×

พรรคการเมืองร่วมลงนาม จรรยาบรรณการหาเสียง มุ่งสร้างประชาธิปไตยเป็นธรรม โปร่งใส สร้างสรรค์

โดย THE STANDARD TEAM
29.03.2023
  • LOADING...
จรรยาบรรณการหาเสียง

วันนี้ (29 มีนาคม) ผู้แทนพรรคการเมืองร่วมลงนาม จรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้ง และสัญญาของพรรคการเมือง ให้คำมั่นว่าจะเคารพการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 14 พฤษภาคม 2566 รณรงค์หาเสียงอย่างสร้างสรรค์ ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ สัญญาไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย และจะผลักดันการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ครอบคลุมเรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ เนื่องจากหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าสื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทเพิ่มขึ้นมากในกระบวนการเลือกตั้ง ทั้งยังส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางการเมืองที่จะนำไปสู่การสร้างฉันทามติในสังคม

 

สำหรับพิธีลงนามฯ ร่วมจัดโดย ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย, มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม, มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย, มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม, เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566, WeWatch, WeVis, มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และสถาบันปรีดี พนมยงค์, ศูนย์ประสานงานเพื่อการพูดคุยเชิงมนุษยธรรม, โครงการผู้หญิงผู้นำทางการเมือง, โคแฟค (ประเทศไทย), สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาองค์กรของผู้บริโภค 

 

ทั้งนี้ องค์กรร่วมจัดยังคงเปิดให้พรรคการเมืองที่ไม่ได้ร่วมพิธีในวันนี้ลงนามในเอกสารทั้ง 2 ฉบับได้เพิ่มเติมจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566

 

ด้าน แสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า การร่วมลงนามในจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งวันนี้ เป็นนิมิตหมายอันดีที่แสดงให้เห็นถึงความเห็นพ้องต้องกันของพรรคการเมือง ที่จะทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นการวางรากฐานของกระบวนการติดตามตรวจสอบการเลือกตั้งโดยภาคประชาสังคม ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของ กกต. ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน 

 

กกต. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า พรรคการเมืองและว่าที่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจะยึดมั่นในจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ที่ได้ร่วมลงนาม เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ

 

ขณะที่ อนุสรณ์ ธรรมใจ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวถึงที่มาของเอกสารทั้ง 2 ฉบับว่า เกิดจากการปรึกษาหารือกันหลายครั้งระหว่างผู้แทนพรรคการเมืองกับองค์กรภาคประชาสังคมจนสรุปออกมาเป็นจรรยาบรรณการหาเสียง 5 ข้อ 2 ภาคผนวก และสัญญาของพรรคการเมือง 8 ข้อ ที่ทุกฝ่ายคาดหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเลือกตั้งและการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง โปร่งใส และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง  

 

“จรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งและสัญญาของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 2566 จะเป็นหมุดหมายและจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประชาชนมีศรัทธาต่อพรรคการเมือง เราจะเปลี่ยนผ่านการเมืองไทยจากระบอบ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ระบอบกึ่งประชาธิปไตยมาเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในปีนี้” อนุสรณ์กล่าว

 

สำหรับจรรยาบรรณ 5 ข้อในการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 ที่พรรคการเมืองลงนามในจรรยาบรรณฉบับนี้ คือ

 

  1. ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง ระเบียบ ประกาศ และคำสั่ง กกต.

 

  1. ไม่กระทำการที่ทุจริตต่อการเลือกตั้ง ไม่ซื้อเสียง ไม่ใช้กลไกหรือทรัพยากรของรัฐในการหาเสียง 

 

  1. หาเสียงอย่างสร้างสรรค์ด้วยสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง คำนึงถึงความหลากหลายทางเพศภาวะ ไม่ข่มขู่ คุกคามหรือสร้างความหวาดกลัว ไม่รบกวนการหาเสียงของพรรคการเมืองอื่น

 

  1. ปฏิเสธการปลุกเร้าความเกลียดชังและความรุนแรง การใส่ร้ายผู้อื่นด้วยความเท็จ การใช้ข่าวปลอม การเผยแพร่ข้อมูลด้วยการหลอกลวงเพื่อความได้เปรียบทางการเมือง

 

  1. ธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของพรรคการเมืองในฐานะสถาบันการเมืองที่สำคัญ นำเสนอนโยบายที่มาจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกและประชาชน และรับผิดชอบต่อนโยบายที่เสนอนั้น

 

ผู้แทนพรรคการเมืองยังให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามแนวทางการหาเสียงเลือกตั้งที่ระบุในภาคผนวก 1 ว่าด้วยการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ และภาคผนวก 2 ว่าด้วยการหาเสียงที่เป็นมิตรต่อผู้หญิงและบุคคลทุกเพศสภาพ  

 

นอกจากจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งแล้ว ผู้แทนพรรคการเมืองยังได้ลงนามในสัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน ในโอกาสการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งมีทั้งหมด 8 ข้อ ได้แก่

 

  1. จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็ต่อเมื่อมีเสียงสนับสนุนรวมกันเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับกลุ่มของพรรคการเมืองที่มีเสียงรวมกันไม่ถึงกึ่งหนึ่ง 

 

  1. เมื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล จะนำนโยบายที่แต่ละพรรคใช้ในการหาเสียงมาบูรณาการและดำเนินการ

 

  1. จะร่วมมือกับทุกพรรคการเมืองในการจัดประชามติว่าเห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่ 

 

  1. จะสนับสนุนให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ 

 

  1. จะดำเนินนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

 

  1. จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการรวมกลุ่มของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในทุกด้าน สนับสนุนให้แรงงานนอกระบบ ลูกจ้างส่วนราชการและลูกจ้างทำงานบ้าน เข้าสู่ระบบการประกันสังคม 

 

  1. จะกำกับดูแลไม่ให้สมาชิกที่เป็นข้าราชการการเมืองใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ และให้เคารพความเป็นกลางของข้าราชการประจำ

 

  1. จะสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ให้ผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เป็นผู้นำทางการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้บริหารพรรคการเมืองในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น

 

ด้าน ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ผู้แทนจากเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566 เชิญชวนประชาชนในทุกเขตการเลือกตั้งร่วมเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง โดยรายงานเหตุการณ์ความผิดปกติที่พบเห็นในช่วงหาเสียงเลือกตั้งไปจนถึงวันเลือกตั้งมาที่เว็บไซต์ vote62.com

 

“การเลือกตั้งเป็นกิจกรรมทางการเมืองของคนทุกคน นักการเมืองหรือชนชั้นนำไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการครอบงำหรือบงการการเลือกตั้งให้บิดเบี้ยวไปจากหลักสากล…ยังไม่สายเกินไปที่ประชาชนจะร่วมกันทวงคืนการเลือกตั้งให้กลับสู่ร่องสู่รอยโดยเร็ว” ภัสราวลีกล่าว

 

สำหรับรายชื่อพรรคการเมืองที่ร่วมลงนามใน จรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566

ณ วันที่ 29 มีนาคม 2566 ประกอบด้วย

 

  1. พรรคก้าวไกล
  2. พรรคชาติรุ่งเรือง
  3. พรรคไทยสร้างไทย
  4. พรรคเปลี่ยนอนาคต
  5. พรรคคนงานไทย
  6. พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล
  7. พรรคประชาไทย
  8. พรรคแผ่นดินธรรม
  9. พรรคความหวังใหม่
  10. พรรคไทยภักดี
  11. พรรคประชาชาติ
  12. พรรคพลัง
  13. พรรคช่วยชาติ
  14. พรรคไทยพร้อม
  15. พรรคประชาธิปัตย์
  16. พรรคพลังธรรมใหม่
  17. พรรคชาติพัฒนากล้า
  18. พรรคไทยรวมไทย
  19. พรรคเป็นธรรม
  20. พรรคพลังสังคม
  21. พรรคเพื่อชาติ
  22. พรรคสังคมประชาธิปไตย
  23. พรรคพลังสังคมใหม่
  24. พรรคเสมอภาค
  25. พรรคเพื่อไทย
  26. พรรคเสรีรวมไทย
  27. พรรคภูมิใจไทย
  28. พรรคชาติไทยพัฒนา
  29. พรรคมิติใหม่
  30. พรรคแรงงานสร้างชาติ
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising