×

กว่าจะเป็น ‘Policy Watch’ แพลตฟอร์มเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง ‘นโยบาย’ และ ‘สาธารณะ’ ผ่านการถกแถลงแสดงทัศนะเพื่อสร้างนโยบายสาธารณะที่เป็นประชาธิปไตย

โดย THE STANDARD TEAM
29.06.2024
  • LOADING...

ไม่แปลกถ้าคุณไม่เคยรู้ว่าประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมกับ ‘นโยบายสาธารณะ’ ได้ 

 

นี่ไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกปกปิด เพียงแต่ที่ผ่านมา ‘นโยบายสาธารณะ’ เป็นเรื่องที่อยู่ในวงจำกัดของคนทำนโยบายหรือนักวิชาการนโยบายเท่านั้น ไม่ได้ถูกสื่อสารหรือแปลงข้อมูลให้เป็นเรื่องที่ประชาชนเข้าใจง่าย 

 

ยิ่งไปกว่านั้น การสื่อสารนโยบายสาธารณะในอดีตเป็นการสื่อสารทางเดียว โดยมีเป้าหมายเพียงเพื่อ ‘แจ้งให้ทราบ’ ว่ากำลังดำเนินนโยบายอะไร และต้องการให้ผู้ปฏิบัติตามร่วมมือ นำไปสู่ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ประชาชนต้องพึ่งพาข้อมูลจากผู้มีอำนาจในระดับนโยบายเท่านั้น 

 

แม้ประชาชนจะตระหนักดีว่า ‘การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน’ และปัจจุบันก็มีช่องทางส่งเสียงและข้อเสนอแนะมากกว่ายุคก่อน แต่ยังมีช่องโหว่ที่ทำให้กระบวนการประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์อย่างแท้จริง 

 

โดยเฉพาะ ‘นโยบายสาธารณะ’ ที่ต้องการความเห็นและมุมมองจากหลายภาคส่วน รวมถึงประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายนั้นๆ โดยตรง จึงต้องเปลี่ยนจากการสื่อสารทางเดียวเป็นการสื่อสารหลายทาง เพื่อระดมความคิดและประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน จนนำไปสู่นโยบายที่เหมาะสม 

 

แล้วประชาชนจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร เสียงที่ส่งไปจะถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจริงหรือ? 

 

ข้อสงสัยนี้เป็นสิ่งที่ไทยพีบีเอสไม่เคยนิ่งเฉย ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส บอกว่า “การให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเป็นหัวใจสำคัญของไทยพีบีเอส” 

 

“เราเป็นสื่อสาธารณะที่อยู่ตรงกลางระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ที่ผ่านมาเราเปิดพื้นที่นำเสนอข่าวทุกประเด็น ทั้งภารกิจของรัฐ การเมือง ประเด็นทางสังคม ปัญหาของประชาชน ทำให้เสียงที่ไม่เคยปรากฏในสังคมถูกได้ยิน บางเรื่องเป็นปัญหาเฉพาะที่ พอเป็นข่าวก็ถูกแก้ไขในเชิงปัจเจก นานไปเราพบว่า หลายปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ มีจุดรวมในเชิงโครงสร้าง ซึ่งเครื่องมือที่จะทำให้ปัญหาเชิงโครงสร้างถูกแก้ไขได้จริงคือ ‘นโยบายสาธารณะ’” 

 

ทำไมทุกคนควรต้องมีส่วนร่วมกับ ‘นโยบายสาธารณะ’

 

ณาตยาบอกว่า เดิมทีนโยบายสาธารณะเป็นแนวทางที่รัฐบาลหรือสถาบันกำหนดขึ้น แต่ปัจจุบันนโยบายสาธารณะสามารถเกิดจากการผลักดันของประชาชนหรือนักวิชาการ แต่การจะทำให้นโยบายจากข้อเสนอแนะจากภาคประชาสังคมเกิดขึ้นจริงต้องได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลอยู่ดี 

 

“ที่ผ่านมา หากพูดถึงนโยบายสาธารณะที่กำหนดโดยรัฐบาล ประชาชนทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รับสาร เขาจะรู้สึกว่านโยบายนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวเอง อยู่ในฐานะผู้รองรับว่าผู้ออกนโยบายจะให้อะไรกับตัวเขาบ้าง ขณะที่นโยบายจากประชาชนหลายนโยบายถูกนำเสนอและนำไปปฏิบัติ เช่น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หรือ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ แต่ประชาชนต้องออกแรงเยอะมากถึงจะได้มีส่วนร่วม” 

 

“ประเด็นคือ ประเทศไทยขาดจุดเชื่อมต่อระหว่างคนทำนโยบายกับประชาชน ซึ่งการสื่อสารเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างสองฝั่ง ขณะเดียวกันหลังจบการเลือกตั้งปี 2566 ไทยพีบีเอสก็ตั้งคำถามว่า นโยบายที่รัฐบาลประกาศตรงตามความต้องการของประชาชนจริงหรือไม่ ตอบสนองความต้องการของประชาชนแค่ไหน รวมถึงเรื่องการใช้งบประมาณ การบริหารนโยบาย ไปจนถึงหลังจากที่ดำเนินนโยบายไปแล้วผลที่ได้รับเป็นอย่างไร สำคัญที่สุดคือ ประชาชนจะรู้เท่าทันนโยบายได้อย่างไร จึงเป็นที่มาของความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในไทยพีบีเอสช่วยกันทำแพลตฟอร์ม ‘Policy Watch’ ทันทีหลังรัฐบาลประกาศนโยบาย”

 

 

หน้าที่ของ ‘Policy Watch’ คืออะไร

 

ถ้าอธิบายจากฟีเจอร์ในแพลตฟอร์ม Policy Watch เปรียบเสมือนเครื่องมือในการติดตามนโยบายสาธารณะ วิเคราะห์ข้อมูลแล้วแปลงเป็นสารที่เข้าใจง่ายผ่านเรื่องเล่าในรูปแบบต่างๆ ทั้งบทความเชิงวิเคราะห์ บทความข่าว คลิปวิดีโอ Visual Note ไปจนถึงการจัด Policy Forum เวทีที่หยิบยกประเด็นสำคัญมาถกแถลงเพื่อรวบรวมความเห็นจากประชาชนที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่รับผิดชอบนโยบายนั้นๆ

 

แต่หากอธิบายจากมุมของคนไทยพีบีเอส ณาตยาบอกว่า Policy Watch เปรียบเสมือน ‘สะพานเชื่อม’ ระหว่างรัฐกับประชาชน ตามติดนโยบายสาธารณะและแปลงข้อมูลเพื่อนำเสนอสู่ประชาชนในทุกแง่มุมเพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันการกำหนดนโยบาย ในทางกลับกัน พื้นที่แห่งนี้จะเปิดให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบาย ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อมูลและตัดสินใจ 

 

“ถ้าทุกฝ่ายเปิดใจรับฟังทั้งมุมมองที่เห็นด้วยและเห็นต่างจะเกิดการเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน การมีส่วนร่วมจะทำให้นโยบายสาธารณะยั่งยืน ท้ายที่สุดจะเป็นนโยบายของประชาชนอย่างแท้จริง” 

 

สะพานที่เชื่อมต่อด้วย ‘ข้อมูล ความรู้ และการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม’

 

Policy Watch ไม่เพียงพลิกบทบาท ‘สื่อ’ แบบเดิมที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง แต่จะทำหน้าที่เป็น ‘สะพานเชื่อมต่อ’ โดยใช้ข้อมูล ความรู้ และการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ เป็นเครื่องมือสำคัญ 

 

“การนำเสนอข่าวทุกวันนี้ต้องปรับกระบวนท่าใหม่ในเชิงวิเคราะห์ นำเสนอชุดข้อมูลใหม่ให้กับประชาชน เพื่อให้การสื่อสารนั้นสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม อย่าง Policy Watch ต้องทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนผ่านบทวิเคราะห์ บทสรุป ติดตามความคืบหน้า แปลงข้อมูลให้เป็น ‘เรื่องเล่า’ เพื่อสร้างความรู้สึกและเข้าใจว่านโยบายดีหรือไม่ดี พวกเขาได้หรือเสียอะไร ส่งผลกระทบอะไร” 

 

 

จะเรียกว่าเป็นการปรุงข้อมูลดิบให้กลมกล่อมขึ้นก็ได้ ณาตยายกตัวอย่างการนำงานวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มาแปลงเป็นสารคดีเชิงข่าว สะท้อนปัญหาคนจนในเมือง นอกจากความรู้ ภาพและเรื่องเล่ายังเปลี่ยนทัศนคติของคนดูต่อคนจนที่เคยมองว่า คนจนขี้เกียจ แท้จริงแล้วพวกเขาจนเพราะความเหลื่อมล้ำในเมือง นอกจากจะเล่าในเชิงสารคดีข่าว ข้อมูลเดียวกันเราก็นำมาเป็น Data Visualization ต่อยอดทำเรื่องรัฐสวัสดิการและเรื่องภาษี” 

 

ณาตยายังบอกด้วยว่าหัวใจสำคัญของ Policy Watch คือ Data “ในแพลตฟอร์มของ Policy Watch จะมี Data เกี่ยวข้องกับทุกนโยบาย ข้อมูลเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานร่วมกับสถาบันวิจัย อีกส่วนมาจากทีม Data Journalist ของไทยพีบีเอส ที่สำคัญทุกฝ่ายในไทยพีบีเอส ทั้งฝ่ายข่าว ฝ่ายที่ทำงานด้านเครือข่าย ฝ่ายที่ทำงานด้านนโยบายสาธารณะ และฝ่ายที่ทำงานด้านวิชาการ ทำสิ่งนี้ร่วมกัน ทำให้ข้อมูลและคอนเทนต์หลายมิติถูกนำมารวบรวมเอาไว้ได้อย่างครอบคลุม 

 

“เชื่อว่าแม้คนที่ต่างมุมมองก็สามารถมีมติร่วมกันได้ เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดข้อยุติคือ Data เพียงแต่เราในฐานะสื่อต้องทำให้มันเป็นเรื่องที่มีชีวิต สัมผัสได้ รู้สึกได้ เพื่อให้นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องใกล้ตัว เมื่อนั้นจะเกิดการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะได้จริง”

 

‘Policy Forum’ เวทีแห่งวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมผ่านกระบวนการประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ 

 

แม้ว่าตอนนี้ Policy Watch จะอยู่ในเฟสแรก และกำลังพัฒนาแพลตฟอร์มในเชิงเทคนิค แต่ระหว่างนี้ผู้ที่สนใจสามารถมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในนโยบายต่างๆ ผ่านช่องทางที่ไทยพีบีเอสมีอยู่ หรือจะเข้าร่วมชมและรับฟัง Policy Forum เวทีเสวนาหยิบยกประเด็นเชิงนโยบายและเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกระบวนการประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy)

 

 

จนถึงตอนนี้ (เดือนมิถุนายน 2567) Policy Forum เปิดเวทีเสวนามาแล้วทั้งหมด 13 ครั้ง ถกแถลงในหลายหัวข้อ เช่น โค้งสุดท้าย สว. โอกาสเปลี่ยนประเทศไทย ?, นโยบายขับเคลื่อน “เศรษฐกิจสีรุ้ง”, วิชาชีวิต เทียบหน่วยกิตได้, นโยบายคืนครูให้ห้องเรียน 

 

“การตัดสินใจเรื่องที่ผู้คนมีมุมมองต่างมุม ต่างมิติกัน จำเป็นต้องใช้การปรึกษาหารือ หลายความขัดแย้งมันถูกพิสูจน์ว่า การใช้อำนาจเพียงอย่างเดียวอาจจะสำเร็จตามเป้า แต่มันไม่ยั่งยืน และมันก็ไม่ใช่ฉันทมติ เวทีนี้จะเป็นหนึ่งในการสร้างระบบนิเวศของกระบวนการนโยบายสาธารณะที่ดีขึ้น ทำให้คนมีโอกาสถกแถลง พูดคุย ให้ฟีดแบ็กกับนโยบาย” 

 

สำหรับการเลือกประเด็นที่หยิกมาถกแถลงบน Policy Forum ณาตยาบอกว่า โดยหลักจะเลือกจากนโยบายสาธารณะโดยรัฐ เช่น นโยบายพักหนี้เกษตรกร, นโยบายสุขภาพจิต และบางเวทีก็เลือกจากกระแสที่สังคมสนใจ

 

“เรามี Policy Chart เป็นเหมือน Monthly Report ที่เก็บข้อมูลจากโซเชียลว่าในเดือนนี้นโยบาย 5 อันดับแรกที่ประชาชนสนใจคืออะไร อย่างตอนเปิดเวทีพูดคุยเรื่อง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ก็ใช้ข้อมูลตรงนี้” 

 

ณาตยายกตัวอย่าง Policy Forum ในหัวข้อ “2 ทศวรรษชายแดนใต้ สันติภาพที่ยังไปไม่ถึง” ที่ทาง The Active ร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) แลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็น ระหว่างอดีต กอส. กรรมาธิการวิสามัญฯ จังหวัดชายแดนภาคใต้ นักวิชาการ และภาคประชาสังคมในพื้นที่ ในการทบทวนข้อเสนอจากอดีตจนถึงข้อค้นพบในปัจจุบัน เพื่อหาคำตอบในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และเดินไปสู่การสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

 

 

หลังเสร็จสิ้นการถกแถลง ข้อเสนอที่ตกผลึกจากเวทีจะถูกนำไปประกอบการเรียบเรียงในข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) และคณะกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำเนินการต่อในชั้นนโยบาย ทั้งการแก้กฎหมายในสภาและการทำหน้าที่ของรัฐบาล 

 

ว่าด้วยเรื่องนโยบายสาธารณะที่ ‘เสร็จ’ แต่ (อาจจะ) ‘ไม่สำเร็จ’

 

อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่จะทำให้ประชาชนรู้เท่าทันการทำงานของรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะต่างๆ คือ ฟีเจอร์ที่ออกแบบให้เราสามารถ Tracking นโยบายทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ได้แก่ การศึกษา การเกษตร ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บริหารงานภาครัฐ รัฐธรรมนูญ กฎหมาย สังคม คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยแต่ละนโยบายยังไล่ดูได้ว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนไหน ตั้งแต่เริ่มนโยบาย วางแผน ดำเนินงาน ตรวจสอบ และไปจบที่ประเมินผล 

 

 

มีบางนโยบายดำเนินการไปถึงขั้นตอนการประเมินผล และอีกหลายนโยบายที่ยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผน ณาตยาบอกว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้บางนโยบายยังหยุดชะงัก แต่นโยบายที่เสร็จสิ้นก็ใช่ว่าจะสำเร็จตามเป้าประสงค์ 

 

“อย่างนโยบายแก้หนี้นอกระบบ ถ้าดูจาก Tracking นโยบายนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว แต่หากดูผลการประเมินจำนวนลูกหนี้ที่ลงทะเบียนกับจำนวนลูกหนี้ที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จยังไม่ตรงตามเป้า หน้าที่ของเราคือการติดตามให้เห็นผลลัพธ์ และรายงานให้เห็นว่าบทสรุปของนโยบายที่ดำเนินการตามขั้นตอนแล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไร ผ่านการนำเสนอด้วยข้อมูล ประชาชนต้องได้เห็นข้อมูลนี้ และต้องสามารถดูข้อมูลย้อนกลับไปในทุกขั้นตอนได้ว่ามันเกิดการทำงานอย่างไร นอกจากนั้นยังมีตัวชี้วัดเชิงโครงการ เชิงกระบวนการ และเชิงการเมือง เราสร้างตัวชี้วัดขึ้นมาร่วมกับนักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะ ถ้าสงสัยว่า ระหว่างทางรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำอะไรไปบ้าง ก็จะมีการรวบรวมในส่วนของข่าวที่นำมาจากทุกแพลตฟอร์มของไทยพีบีเอส เพราะเราต้องการให้ประชาชนเท่าทันต่อนโยบาย เท่าทันการเมือง” 

 

Policy Watch ทำอะไรกับ ‘เสียงของประชาชน’

 

หากประชาชนอยากรู้ว่า ‘เสียง’ ที่ส่งออกไปมีคนได้ยินจริงหรือไม่? และเกิดอะไรขึ้นกับเสียงและความเห็นเหล่านั้น ณาตยาตอบด้วยการยกตัวอย่างกรณี ‘แลนด์บริดจ์’ (โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน) หนึ่งในประเด็นที่มีความขัดแย้งสูง 

 

“เราเลือกทำข้อมูลผ่าน Data Visualization ที่เป็นไทม์ไลน์ของนโยบายของรัฐในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ย้อนให้เห็นว่ามันมีเรื่องแบบนี้มานานแค่ไหน และแต่ละครั้งลงเอยอย่างไร ส่วนกิจกรรมที่ประชาชนจัดไม่ว่าจะเป็นเวทีสาธารณะ ขับรถแห่ สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็น เรานำเสนอทั้งหมด เพราะมันคือสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ถ้ากลุ่มคนที่คัดค้านอ้างอิงถึงผลกระทบอันนี้เราต้องเช็กข้อมูล เข้าไปพิสูจน์สิ่งที่เขาบอก ในเวลาเดียวกัน เสียงของคนที่สนับสนุน หากเป็นกิจกรรมที่ไม่สร้างผลกระทบโดยตรงต่อเสียงคัดค้าน เราก็ต้องไปสัมภาษณ์ แต่ไม่สัมภาษณ์แบบปิงปอง ต้องสัมภาษณ์ด้วยข้อมูลและหลักฐานอ้างอิง”

 

แต่จะทำอย่างให้การนำเสนอข้อมูลมีความเป็นกลาง? ณาตยาบอกว่า หากมาจากโจทย์ของการทำนโยบายสาธารณะ จะใช้กระบวนการวิเคราะห์นโยบาย 

 

“เราทำงานร่วมกับนักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะ ได้เรียนรู้ Policy Canvas เพื่อที่จะวิเคราะห์นโยบายอย่างละเอียด ทำให้เห็นปัจจัยที่ลึกลงไปว่ามีอะไรที่ต้องนำมาคิดประกอบบ้าง อะไรคือเป้าหมายของนโยบาย อะไรคือโจทย์ปัญหา ลงลึกเข้าไปถึงบุคลิกลักษณะของกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย เจาะถึงผู้เกี่ยวข้องกับนโยบายนี้ บุคลิกของคนเหล่านั้นเป็นอย่างไร

 

“เมื่อเอาทักษะของการเป็นนักข่าวเข้าไปจับวิธีการของนักนโยบายสาธารณะ ทำให้เกิดคอนเทนต์ที่ต่างจากการเขียนชี้แจงนโยบายแบบงานวิจัย แต่เป็นการเขียนบทวิเคราะห์นโยบายด้วยแว่นของสื่อมวลชนที่ยึดโยงกับประชาชน” 

 

 

ความหวัง ตั้งเป้า เข้าสู่เฟส 2

 

ณาตยาบอกว่า Policy Watch ยังอยู่ในเฟสแรก และตั้งเป้าว่าจะเปิดเฟส 2 ให้ทันวันครบรอบ 1 ปี การแถลงนโยบายของรัฐบาล ถ้าดูจากวันที่ตั้งไข่จนถึงวันเปิดตัวเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ใช้เวลาไม่ถึงปี เป้าที่ประกาศเป็นไปได้แน่นอน 

 

“เฟส 2 ของแพลตฟอร์มจะมีฟังก์ชันที่รองรับการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะหัวใจสำคัญคือการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์ม นอกจากนั้นจะนำเสนอความคืบหน้าของนโยบายในรูปแบบ Data Visualize มากขึ้น ปรับโฉมให้เข้าถึงง่าย

 

“กุญแจสำคัญที่ทำให้ Policy Watch เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ เกิดจากนโยบายและการบริหารงานที่ชัดเจนว่านี่คือสิ่งที่ไทยพีบีเอสต้องทำ ต่อมาคือความมุ่งมั่นทุ่มเทของบุคลากรทุกฝ่าย และสุดท้ายคือพาร์ตเนอร์และเครือข่ายที่แข็งแกร่ง”

 

ณาตยาบอกว่า สิ่งที่สะท้อนว่าการทำงานครั้งนี้ถูกต้องและถูกทางยังมาจากเสียงตอบรับจากหน่วยงานรัฐ หน่วยงานราชการ องค์กรภาคประชาสังคมที่สนใจอยากจะทำงานร่วมกัน รวมถึงติดต่อขอนำแพลตฟอร์มไปใช้เป็นเครื่องมือในการทำนโยบาย หรือนำ Visual Note ไปใช้ต่อในการประชุมหรือทำรายงาน 

 

“เราตั้งเป้าให้แพลตฟอร์มนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนโยบายสาธารณะของประเทศไทย ของคนไทย ที่จะเปลี่ยนระบบนิเวศการทำงานของนโยบายสาธารณะ โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลที่อยู่ในแพลตฟอร์มจะเป็นเหมือนเครื่องบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่าเคยมีนโยบายอะไรบ้างในประเทศไทย ย้อนกลับมาตรวจสอบได้ว่ารัฐบาลไหนเคยเสนอนโยบายอะไร และทำได้แค่ไหน ท้ายที่สุดแล้วมันจะกระตุ้นให้สังคมไทยมีวัฒนธรรมของการใช้ Data แบบมีหัวใจและความรู้สึก เกิดวัฒนธรรมการถกเถียงแลกเปลี่ยน และอยากมีส่วนร่วมเพื่อทำให้นโยบายสาธารณะที่ดีเกิดขึ้น” ณาตยากล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising