×

กลุ่มทะลุวัง ยื่นกว่า 6 พันรายชื่อ ถึงประธานศาลฎีกา เรียกร้อง 3 ข้อ ปล่อยตัวนักโทษการเมือง-ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม-ยกเลิก ม.112

โดย THE STANDARD TEAM
30.01.2023
  • LOADING...
กลุ่มทะลุวัง

วันนี้ (30 มกราคม) ที่หน้าศาลฎีกา สนามหลวง กลุ่มทะลุวัง นำโดย เนติพร เสน่ห์สังคม, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, รศ.อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ เอกชัย หงส์กังวาน เดินทางมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อยื่นหนังสือและรายชื่อประชาชนกว่า 6,514 รายชื่อ ที่ลงชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org แก่ประธานศาลฎีกา เพื่อสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ ผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ยื่นขอถอนประกันตนเอง

 

โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน 2. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 3. พรรคการเมืองออกนโยบายยกเลิกมาตรา 112 และ 116

 

โดยมี ธนากร พรวชิราภา หัวหน้าส่วนกฎหมายและระเบียบ สำนักประธานศาลฎีกา ในฐานะตัวแทนประธานศาลฎีกา เป็นตัวแทนรับมอบ

 

สำหรับแถลงการณ์ของกลุ่มทะลุวังที่นำไปยื่นต่อศาลฎีกาพร้อม 6,514 รายชื่อ มีเนื้อหาใจความว่า

 

ตามที่ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ ได้ถอนการประกันตัว เนื่องจากเป็นการประกันตัวแบบมีเงื่อนไขที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ศาลอาญามีคำสั่งคุมขังเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ทั้งสองคนจึงอดอาหารและน้ำ 

 

โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1. ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน 2. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซง 3. ประกันสิทธิเสรีภาพ ยกเลิกมาตรา 112 และ 116

 

ต่อมาทั้งสองคนปฏิเสธการรักษา และมีอาการสาหัส เสี่ยงอันตรายต่อการเสียชีวิต สาธารณชนได้แสดงออกในการสนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ข้อของตะวันและแบม โดยกลุ่มทะลุวังได้รวบรวมรายชื่อประชาชนจํานวน 6,000 คนที่สนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ข้อของตะวันและแบม ผ่านเว็บไซต์รณรงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง (Change.org) จึงขอเรียกร้องต่อศาลฎีกาดังต่อไปนี้

 

  1. ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน จากการที่ราษฎรได้แสดงความคิดเห็น และชุมนุมโดยสงบ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย แต่รัฐบาลประยุทธ์กลับใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน และใช้มาตรา 112 และ 116 เป็นเครื่องมือในการจับกุมคุมขัง โดยที่ศาลไม่ให้ประกันตัว หรือให้ประกันตัวแต่มีเงื่อนไขหลายประการที่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน เป็นเหตุให้ทั้งสองคนอดอาหารและน้ำ ดังนั้นจึงขอให้ศาลฎีกาได้ปกป้องสิทธิเสรีภาพของราษฎรด้วยการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน

 

  1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีความเป็นอิสระ เปิดเผย โปร่งใส เนื่องจากผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในกระบวนการพิจารณาคดีไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง เนื่องจากผู้บริหารเป็นผู้พิจารณาสั่งการ อันเป็นการแสดงถึงการแทรกแซงกระบวนการพิจารณา ที่ทำให้ขาดความโปร่งใส ไม่เป็นที่ยอมรับต่อสังคม จึงขอให้ศาลฎีกาประกาศโดยชัดแจ้งให้กระบวนการพิจารณาคดีปราศจากการแทรกแซงจากผู้บริหารและผู้มีอำนาจหน้าที่ส่งผลต่อความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพของราษฎร

 

  1. ประกันสิทธิเสรีภาพของราษฎร จากการใช้กฎหมายมาตรา 112 และ 116 อย่างไม่เป็นธรรม ด้วยการยุติการดำเนินคดีที่เกิดจากการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของราษฎร ดำเนินการยกเลิกมาตรา 112 และ 116

 

นอกจากข้อเรียกร้องที่ได้อ่านแถลงการณ์ ยังมีจดหมายเปิดผนึก 50 คณาจารย์คณะนิติศาสตร์จากสถาบันการศึกษา เรื่อง เรียกร้องให้คืนสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมือง

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising