×

เปิดเหตุผล ทำไมบอร์ด กนง. 2 ท่าน อยากให้ลดดอกเบี้ย พร้อมจับทิศทางดอกเบี้ยในการประชุมรอบถัดไป

07.02.2024
  • LOADING...

วันนี้ (7 กุมภาพันธ์) ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวในการแถลงผลการประชุม หลังคณะกรรมการมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี 

 

โดยปิติระบุว่า ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการทุกท่านหารือกันอย่างปกติและการประชุมเสร็จตามเวลา โดยกรรมการทุกท่านเห็นพ้องต้องกันใน 2 ประเด็น ได้แก่

 

  1. ประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างมายาวนาน ศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ‘น่าเป็นห่วง’ และจำเป็นต้องมีนโยบายเชิงโครงสร้างเข้ามาช่วยปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีศักยภาพสูงขึ้น

 

  1. เสถียรภาพทางการเงินและกระบวนการสะสางหนี้ (Deleveraging) ยังคงเป็นสิ่งที่ดี ต้องดำเนินต่อไป ไม่ควรจะลดอัตราดอกเบี้ยเยอะๆ เพื่อฉุดรั้งกระบวนการดังกล่าว

 

ส่วนประเด็นที่มีความเห็นต่างกันคือ การช่างน้ำหนักระหว่างปัจจัยเชิงวัฏจักร (Cyclical Factor) และปัจจัยเชิงโครงสร้าง (Structural Factor)

 

โดยคณะกรรมการ 2 ท่านมองว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจน่าจะฉุดศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (Potential GDP Growth) ให้ชะลอตัว จึงอาจต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับศักยภาพ

 

ขณะที่คณะกรรมการส่วนใหญ่ (5 ท่าน) มองว่า อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ พร้อมทั้งประเมินว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากแรงส่งจากภาคต่างประเทศที่น้อยลง (ปัจจัยเชิงวัฏจักร) และผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง จึงมองว่าอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว 

 

ธปท. มองไทยไม่เข้าข่ายเงินฝืด

 

ปิติยืนยันว่า นิยามเงินฝืดในมุมมองของ ธปท. คือ ภาวะที่กำลังแรงซื้อของผู้คนต้องหายไปหรือคนไม่ใช้จ่ายเลยแบบ ‘ยั่งยืน’ ไม่ใช่แค่ชั่วคราว และต้องเป็นการลดลงของสินค้าเกือบทุกหมวดหมู่

 

แต่สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่เข้าข่าย เนื่องจากราคาสินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อลดลงราว 25% เท่านั้น ขณะที่อีก 75% ยังคงเพิ่มขึ้นหรือคงที่

 

นอกจากนี้ในแถลงการณ์ผลการประชุม ธปท. ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 ลง โดยคาดว่ามีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียง 1% ก่อนที่จะทยอยเพิ่มขึ้นในปี 2568 จากคาดการณ์เดิมที่ 2% ในปี 2567 (ในรายงานเดือนพฤศจิกายน)

 

โดยปิติอธิบายว่า “แม้อัตราเงินอยู่ในกรอบล่างก็ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากการที่อัตราเงินเฟ้อไม่สูงทำให้ไม่ได้เป็นภาระหรือซ้ำเติมปัญหาค่าครองชีพของประชาชน และ ‘เป็นเรื่องที่ดี’ ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นตัวเร็วขนาดนั้น

 

ปิติยังย้ำด้วยว่า คณะกรรมการยังให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพทางการเงินด้วย เนื่องจากหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ต้องใช้เวลาในการสะสาง และหากอัตราดอกเบี้ย (อยู่ในระดับต่ำ) ไม่เอื้อต่อการสะสาง ปัญหาเหล่านั้นก็จะกลับมาเป็นปัจจัยกัดกร่อนศักยภาพเศรษฐกิจอีกที

 

จับตาทิศทางดอกเบี้ยในการประชุมนัดต่อไป

 

ในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าว ปิติยืนยันว่า ณ ตอนนี้คณะกรรมการไม่ได้ปักหมุดว่าจะต้องยืน (อัตราดอกเบี้ย) ระดับนี้ไปเรื่อยๆ และพร้อมเปิดกว้างต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากในรอบหน้า กนง. จะได้รับข้อมูลใหม่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เช่น GDP ทั้งปี 2566 ตัวเลขเงินเฟ้อและส่งออกอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เป็นต้น

ทั้งนี้ การประชุม กนง. ครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันพุธที่ 10 เมษายน 2567

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X