×

เมื่อใดที่การเมืองกับตำรวจตัดไม่ขาด เมื่อนั้นแรงจูงใจในการพัฒนาองค์กรอาจไม่มากเท่าการวิ่งเต้นตำแหน่ง

18.09.2024
  • LOADING...
การเมือง ตำรวจ

การที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) โดยที่นายกฯ กำกับดูแลคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เองนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกหรือมีนัยสำคัญอะไร

 

แต่เป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ ฉบับใหม่ พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก.ตร. เท่านั้น ไม่สามารถมอบหมายให้ใครแทนได้ ส่วน ตร. และ ก.ต.ช. นายกฯ ที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดสามารถมอบให้ผู้ที่เห็นว่าเหมาะสมมาดูแลในเชิงบริบทได้

 

ที่ผ่านมาในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ดูแลทั้งในส่วน ตร. และ ก.ตร. แต่ ก.ต.ช. ไม่สามารถมอบหมายได้ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547

 

จึงจะเห็นว่า แม้กฎหมายตำรวจจะถูกปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนไปกี่ยุคสมัยล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายการเมืองมากำกับดูแลโดยตลอด ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนจะเห็นภาพตำรวจกับการเมืองซ้อนทับกันไปมา แตกต่างตัวละครกันไปตามแต่สายหรือหัวรัฐบาล ณ ขณะนั้น

 

THE STANDARD พูดคุยกับ พล.ต.อ. ปัญญา มาเม่น อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และในฐานะคณะทำงานเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปตำรวจ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ขององค์กรที่มีผู้ใต้บังคับบัญชากว่า 200,000 นาย กับสถาบันการเมือง และความพยายามปฏิรูปองค์กรตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

 

นายกฯ-การเมือง-ตำรวจ สิ่งที่ยึดโยงกัน

พล.ต.อ. ปัญญา กล่าวว่า ทั้ง 3 สิ่งนี้เป็นเหมือนวัฒนธรรมของตำรวจ แต่ไม่ได้เกิดจากตำรวจฝ่ายเดียว ก่อนหน้านี้สมัยที่ตนยังรับราชการ ถ้าหัวหน้าตำรวจมีลูกน้องอยู่ประมาณ 500-600 คน เราก็ไม่ได้ให้ความสำคัญถึงขนาดวิ่งเข้าหารัฐมนตรีหรือนักการเมืองมากนัก เพราะว่าตำรวจมีประชาชนอยู่ด้วย เวลาประชาชนเดือดร้อน ทางการเมืองเองจะช่วยหาทรัพยากรมาสนับสนุนตำรวจ 

 

แต่ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นกลับกัน ประชาชนวิ่งเข้าหาการเมืองเพื่อให้ตำรวจทำงาน ตำรวจเองก็วิ่งเข้าหานักการเมือง ซึ่งตนมองว่าตำรวจพวกนั้นคือตำรวจที่มีงานทำน้อย พวกเขาวิ่งเข้าหาบารมีนักการเมือง สุดท้ายมันจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดเป็นวัฒนธรรมลูกโซ่

 

แน่นอนว่าการเมืองกับตำรวจหากยึดโยงกันทั้งหมดย่อมไม่ใช่เรื่องดี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมือง ณ ขณะนี้ พัฒนาไปพอสมควรแล้ว ตำรวจเองต้องอาศัยการเมือง เพราะถ้าอยู่อย่างโดดเดี่ยว ตัดการเมืองทิ้ง ใครกันจะสนับสนุนตำรวจทั้งเรื่องทรัพยากรในการบริหารงานต่างๆ เงินงบประมาณ เพราะสิ่งเหล่านี้ที่จะต้องผ่านกระบวนการทางสภาผู้แทนราษฎร

 

นายกฯ เลือก ผบ.ตร.

ประเด็นที่นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ ก.ตร. เอง พล.ต.อ. ปัญญา กล่าวว่า ถ้ามองในมุมมองของนักวิชาการหรือส่วนตัวมองว่ามีความเสี่ยง เพราะถือว่านายกฯ มาคนเดียว มาอยู่ท่ามกลางวงเสือ โอกาสที่จะตัดสินใจทำอะไรผิดพลาดมีสูงมาก เพราะข้อระเบียบกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งตั้งในสำนักงานตำรวจมีความละเอียดอ่อนและปลีกย่อยมาก 

 

แต่หากเราจะไล่นายกฯ ออกไปให้อยู่ในมุมมืด สั่งการจากข้างนอกโดยไม่ต้องรับผิดชอบ ตนเองคิดว่าให้นายกฯ เข้ามาสั่งการและรับผิดชอบในที่แจ้งดีกว่า ส่วนความเห็นว่าให้ย้ายตำรวจไปเป็นกระทรวงแล้วมีรัฐมนตรีมาควบคุมจะดีกว่า ส่วนตัวมองว่าถ้าจะทำตามระบบดังกล่าวจะต้องมีความเที่ยงธรรมสูงมาก 

 

พล.ต.อ. ปัญญา กล่าวว่า ทางออกในเรื่องนี้คือทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ยึดตามหลักที่กำหนดเอาไว้ อย่างการเลือกสรรผู้บังคับบัญชาที่ระบุให้มีเกณฑ์อาวุโสและความรู้ความสามารถ ก็ต้องทำตามนั้นให้เคร่งครัด เราไม่จำเป็นต้องไปแก้กฎหมายเพื่อเอานายกฯ ออกไปจาก ก.ตร. เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีการเมืองมาแทรกแซงตำรวจ แต่ขอให้ตำรวจด้วยกันเองกลับมาทำตามกฎหมายให้จริงจัง

 

“คีย์เวิร์ดมันไม่ใช่แค่การเอานายกฯ ออกไป แต่ต้องเอานายกฯ เข้ามาเพื่อให้จัดสรรทรัพยากรตำรวจที่มันขาดแคลน ซึ่งเป็นหัวใจของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565” พล.ต.อ. ปัญญา กล่าว

 

อีกสิ่งหนึ่งของการเลือกผู้บังคับบัญชาที่เราจะมองข้ามไม่ได้ คือความโชคร้ายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ณ ขณะนี้ โดยสิ่งที่ตนมองเห็นคือในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเรามี ผบ.ตร. ที่ไม่เคยผ่านงานโรงพัก ไม่เคยเป็นหัวหน้าตำรวจโรงพัก ฉะนั้นตำรวจอีก 200,000 คนจะรู้สึกว่า ผบ.ตร. ไม่มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจหรือรู้ถึงความทุกข์ยากผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างแท้จริง 

 

หัวใจของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565

พล.ต.อ. ปัญญา อธิบายว่า หัวใจหลักของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 คือต้องการกระจายอำนาจองค์กรให้เสมือน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 แต่อาจยังไม่สมบูรณ์เท่า เนื่องจากสมัยปีที่ออก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มี คสช. เป็นรัฐบาล

 

ในสิ่งที่ ก.ต.ช. ดำเนินการ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 คือออกมาตรา 87 วรรคท้าย เพื่อป้องกันผู้อื่นไปก้าวก่ายการแต่งตั้ง โดยใช้คำว่า ผู้ใดให้หรือยอมจะให้ หรือจะรับหรือจะเข้าไปกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้เกิดการแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งตำแหน่งใด มีโทษจำคุก 5 ปี

 

นอกจากนี้หัวใจของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 พล.ต.อ. ปัญญา กล่าวว่า ยังเน้นเรื่องแก้ปัญหาสถานีตำรวจ ว่าต้องทำให้สถานีมีความพร้อม โดยสิ่งที่ต้องเสริมมีทั้งเรื่องเงินเดือน อัตรากำลัง ค่าเสี่ยงภัย แต่จนถึงวันนี้ตนเองมองว่า ก.ตร. ยังไม่ได้ให้ความสนใจเท่าใด กลับมุ่งที่เรื่องแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่ง

 

