×

เป็น ส.ส. จำเป็นต้องไปงานศพไหม มองพื้นที่พิธีกรรม-ความเชื่อ ในมุมที่มากกว่าพื้นที่หาเสียง

04.06.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • การที่ ส.ส. ไปงานศพ เป็นเพียงแค่การหาเสียงจริงหรือไม่ เรามองการเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ด้วยมุมมองอื่นได้ไหม และเราจะเรียนรู้อะไรจากพื้นที่เหล่านี้ได้บ้าง
  • งานศพถือเป็นพื้นที่แห่งชีวิต เพราะเป็นงานที่มีความสำคัญกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่อย่างมาก เป็นพื้นที่ที่ผู้คนจะได้มาพบปะและมีปฏิสัมพันธ์กัน ตั้งแต่พระสงฆ์ ผู้นำชุมชน คนในชุมชน เครือญาติ ในพื้นที่นี้เองผู้คนจะได้มาพูดคุยสนทนาถึงปัญหาชีวิตต่างๆ ทั้งปัญหาทางบ้าน ปัญหาปากท้อง ข้าวในนา ปลาในหนอง ถนนหนทาง การเจ็บไข้ได้ป่วย รวมถึงพูดคุยเรื่องการบ้านการเมืองอีกมากมาย และเป็นพื้นที่ที่ผู้แทนฯ ไม่ควรจะละเลย
  • หากเรามองพื้นที่ดังกล่าวว่าไร้สาระ ก็ไม่ต่างจากการที่ชนชั้นกลางในเมืองบางคนมองการกินเหล้าของชาวบ้าน หรือผู้ใช้แรงงานว่า ‘โง่ จน กินเหล้า’ หรือมองการซื้อหวยของชาวบ้านเป็นแค่เรื่องการเสี่ยงดวงของคนจนที่ไม่รู้จักเจียมตัวแค่นั้น

เป็นที่ฮือฮาและวิพากษ์วิจารณ์กันมาก กับกรณีของผู้แทนราษฎรจากพรรคหนึ่ง วิจารณ์ผู้แทนราษฎรอีกพรรคหนึ่งว่า “เป็น ส.ส. อย่างไร งานบุญ งานศพก็ไม่ไป”

 

คำวิจารณ์ดังกล่าวนี้ทำให้หลายคนออกมาตั้งคำถามกลับว่า ‘เป็นผู้แทนฯ ทำไมต้องไปงานศพ ไม่เห็นจำเป็นจะต้องไป’ หรือมีการวิพากษ์วิจารณ์ที่หนักหน่วงไปถึงบทบาทหน้าที่ของผู้แทนฯ มีการแบ่งแยกกันระหว่างผู้แทนฯ ขนบเก่า กับผู้แทนฯ ขนบใหม่ หรือวิจารณ์ในมุมมองเพียงมุมเดียวง่ายๆ ว่า การที่ผู้แทนฯ ไปงานศพหรือร่วมกิจกรรมกับชาวบ้าน เป็นการสร้างคะแนนความนิยมของผู้แทนฯ ขนบเก่าผ่านระบบอุปถัมภ์ หนักเข้ามองว่าเป็นวิธีการหาคะแนนเสียงของผู้แทนฯ ตลาดล่าง

 

คำถามที่เกิดขึ้นคือ เรามองการเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ได้เพียงมุมมองนี้มุมมองเดียวเท่านั้นหรือ การเข้าร่วมกิจกรรมเป็นเพียงแค่เรื่องระบบอุปถัมภ์แค่นั้นหรือ เรามองการเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ในมุมมองอื่นด้วยได้ไหม และเราจะเรียนรู้อย่างไรกับพื้นเหล่านี้

 

หลายคนอาจจะเห็นแย้งว่าการทำความเข้าใจประชาชน เราสามารถทำความเข้าใจได้หลายแบบ ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าใจเพียงในแง่ของกิจกรรม พิธีกรรมความเชื่อเหล่านี้ก็ได้

 

ใช่ครับ เราไม่จำเป็นจะต้องเข้าใจปัญหาของประชาชนเพียงแค่วิธีการเดียว แต่เราก็ไม่จำเป็นจะละทิ้งกิจกรรมเหล่านี้เพื่อเข้าถึงปัญหาของประชาชนด้วยใช่ไหมครับ

