วันนี้ (29 มีนาคม) ผู้แทนพรรคการเมืองร่วมลงนาม จรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้ง และสัญญาของพรรคการเมือง ให้คำมั่นว่าจะเคารพการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 14 พฤษภาคม 2566 รณรงค์หาเสียงอย่างสร้างสรรค์ ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ สัญญาไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย และจะผลักดันการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ครอบคลุมเรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ เนื่องจากหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าสื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทเพิ่มขึ้นมากในกระบวนการเลือกตั้ง ทั้งยังส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางการเมืองที่จะนำไปสู่การสร้างฉันทามติในสังคม
สำหรับพิธีลงนามฯ ร่วมจัดโดย ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย, มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม, มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย, มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม, เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566, WeWatch, WeVis, มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และสถาบันปรีดี พนมยงค์, ศูนย์ประสานงานเพื่อการพูดคุยเชิงมนุษยธรรม, โครงการผู้หญิงผู้นำทางการเมือง, โคแฟค (ประเทศไทย), สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาองค์กรของผู้บริโภค
ทั้งนี้ องค์กรร่วมจัดยังคงเปิดให้พรรคการเมืองที่ไม่ได้ร่วมพิธีในวันนี้ลงนามในเอกสารทั้ง 2 ฉบับได้เพิ่มเติมจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566
ด้าน แสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า การร่วมลงนามในจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งวันนี้ เป็นนิมิตหมายอันดีที่แสดงให้เห็นถึงความเห็นพ้องต้องกันของพรรคการเมือง ที่จะทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นการวางรากฐานของกระบวนการติดตามตรวจสอบการเลือกตั้งโดยภาคประชาสังคม ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของ กกต. ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
กกต. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า พรรคการเมืองและว่าที่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจะยึดมั่นในจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ที่ได้ร่วมลงนาม เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ อนุสรณ์ ธรรมใจ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวถึงที่มาของเอกสารทั้ง 2 ฉบับว่า เกิดจากการปรึกษาหารือกันหลายครั้งระหว่างผู้แทนพรรคการเมืองกับองค์กรภาคประชาสังคมจนสรุปออกมาเป็นจรรยาบรรณการหาเสียง 5 ข้อ 2 ภาคผนวก และสัญญาของพรรคการเมือง 8 ข้อ ที่ทุกฝ่ายคาดหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเลือกตั้งและการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง โปร่งใส และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง
“จรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งและสัญญาของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 2566 จะเป็นหมุดหมายและจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประชาชนมีศรัทธาต่อพรรคการเมือง เราจะเปลี่ยนผ่านการเมืองไทยจากระบอบ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ระบอบกึ่งประชาธิปไตยมาเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในปีนี้” อนุสรณ์กล่าว
สำหรับจรรยาบรรณ 5 ข้อในการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 ที่พรรคการเมืองลงนามในจรรยาบรรณฉบับนี้ คือ
- ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง ระเบียบ ประกาศ และคำสั่ง กกต.
- ไม่กระทำการที่ทุจริตต่อการเลือกตั้ง ไม่ซื้อเสียง ไม่ใช้กลไกหรือทรัพยากรของรัฐในการหาเสียง
- หาเสียงอย่างสร้างสรรค์ด้วยสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง คำนึงถึงความหลากหลายทางเพศภาวะ ไม่ข่มขู่ คุกคามหรือสร้างความหวาดกลัว ไม่รบกวนการหาเสียงของพรรคการเมืองอื่น
- ปฏิเสธการปลุกเร้าความเกลียดชังและความรุนแรง การใส่ร้ายผู้อื่นด้วยความเท็จ การใช้ข่าวปลอม การเผยแพร่ข้อมูลด้วยการหลอกลวงเพื่อความได้เปรียบทางการเมือง
- ธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของพรรคการเมืองในฐานะสถาบันการเมืองที่สำคัญ นำเสนอนโยบายที่มาจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกและประชาชน และรับผิดชอบต่อนโยบายที่เสนอนั้น
ผู้แทนพรรคการเมืองยังให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามแนวทางการหาเสียงเลือกตั้งที่ระบุในภาคผนวก 1 ว่าด้วยการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ และภาคผนวก 2 ว่าด้วยการหาเสียงที่เป็นมิตรต่อผู้หญิงและบุคคลทุกเพศสภาพ
นอกจากจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งแล้ว ผู้แทนพรรคการเมืองยังได้ลงนามในสัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน ในโอกาสการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งมีทั้งหมด 8 ข้อ ได้แก่
- จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็ต่อเมื่อมีเสียงสนับสนุนรวมกันเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับกลุ่มของพรรคการเมืองที่มีเสียงรวมกันไม่ถึงกึ่งหนึ่ง
- เมื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล จะนำนโยบายที่แต่ละพรรคใช้ในการหาเสียงมาบูรณาการและดำเนินการ
- จะร่วมมือกับทุกพรรคการเมืองในการจัดประชามติว่าเห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่
- จะสนับสนุนให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ
- จะดำเนินนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
- จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการรวมกลุ่มของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในทุกด้าน สนับสนุนให้แรงงานนอกระบบ ลูกจ้างส่วนราชการและลูกจ้างทำงานบ้าน เข้าสู่ระบบการประกันสังคม
- จะกำกับดูแลไม่ให้สมาชิกที่เป็นข้าราชการการเมืองใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ และให้เคารพความเป็นกลางของข้าราชการประจำ
- จะสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ให้ผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เป็นผู้นำทางการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้บริหารพรรคการเมืองในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น
ด้าน ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ผู้แทนจากเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566 เชิญชวนประชาชนในทุกเขตการเลือกตั้งร่วมเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง โดยรายงานเหตุการณ์ความผิดปกติที่พบเห็นในช่วงหาเสียงเลือกตั้งไปจนถึงวันเลือกตั้งมาที่เว็บไซต์ vote62.com
“การเลือกตั้งเป็นกิจกรรมทางการเมืองของคนทุกคน นักการเมืองหรือชนชั้นนำไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการครอบงำหรือบงการการเลือกตั้งให้บิดเบี้ยวไปจากหลักสากล…ยังไม่สายเกินไปที่ประชาชนจะร่วมกันทวงคืนการเลือกตั้งให้กลับสู่ร่องสู่รอยโดยเร็ว” ภัสราวลีกล่าว
สำหรับรายชื่อพรรคการเมืองที่ร่วมลงนามใน จรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566
ณ วันที่ 29 มีนาคม 2566 ประกอบด้วย
- พรรคก้าวไกล
- พรรคชาติรุ่งเรือง
- พรรคไทยสร้างไทย
- พรรคเปลี่ยนอนาคต
- พรรคคนงานไทย
- พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล
- พรรคประชาไทย
- พรรคแผ่นดินธรรม
- พรรคความหวังใหม่
- พรรคไทยภักดี
- พรรคประชาชาติ
- พรรคพลัง
- พรรคช่วยชาติ
- พรรคไทยพร้อม
- พรรคประชาธิปัตย์
- พรรคพลังธรรมใหม่
- พรรคชาติพัฒนากล้า
- พรรคไทยรวมไทย
- พรรคเป็นธรรม
- พรรคพลังสังคม
- พรรคเพื่อชาติ
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พรรคพลังสังคมใหม่
- พรรคเสมอภาค
- พรรคเพื่อไทย
- พรรคเสรีรวมไทย
- พรรคภูมิใจไทย
- พรรคชาติไทยพัฒนา
- พรรคมิติใหม่
- พรรคแรงงานสร้างชาติ