×

‘ลงถนน’ ยังจำเป็นไหม ในยุคที่สังคมเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดีย

04.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MINS. READ
  • บทความนี้เป็นการหยิบยกเอาข้อค้นพบของงานวิจัยเกี่ยวกับพลวัตสังคมออนไลน์มานำเสนอ เพื่อทำความเข้าใจแฟลชม็อบหรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาในครั้งนี้เพื่อตอบคำถามสองประการคือ การชุมนุมครั้งนี้จะนำไปสู่สิ่งใด และการชุมนุมครั้งนี้(ควร)จะดำเนินต่อไปในรูปแบบใด
  • บทเรียนอย่างหนึ่งที่เราได้จากข้อค้นพบของงานวิจัยหลายๆ ชิ้นคือเราไม่ควรตั้งเป้าหรือคาดหวังกับพลวัตออนไลน์มากจนเกินไป และควรจะใช้แพลตฟอร์มโซเชียลให้ตรงกับคุณลักษณะของมัน
  • แต่ถ้าหากหวังให้เกิดผลในเชิงสัญญะเพื่อให้รัฐบาลเห็นว่าประชาชนไม่พอใจและต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง ไม่แน่ว่าการลองใช้วิธีกดดันผ่าน International Audience Cost แบบในฮ่องกงอาจจะได้ผลกับไทยเราก็เป็นได้

หากจะพูดถึงปรากฏการณ์ทางการเมืองที่โดดเด่นที่สุดในศตวรรษที่ 21 ก็เห็นจะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างภาคประชาชนกับการเมืองผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 

 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการชุมนุมทางการเมืองรูปแบบใหม่ที่มักมีจุดเริ่มต้นจากแรงกระเพื่อมในโลกออนไลน์ ก่อนจะนำไปสู่การชุมนุมในโลกความจริง หรือที่เราเรียกว่า ‘ลงถนน’

 

สำหรับประเทศไทย การเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งอาศัยพลวัตขับเคลื่อนฝูงชนผ่านโซเชียลมีเดียเป็นครั้งแรกเห็นจะเป็นการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ในปี 2556 

 

และหลังจากที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกควบคุมกดทับจนดูเหมือนเงียบหายไปนานในยุคของ คสช. การเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ก็กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อกลุ่มนักศึกษาจากหลายสถาบันออกมาเคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจต่อการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่โดยศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีการติดแฮชแท็กในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ พร้อมข้อความที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐอย่างเผ็ดร้อน รวมไปถึงเริ่มมีการนัดแนะรวมตัวเป็นแฟลชม็อบในเกือบทุกมหาวิทยาลัย 

 

บทความนี้จึงอยากจะหยิบยกเอาข้อค้นพบของงานวิจัยเกี่ยวกับพลวัตสังคมออนไลน์มานำเสนอเพื่อทำความเข้าใจการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาในครั้งนี้เพื่อตอบคำถามสองประการ

 

การชุมนุมครั้งนี้จะนำไปสู่สิ่งใด

 

การชุมนุมครั้งนี้(ควร)จะดำเนินต่อไปในรูปแบบใด

 

ว่าด้วย Online Activism และการเปลี่ยนแปลง

งานวิจัยที่เกิดขึ้นในยุคผลิบานของโซเชียลมีเดียมักมองแพลตฟอร์มใหม่นี้เสมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์ของมวลชน 

 

แลร์รี ไดมอนด์ (2010) นักรัฐศาสตร์ชื่อดังในสายพลวัตทางสังคม ถึงกับเรียกโซเชียลมีเดียว่า ‘เทคโนโลยีเพื่อการปลดแอก’ (Liberating Technology) เลยทีเดียว 

 

โดยรวมแล้วงานวิจัยกลุ่มนี้มักอ้างถึงข้อดีของแพลตฟอร์มในการช่วยให้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองและการรวมตัวของกลุ่มคนที่คิดเห็นคล้ายกันนั้นเป็นไปได้ง่ายขึ้น ดังนั้นแนวโน้มที่คนจะออกมาชุมนุมกันก็จะเป็นไปได้มากขึ้นด้วย (Shirky 2008, 2011)

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปงานวิจัยที่แสดงข้อกังขาต่อพลังของโซเชียลมีเดียก็เริ่มมีมากขึ้น เช่น งานเขียนของ มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (2011) ที่กล่าวว่าพลวัตทางสังคมที่เริ่มจากโลกออนไลน์นั้นอาจไม่นำไปสู่การชุมนุมในโลกความจริงได้ง่ายนัก เนื่องจากรูปแบบตั้งต้นที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่ยึดโยงกันอย่างหลวมๆ และไร้ผู้นำ (Loose and Leaderless Network) รวมถึงปรากฏการณ์ Slacktivism ที่เกิดขึ้นเมื่อชาวเน็ตเลือกเคลื่อนไหวและแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์รู้สึกไปว่าตนเองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลง แม้ว่าความจริงคนเหล่านั้นจะทำเพียงนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือไถหน้าจอมือถืออยู่เท่านั้นเอง (Morozov 2012)

 

ตั้งแต่แพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์กถือกำเนิดขึ้นในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นเครื่องมือเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่หลายต่อหลายครั้ง ทั้งอาหรับสปริงในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง การประท้วงในยูเครนและไทย ล่าสุดก็คือการประท้วงในฮ่องกง จุดร่วมของการเคลื่อนไหวที่กล่าวมานี้คือจุดประสงค์ของมัน ซึ่งก็คือการต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กล่าวคือผู้ชุมนุมต้องการให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลนั่นเอง

 

ดังนั้นหากมีใครถามถึงความสำเร็จในเชิงรูปธรรมของ Online Activism คงจะต้องถามกลับไปว่า “เป้าหมายของคุณคืออะไร” 

 

เหตุที่ต้องถามเช่นนี้เป็นเพราะว่าการชุมนุมที่กล่าวถึงข้างต้น (ไม่รวมฮ่องกง) ยังไม่เคยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่านำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่แท้จริงเลย เช่น มีนักวิเคราะห์ออกมากล่าวถึงผลของการประท้วงในอียิปต์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาหรับสปริงว่า การออกมารวมตัวกันของประชาชนชาวอียิปต์ในครั้งนั้นไม่ได้นำไปสู่การล้มล้างระบอบเดิมหรือสร้างกลไกเชิงสถาบันในรูปแบบใหม่ที่ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ในทางกลับกันกลับเปิดโอกาสให้รัฐพันลึก (Deep State) กลับเข้ามามีอิทธิพลอีกด้วย (Darwisheh 2014) 

 

เช่นเดียวกับในประเทศไทย กรณีการเคลื่อนไหวของ กปปส. เองก็จบลงด้วยการที่ทหารออกมาทำรัฐประหาร แล้วนำไปสู่การสานต่ออำนาจทางการเมืองในรูปแบบที่เรากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้มีการปฏิรูปใดๆ อย่างมีนัยสำคัญ

 

มาถึงจุดนี้หลายคนคงเริ่มหมดหวังกับการเคลื่อนไหวในรูปแบบใหม่ผ่านสังคมโซเชียลอยู่พอสมควร อย่างไรก็ตาม บทเรียนอีกอย่างที่เราได้จากข้อค้นพบของงานวิจัยที่กล่าวมาข้างต้นคือเราไม่ควรตั้งเป้าหรือคาดหวังกับพลวัตออนไลน์มากจนเกินไป และควรจะใช้แพลตฟอร์มโซเชียลให้ตรงกับคุณลักษณะของมัน

 

โซเชียลมีเดียถูกสร้างมาเพื่อเชื่อมต่อคนในสังคมโลกที่มีความคิดเห็นคล้ายๆ กัน และนี่คือเครื่องมืออันทรงพลังในการสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ซึ่งหากนำมาใช้ได้อย่างชาญฉลาดก็อาจสามารถสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐได้เพิ่มขึ้นด้วย

 