 

เพราะอะไรทำไมไม่ควรละทิ้ง…

 

ก็เพราะพิธีกรรมเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญและผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตของประชาชนจำนวนมากของประเทศ ดังนั้นการเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นการเข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริงด้วย (ผมไม่ได้หมายความว่าผู้แทนฯ ทุกคนต้องไปงานศพ แต่เพียงเสนอพื้นที่หนึ่งในการเข้าถึง รับฟังปัญหาของผู้คนเท่านั้น)

 

พื้นที่งานศพสำคัญอย่างไร

หากเรามองในมุมของชนชั้นกลางที่อยู่ในเมือง เราจะเห็นว่า ‘พื้นที่งานศพ’ เป็นแค่เรื่องส่วนบุคคล เป็นเรื่องภายในครอบครัวและคนรู้จักกันเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

 

 

แต่ในงานศพของคนแถบที่เรียกมักเรียกกันว่า ‘บ้านนอก’ ถือเป็นพื้นที่แห่งชีวิต (คำว่า ‘บ้านนอก’ ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นหรือเหยียด เพียงพยายามกล่าวให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น และผู้เขียนเองก็ยอมรับคำนี้ในฐานะคนบ้านนอกคนหนึ่งเช่นกัน) เป็นงานที่มีความสำคัญกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่อย่างมาก เป็นพื้นที่ที่ผู้คนจะได้มาพบปะและมีปฏิสัมพันธ์กัน ตั้งแต่พระสงฆ์ ผู้นำชุมชน คนในชุมชน เครือญาติ และผู้รู้จักอีกมากมาย โดยผู้คนในชุมชนจะมาช่วยงานกันตั้งแต่เตรียมสถานที่ กางเต็นท์รับแขก เตรียมศพผู้เสียชีวิต เตรียมพิธีกรรมทางศาสนา เตรียมข้าวปลาอาหารไว้เลี้ยงผู้คนที่จะมาร่วมพิธี เพื่อแสดงความไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิต รวมถึงช่วยกันเก็บกวาดสถานที่ในวันที่สิ้นสุดงานแล้ว

 

ในพื้นที่นี้เองผู้คนจะได้มาพูดคุยสนทนาถึงปัญหาชีวิตต่างๆ ทั้งปัญหาทางบ้าน ปัญหาปากท้อง ข้าวในนา ปลาในหนอง ถนนหนทาง การเจ็บไข้ได้ป่วย รวมถึงพูดคุยเรื่องการบ้านการเมืองอีกมากมาย

 

พื้นที่ดังกล่าวนักมานุษยวิทยาจึงถือว่าเป็นพื้นที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้เราเห็นสภาพชีวิต วิธีคิด รวมถึงปัญหาทางสังคมและของผู้คนในชุมชน

 

ดังนั้น แน่นอนว่าความสำคัญดังกล่าวผู้เขียนคิดว่า พื้นที่งานศพถือเป็นพื้นที่พื้นที่หนึ่งที่ผู้แทนฯ ไม่ควรที่จะละเลย หรือมองมันแค่ว่าเป็นพื้นที่หวังคะแนนประชานิยมภายใต้ระบบอุปถัมภ์เท่านั้น เพราะพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่ที่จะทำให้ผู้แทนฯ ได้พบปะ ได้ร่วมมีปฏิสัมพันธ์ พูดคุย ได้รับฟัง และได้สังเกตเห็นถึงปัญหาต่างๆ ของชาวบ้านอย่างแท้จริงด้วย

 

 

ไม่เพียงแค่พิธีกรรมงานศพเท่านั้นที่สำคัญ ในวิถีชีวิตของชาวบ้าน กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ อีกมากมายก็เป็นพื้นที่ที่ไม่ควรจะละเลยหรือมองข้าม เพราะพื้นที่เหล่านี้ถือเป็นพื้นที่ที่เราจะเห็นได้ถึงปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่ การถูกทำให้เป็นชายขอบ การขาดโอกาสหลายต่อหลายอย่างของชาวบ้าน

 

ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยไปนั่งพูดคุยกับกลุ่มแกนนำพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ผู้เขียนเสนอข้อเสนอไปว่า “พิธีกรรมความเชื่อเล่านี้คือพื้นที่สะท้อนปัญหาของคนในสังคม และนักการเมืองผู้แทนฯ ก็ควรจะเรียนรู้ปัญหาของผู้คนจากกิจกรรมเหล่านี้” และผู้เขียนก็จะยังเสนอแนวทางการรับฟังปัญหานี้กับผู้แทนฯ คนอื่นๆ ด้วยว่า ควรนำไปปฏิบัติหรือคำนึงว่ามันคือพื้นที่สำคัญหนึ่ง ที่จะทำให้เราได้รับรู้ เรียนรู้ปัญหาของชาวบ้าน

 

พูดอย่างเดียวอาจจะไม่เห็นภาพ ผู้เขียนจะขอเล่าให้ฟังบางกรณีเพื่อชี้ให้เห็นว่า ความเชื่อเหล่านั้นมันสะท้อนภาพปัญหาหรือการขาดโอกาสของชาวบ้านจริงๆ อย่างไร

 

ผู้เขียนในฐานะผู้ช่วยวิจัยของ ท่าน ผศ.ดร.พิเชฐ สายพันธ์ และได้ติดตามอาจารย์ในการลงพื้นที่สำรวจชุมชนกะเหรี่ยงแถบจังหวัดตาก ครั้งแรกที่ผู้เขียนเดินทาง โชคไม่ดีผู้เขียนเกิดป่วยขึ้นมาระหว่างการเดินทาง ตอนนั้นมีไข้สูงกว่า 39.5 องศา กินยาเท่าไรก็ไม่ดีขึ้น เลยตัดสินใจเข้าสถานีอนามัยชุมชนเพื่อจะขอให้เจ้าหน้าที่อนามัยช่วยตรวจให้ หรือขอให้เขาฉีดยาให้เผื่ออาการจะดีขึ้น

 

ปรากฏว่าสถานีอนามัยกลับไม่มียาฉีดให้ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าถ้าจะฉีดต้องลงไปขอยาที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ แล้วค่อยเอายานั้นมาให้เจ้าหน้าที่ฉีดให้ ซึ่งการจะลงไปโรงพยาบาลอำเภอต้องใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงในการเดินทาง ด้วยพื้นที่เป็นถิ่นทุรกันดารมาก มากเกินการจินตนาการของผู้เขียนด้วยซ้ำ พูดง่ายๆ คือไม่คิดว่าในพื้นที่ประเทศไทยจะยังคงมีพื้นที่ทุรกันดารได้ขนาดนี้ (ทั้งที่ผู้เขียนก็เป็นคนบ้านนอกอยู่แล้ว) ไฟไม่มี สัญญาณโทรศัพท์ไม่มี ถนนหนทางไม่ต้องพูดถึง

 

ด้วยความที่ไม่สามารถรักษาได้ ผู้เขียนได้แต่สงสัยว่า “นี่ขนาดเราป่วยแค่เป็นไข้เล็กๆ น้อยๆ แค่นั้นนะ แล้วถ้าเกิดชาวบ้านที่เขาป่วยหนักเขาจะทำอย่างไร”

 

เมื่อเข้าชุมชน ผู้เขียนเลยเก็บเอาความสงสัยนี้ไปสอบถามชาวบ้าน คำตอบที่ได้จากคนในชุมชนคือเขาพูดประมาณว่า “ส่วนใหญ่ก็จะเลี้ยงผีหรือไหว้ผีกันครับ” เขาบอกอีกว่า “ก็เราทำอะไรไม่ได้ ไปโรงพยายาลก็ลำบาก ถนนหนทางก็ไม่ดี ถึงอยากจะรักษาที่โรงพยาบาลเงินก็ไม่ค่อยมี รถก็ไม่มี เดินทางก็ลำบากอีก”

 

ไม่เพียงเท่านั้นเขายังพูดกับผู้เขียนด้วยน้ำเสียงที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก เนื่องจากผู้เขียนเป็นคนนอก เขาคงจะกลัวผู้เขียนมองพวกเขาว่าเป็นพวกงมงายไร้สาระด้วย แต่ส่วนตัวผู้เขียน ผู้เขียนกลับรู้สึกเห็นใจสงสารเขาอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน ยิ่งมาประสบกับตัวเองยิ่งรู้สึกเห็นใจมาก

 

ในเคสอื่นๆ ก็ไม่ต่างกัน ในงานศึกษาระดับปริญญาโทของผู้เขียน เรื่อง ‘ครูบาคติใหม่’ ผู้เขียนก็ยังพบอีกว่า การเข้าไปเคารพบูชาหรือศรัทธาครูบาของกลุ่มชาวบ้านหรือผู้คนจำนวนมากนั้น ส่วนหนึ่งถือเป็นภาพสะท้อนการขาดโอกาสของคนอย่างมาก เช่น ชาวบ้านไปขอน้ำมนต์ ไปขอให้ครูบาช่วยรักษาเพียงเพราะไม่มีเงินไปหาหมอ หรือบางคนก็บอกว่าหมอดุ ชอบขู่ ชอบด่าชาวบ้าน บางคนก็สอบติดข้าราชการครูแล้ว แต่ไม่ถูกเรียกเข้ารายงานตัวสักที เขาก็คิดว่าเพราะไม่มีเส้นสาย ไม่รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ เลยต้องมาขอพรจากครูบา

 

เห็นไหมครับ สิ่งเหล่านี้มันคือภาพสะท้อนปัญหาทั้งนั้น ไม่ว่าจะปัญหาเรื่องรัฐสวัสดิการด้านสุขภาพ ปัญหาเรื่องระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากในพื้นที่ภาคเหนือหรือในแถบรัฐฉาน เมียนมา เข้าไปศรัทธาครูบาบุญชุ่ม เพราะเชื่อว่าบารมีและการได้ร่วมบุญกับท่านจะทำให้เขาเหล่านั้นได้ ‘เกิดมาเป็นคน’ ในอนาคต

 

คำว่า ‘คน’ ในที่นี้มันไม่ได้หมายถึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ (Human) แต่มันหมายถึง คนที่เกิดมาเท่าเทียม ได้เป็นเจ้าเป็นนาย ไม่ทุกข์ยากลำบาก หรือถูกทำให้เป็นชายขอบที่ถูกละเลยเช่นนี้ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากพื้นฐานความเชื่อของชาวบ้าน แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวมันก็สะท้อนภาพปัญหาต่างๆ ของคนในพื้นที่จริงๆ

 

 

ดังนั้นผู้เขียนขอเสนอว่า เราควรทบทวนการมองพื้นที่งานศพ พื้นที่พิธีกรรม พื้นที่ความเชื่อของชาวบ้านเสียใหม่ ไม่ควรมองว่ามันเป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นเรื่องของผู้แทนฯ ขนบเก่า หรือ ส.ส. ตลาดล่าง หรือมองพิธีกรรมความเชื่อเหล่านั้นเพียงแค่เป็นเรื่องไม่วิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องงมงายไร้สาระ

 

ตรงกันข้ามผู้เขียนกลับคิดว่าพื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นพื้นที่สำคัญ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้แทนประชาชน ที่ควรคำนึงและเข้าถึงเพื่อเรียนรู้ทุกข์ สุข และปัญหาอีกมากมายของชาวบ้าน ที่อาจจะได้ทั้งจากปากชาวบ้านเอง หรืออาจจะได้จากการสังเกตการณ์ในฐานะผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ

 

หากเรามองพื้นที่ดังกล่าวว่าไร้สาระ ก็ไม่ต่างจากการที่ชนชั้นกลางในเมืองบางคน มองการกินเหล้าของชาวบ้านหรือผู้ใช้แรงงานว่า ‘โง่ จน กินเหล้า’ หรือมองการซื้อหวยของชาวบ้านเป็นแค่เรื่องการเสี่ยงดวงของคนจนที่ไม่รู้จักเจียมตัวแค่นั้น ผู้เขียนจึงหวังว่าท่านทั้งหลายจะทบทวนและทำความเข้าใจกับพื้นที่เหล่านี้ใหม่อีกครั้ง หรือเปิดมุมมองอื่นๆ ให้กับพื้นที่เหล่านี้ใหม่ด้วย ไม่ว่าจะท่านผู้แทนฝ่ายไหนก็ตาม

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising