ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล คือเลือดใหม่เพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ และสิ่งที่ทีมนโยบายเศรษฐกิจเพื่อไทยต้องเผชิญคือข้อกล่าวหาตลอดกาลอย่าง ‘ประชานิยม’ จากฝ่ายที่ไม่เข้าใจว่าทำไม ‘รากหญ้า’ และ ‘ชนชั้นกลางใหม่’ ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนผ่านนโยบายต่างๆ
ขณะที่การบริหารประเทศในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ‘ข้าราชการ’ คือคนกำหนดแผนให้ประเทศ
แต่การเมืองกลับไร้ซึ่ง ‘นโยบายเพื่อประชาชนจากการเลือกโดยประชาชน’ ไทยกลายเป็นประเทศเหลื่อมล้ำถึงขั้นที่เศรษฐี 50 คนแรกของประเทศถือครองทรัพย์สินเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของ GDP ประเทศทั้งหมด
นโยบายของ ‘ไทยรักไทย’ พรรคการเมืองจากเสียงประชาชนคนรากหญ้า คือการเมืองสร้างสรรค์ที่ทำให้เผ่าภูมิอยากใช้ศักยภาพดีกรีดอกเตอร์เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ การคลังสาธารณะ จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เพื่อทำงานด้านเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะนโยบาย ‘โยนห่วง’ เพื่อช่วยเกษตรกรที่กำลังจมน้ำ ทั้งยังว่ายน้ำไม่แข็งพอในกระแสธารเชี่ยวกราก
ทางแก้ไม่ใช่ ‘สั่ง’ ให้เขาว่ายไปที่เกาะใดเกาะหนึ่งตามอำเภอใจ แต่ต้องโยนห่วงไปให้แล้วค่อยๆ สอนเขาว่ายน้ำ
การโยนห่วงให้ประชาชนเป็นประชานิยมหรือไม่ แล้วภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อไทยจะผลักดันนโยบายได้อย่างไร และนี่คือคำตอบจากเผ่าภูมิ
ทำไมจึงตัดสินใจมาทำงานการเมือง
หลังกลับจากการเรียนที่ต่างประเทศ ผมเลือกทำงานอยู่สองที่คือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กับธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะมองว่าสามารถใช้ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ทำประโยชน์ได้เต็มที่ และมองว่าคนที่ทำงานตรงนั้นคือคนที่พร้อมจะทำอะไรเพื่อประเทศ ไม่ได้เพียงใช้ความรู้ความสามารถเพื่อประโยชน์ส่วนตัว สุดท้ายก็เลือกทำงานที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นเวลา 1 ปีกว่าๆ ก่อนที่ผมจะเลือกถอยออกมา
เพราะผมมองว่าสิ่งที่ผมคิดกับการทำให้เกิดขึ้นจริงมันมีระบบราชการคั่นอยู่ มีช่องว่างระหว่างเขากับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจอย่างรัฐมนตรีหรือผู้บริหารระดับสูงของประเทศ
แต่สิ่งที่จะลดช่องว่างตรงนี้ได้คือการเมือง พรรคการเมือง พอได้เข้ามาทำงานในพรรคการเมือง การได้แลกเปลี่ยนกับผู้ที่เคยผ่านตำแหน่งสำคัญๆ มาแล้วทำให้ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากขึ้น
ผมคิดว่าเราสามารถขัดแย้ง สามารถทะเลาะกันได้ ถ้าการทะเลาะเป็นไปเพื่อการหาคำตอบและหาทางออกให้ประเทศ ทะเลาะกันแรงๆ เพื่อหานโยบายก็ได้ แต่ถ้าการทะเลาะเป็นไปเพื่อการได้มาซึ่งอำนาจ เป็นการสาดเสียเทเสีย ด่ากันไปด่ากันมา ผมว่าอันนั้นไม่ใช่การเมืองเชิงบวกในความหมายผม
มุมมองในฐานะคนนอกก่อนเข้าพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างไร
ผมไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ใช่ NGO แต่การพูดคุย วิพากษ์นโยบายและผลงานของรัฐบาลก็เป็นสิ่งที่ผมทำอยู่อย่างต่อเนื่อง
พรรคไทยรักไทยในอดีตคือพรรคที่เอานโยบายมาหาเสียง และนโยบายก็เกิดได้จริง สามารถนำผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วมงานและผลักดันให้เกิดได้จริง นั่นคือสิ่งที่คนนอกมากๆ อย่างผมมองเห็น
แม้พรรคการเมืองและนักการเมืองโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยจะถูกทำให้เป็นปีศาจ แต่ผมก็ขอยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการเมืองสร้างสรรค์ เพราะพรรคเพื่อไทยเข้าใจประชาชน
ผมคิดว่าเราสามารถขัดแย้ง สามารถทะเลาะกันได้ ถ้าการทะเลาะเป็นไปเพื่อการหาคำตอบและหาทางออกให้ประเทศ ทะเลาะกันแรงๆ เพื่อหานโยบายก็ได้ แต่ถ้าการทะเลาะเป็นไปเพื่อการได้มาซึ่งอำนาจ เป็นการสาดเสียเทเสีย ด่ากันไปด่ากันมา ผมว่าอันนั้นไม่ใช่การเมืองเชิงบวกในความหมายผม
ถามว่าสิ่งที่ทำมา 4-5 ปีที่ผ่านมามีอะไรดีไหม ก็มี แต่ก็มีสิ่งที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง ผมถึงอยากเข้ามาทำสิ่งที่ถูก สิ่งที่เหมาะสม
มองว่าพรรคเพื่อไทยมีจุดเด่นอะไร
หนึ่ง เป็นพรรคที่มีวิสัยทัศน์สูงมาก ซึ่งผมเป็นคนที่มีเป้าหมายในชีวิต และเพื่อไทยก็เป็นพรรคที่ไม่ได้มองนโยบายสั้นๆ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ แต่พรรคเพื่อไทยคือพรรคที่กำหนดเป้าหมายว่าประเทศไทยจะไปอยู่ตรงไหนในเวทีโลก จะมียุทธศาสตร์อย่างไรในการสนับสนุนประเทศไทยให้ไปสู่จุดนั้น และวิธีการเพื่อให้ประเทศไทยไปถึงจุดนั้นคือนโยบาย
สอง พรรคเพื่อไทยมี ส.ส. ในพื้นที่จำนวนมาก ทำให้เข้าใจประชาชน ซึ่งการมีวิสัยทัศน์ มีนโยบายเพื่อไปสู่เป้าหมาย ไม่สามารถเกิดได้เองจากผู้บริหารพรรคหรือคณะกรรมการนโยบาย แต่ต้องมาจากการเข้าใจบริบทและสภาพของประชาชนในประเทศด้วยว่านโยบายนั้นเหมาะสมกับความต้องการของเขาไหม การมี ส.ส. พื้นที่จึงช่วยให้สามารถปรับนโยบายได้เหมาะสมกับพื้นที่
สาม จากการได้มาทำงานในพรรคเพื่อไทย ผมเห็นว่าบรรยากาศการทำงานในพรรคเป็นประชาธิปไตยสูงมากผ่านการมีจุดยืนสำคัญคือการเคารพความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อไทยให้ความสำคัญกับคุณภาพความคิดของคนแล้วเอาตรงนั้นมาถกกัน มีการแลกเปลี่ยนกัน
เพื่อไทยมีคนรุ่นใหม่เข้ามามาก ช่องว่างระหว่างวัยทำให้มีปัญหาการทำงานกับรุ่นใหญ่ในพรรคหรือไม่ มีการงัดกันบ้างไหม
ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่การงัดกัน และผมมองไม่เห็นว่าจะมีผู้ใหญ่ในพรรครู้สึกว่าการแลกเปลี่ยนความเห็นกันอันไหนเป็นความเห็นของเด็กอ่อนด้อยไร้ซึ่งประสบการณ์ ไม่เคยเกิดขึ้นเลย ผมเคยเสนอบางอย่าง ซึ่งเขาไม่ได้มองว่าคนเสนอเป็นใคร ถ้าสิ่งที่เสนอมันไม่ใช่ก็จะได้รับคำแนะนำจากคนที่มากประสบการณ์ ผมไม่เคยเห็นว่านั่นเป็นการมองด้วยความรู้สึกท้าทาย พรรคมีความเปิดกว้างสูงมาก โดยเฉพาะจากการได้ทำงานกับคุณภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งมีความคิดเป็นระบบ มองอะไรในเชิงยุทธศาสตร์สูง และเปิดรับมาก
คิดว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ของเพื่อไทยมีคาแรกเตอร์แบบไหน
ที่เปิดตัวไป 30 คน อย่างแรกคือมีจุดยืนประชาธิปไตยเป็นพื้นฐาน และอีกเรื่องคือทัศนคติเชิงบวก พร้อมที่จะมองถึงประโยชน์ส่วนรวมจริงๆ ต้องการนำความรู้ความสามารถที่มีมาใช้ประโยชน์
สิ่งที่ควรทำคือโยนห่วงยางให้แล้วค่อยๆ สอนเขาว่ายน้ำ ค่อยๆ ชี้ว่าจะว่ายไปทางไหน
แต่วันนี้ประเทศไทยมีกรอบต่างๆ จำกัดอยู่ ทั้งรัฐธรรมนูญที่จำกัดประชานิยม ทั้งยุทธศาสตร์ชาติ คิดว่าจะทำนโยบายอย่างไร
ยุทธศาสตร์ชาติมีได้ หากเป็นวิสัยทัศน์ แต่ยุทธศาสตร์ชาติต้องเปิดกว้าง เพราะแต่ละรัฐบาล การทำนโยบาย กระบวนการเดินไปสู่เป้าหมาย และวิสัยทัศน์นั้นย่อมมีวิธีที่แตกต่างกัน
ใครคือคนตัดสินเลือกกระบวนการหรือวิธีการ คำตอบคือประชาชน ประชาชนจะตัดสินว่าจะก้าวอย่างไรให้ไปถึงจุดมุ่งหมายนั้น
ยุทธศาสตร์ชาติมีได้ แต่ไม่ใช่กรอบที่บอกว่าห้ามเลี้ยวซ้าย ห้ามเลี้ยวขวา กรอบแบบนั้นมันเป็นความคิดของคนส่วนใหญ่หรือเปล่า และถึงมันจะเป็นความคิดของคนส่วนใหญ่ แต่มันจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องตลอดระยะเวลาที่จะไปถึงจุดมุ่งหมายนั้นเลยหรือเปล่า
อีกเรื่องคือ ‘ประชานิยม’ ซึ่งต้องมาตั้งหลักกันที่คำจำกัดความก่อน เพราะที่ผ่านมาให้คำจำกัดความไม่เหมือนกัน ในเมื่อรัฐบาลมีทรัพยากรอยู่จำกัดก็ควรนำทรัพยากรจัดสรรให้กับคนที่มีแนวโน้มจะนำทรัพยากรไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ดังนั้นระหว่างการเอาเงินไปให้คนที่จะนำเงินไปใช้จ่ายต่อหลายๆ ทอด เช่น ให้เงินกับผู้ค้า ผู้ประกอบการที่ขาดแคลนต้นทุนการผลิต แล้วผู้ประกอบการก็นำเงินไปซื้อวัตถุดิบจากผู้ค้ารายอื่นๆ ต่อกันหลายๆ ทอด ถามว่าเป็นประชานิยมไหม
เทียบกับการทำให้เงินไปเพิ่มอยู่ในกระเป๋าของคนมีฐานะร่ำรวย แล้วเงินนั้นก็ไปนิ่งอยู่ในบัญชีเงินฝากของเขา ไม่เกิดการกระจายไปสู่คนอื่นๆ
ดังนั้นในแนวทางของตัวอย่างแรกที่ยกไป หากนั่นคือประชานิยมและนโยบายต่างๆ ที่ถูกกล่าวว่าเป็นประชานิยมแบบตัวอย่างแรก ผมว่าหลักคิดของมันไม่ผิด
ปัจจุบันเรามีความเหลื่อมล้ำสูง แล้วภาคการเกษตรก็เป็นภาคการผลิตที่สร้างมูลค่าการผลิตน้อยกว่าภาคอุตสาหกรรม คนของเราในภาคเกษตรจึงมีรายได้น้อยกว่า สิ่งที่เราควรจะทำคือการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรไปสู่ภาคที่มีผลิตภาพสูงกว่า คือภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการ
ผมชอบโมเดลของญี่ปุ่น เขาพยายามเคลื่อนย้ายโดยให้เกษตรกรรายเล็กที่มีรายได้ต่ำเคลื่อนไปสู่ภาคอื่น แต่ยังคงให้มีเกษตรกรที่มีผลิตภาพสูงอยู่นะ ส่วนทรัพยากรของเกษตรกรที่มีรายได้ต่ำก็จะถูกจัดสรรใหม่ไปสู่เกษตรกรที่มีศักยภาพสูง ทำให้ผลผลิตโดยรวมสูงขึ้น เรื่องนี้คือเรื่องที่ต้องทำในระยะยาว ต้องทำแน่ๆ
แต่ระยะสั้นเราก็ไม่สามารถทิ้งคนที่ถูกย้ายภาคการผลิตได้ เกษตรกรในปัจจุบันเหมือนคนกำลังจมน้ำ คุณไม่สามารถสั่งให้เขาว่ายน้ำแบบทันทีทันใด หรือชี้ว่าคุณต้องว่ายไปเกาะนั้นเกาะนี้เพราะเป็นเกาะที่ดี ไม่ได้ เพราะคนที่กำลังจมน้ำแล้วว่ายไปถึงได้ก็จะมีไม่ถึง 20% แต่ที่เหลืออีกกว่า 80% จะจมน้ำ
สิ่งที่ควรทำคือโยนห่วงยางให้แล้วค่อยๆ สอนเขาว่ายน้ำ ค่อยๆ ชี้ว่าจะว่ายไปทางไหน
ห่วงยางนี้อาจตีความหมายได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายสนับสนุนสินค้าเกษตร นโยบายเคลื่อนย้ายแรงงาน ผมไม่ได้จำกัดความว่าต้องเป็นอะไร แต่มันต้องมี
ถ้าเป็นแบบนั้น กรอบที่มีอยู่จะจำกัดการทำนโยบายหรือไม่ แล้วพรรคเพื่อไทยจะทำอย่างไร
มันอาจทำให้นโยบายที่ดีที่สุด แต่ไม่สามารถถูกนำมาใช้ เพราะจะติดข้อจำกัดต่างๆ จะแก้อย่างไรต้องไปถามคนเขียน ซึ่งถ้ากรอบที่เขียนมันเป็นทางที่ดีที่สุด เพราะเขียนโดยคนที่เก่งที่สุด ดีที่สุด มันก็อาจพอยอมรับได้ แต่ผมไม่เชื่อว่าจะมีคนอย่างนั้น
ห่วงยางนี้อาจตีความหมายได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายสนับสนุนสินค้าเกษตร นโยบายเคลื่อนย้ายแรงงาน ผมไม่ได้จำกัดความว่าต้องเป็นอะไร แต่มันต้องมี
การเลือกตั้งครั้งนี้กลายเป็นการเลือกระหว่างจุดยืนประชาธิปไตยกับเผด็จการสืบทอดอำนาจ คุณมองอย่างไร
การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประชาชนที่ต้องการรัฐบาลแบบที่เป็นมา 4-5 ปีนี้ที่เขาคิดว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนี้ถูก และจะมีคนที่คิดว่า 4-5 ปีนี้ไม่ถูกต้อง และต้องการบรรยากาศที่เปิดกว่า มีการแลกเปลี่ยนที่ดีกว่า การบริหารที่แตกต่างไป และพรรคการเมืองที่สามารถระบุตัวเองได้ว่าจุดยืนเป็นฝ่ายไหนก็จะได้คะแนนพอสมควร ส่วนพรรคที่อยู่ตรงกลางก็จะถูกตั้งคำถาม เพราะประชาชนต้องการเลือกทางใดทางหนึ่งชัดเจนแล้ว แต่คุณไม่ให้คำตอบกับประชาชน หากเลือกแบบใหม่ ประชาชนก็จะมาดูว่านโยบายอันไหนดี ใครเป็นอย่างไร เพื่อไทยเป็นอย่างไร อนาคตใหม่เป็นอย่างไร ครั้งนี้คนเลือกฝั่งก่อน แล้วค่อยเลือกนโยบายในฝั่งนั้น
แล้วคุณวางเป้าหมายในการเลือกตั้งครั้งนี้ไว้อย่างไร
ขออยู่ในจุดที่ทำประโยชน์ได้สูงสุด หากจุดนั้นเป็นจุดที่คิดว่าดี แต่สร้างประโยชน์ให้พรรคไม่ได้ ก็ไม่ควรไปยืน
หากมีอำนาจในการเลือกเปลี่ยนอะไรในประเทศได้สักหนึ่งอย่าง จะเลือกเปลี่ยนอะไร
การเปลี่ยนภาคการผลิตของคนในภาคเกษตรกรรมเคลื่อนย้ายไปสู่ภาคอุตสาหกรรม คือบางคนอาจพูดไปถึงขั้นว่าเคลื่อนจากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคบริการด้วยซ้ำ เพราะเห็นว่าเรามีข้อดีด้านการท่องเที่ยว ภาคบริการ ซึ่งถ้าคุณพูดแค่นั้น คุณรู้ไม่หมด เพราะภาคบริการมีข้อจำกัดพอสมควร คือภาคบริการเราสามารถพัฒนา productivity ได้ถึงระดับหนึ่ง แต่จะเจอทางตัน ส่วนภาคอุตสาหกรรมยังพัฒนาได้สูง ตรงกันข้ามกับภาคบริการ เช่น โรงแรม คุณจะพัฒนาได้ถึงขั้นไหน มันมีทางตันอยู่ ดังนั้นถ้าการมองและเดินไปทางนั้นคือมุมมองที่จะมีในอีก 20 ปี คือการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตรกรรมไปภาคบริการ แบบนั้นมันไม่ถูกต้องนะ วิสัยทัศน์สำคัญ แต่ต้องเป็นวิสัยทัศน์ที่ถูก
การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประชาชนที่ต้องการรัฐบาลแบบที่เป็นมา 4-5 ปีนี้ที่เขาคิดว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนี้ถูก และจะมีคนที่คิดว่า 4-5 ปีนี้ไม่ถูกต้อง
มาถึงเรื่องผู้นำพรรค คิดว่าควรจะเป็นคนอย่างไร
แน่นอนว่าต้องเคารพทุกความเห็น ทุกการมีส่วนร่วมจากทุกองค์ประกอบในพรรค มีประชาธิปไตย ต้องไม่ทำให้สังคมสงสัยในจุดนี้
สอง ต้องมีวิสัยทัศน์ ซึ่งขึ้นอยู่กับศักยภาพ เป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้ แต่ละคนมีต่างกัน ต้องเลือกคนที่เก่งและดีที่สุด
สาม เพื่อไทยเป็นพรรคขนาดใหญ่ การเอาคนมารวมกันและทำให้เกิดศักยภาพได้สูงสุดต้องได้รับการยอมรับและดึงเอาศักยภาพที่มีมาใช้ได้จริง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์