วันนี้ (30 มิถุนายน) ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะ และ วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมแถลงคดี สรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ แอม ผู้ต้องหาคดีไซยาไนด์ วางยาฆ่าเจ้าหนี้ 15 คดี ในพื้นที่ 8 จังหวัด โดยคดีแรกเกิดในปี 2558 ต่อเนื่องถึงปี 2566 มีผู้เสียชีวิต 14 ราย รอดชีวิต 1 ราย
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตทั้งหมดมีความเกี่ยวพันกับแอมในฐานะเจ้าหนี้เงินกู้ นายหน้าขายรถมือสอง และวงแชร์ ซึ่งพนักงานสอบสวนชุดคลี่คลายคดีประกอบด้วยตำรวจสอบสวนกลาง โดยกองบังคับการปราบปราม ตำรวจภูธรภาค 7 ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รวบรวมพยานหลักฐานจากพื้นที่เกิดเหตุเป็นภาพจากกล้องวงจรปิด สอบปากคำแพทย์ผู้ชันสูตร
ซึ่งสถาบันนิติเวชวิทยาได้ตรวจสอบเลือดและสารคัดหลั่งในกระเพาะของผู้เสียชีวิตรายสุดท้ายที่จังหวัดราชบุรี พบสารไซยาไนด์ในเนื้อตับ รวมพยานอื่นๆ ทั้งหมดกว่า 900 ปาก มีเอกสารเกี่ยวกับคดีถึง 26,500 แผ่น ใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานมากกว่า 3 เดือน
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า คดีนี้ถือเป็นคดีที่ระดมชุดสืบสวนสอบสวนมากที่สุดในประเทศไทย จนสามารถสรุปสำนวนดำเนินคดีสรารัตน์รวม 15 คดี ประกอบด้วยความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ชิงทรัพย์โดยเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และปลอมปนอาหาร ยา หรือเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นใด เพื่อบุคคลอื่นเสพหรือใช้ การปลอมปนนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และใช้เอกสารปลอม รวมกว่า 75 ข้อหา
นอกจากนี้พนักงานสอบสวนยังสรุปสำนวนดำเนินคดีกับบุคคลใกล้ชิดสรารัตน์อีก 2 รายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายพยานหลักฐาน ได้แก่ พ.ต.ท. วิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ อดีตสามีแอมคนล่าสุด และ ธันย์นิชา ทนายความส่วนตัวของสรารัตน์ ดำเนินคดีฐานเพื่อจะช่วยผู้อื่นมิต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำผิด
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ผู้ต้องหาวางแผนฆาตกรรมต่อเนื่องยาวนานกว่า 8 ปี โดยวางยาพิษให้เหยื่อกินจนเสียชีวิตในลักษณะเหมือนการเจ็บป่วยด้วยภาวะการทำงานของหัวใจล้มเหลว เพื่อให้ญาติไม่มีข้อสงสัย ก่อนหวังเอาทรัพย์สินจากเหยื่อหรือล้างหนี้ที่เคยยืมกันมา
ซึ่งมีผลการวิจัยพบว่าหากฆาตกรเป็นผู้หญิงจะเกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์จากคนใกล้ชิด หากเป็นผู้ชายจะเกี่ยวกับการฆ่าเรื่องทางเพศและล่าเหยื่อเป็นหลัก ส่วนฆาตกรรมต่อเนื่องคือการฆ่าคนมากกว่า 2 คนขึ้นไป โดยทิ้งระยะเวลาห่างกัน ต่างจากการสังหารหมู่ ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจว่าสามารถดำเนินคดีผู้ต้องหาได้แน่นอน และจะไม่เกิดเหตุซ้ำเช่นคดี สมคิด พุ่มพวง ฆาตกรต่อเนื่องที่ออกจากเรือนจำมาก่อเหตุซ้ำแน่ พร้อมยืนยันว่าสรารัตน์มีสภาพจิตปกติทุกอย่าง
พ.ต.อ. เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป. กล่าวว่า หลังมีผู้เสียชีวิตที่จังหวัดราชบุรี พบหลักฐานจากกล้องวงจรปิดที่มีบุคคลต้องสงสัยมาด้วยกันกับผู้ตายเดินลงไปที่ท่าน้ำก่อนขึ้นมาและหลบหนีออกไป เมื่อตรวจสอบพบว่าผู้ต้องหาได้ลักทรัพย์ของผู้ตายไป จึงเปิดคดี และมารดาผู้ตายสงสัยว่าเป็นการตายผิดธรรมชาติ จึงมาร้องเรียนที่กองปราบปราม ก่อนที่ กก.5 บก.ป. ลงพื้นที่สืบสวนข้อเท็จจริง และได้รับสารคัดหลั่งจากผู้ตายมาตรวจที่สถาบันนิติเวช พบสารพิษไซยาไนด์ในเลือดและกระเพาะอาหารในปริมาณเข้มข้นสูง ทั้งยังได้ข้อมูลจากพยานบุคคลที่ได้รับถุงดำบรรจุสารโพแทสเซียมไซยาไนด์มาจากสรารัตน์ ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่าสรารัตน์ลงมือก่อเหตุจริง จึงขออนุมัติศาลออกหมายจับมาดำเนินคดี จากนั้นมีญาติผู้ตาย 13 ราย และผู้รอดชีวิต 1 ราย สงสัยว่าญาติตนเองประสบเหตุในลักษณะเดียวกัน จึงร้องทุกข์ในหลายพื้นที่ ทั้งตำรวจนครบาล ภ.4 และ ภ.7 เมื่อ ผบ.ตร. เห็นว่าคดีเกิดขึ้นทั่วประเทศ จึงมีคำสั่งโอนคดีมายัง บก.ป. เมื่อสืบสวนสอบสวนพบมูลเหตุจูงใจหลัก 2 เรื่อง คือ 1. ฆ่าเพื่อเอาทรัพย์สินเหยื่อไป และ 2. ผู้ตายและผู้ต้องหามีความเกี่ยวข้องกัน โดยผู้ต้องหาหลอกยืมเงินผู้ตาย ให้เงินไปปล่อยกู้และรับดอกเบี้ยอัตราสูง และเล่นแชร์ ซึ่งไม่มีเหยื่อรู้ตัวว่าจะถูกสังหาร
พ.ต.อ. เอนก กล่าวว่า แนวทางการสืบสวนยังพบว่าผู้ต้องหาติดพนันออนไลน์ มีหนี้ในระบบและนอกระบบจำนวนมาก จึงต้องหาเงินมาชดใช้คืนด้วยวิธีการดังกล่าว โดยพบพฤติกรรมก่อเหตุมี 3 ประการ คือ 1. ขับรถไปรับผู้ตายออกมารับประทานอาหารจากที่บ้าน ก่อนลอบวางไซยาไนด์และนำไปส่งบ้านกระทั่งผู้ตายเสียชีวิต 2. รับผู้ตายจากบ้านและลอบวางไซยาไนด์จนเสียชีวิต และ 3. ส่งแคปซูลยาอ้างเป็นยาลดความอ้วนไปให้ผู้ตายถึงที่บ้าน ซึ่งมีคดีเดียวในจังหวัดมุกดาหาร หลังผู้ต้องหาเห็นผู้ตายต้องการจะลดน้ำหนักหลังคลอด
พ.ต.อ. เอนก กล่าวว่า หลังก่อเหตุผู้ต้องหาจะโทรศัพท์หาผู้เสียหายหรือคนใกล้ตัวผู้เสียหายว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ หากมีอาการแล้วจะตัดขาดการติดต่อไป จากนั้นผู้ต้องหาพยายามทำลายพยานหลักฐานโดยไปเอาโทรศัพท์มือถือผู้เสียชีวิตออกมา ก่อนนำโทรศัพท์อีกเครื่องไปสลับไว้แทน หรือหาทางเอาโทรศัพท์จากญาติผู้เสียชีวิตมาทำลายข้อมูลในโทรศัพท์ที่จะเชื่อมโยงมาถึงตัว รวมถึงยังเอาทรัพย์สินต่างๆ ของผู้เสียชีวิต และทำหลักฐานเท็จเพื่อไปเอาทรัพย์สินจากญาติผู้เสียชีวิตด้วย
สำหรับความเกี่ยวข้องของผู้ต้องหาที่มีความใกล้ชิดกับสรารัตน์นั้น หลังผู้ต้องหาลงมือสังหารผู้เสียหายที่จังหวัดราชบุรี ก็ได้นำทรัพย์สินใส่กระเป๋ากลับไปหาอดีตสามีที่จังหวัดกาญจบุรี ก่อนอดีตสามีจะไปฝากไว้ที่บ้านเกิดแม่ในจังหวัดสุโขทัย จากนั้นสรารัตน์จึงแจ้งแม่อดีตสามีให้ส่งกระเป๋ากลับมา โดยอดีตสามีได้วางแผนร่วมกันกับทนายเพื่อนำกระเป๋าไปซุกซ่อนที่อยู่ของพยานในอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
ส่วนเงื่อนไขตามข้อกฎหมายที่พิจารณางดเว้นโทษประหารหากผู้ต้องหาเป็นหญิงตั้งครรภ์นั้น ตามที่สรารัตน์ได้แท้งลูกไปแล้ว จึงถือว่าไม่เข้าเงื่อนไขข้างต้น และข้อหาที่สั่งฟ้องมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต ขณะที่สำนวนทั้ง 15 คดีจะเริ่มทยอยส่งให้อัยการภายในวันนี้
พ.ต.อ. ทัศน์ภูมิ พิศมัย รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 (ผบก.สส.ภ.4) กล่าวว่า จากการตรวจสอบไซยาไนด์ที่ใช้ก่อเหตุมียี่ห้อชื่อแพรีแอค ผลิตที่ประเทศสเปน นำเข้าโดย 1 ใน 5 บริษัทในไทย ซึ่งเป็นไซยาไนด์ที่มีความเข้มข้นถึง 75% และสั่งนำเข้ามา 2,000 ขวด ตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งพบเป็นล็อตเดียวกันกับขวดของกลางที่ใช้
สำหรับสินค้าพบว่าคงเหลือที่ 543 ขวด และอีก 1,600 กว่าขวดถูกจำหน่ายไปหลายแห่ง ทั้งสถานศึกษาและเทรดเดอร์ต่างๆ 6 แห่ง ที่ประชาชนสามารถสั่งซื้อได้ โดยพบว่ามีแห่งหนึ่งจำหน่ายให้ประชาชนแล้วนำไปใช้ฆ่าตัวตาย ฆ่าสัตว์ หรือใช้ผิดวัตถุประสงค์ สำหรับสรารัตน์ได้สั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ของบริษัทแห่งหนึ่งข้างต้น และผู้ต้องหาให้จัดส่งผ่านแมสเซนเจอร์แทนไปรษณีย์