×

มองการเมืองระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขงผ่านการ์ตูนแอนิเมชัน ‘Raya and the Last Dragon’

17.01.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • ปี 2021 ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรกจากค่าย Walt Disney Animation Studios เรื่อง Raya and the Last Dragon ได้สร้างประวัติศาสตร์ในการสร้างเจ้าหญิงดิสนีย์คนแรกที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้นอกจากจะได้ลุ้นระทึกกับเรื่องราวแฟนตาซีและองค์ประกอบทางวัฒนธรรม เช่น เสื้อผ้า สถาปัตยกรรม อาหาร ภาษา จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ภาพยนตร์ได้แทรกสถานการณ์การเมืองของลุ่มแม่น้ำโขงในปัจจุบันระหว่างกลุ่มประเทศ Greater Mekong Subregion (GMS) ไว้อย่างแยบยลผ่านสัญญะทางวัฒนธรรม

 

ปี 2021 ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรกจากค่าย Walt Disney Animation Studios เรื่อง Raya and the Last Dragon ได้สร้างประวัติศาสตร์ในการสร้างเจ้าหญิงดิสนีย์คนแรกที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้จะนำคุณเดินทางไปในโลกมหัศจรรย์แห่งคูมันตรา ที่มนุษย์และมังกรอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ แต่เมื่อเหล่าสัตว์ประหลาดสุดชั่วร้ายได้บุกรุกเข้ามา เหล่ามังกรได้เสียสละตัวเองเพื่อปกป้องมนุษยชาติ 

 

หลังจาก 500 ปีผ่านไป สัตว์ประหลาดพวกนั้นได้กลับมาอีกครั้ง และมันเป็นหน้าที่ของ รายา นักรบสาวผู้โดดเดี่ยว กับการตามหามังกรตัวสุดท้าย เพื่อรวมอาณาจักรให้เป็นหนึ่งและปกป้องผืนแผ่นดิน 

 

ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้นอกจากจะได้ลุ้นระทึกกับเรื่องราวแฟนตาซีและองค์ประกอบทางวัฒนธรรม เช่น เสื้อผ้า สถาปัตยกรรม อาหาร ภาษา จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ภาพยนตร์ได้แทรกสถานการณ์การเมืองของลุ่มแม่น้ำโขงในปัจจุบันระหว่างกลุ่มประเทศ Greater Mekong Subregion (GMS) ไว้อย่างแยบยลผ่านสัญญะทางวัฒนธรรม

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์แอนิเมชัน Raya and the Last Dragon

ภาพ: https://movies.disney.co.th/raya-and-the-last-dragon

 

แอนิเมชันเรื่องนี้หยิบยกเอาเรื่องราวภูมิรัฐศาสตร์ของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่เรียกว่า Greater Mekhong Subregion (GMS) อันประกอบไปด้วย ไทย, เวียดนาม, สปป.ลาว, กัมพูชา, เมียนมา และจีน ที่ต่างมีผลประโยชน์ร่วมกันจากแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศเหล่านี้มาสอดแทรกไว้

 

ประเด็นสำคัญคือ การพูดถึงจีนที่มีศักยภาพและมีอิทธิพลต่อกลุ่มประเทศเหล่านี้ เนื่องจากจีนมีโครงการสร้างเขื่อนทั้งในเขตดินแดนของจีนเองและภายในกลุ่มประเทศ GMS ซึ่งประเทศตะวันตกมักจะตั้งคำถามต่อจีนที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าและใช้หล่อเลี้ยงการบริโภคในประเทศอย่างมหาศาล หวังตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศในการเป็นทุนนิยม  

 

ตัวละครสัตว์ประหลาดที่ทำลายน้ำออกไปจากคูมันตรา หรือ ‘ดรูน’ สื่อถึงจีนที่มีอำนาจในการดึงน้ำจากคูมันตรา ซึ่งในสภาพแท้จริง จีนมีการควบคุมน้ำเพื่อไว้ใช้ภายในประเทศจากต้นน้ำโขงที่อยู่ในทิเบตและมณฑลยูนนาน ส่งผลให้แม่น้ำโขงถูกควบคุมการกระจายน้ำจากจีนที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำโขง 

 

เขื่อนที่สร้างเสร็จแล้ว (สีดำ)

เขื่อนที่กำลังอยู่ระหว่างการสร้าง (สีแดง) 

และเขื่อนที่มีแผนที่จะสร้าง (สีเหลือง)

ภาพ: The Foundation for Ecological Recovery

 

เขื่อนเชียงรุ้ง (景洪大坝) ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน 

ภาพ: https://www.rfa.org/mandarin/yataibaodao/huanjing/pl-01062021143754.html

 

อัญมณีมังกรและมังกรน้ำ หมายถึง ‘พญานาค’ อันเป็นสัญญะของแม่น้ำในวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง ภาพสะท้อนถึงโลกของความเป็นจริงในกลุ่มประเทศ GMS ซึ่งชนเผ่าต่างๆ ในภาพยนตร์ หมายถึงกลุ่มประเทศที่อยู่ภายใต้ผลกระทบของการควบคุมของแม่น้ำโขงจากจีน

 

เมื่อซูมดูปลายสุดของแผนที่ คูมานตราคือเผ่าหาง (Tail) สะท้อนภาพกัมพูชาที่มีเกวียนและไหแบบเขมรโบราณ รวมถึงเรือของกัปตันเรือตัวน้อยที่ชื่อว่าบุญ มีลักษณะเป็นโขนเรือแบบเขมร เป็นสัญญะทางวัฒนธรรมที่แสดงตัวตนของผลกระทบจากการควบคุมน้ำของจีน 

 

ขณะเดียวกันเผ่ากงเล็บ (Talon) มีองค์ประกอบแบบตลาดน้ำ และเป็นเมืองที่มีความคึกคักทางเศรษฐกิจจากการค้า และมีการแต่งตัวคล้ายกับกลุ่มชนเผ่าไท-กะได ซึ่งเป็นตัวแทนของไทยและเวียดนาม ที่มีความเข้มแข็งทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ 

 

เผ่าสันหลัง (Spine) ก็เป็นอีกเผ่าหนึ่งที่สะท้อนถึงเมียนมา ประเทศที่เต็มไปด้วยหุบเขาสูง เป็นที่รวมตัวของนักรบผู้น่าเกรงขามที่เป็นภาพสะท้อนของชนกลุ่มน้อยหรือชายขอบที่ได้รับผลกระทบจากลุ่มแม่น้ำโขง

 

ผ่าเขี้ยว (Fang) หากพิจารณาจะเห็นภาพสะท้อนของ สปป.ลาว เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กับจีนและอยู่ใกล้กับจีนที่มีโครงการพัฒนาร่วมกันภายในประเทศมากมาย เช่น รถไฟความเร็วสูง และเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง เช่น การสร้างเขื่อนไซยะบุรีเพื่อเอาตัวรอด

 

ขณะเดียวกันก็เป็นชนเผ่าที่เริ่มเป็นผู้ร้ายทำแผ่นดินแตกแยก หากพิจารณาองค์ประกอบก็จะเห็นว่า เป็นล้านช้างร่มขาว จากการออกแบบฉากและการแต่งกายสีขาว 

 

เผ่าสุดท้ายคือเผ่าใจ (Heart) เป็นเผ่าที่แสดงถึงความเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีแนวคิดเสรีนิยมนำ (Liberalism) สื่อถึงคณะกรรมการลุ่มแม่น้ำโขง Mekong Region Comission (MRC) ที่พยายามใช้แนวทางประสานงานและสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาแม่น้ำโขงด้วยความเชื่อใจ (Mutual Trust)

 

แผนที่อาณาจักรคูมันตราที่แตกแยกเป็นส่วนต่างๆ ของมังกร 

ภาพ: @mintmovie, DeviantArt, @mintmovie3

  

แอนิเมชันเรื่องนี้มาจากค่ายสตูดิโอที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่เป็นเหมือนเครื่องเตือนใจกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงต่อจีนที่คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลาง และชี้ให้เห็นว่า จีนถือว่าตัวเองเป็นพี่ใหญ่ของภูมิภาคนี้ ด้วยการส่งออกความหวาดกลัวและไร้ซึ่งความยุติธรรมในการแบ่งปันน้ำ จนกว่าคณะกรรมการ MRC จะเปิดเวทีเจรจา 

 

ในแอนิเมชันได้สื่อสารถึงการรวมตัวกันต่อต้าน ต้องรวมใจกัน เพราะสิ่งที่ต้องกลัวไม่ใช่ประเทศสมาชิก เปรียบเสมือนดินแดนคูมันตราที่สามารถกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง ถ้าเราร่วมมือกันกำจัดอำนาจเหนือลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อลดการผงาดขึ้นมามีอำนาจของจีน 

 

เมืองหลวงของเผ่าเขี้ยว 

ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากนครวัดและอาณาจักรล้านช้างร่มขาว 

ภาพ: https://rayaandthelastdragon.fandom.com/wiki/Fang

 

ตัวละครหลัก 2 ตัว คือ รายาและนามารี กำลังสนทนาโดยมีสำรับอาหาร

และลวดลายทางสถาปัตยกรรมแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบอยู่ในฉาก 

ภาพ: Raya and the Last Dragon

 

สุดท้ายนี้แม้ว่าภาพยนตร์พยายามที่จะโน้มน้าวให้เราคิดถึงภัยคุกคามจากจีนโดยการวางเรื่องจากฝั่งอเมริกา แต่หากเรามองสถานการณ์ให้ออก เราก็ไม่ต้องรอให้สหรัฐอเมริกาใช้พลังของสื่อในการโน้มน้าวเพื่อให้เราตื่นตัวกับสถานการณ์นี้แต่อย่างใด

 

เพราะในความเป็นจริงแล้ว สิ่งเราควรตระหนักคือ การรักษาสิ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและทรัพยากรร่วมกัน ขณะเดียวกันสิ่งที่สำคัญมากกว่าความยิ่งใหญ่ที่ภาพยนตร์พยายามจะขยายความจากการรวมกันของเผ่าต่างๆ นั่นคือการรวมตัวกันเพื่อความอยู่รอดจากอิทธิพลของมหาอำนาจที่มองเห็นประโยชน์ในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 

 

แม้ว่าบทบาทของจีนจะชะงักลงไปจากสถานการณ์โควิด แต่เชื่อว่าจีนจะกลับมามีบทบาทบนเวทีลุ่มแม่น้ำโขงอีก ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเขื่อนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการค้าและการลุงทน สังคมและวัฒนธรรม ผ่านการท่องเที่ยวที่จะกลับมามีบทบาทอีกครั้ง 

 

 

เกวียนแบบเขมรโบราณ 

และรูปที่มีโขนเรือแบบเขมร แต่ทรงเรือเป็นแบบชวา

 

 

ภาพ: Raya and the Last Dragon

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising