×

ได้เวลา… ปลดล็อก? พรรคการเมือง แต่งองค์ทรงเครื่อง สู่สนามเลือกตั้ง

31.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พรรคการเมืองยังไม่สามารถเดินหน้ารวมตัวทำกิจกรรมทางการเมืองได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขคำสั่ง คสช. ที่ 7/2557 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และคำสั่ง คสช. ที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองประชุมและดำเนินกิจกรรมทางการเมือง
  • ขณะนี้ใกล้จะครบ 1 เดือนของการประกาศใช้กฎหมายใหม่ เมื่อ คสช. ยังไม่มีท่าทีปลดล็อกก็จะยิ่งทำให้เงื่อนเวลาถูกหักออกไปเรื่อยๆ เงื่อนไขที่กำหนดไว้ 90 วันก็จะเหลือ 60 วัน หรือกำหนดไว้ 180 วันก็จะเหลือเพียง 150 วัน ซึ่งจะยุ่งยากต่อการดำเนินการของพรรคการเมืองในหลายเงื่อนไข

     7 ตุลาคม 2560 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และกำหนดให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันประกาศ ซึ่งก็คือวันที่ 8 ตุลาคม ถือเป็นการเริ่มต้น ‘นับหนึ่ง’ ของพรรคการเมือง และหากนับจนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลาใกล้จะครบเดือนแล้วที่กฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้

     เสียงเรียกร้องจากฟาก ‘พรรคการเมือง’ ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้เป็นหลัก จึงดังกระหึ่มขึ้นอยู่ตลอดว่า เมื่อไหร่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) จะยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ห้ามพรรคการเมืองจัดกิจกรรมทางการเมืองเสียที เพราะกฎหมายพรรคการเมืองประกาศใช้แล้ว จะได้เริ่มทำกิจกรรมทางการเมือง เนื่องจากมีเงื่อนไขตามกฎหมายฉบับดังกล่าวที่ต้องปฏิบัติตามกรอบเวลาที่กำหนดอีกหลายข้อ

     แม้ว่าการเรียงแถวออกมาถามหาความชัดเจนถึงการ ‘ปลดล็อก’ เงื่อนไข คสช. แต่ละฝ่ายจะพาเหรดออกมาแล้วแทบทุกพรรค ไม่เว้นแม่แต่พรรคภูมิใจไทยที่เก็บตัวเงียบมานาน หรือพรรคเพื่อไทยที่รอคอยเวลานี้มาพักใหญ่ ก็ยังไม่ได้ทำให้ฝ่ายผู้ปกครองอย่างรัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้แบบเร่งด่วนเสียที ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เอ่ยกับสื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ต้องรอให้มีการประชุม คสช. ก่อน สรุปก็คือจนถึงวันนี้ สัญญาณ ‘ปลดล็อก’ ยังคงถูกล็อกคาอยู่แบบเดิม

 

เงื่อนปมที่ต้องรอคลี่คลาย เพื่อนำไปสู่การปลดล็อก

     เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พรรคการเมืองยังไม่สามารถเดินหน้ารวมตัวทำกิจกรรมทางการเมืองได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขคำสั่ง คสช. ที่ 7/2557 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และคำสั่ง คสช. ที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองประชุมและดำเนินกิจกรรมทางการเมือง หาก คสช. ไม่ยกเลิกคำสั่งสองฉบับนี้ก็เห็นจะเป็นปมเงื่อนสำคัญที่แต่ละพรรคการเมืองจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามกฎหมายอย่างเปิดเผย และอาจเกิดกรณีที่เข้าข่ายผิดต่อคำสั่ง คสช. ซึ่งได้กำหนดบทลงโทษกรณีฝ่าฝืนเอาไว้ด้วย แม้ว่าที่ผ่านมาการรวมกลุ่มของนักการเมืองทำกิจกรรมต่างๆ จะมีให้เห็นอยู่บ้างก็ตาม

     ขณะที่มีคำถามต่อลำดับศักดิ์ของกฎหมายเหมือนกันว่า ระหว่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ กับคำสั่ง คสช. อะไรใหญ่กว่ากัน

     ต่อคำถามที่ว่า เหตุใดที่กฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้ประกาศใช้แล้ว จึงเป็นเสมือนการ ‘เริ่มนับหนึ่ง’ นั่นเป็นเพราะเหตุผลและเงื่อนไขของกฎหมายที่ได้ระบุไว้ตามบทเฉพาะกาล ซึ่งได้กำหนดกรอบและขีดเส้นให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งไว้แล้วแต่เดิม ขณะที่กลุ่มการเมืองหรือประชาชนที่เตรียมจดทะเบียนใหม่เพื่อจัดตั้งพรรค จะต้องดำเนินการตามกฎหมายใหม่ พูดง่ายๆ ก็คือต้องแต่งองค์ทรงเครื่องตามเงื่อนไข ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันหรือ 180 วันตามกรณี ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายโดยที่ไม่มีการขอขยายเวลาออกไป อาจทำให้สถานะของความเป็นพรรคการเมืองต้องสิ้นสภาพลง หรืออาจหมดสิทธิ์ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องใหญ่และตลกร้ายทางการเมืองทันที

     อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ใกล้จะครบหนึ่งเดือนของการประกาศใช้กฎหมายใหม่ เมื่อ คสช. ยังไม่มีท่าทีปลดล็อกก็จะยิ่งทำให้เงื่อนเวลาถูกหักออกไปเรื่อยๆ ที่เคยกำหนดไว้ 90 วันก็จะเหลือ 20 วัน หรือกำหนดไว้ 180 วันก็จะเหลือเพียง 150 วัน ซึ่งจะยุ่งยากต่อการดำเนินการของพรรคการเมืองในหลายเงื่อนไข

 

 

6 เงื่อนไขตามบทเฉพาะกาลที่ ‘พรรคการเมือง’ ต้องทำตามกรอบเวลา

     มาตรา 141 ของ พ.ร.ป. พรรคการเมือง กำหนดให้พรรคการเมืองต้องดําเนินการในเรื่องต่างๆ ภายในระยะเวลาดังต่อไปนี้

     กรณีแรก คือต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิกที่แตกต่างจากที่ปรากฏในทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง ให้นายทะเบียนทราบภายใน 90 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ แปลความก็คือนับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม กรอบเวลา 90 วันจะสิ้นสุดในวันที่ 5 มกราคม 2561 สาระสำคัญคือต้องการให้พรรคการเมืองยืนยันตัวตนของผู้เป็นสมาชิกพรรค ซึ่งจะมีเงื่อนไขของการเป็นสมาชิกพรรคที่ผูกโยงอยู่กับกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับผู้มีสิทธิ์ลงรับสมัครเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติของสมาชิกพรรคเพื่อแจ้งต่อนายทะเบียน ทำให้พรรคการเมืองที่มีสมาชิกจำนวนมากอาจมีปัญหาความยุ่งยากหากกรอบเวลาดังกล่าวหดแคบลงไปอีก แม้ว่ากฎหมายจะอนุญาตให้มีการยื่นขยายกรอบเวลานี้ได้ก็ตาม

     กรณีที่สอง กำหนดให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 (กฎหมายเดิม) และในวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับยังมีสมาชิกไม่ถึง 500 คน ต้องดําเนินการให้มีสมาชิกให้ครบ 500 คนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 5 เมษายน 2561 เงื่อนไขนี้อาจดูไม่ยุ่งยากสำหรับพรรคการเมืองใหญ่ แต่อาจยุ่งยากในขั้นตอนของการเก็บเงินค่าบำรุงพรรค ที่ต้องจ่ายก่อนสำหรับสมาชิก 500 คนแรก

     กรณีที่สาม ต้องจัดให้มีทุนประเดิมจํานวน 1 ล้านบาท และแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายใน 180 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ในกรณีที่พรรคการเมืองมีเงินหรือทรัพย์สินอยู่แล้ว จะกันเงินหรือทรัพย์สินที่มีอยู่แยกไว้เป็นทุนประเดิมก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบ พร้อมด้วยหลักฐานการกันเงินภายในระยะเวลาดังกล่าว ถามว่าทุนประเดิมมาจากไหน คำตอบก็คือมาจากผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคน ที่จะต้องร่วมกันจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละไม่น้อยกว่า 1,000-50,000 บาท ส่วนพรรคเก่าที่มีเงินหรือทรัพย์สินอยู่แล้ว สามารถกันเป็นเงินทุนประเดิมได้ ซึ่งจะครบกำหนดที่ต้องดำเนินการในวันที่ 5 เมษายน 2561

 

 

     กรณีที่สี่ ต้องจัดให้สมาชิกจํานวนไม่น้อยกว่า 500 คนชําระค่าบํารุงพรรคการเมืองสําหรับปีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับภายในเวลา 180 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

     และให้พรรคการเมืองแจ้งให้คณะกรรมการทราบพร้อมด้วยหลักฐาน แสดงการชําระค่าบํารุงพรรคการเมืองสําหรับปีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับภายใน 15 วันนับแต่วันพ้นระยะเวลาชําระค่าบํารุงพรรคการเมืองดังกล่าว โดยจะต้องชำระขั้นต่ำที่ 50 สิบบาท

     และภายใน 1 ปีนับแต่วันที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับ สมาชิกพรรคต้องชำระค่าบำรุงพรรค โดยพรรคต้องเก็บค่าบำรุงพรรคจากสมาชิกจำนวนไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ซึ่งทุกคนต้องจ่ายขั้นต่ำคนละ 50 บาท และให้ได้จํานวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน ภายใน 4 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

     กรณีที่ห้า คือภายใน 180 วันหรือภายในวันที่ 5 เมษายน 2561 พรรคการเมืองจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับและจัดทําคําประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองและนโยบายของพรรคการเมืองให้ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

     และเลือกหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง ตามข้อบังคับของพรรคการเมืองที่แก้ไขใหม่

     เงื่อนไขการประชุมใหญ่ครั้งแรกนี้ นอกจากต้องดําเนินการตามข้อบังคับของพรรคการเมืองที่ใช้บังคับอยู่แล้ว จะต้องจัดให้มีหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองไม่น้อย กว่า 4 สาขา และมีสมาชิกของพรรคการเมืองซึ่งรวมกันแล้วมีจํานวนไม่น้อยกว่า 250 คน เข้าร่วมประชุมและมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงในการแก้ไขข้อบังคับและเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคด้วย

     กรณีที่หก คือภายใน 180 วันหรือภายในวันที่ 5 เมษายน 2561 จะต้องดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดให้ครบถ้วน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ โดยต้องจัดตั้งสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละ 1 สาขาตามเงื่อนไขการจัดตั้ง และต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้น 500 คนขึ้นไป

     รวมทั้งต้องตั้งตัวแทนจังหวัดตามเงื่อนไข ในกรณีที่จังหวัดที่ยังไม่มีสำนักงานใหญ่หรือสาขาตั้งอยู่ แต่มีสมาชิกพรรคที่มีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้งจังหวัดนั้นเกิน 100 คนขึ้นไป

     ระยะเวลา 180 วันนั้นรวมถึงการแจ้งรายละเอียดต่อนายทะเบียน ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองเดิมมีสาขาพรรคอยู่แล้วให้ทำเพียงแจ้งยืนยันต่อนายทะเบียนเท่านั้น

     สำหรับกรณีที่หกนี้ กฎหมายได้มีบทกำหนดให้ต้องดำเนินการอย่างครบถ้วน เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการตั้งสาขาพรรคการเมือง เพราะมิเช่นนั้นแล้วจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ แต่ก็ยังมีจุดผ่อนปรนเฉพาะการเลือกตั้งครั้งแรก กรณีตั้งสาขาหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดใดแล้ว แม้จะไม่ครบถ้วน ถือว่าได้สิทธิ์ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขตเลือกตั้งของจังหวัดตามมาตรา 145

 

 

แต่งองค์ทรงเครื่อง ให้พร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง

     กรณีที่กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองจะต้องมีสาขาพรรค และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดนั้น เป็นผลอันสืบเนื่องมาจากการกำหนดให้สมาชิกพรรคต้องร่วมโหวตตามระบบเลือกตั้งขั้นต้น หรือที่เรียกว่าไพรมารี่โหวต ซึ่งจะต้องดำเนินการผ่านกระบวนการสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด

     เพื่อให้พร้อมที่จะส่งผู้สมัครลงสู่สนามเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะต้องดำเนินกระบวนการสรรหาผู้สมัครทั้งระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อผ่านไพรมารี่โหวตตามข้อบังคับของพรรค ที่สอดคล้องกับเนื้อหาตาม พ.ร.ป. พรรคการเมือง

     เพราะฉะนั้นการแต่งตัวให้พร้อมสำหรับพรรคการเมืองตามกรอบเวลาข้างต้น จึงสำคัญมาก และมีทีท่าว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อที่จะมาแต่งตัวหาผู้สมัครของพรรคที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกระบวนการของกฎหมายอีก

     “จะปลดล็อกกันอย่างไรก็อย่าถามผมบ่อยนักแล้วกัน มันทำให้คิดไม่ออก มันก็เลยช้า ถ้าถามมากก็คิดไม่ค่อยออก ให้ผมคิดสรุปออกมาก่อน แล้วผมจะเปิดเผยออกมาทีเดียวจบ ทันเวลาอยู่แล้ว”

     เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามสื่อในวันนี้ (31 ตุลาคม 2560) ถึงกระแสเรียกร้องจากพรรคการเมืองให้มีการปลดล็อกเพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองได้

     ขณะที่นายกฯ ยืนยันว่าจะทำให้ทุกอย่างทันเวลา เพราะ “ต้องนึกถึงคนเก่า คนใหม่ พรรคใหม่ พรรคเก่า พรรคเล็ก พรรคใหญ่ พรรคกลาง เยอะแยะไปหมด ก็ต้องมีมาตรการที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม”

     แม้จะมีการคาดการณ์ว่าหากปลดล็อกทางการเมืองแล้วจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองกลับมาวุ่นวายอีก เรื่องนี้ พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ยืนยันว่า ไม่ห่วงหากปลดล็อกพรรคการเมือง ว่าจะกลับมาขัดแย้งอีก ที่ผ่านมาตลอด 1 ปีคนไทยสามัคคีกันมากขึ้น ไม่ทะเลาะกัน เป็นปกติที่นักการเมืองต้องออกมา และตอนนี้ยังไม่มีการหารือเรื่องปลดล็อก ต้องเอาเรื่องประชาชนก่อน

     ท่ามกลางเวลาที่เดินไป คำถามระหว่างทางก็กระหึ่มมาเรื่อยๆ คำสัญญาที่จะเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยและการกำหนดโรดแมปเลือกตั้ง จะต้องเริ่มต้นที่การเปิดพื้นที่ให้กับเสรีภาพทางการเมือง มิเช่นนั้นอาจกลายเป็นเรื่องลมปาก และแน่นอนปัจจัยเรื่องรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมือง และการเลือกตั้ง จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ คสช. ต้องแสดงท่าทีต่อจากนี้

 

อ้างอิง :

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X