ซึ่งการแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มีการใช้ระบบอาวุโส คือนำเรื่องอายุมาเป็นเกณฑ์พิจารณาถึง 50% ส่วน 50% ที่เหลือเป็นการแข่งขันเพื่อสรรหาคนเก่ง คนดี คนกล้า คนที่มีผลงานจริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏว่า 50% หลังนี้กลายเป็นช่องว่าง เป็นโควตาเอื้อพรรคพวกของตัวเอง 

 

การที่มีคำว่าโควตามันทำให้ขวัญกำลังใจตำรวจเสียหาย ฉะนั้นท่านผู้บริหารของ ตร. ไม่ว่าจะเป็น ก.ตร. หรือตำแหน่งบริหารต่างๆ ต้องย้อนกลับมาดูตัวเองว่า เราสร้างระบบโควตาไว้หรือไม่ ถ้าเราสร้างระบบโควตาก็ไม่ต่างกับการหลอกลูกน้องใต้บังคับบัญชาให้ทำดี ทำเก่ง แต่เมื่อถึงเวลาเราไม่เลือกพวกเขา

 

ปฏิรูปตำรวจ มายาคติไกลเกินเอื้อม?

พล.ต.อ. ปัญญา กล่าวว่า การปฏิรูปตำรวจตลอดเวลาที่ผ่านมา องค์กรตำรวจมีคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติคอยขับเคลื่อนเสมอ แต่ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการปฏิรูปเป็นเรื่องของการพัฒนาให้สิ่งที่มีอยู่ดีขึ้น เน้นหนักเรื่องการปรับปรุง แต่ไม่ใช่การปฏิวัติที่เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด 

 

ส่วนตัวเองได้เข้าไปอยู่ในคณะทำงานเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจ ที่ผ่านมาการปฏิรูปใหญ่สุดคือช่วงปี 2547 ที่มี พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 เป็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องอำนาจการแต่งตั้งจากที่เดิมอยู่กับอธิบดีกรมตำรวจ (ตำแหน่ง ผบ.ตร. ปัจจุบัน) คนเดียว กระจายไปเป็นของผู้บัญชาการภาคต่างๆ และใช้ต่อเนื่องมาจนปี 2565 ที่มีการออก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 

 

โดยสิ่งที่เสริมขึ้นคือการตัดสินใจของตำรวจเป็นอิสระมากขึ้น ทั้งด้านการบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งโยกย้าย การสั่งการคดี จนกระทั่งสมัย คสช. ปี 2557 ที่มีการรวมอำนาจกลับมาไว้ที่รัฐบาลทั้งหมดอีกครั้ง

 

คสช. พิจารณาว่า หากมีการกระจายอำนาจไปยังผู้บัญชาการต่างๆ อาจเกิดการใช้อำนาจไม่ถูกต้อง อาจมีการซื้อขายตำแหน่ง เพราะฉะนั้นการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ควรมาจากส่วนกลาง เป็นการบริหารงานแบบรวมศูนย์ ซึ่งสิ่งที่ตามมาของรูปแบบนี้คือเรื่องการวิ่งเต้น เพราะคนมีอำนาจแต่งตั้งมีเพียงไม่กี่คน กระจุกอยู่ส่วนกลาง

 

สำหรับองค์กรตำรวจที่มีผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นจำนวนมาก และต้องปฏิบัติงานใกล้ชิดกับประชาชน หัวเรือที่ควบคุมย่อมมีความสำคัญ เพราะจะกำหนดทิศทางบริหารงานตั้งแต่ภายในจนนำไปสู่ภายนอก 

 

แต่ทั้งนี้หัวเรือไม่ว่าจะมาจากการเมืองหรือไม่ ความสัมพันธ์และแรงพึ่งพาของทั้งสองฝ่ายเหนียวแน่นเพียงใด ขอเพียงอย่างเดียวคืออย่าละเลยว่าประชาชนจะสามารถพึ่งพาใครได้บ้าง…จากการที่พวกคุณพึ่งพากัน 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X