ส่องโมเดลประท้วงฮ่องกงสู่โรดแมปการ ‘ลงถนน’ ของนักศึกษาไทย 

ว่าด้วยการประท้วงในฮ่องกงและการดำเนินการชุมนุมของนักศึกษาในประเทศไทย 

งานศึกษาของ กริฟฟิน เหลียว ที่วิเคราะห์วิธีการใช้ทวิตเตอร์เพื่อการชุมนุมของกลุ่มแกนนำนักศึกษาในฮ่องกง นำเสนอข้อมูลหลายอย่างเกี่ยวกับยุทธวิธีของการชุมนุมดังกล่าว 

 

แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการชุมนุมของนักศึกษาในประเทศไทยคือการดึงเอาประเทศที่สาม โดยเฉพาะมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรือสื่อต่างประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในลักษณะผู้สังเกตการณ์ออนไลน์ผ่านทางการเมนชันในทวิตเตอร์ เพื่อป้องกันการใช้ความรุนแรงของรัฐต่อประชาชนและสร้างอำนาจต่อรอง 

 

ภาพทั้งสามด้านล่างนำมาจากบทวิเคราะห์ของเหลียว ซึ่งภาพที่ 1 และ 2 แสดงถึงบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่มีการถูกเมนชันมากที่สุด 5 อันดับแรก มีถึง 3 บัญชีที่ถูกเมนชันถึงเมื่อมีการทวีตเกี่ยวกับการประท้วงในฮ่องกงที่เป็นบัญชีของนักการเมืองหรือสื่อต่างประเทศ @SolomonYue เป็นบัญชีของนักการเมืองชาวอเมริกันเชื้อสายจีนที่มีส่วนร่วมในการผ่านร่างญัตติ Hong Kong Human Rights and Democracy Act ในสหรัฐอเมริกา @marcorubio เป็นสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐฟลอริดา ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนร่างญัตติดังกล่าวเช่นกัน และ @business คือบัญชีของสำนักข่าว Bloomberg ในสหรัฐอเมริกา

 

 

และเมื่อขยายผลไปถึง 15 บัญชีที่ถูกเมนชันมากที่สุดก็พบว่ามีการเมนชันถึง @GOVUK ซึ่งเป็นบัญชีของรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรซึ่งเคยแสดงท่าทีไม่พอใจต่อการจัดการผู้ชุมนุมของรัฐบาลฮ่องกง @HeatherWheeler รัฐมนตรีเพื่อเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งเป็นผู้ส่งจดหมายขู่คว่ำบาตรถึงรัฐบาลฮ่องกง @HawleyMO นักการเมืองสหรัฐอเมริกา และ @senatemajldr ซึ่งเป็นบัญชีของหัวหน้าเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา มิตช์ แม็กคอนเนลล์ อีกด้วย

 

 

 

ภาพสุดท้ายนี้แสดงข้อความทวีตที่มีการแชร์ต่อมากที่สุด 10 อันดับแรก โดยสิ่งที่น่าสังเกตก็คือ 4 ใน 10 ทวีตนี้มีการเมนชันถึงนักการเมืองหรือสื่อนอกฮ่องกง

 

 

การใช้แฮชแท็กอย่างที่นักศึกษาในไทยใช้นั้นเป็นฟังก์ชันที่ดีต่อการจัดการข้อมูลให้เป็นระเบียบและง่ายต่อการเข้าถึง หากแต่การเมนชันแบบที่ชาวฮ่องกงทำนั้นเป็นการเพิ่ม International Audience Cost ต่อรัฐ ซึ่งส่งผลในสองทาง 

 

นัยหนึ่งก็ส่งสัญญาณให้รัฐระมัดระวังการใช้ความรุนแรงต่อมวลชน ซึ่งได้ผลพอสมควรในฮ่องกง เห็นได้จากท่าทีของจีนแผ่นดินใหญ่ที่พยายามไม่เข้าไปยุ่งกับฮ่องกงมากนัก ถึงแม้ว่ามันชัดเจนว่าจีนสามารถทำได้ และตัวรัฐบาลฮ่องกงเองก็มีท่าทีที่อ่อนลงต่อผู้ชุมนุมด้วย ส่วนอีกนัยหนึ่งก็เป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองโดยเอา International Reputation ของรัฐมาเป็นตัวประกัน 

 

ซึ่งก็ได้ผลอีกในฮ่องกงเมื่อรัฐบาลยอมถอนร่างกฎหมายการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องดั้งเดิมของผู้ชุมนุม ภาพลักษณ์ในประชาคมโลกเป็นสิ่งที่นักรัฐศาสตร์เชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศส่วนใหญ่มองว่าสามารถสร้างแรงกดดันให้กับรัฐได้ในทางหนึ่งด้วย (Krain 2012; Risse, Ropp, and Sikkink 1999)

 

อย่างไรก็ดี ก่อนที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาจะตัดสินใจทำอะไรมากไปกว่าการแสดงออกในรูปแบบของแฟลชม็อบในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งมีกลไกทางกฎหมายปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกอยู่ ก็มีปัจจัยสำคัญอยู่หนึ่งอย่างที่ควรใช้ประกอบการตัดสินใจคือโครงสร้างของโอกาส (Opportunity Structure) กล่าวคือเมื่อมองดูถึงสภาพของประเทศไทยในปัจจุบัน การ ‘ลงถนน’ นั้นได้ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ เพราะความเสี่ยงต่อการคุกคามของรัฐปัจจุบันมีสูงทั้งในเชิงกฎหมายและการปฏิบัติ 

 

ซึ่งงานวิจัยชิ้นหนึ่งของผู้เขียนพบว่าการใช้ความรุนแรงเพื่อกดขี่ประชาชนในประเทศที่ไม่มีสถาบันหรือกลไกในการควบคุมอำนาจของฝ่ายบริหารอย่างเข็มแข็งนั้นไม่ได้ลดลง แม้จะมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นในประเทศเหล่านั้นก็ตาม

 

โดยสรุป เมื่อมองความเสี่ยงนี้ประกอบกับผลเชิงรูปธรรมของการเคลื่อนไหวที่เริ่มจากสังคมออนไลน์ในประเทศอื่นดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว หากเหล่านักศึกษาหวังว่าการรวมพลังกันในครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีนัยสำคัญหรือสถาบันการเมืองอย่างแท้จริง ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะต้องอกหักเล็กน้อย 

 

แต่ถ้าหากหวังให้เกิดผลในเชิงสัญญะเพื่อให้รัฐบาลเห็นว่าประชาชนไม่พอใจและต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง ไม่แน่ว่าการลองใช้วิธีกดดันผ่าน International Audience Cost แบบในฮ่องกงอาจจะได้ผลกับไทยเราก็เป็นได้

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • Darwisheh, Housam. 2014. “Trajectories and Outcomes of the ‘Arab Spring’: Comparing Tunisia, Egypt, Libya and Syria.” In Institute of Developing Economies, Japan External Trade Organization (IDE-JETRO), Tokyo, Japan, 1–23.
  • Diamond, Larry. 2010. “Liberation Technology.” Journal of Democracy.
  • Gladwell, Malcolm. 2011. “From Innovation to Revolution-Do Social Media Made Protests Possible: An Absence of Evidence.” Foreign Affairs 90: 153.
  • Krain, Matthew. 2012. “J’accuse! Does Naming and Shaming Perpetrators Reduce the Severity of Genocides or Politicides?” International Studies Quarterly 56(3): 574–89. https://academic.oup.com/isq/article-abstract/56/3/574/1796865 (February 28, 2020).
  • Morozov, Evgeny. 2012. The Net Delusion: The Dark Side of Internet Freedom. PublicAffairs.
  • Risse, Thomas, Stephen C Ropp, and Kathryn Sikkink. 1999. The Power of Human Rights International Norms and Domestic Change Edited By. Cambridge: Cambridge University Press. http://www.cup.cam.ac.ukhttp//www.cup.org (February 28, 2020).
  • Shirky, Clay. 2008. Here Comes Everybody: The Power of Organizing without Organizations. Penguin.
  • ———. 2011. “The Political Power of Social Media: Technology, the Public Sphere, and Political Change.” Foreign affairs: 28–41.

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising