×

ตำรวจจับมือซีพี เตือนกลโกงไซเบอร์ทุกช่องทาง พบสถิติตั้งแต่ มี.ค. ปีที่แล้ว เสียหายกว่า 2 หมื่นล้าน อายัดทันแค่ 4 ร้อยกว่าล้าน

โดย THE STANDARD TEAM
10.02.2023
  • LOADING...
อาชญากรรมทางไซเบอร์

วันนี้ (10 กุมภาพันธ์) ที่อาคารฝึกอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ว่าด้วยการประชาสัมพันธ์สื่อสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยมี ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เป็นผู้แทนลงนาม

 

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรืออาชญากรรมทางไซเบอร์ในปัจจุบันมีสถิติที่เพิ่มสูงขึ้น จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 – 6 กุมภาพันธ์ 2566 มีการรับแจ้งความอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจำนวนทั้งสิ้น 192,031 คดี รวมมูลค่าความเสียหาย 29,546,732,805 บาท สามารถติดตามอายัดบัญชี 65,872 บัญชี อายัดได้ทัน 445,265,908 บาท

 

จึงต้องมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (Public Private Partnership: PPP) เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายในการยับยั้ง ป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกันไซเบอร์วัคซีน (Cyber Vaccine) แก่ประชาชน เพื่อให้รู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่างๆ ของมิจฉาชีพ

 

อาชญากรรมทางไซเบอร์

 

ศุภชัยกล่าวว่า ในการประชุม World Economic Forum 2023 ได้จัดให้ ‘ภัยคุกคามทางไซเบอร์’ เป็น 1 ใน 5 ความเสี่ยงที่สำคัญระดับโลก มีการคาดการณ์ว่าผลกระทบจากการโจมตีทางไซเบอร์จะสูงถึง 10.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025 ดังนั้นทางเครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มบริษัทในเครือจึงร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำร่องด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับกลโกงต่างๆ ของอาชญากรรมทางไซเบอร์เป็นองค์กรแรก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไซเบอร์วัคซีนให้ประชาชนชาวไทยมีความรู้เท่าทันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ

 

โดยเครือข่ายได้ระดมสรรพกำลังของกลุ่มธุรกิจร่วมประชาสัมพันธ์กลโกงของอาชญกรรมทางไซเบอร์ในทุกช่องทาง ทั้งจากกลุ่มโทรคมนาคมและร้านค้าปลีกค้าส่ง คือการส่ง SMS เตือนภัยผ่านเครือข่าย TrueMove H ซึ่งมีผู้ใช้บริการรวม 37 ล้านเลขหมาย โดยได้เริ่มดำเนินการไปแล้วในเดือนมกราคมที่ผ่านมา การเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อภายในลักษณะต่างๆ ในร้าน 7-Eleven กว่า 13,000 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนลูกค้าเข้ามาใช้บริการ 11,404,314 คนต่อวัน ใน Makro 152 สาขา และ Lotus’s มากกว่า 2,000 สาขา การประชาสัมพันธ์รายการในสถานีข่าว TNN16 และช่อง True4U การจัดกิจกรรมแฮกกาธอนในกลุ่มเยาวชน คิดค้นไอเดียรับมือกลโกง รวมถึงการกระจายข่าวสารผ่านพนักงานกว่า 361,570 คนทั่วประเทศ

 

อาชญากรรมทางไซเบอร์

 

นอกจากนี้ภายในงานได้มีการจัดการเสวนา ‘จุดกระแส On Stage’ ดำเนินรายการโดย กรรชัย กำเนิดพลอย ในหัวข้อ ‘แฉสารพัดกลโกงมิจฉาชีพหลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์’ ซึ่งมีผู้ร่วมแชร์ประสบการณ์ ได้แก่ มยุรา เศวตศิลา, ภาณุพงศ์ หอมวันทา, แคท ผู้เสียหายที่เคยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมกระบวนการกลโกงคอลเซ็นเตอร์ และ โอม ผู้เสียหายที่เคยตกเป็นเหยื่อกลโกงแอปพลิเคชันออนไลน์ดูดเงินโดยแอบอ้างกรมสรรพากร

 

มยุรากล่าวว่า กลโกงทางคอลเซ็นเตอร์มีมาตลอดแต่อาจยังไม่ได้แพร่หลายในช่วงแรก ตนเองครั้งแรกที่โดนหลอกคือเมื่อ 10 ปีก่อน โดยถูกระบุว่าตนเองมีพฤติการณ์ฟอกเงิน แต่ในตอนนั้นตนยืนยันว่าไม่ได้ทำผิด จนปัจจุบันที่ทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้นก็ยังพบการแอบอ้างว่าติดต่อมาจากร้านค้า หน่วยงานต่างประเทศ

 

ด้านภาณุพงศ์กล่าวว่า ตนเองเป็นผู้เสียหายถูกหลอกให้เสียเงินเกือบ 10,000 บาท ผ่านการสั่งซื้อของ (ไอเท็ม) ในเกมออนไลน์

 

ส่วนแคทกล่าวว่า เป็นผู้เสียหายโดยเริ่มจากการเข้าไปสมัครงานผ่านเว็บไซต์ตำแหน่งพนักงานแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ ขณะนั้นทางบริษัทระบุว่าตนจะได้รับค่าจ้างเดือนละ 30,000 บาท แต่ต้องเดินทางผ่านช่องทางธรรมชาติเพื่อไปประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นตนได้เจอนายหน้าที่ติดต่อจ้างงาน ชี้แจงว่าจากนี้ไปเธอมีหน้าที่โทรศัพท์หาคนไทย ต้องหลอกเงินให้ได้ในฐานะบริษัทเงินกู้

 

แคทกล่าวต่อไปว่า รูปแบบงานที่ทำจะมีบทให้พูดและวิธีการให้คนติดต่อกลับ ตลอดเวลาตนพยายามบ่ายเบี่ยงที่จะไม่โทรไปหลอกใคร ภายหลังทางผู้จ้างงานได้นำเธอไปขังไว้ ก่อนที่เธอและพวกจะหลบหนีมาได้พร้อมกลับคนไทยคนอื่นๆ

 

ด้านโอมกล่าวว่า ถูกหลอกว่าได้รับสิทธิผ่านโครงการคนละครึ่งของรัฐบาล แต่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ซึ่งเมื่อตนเชื่อและดาวน์โหลดโทรศัพท์ก็มีปัญหาและพบว่าเงินในแอปธนาคารของโทรศัพท์ทั้งหมดสูญหายไปแล้ว

 

ส่วนกรรชัยกล่าวปิดท้ายว่า ประเด็นสำคัญที่สุดคือการหลอกลวงถูกดำเนินการผ่านโทรศัพท์ ฉะนั้นการเฝ้าระวังเหตุอาชญากรรมผ่านโทรศัพท์ ระบบออนไลน์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

 

อาชญากรรมทางไซเบอร์

 

อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถติดตามรูปแบบการประชาสัมพันธ์กลโกงได้ที่ https://pctpr.police.go.th โดยมี 18 กลโกงหลักของมิจฉาชีพที่ใช้หลอกลวงเหยื่อบนโลกออนไลน์ ได้แก่

 

  1. หลอกขายสินค้าออนไลน์
  2. หลอกให้ทำงานเสริมออนไลน์
  3. เงินกู้ออนไลน์ (เงินกู้ทิพย์)
  4. ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว (Call Center)
  5. หลอกลวงให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ
  6. หลอกให้รักแล้วลงทุน
  7. หลอกให้รักแล้วโอนเงินหรือยืมเงิน
  8. ปลอมหรือแฮ็กบัญชีไลน์ เฟซบุ๊ก แล้วหลอกยืมเงิน
  9. แชร์ลูกโซ่
  10. การพนันออนไลน์
  11. หลอกให้โหลดโปรแกรมควบคุมคอมพิวเตอร์ทางไกลเพื่อขโมยข้อมูล
  12. ส่ง QR Code หลอกให้โอนเงิน
  13. ฉ้อโกงรูปแบบอื่น โดยหลอกลวงด้วยเรื่องราวต่างๆ
  14. โฆษณาเชิญชวนไปทำงานต่างประเทศ
  15. หลอกลวงให้ถ่ายภาพโป๊เปลือยเพื่อข่มขู่เรียกเงิน
  16. ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) และร่วมกันกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ฟอกเงิน
  17. ข่าวปลอม
  18. เรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising