใจจดใจจ่อกับผลการตัดสินการเป็นเจ้าภาพการแข่งบอลโลกที่กำลังจะประกาศในอีกไม่กี่นาทีจากนี้
และคำตอบที่ได้ ห่างไกลจากสิ่งที่คนอังกฤษคิดเอาไว้มากทีเดียว
ซูริก, สวิตเซอร์แลนด์ ค.ศ. 2010
วันประกาศผล
“สุภาพสตรี และสุภาพบุรุษ การแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 จะถูกจัดขึ้นที่ประเทศ รัสเซีย”
ภาพที่เขาเห็นคือสีหน้าของชายสูงอายุที่ชื่อ โชเซฟ ‘เซฟฟ์’ บลิตเทอร์ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติดึงกระดาษสีขาวที่มีตัวอักษรอยู่เพียง 2 บรรทัด และอ่านผลการโหวตเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2018 และ 2022 ออกมาอย่างชัดเจน พร้อมกับเสียงโห่ร้องที่ดังลั่นด้วยความดีใจ จากบรรดาตัวแทนของประเทศรัสเซีย
นายอีกอร์ ชูวาลอฟ รองนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย เป็นตัวแทนของรัสเซียขึ้นมารับถ้วยรางวัลฟีฟ่าเวิลด์คัพ ในฐานะเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2018 ซึ่งคำสัญญาที่ลั่นออกจากปากของนายอีกอร์คือ “เราจะสร้างประวัติศาสตร์ไปด้วยกัน” ซึ่งหลังจากการประกาศผลในวันนั้น พวกเขาก็ถูกกล่าวหาจากสื่อตะวันตกอย่างไม่หยุดยั้ง
ก่อนหน้านี้ทางฝั่งอังกฤษซึ่งหมายมั่นปั้นมือจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2018 โดยมีเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ พระโอรสพระองค์ใหญ่ในเจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์และเลดี้ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์และ เดวิด เบ็คแฮม นักฟุตบอลระดับตำนานของทีมชาติอังกฤษ เป็นหน้าตาของโปรเจกต์สำคัญนี้ ซึ่งหากย้อนไปเมื่อปี 2009 ยาชินจำได้ว่าสื่อตะวันตกรายงานตรงกันเป็นเสียงเดียวคือ อังกฤษมีแววจะเป็นผู้จัดศึกฟุตบอลโลก 2018 มากที่สุด เนื่องจากเป็นชาติที่เคยเป็นเจ้าภาพมาแล้วในปี 1966 และเพิ่งจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน ซึ่งถือว่ามีความพร้อมและได้เปรียบกว่าประเทศคู่แข่งอื่นพอสมควร
แม้ผลที่ออกมาจะเป็นที่ผิดหวังของชาวอังกฤษ แต่ยาชินก็รู้อยู่ลึกๆ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เหนือความคาดหมายของเขาแต่อย่างใด
ยาชินปิดโทรทัศน์ เดินออกจากห้องพักเพื่อสูดอากาศ และยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศบ้านเกิดของเขา เพราะเมื่อปี 2007 เมืองโซชิ ประเทศรัสเซียก็ชนะการโหวตและได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2014 และอีก 4 ปีต่อจากนั้นพวกเขาก็จะได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2018
มันเป็นเรื่องบังเอิญอย่างนั้นหรือ?
เปล่าเลย
ระหว่างที่เขาเดินผ่านถนนในกรุงลอนดอน ในหัวของเขามีแต่ภาพบรรยากาศที่สนามกีฬาลุจนีกี ที่ซึ่งเขาเชื่อว่าจะได้ใช้เป็นสนามสำคัญในการจัดฟุตบอลโลก 2018 ที่แห่งนี้มีภาพประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโอลิมปิกในปี 1980 ซึ่งสหภาพโซเวียตเป็นเจ้าภาพ เขายังคงจำภาพอัฒจันทร์อันทรงพลังของสนามลุจนีกีที่จุผู้คนได้กว่าหนึ่งแสนคนในช่วงพิธีเปิดและพิธีปิดโอลิมปิกของสหภาพโซเวียดในปี 1980
มหกรรมกีฬาในช่วงสงครามเย็นถูกนำมาใช้งานเสมือนสนามรบจำลอง โดย โอลิมปิกในปีนั้น สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำและหนึ่งใน 66 ชาติที่ไม่เข้าร่วมการแข่งขันเนื่องจากต้องการแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับสหภาพโซเวียตในสงครามโซเวียต-อัฟกานิสถาน และในโอลิมปิกปี 1984 ที่ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ สหภาพโซเวียตก็ตอบโต้ด้วยการนำ 14 ชาติจากฝั่งคอมมิวนิสต์ บอยคอตไม่เข้าร่วมการแข่งขันเช่นกัน
ค่อนข้างชัดเจนว่าแนวคิดเรื่องการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือแสดงศักยภาพทางการเมืองกำลังจะกลับเข้ามาสู่สนามแห่งนี้อีกครั้งและดูท่าจะร้อนแรงกว่าเดิมด้วย
กีฬากับเล่ห์กลทางการเมืองไม่เคยแยกจากกันได้ มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างโอลิมปิกที่มีตั้งแต่สมัยกรีกโบราณก็เกิดขึ้นมาพร้อมกับจุดประสงค์ทางการเมืองอันนำมาสู่สันติภาพของแว่นแคว้นต่างๆ เกิดการเจรจาระหว่างนครรัฐในกรีก รวมถึงการสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ‘การทูตปิงปอง’ ที่เกิดขึ้นเมื่อนักกีฬาจีนและนักกีฬาสหรัฐฯ คุยกันที่การแข่งขันปิงปองซึ่งจัดขึ้นที่ญี่ปุ่นในปี 1971 จากนั้นก็นำไปสู่การเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของ ริชาร์ด นิกสัน ผู้นำสหรัฐฯ ในปี 1972 เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นครั้งแรกตั้งแต่สหรัฐอเมริกาใช้นโยบายคว่ำสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงสงครามเกาหลีปี 1950
หรืออย่างโอลิมปิกปี 2008 ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งได้ยกระดับคำว่ากีฬาขึ้นไปเป็นการแสดงศักยภาพของประเทศ ด้วยการจัดพิธีเปิดการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทุกวันนี้หลายคนยังยกให้เป็นพิธีเปิดการแข่งขันที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยมีมา
เขาเชื่อว่าโอลิมปิกในปี 2014 และฟุตบอลโลกในปี 2018 จะถูกใช้เป็นเวทีสำหรับการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับรัสเซียอย่างแน่นอน
ลอนดอน, สหราชอาณาจักร ค.ศ. 2018
ฟุตบอลโลกกลับมาอีกครั้ง
เช้าวันอาทิตย์ที่แสนจะธรรมดาในกรุงลอนดอน ยาชินเดินจากบ้านมานั่งจิบกาแฟที่ร้านประจำ เขาอ่านหนังสือพิมพ์ที่ลงบทความเกี่ยวกับฟุตบอลโลกที่รัสเซียในปี 2018 การนับถอยหลัง 100 วันสู่พิธีเปิดบอลโลกในวันที่ 14 มิถุนายน 2018 เริ่มต้นขึ้นแล้ว
8 ปีที่รอคอยนับตั้งแต่ประกาศผลเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเมื่อปี 2010 ชื่อเสียงของรัสเซียถูกท้าทายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (วาด้า) ออกมาแฉว่านักกีฬารัสเซียใช้สารกระตุ้นมานานกว่า 10 ปี ซึ่งขั้นตอนการใช้สารได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาลรัสเซียในการหลีกเลี่ยงการตรวจจับจนนำไปสู่การแบนทีมชาติรัสเซียในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 ที่นครพย็องชัง เกาหลีใต้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และยังไม่รวมวีรกรรมที่แฟนบอลรัสเซียได้ก่อไว้ในการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016 ที่ฝรั่งเศส ซึ่งทะเลาะวิวาทกับแฟนบอลอังกฤษบนถนนในเมืองมาร์กเซยด้วย
ภาพลักษณ์ของรัฐบาลรัสเซียในเวทีโลกก็ไม่ต่างกัน ตั้งแต่ปี 2014 ที่กองทัพรัสเซียก้าวเข้าสู่อาณาเขตของยูเครนและผนวกไครเมียกลับเข้าสู่อ้อมอกชนิดที่ไม่เกรงใจนานาอารยประเทศ นอกจากนี้ยังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่หลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นผู้นำแดนอินทรีอย่างเหนือความคาดหมาย
รัสเซียแข็งกร้าวและเหิมเกริมมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ยุคของสงครามเย็นจะจบไปนานแล้ว แต่โลกใบนี้ยังเต็มไปด้วยขั้วอำนาจที่เปลี่ยนหน้าตาไปเรื่อยๆ ความขัดแย้งไม่มีทีท่าจะลดลงและไม่มีใครวางใจได้ว่าจะไม่เกิดสงครามอีก
จนเมื่อเกิดเรื่องของ ‘เซอร์เกย์ สกรีปอล’ ขึ้น
อดีตสายลับสองหน้าถูกลอบสังหาร โดยหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นเงื้อมมัจจุราชที่เขาคุ้นเคย หลังจากที่ทางการอังกฤษระบุว่าเรื่องนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับรัสเซีย ยาชินรู้ได้ทันทีว่าถึงเวลาที่เขาต้องหนีอีกครั้ง หนีให้เร็วและไร้ร่องรอยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเหยื่อรายถัดไปที่จะถูกตามเก็บ อาจเป็นตัวเขาเอง
เซอร์เกย์ สกรีปอล ยังไม่ตาย
เขายังหายใจรวยรินในห้องไอซียูที่โรงพยาบาลเขตซาลิสบิวรีกับการดูแลรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดจากรัฐบาลอังกฤษ
ยาชินและสกรีปอลมีเส้นทางชีวิตที่คล้ายกันเหลือเกิน
สกรีปอลเกิดที่แคว้นคาลินินกราดของรัสเซียในปี 1951 ปัจจุบันอายุ 66 ปี เป็นอดีตทหารยศพันเอกที่เคยทำงานสังกัดหน่วยข่าวกรองทางทหารของกองทัพรัสเซีย หรือ GRU เขาแปรพักตร์ในเวลาต่อมาโดยลักลอบขายข้อมูลพร้อมเปิดโปงรายชื่อสายลับของรัสเซียให้กับหน่วยสืบราชการลับ MI6 ของอังกฤษ ซึ่งเป็นองค์กรสายลับที่คนทั่วโลกคุ้นชื่อกันดีจากหนังเจมส์ บอนด์ หรือพยัคฆ์ร้าย 007
เมื่อเรื่องแดงขึ้น เขาถูกจับกุมในปี 2004 ต่อมาถูกดำเนินคดีในศาลทหารและถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงในปี 2006 ด้วยข้อหากบฏและจารกรรมข้อมูลให้กับอังกฤษ ศาลตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 13 ปี โดยที่องค์กรข่าวกรองความมั่นคงของรัสเซีย หรือ FSB อ้างว่าสกรีปอลแอบขายข้อมูลลับสุดยอดให้ MI6 ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 และรับเงินตอบแทนจำนวน 1 แสนเหรียญสหรัฐผ่านการโอนเข้าบัญชีธนาคารในสเปน
ต่อมาสกรีปอลได้รับการอภัยโทษจาก ดมิตรี เมดเวเดฟ ประธานาธิบดีรัสเซียในเวลานั้น และถูกปล่อยตัวเป็นอิสระในปี 2010 ภายใต้ข้อตกลงแลกเปลี่ยนนักโทษ 4 คนที่ถูกขังในรัสเซียซึ่งรวมเขาอยู่ด้วย โดยแลกกับสายลับรัสเซีย 10 คนที่ถูก FBI จับกุมในสหรัฐฯ
หลังจากที่ได้รับอิสรภาพ สกรีปอลเลือกลี้ภัยในอังกฤษ จนเมื่อต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เขาและยูเลีย ลูกสาวที่เดินทางมาเยี่ยม ถูกโจมตีโดยใช้สารพิษทำลายประสาทกลางเมืองซาลิสบิวรี เมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบทางตอนใต้ของอังกฤษ
และชนวนเหตุของความบาดหมางครั้งใหม่ระหว่างอังกฤษกับรัสเซียก็เริ่มต้นขึ้น
ปมลอบสังหารสกรีปอลกลายเป็นประเด็นใหญ่โตและฉุดความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้ตกต่ำลงสุดขีดชนิดที่ต่างฝ่ายต่างทำสงครามการทูตใส่กันอย่างไม่ยอมลดราวาศอก ฝ่ายอังกฤษฟันธงว่ารัสเซียอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้เพราะร่องรอยอาวุธเคมีที่พบเป็นสารในกลุ่ม Novichok ซึ่งเป็นเกรดเดียวกับที่ใช้ในกองทัพรัสเซีย
สารทำลายประสาทดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นอย่างลับๆ โดยสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1970-80 มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เรียกว่า A-230 ซึ่งเป็นพิษร้ายแรงกว่าสาร VX ที่ใช้ลอบสังหารพี่ชายต่างมารดาของคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือคนปัจจุบันถึง 8 เท่า สามารถปลิดชีพผู้ที่สัมผัสกับสารดังกล่าวได้ภายในไม่กี่นาที Novichok อาจอยู่ในรูปของของเหลวและของแข็งหรือเป็นอาวุธที่มีองค์ประกอบทางเคมีแบบทวิภาค ซึ่งผสมสารเคมี 2 ชนิดเพื่อให้ได้สารพิษที่ออกฤทธิ์รุนแรงยิ่งขึ้น
เมื่อรัสเซียปิดปากเงียบไม่ยอมชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นภายในเส้นตายที่อังกฤษร้องขอ อังกฤษจึงลงดาบด้วยการประกาศขับนักการทูตรัสเซีย 23 คนออกนอกประเทศ และรัสเซียก็ไม่ยอมนิ่งเฉยพร้อมตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน โดยการไล่ทูตอังกฤษกลับประเทศบ้าง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศทวีความตึงเครียดขึ้นไปอีก
กระทั่ง บอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักรก็ยังมีข้อสังเกตว่า ช่วงเวลาที่รัสเซียโจมตีสกรีปอลมีขึ้นประจวบเหมาะกับที่รัสเซียกำลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 18 มีนาคม ดังนั้นจึงเป็นไปได้สูงที่รัสเซียอาจสร้างเรื่องเพื่อหวังผลทางการเมืองและเป็นโอกาสเหมาะที่ วลาดิเมียร์ ปูติน จะได้แสดงภาวะผู้นำอย่างเต็มที่ เพื่อตอบโต้กับประเทศตะวันตกที่โจมตีรัสเซีย ก่อนที่เขาจะลงสู้ศึกเลือกตั้งและท้ายที่สุดปูตินก็คว้าชัยอย่างถล่มทลาย
ทุกอย่างมืดแปดด้านไปหมดสำหรับยาชิน เขากลับไปรัสเซียไม่ได้แล้ว ขณะเดียวกันอังกฤษก็ไม่ใช่ที่ที่ปลอดภัยอีกต่อไป สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ เพราะประเทศพันธมิตรของอังกฤษตอนนี้ก็ออกมาเคลื่อนไหว เปิดหน้าฉากตอบโต้รัสเซียอย่างชัดเจน
นอกจากเพื่อนรักอย่างสหรัฐอเมริกาที่ออกโรงปกป้องอังกฤษพร้อมประณามรัสเซียว่าฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศและละเมิดอธิปไตยจากกรณีใช้อาวุธเคมีต้องห้ามแล้ว เยอรมนีกับฝรั่งเศสก็ออกมาผสมโรงร่วมประณามด้วย ล่าสุดสหภาพยุโรปเตรียมจัดประชุมซัมมิตที่กรุงบรัสเซลส์ เพื่อกำหนดมาตรการลงโทษรัสเซียเพิ่มเติม
สิ่งที่น่าคิดคือ ภาพรวมการค้าของสหภาพยุโรปและรัสเซียในช่วงที่ผ่านมา รัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของยุโรป ในทางกลับกันสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดที่รัสเซียต้องพึ่งพา อย่างไรก็ตาม นับแต่ปี 2012 ตัวเลขการค้าระหว่างสองฝั่งลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2012 มีมูลค่าการค้าขายระหว่างประเทศ 3.4 แสนล้านยูโร ขณะที่ปี 2016 มูลค่าการค้าอยู่ที่ 1.9 แสนล้านยูโร ลดลงมากกว่า 44% เนื่องจากมาตรการขององค์การการค้าโลกหรือ WTO ทีตีกรอบการค้าของยุโรปและรัสเซีย เนื่องจากรัสเซียเข้าเป็นสมาชิกของ WTO ซึ่งสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงไป
สินค้าที่รัสเซียนำเข้าจากทางยุโรปส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักร อุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการขนส่ง เคมีภัณฑ์ ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์และสินค้าสำเร็จรูปต่างๆ ขณะที่รัสเซียยังส่งออกวัตถุดิบและสินค้ากลุ่มพลังงานเช่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
หลังจากเกิดเหตุการณ์ไครเมีย สหภาพยุโรปใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเนื่องกับรัสเซียซึ่งดูไม่มีทีท่าสะทกสะท้านเท่าใดนัก ในทางกลับกัน Boris Abramov ตัวแทนการค้าของรัสเซียเพิ่งจะยิ้มร่าชี้แจงตัวเลขการค้าระหว่างอังกฤษและรัสเซียที่เติบโตเป็นประวัติการณ์เกือบ 30% ในปี 2017 โดยมูลค่าการค้าใน 9 เดือนแรกสูงแตะ 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะตัวเลขของปี 2016 ทั้งปีอยู่ที่ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าเพิ่มขึ้น 25% ทุกปีต่อเนื่องจากปี 2014
มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เป็นเครื่องมือสำคัญดูเหมือนจะไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะที่ผ่านมารัสเซียแสดงให้เห็นแล้วว่าไม่สะทกสะท้านกับการถูกสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปคว่ำบาตรมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจของรัสเซียยังโตต่อเนื่องและยังเข้มแข็งอย่างที่ทั่วโลกเห็น
ยาชินทึ่งที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสบอกว่าสหภาพยุโรปอาจจะผนึกกำลังกันตอบโต้รัสเซียด้วยมาตรการทางการทูตที่แข็งกร้าว เพราะถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงและอธิปไตยของทุกประเทศ เช่นเดียวกับ อังเกลา แมร์เคิล ผู้นำหญิงเหล็กแห่งเยอรมนีก็แสดงท่าทีพร้อมยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับอังกฤษ
ล่าสุด 16 รัฐสมาชิก EU เตรียมขับทูตรัสเซียออกนอกประเทศ ขณะที่คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้ใช้มาตรการเดียวกันในการไล่นักการทูตของรัสเซีย 60 คนกลับประเทศ ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์การเมืองที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุคสมัยใหม่
บรรยากาศการเมืองระหว่างประเทศที่เป็นอยู่จึงชวนให้นึกถึงยุคสงครามเย็นระหว่างสองอภิมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และโซเวียต แต่คราวนี้เป็นสงครามเย็นภาค 2 ที่มีมหาอำนาจหลายขั้ว และการแข่งขันสะสมอาวุธก็ทรงอานุภาพและเข้มข้นกว่าเดิม
นี่จึงไม่ใช่เกมที่ง่ายเลย ทั้งอังกฤษ รัสเซีย ยุโรป หรือโลกทั้งใบนี้
19.32 น. ยาชินเหลือบดูนาฬิกา เป็นช่วงเวลาเดียวกับตอนที่กอร์บาชอฟลงจากตำแหน่งและมอบรหัสอาวุธนิวเคลียร์ให้กับเยลต์ซิน วันที่สหภาพโซเวียตล่มสลายไปพร้อมกับหัวใจของเขา ความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของประเทศมหาอำนาจโลกที่เขาเคยรู้จักพังทลาย กระทั่งแผ่นดินแม่ก็ยังต้องจำนนต่อพลังของโลกทุนนิยม
ชีวิตของสายลับสองหน้าแบบเขา ไม่มีใครไว้ใจ ไม่มีที่ใดให้เรียกว่าบ้านอย่างแท้จริง หลายสิบปีที่ทำงานให้กับรัฐบาลอังกฤษทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้นก็จริง แต่การขายชาตินั้นพรากจิตวิญญาณของเขาไปและดำดิ่งสู่มลทินอันอดสูที่เกาะกุมจิตใจไปตลอดชีวิต
โลกที่เขามองเห็นในขณะนี้ ยังห่างไกลจากความสงบสุขที่ใฝ่ฝัน ความขัดแย้งและผลประโยชน์คือสิ่งที่ผลักดันโลกนี้ให้เผชิญกับสงครามต่อไป หากแต่อยู่ในรูปแบบ หน้าตาที่ไม่เหมือนเดิมเท่านั้น จะรัสเซีย จะอังกฤษ หรือประเทศไหนๆ ก็ไม่สามารถก้าวข้ามจากเรื่องนี้ไปได้
รถแท็กซี่เคลื่อนตัวออกไปช้าๆ พร้อมสัมภาระทั้งหมดที่เขาพอจะรวบรวมได้ในเวลาอันสั้น เขาตั้งใจจะขาดการติดต่อกับทั้งสองประเทศชั่วคราวเพื่อให้เรื่องของสกรีปอลเงียบลงเสียก่อน โชคดีที่เขาซื้อบ้านหลังเล็กในพื้นที่ไกลหูไกลตาผู้คนแถบชานเมืองในสกอตแลนด์
“ต้องเริ่มต้นใหม่อีกแล้วสินะ” เขาพึมพำกับตัวเอง
โชเฟอร์กระทืบเบรกดังเอี๊ยด ยาชินตัวโคลงไปข้างหน้า มีรถตู้สีดำคันใหญ่พุ่งมาขวางรถที่เขาโดยสารไว้ เขาและคนขับแปลกใจระคนหวาดหวั่น นี่ไม่ใช่เรื่องปกติแน่ๆ เพราะเส้นทางที่เขาเลือกใช้ค่อนข้างเงียบและปลอดคน ไม่น่าจะมีใครผ่านมาแถวนี้ด้วยซ้ำ
ประตูรถตู้เปิดออก ชายหัวโล้นสูงวัยก้าวลงจากรถพร้อมผู้ติดตาม เขาเดินมาที่ข้างตัวรถบริเวณที่ยาชินนั่งอยู่
“ไม่ได้เจอกันนานเลยนะ ยาชิน” ชายลึกลับกล่าวทักทาย
เหงื่อกาฬแตกไหลอาบใบหน้าของสายลับสองหน้า สิ่งที่เขาหลบหนีมาตลอดและไม่อยากให้เกิดขึ้นมาอยู่ตรงหน้าของเขาแล้ว มือทั้งสองสั่นเทา เขาเก็บอาการหวาดกลัวอย่างสุดขีดไม่อยู่ สายตาจ้องไปที่ใบหน้าของผู้มาเยือน
และยาชินก็รู้ตัวว่า ทุกอย่างจบสิ้นแล้ว
Game Over
เสียงปืนดังขึ้น 5 นัด ลูกกระสุนแหวกช่องว่างของอากาศ สังหารเป้าหมายและพยานจนตายสนิท เมื่อดูจนแน่ใจแล้ว ชายหัวโล้นกับพวกเดินกลับขึ้นรถ ปิดประตู และหนีออกไปอย่างรวดเร็ว
รถตู้สีดำทะมึนวิ่งไปข้างหน้า ผ่านถนนสายรองที่เงียบเหงา ทิ้งไว้เพียงความมืดและท้องฟ้าที่เวิ้งว้าง ก่อนจะลับสายตาหายไป
เหมือนกับหลายชีวิตที่ต้องจากไป
และกลายเป็นเพียงความทรงจำที่เลือนลาง
เสียงของอดีตผู้นำรัสเซียยังคงล่องลอยอยู่ในประวัติศาสตร์ ซ้อนทับกับปัจจุบัน
“เราคือหน่อเนื้อแห่งยุคศิวิไลซ์อันรุ่งโรจน์ และตอนนี้ขึ้นอยู่กับพวกท่านทั้งหลายแล้วว่าจะนำพามันกลับมาสู่วิถีอันเหมาะสมหรือไม่”
อ้างอิง:
- www.theguardian.com/politics/2018/mar/14/the-uk-sanctions-imposed-on-russia-by-theresa-may
- warwick.ac.uk/fac/soc/economics/research/workingpapers/2017/twerp_1137_harrison.pdf
- www.lse.ac.uk/ideas/projects/british-soviet-archive
- en.wikipedia.org/wiki/Sergei_Skripal
- themoscowtimes.com/articles/russias-economic-recovery-remains-a-challenge-60359
- www.ft.com/content/3aac3faa-1bb6-11e8-aaca-4574d7dabfb6
- en.wikipedia.org/wiki/Economic_history_of_the_Russian_Federation
- www.worldklems.net/conferences/worldklems2010/worldklems2010_voskoboynikov.pdf
- www.nytimes.com/1991/12/26/world/end-of-the-soviet-union-text-of-gorbachev-s-farewell-address.html
- www.bbc.com/news/world-europe-14560280
- www.fpo.go.th/FPO/admin/scripts/getpdf.php?id=6059
- prachatai.com/journal/2010/11/31871
- www.russia-briefing.com/news/russia-united-kingdom-2017-trade-28.html/
- www.theguardian.com/news/datablog/2010/feb/24/uk-trade-exports-imports
- www.history.com/news/ping-pong-diplomacy
- www.ft.com/content/3a8ae2e8-cf0c-11e7-b781-794ce08b24dc
- www.theguardian.com/football/2015/oct/28/sepp-blatter-fifa-russia-2018-world-cup-vote
- www.telegraph.co.uk/football/2018/03/09/england-boycott-russia-world-cup-could-see-banned-2022/
- www.ft.com/content/3a8ae2e8-cf0c-11e7-b781-794ce08b24dc
- www.youtube.com/watch?v=wVAmqt9tXJw
- www.firstpost.com/world/fifa-world-cup-2018-russian-president-vladimir-putin-says-countrys-image-will-depend-on-tournaments-success-4370965.html
- งานวิจัย The Politicization of Sports as a Soft Power Public Resource – Vera A. Korneeva and Evgeny S. Orgurtsov
- sputniknews.com/business/201711281059493588-russia-uk-trade/
- ec.europa.eu/trade/policy/countries-and-regions/countries/russia/
- europa.eu/newsroom/highlights/special-coverage/eu-sanctions-against-russia-over-ukraine-crisis_en