วันนี้ (13 กุมภาพันธ์) ความคืบหน้าการจับกุม 2 สื่อมวลชนดำเนินคดี สนับสนุนการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ จากกรณีติดตามทำข่าวนักกิจกรรมพ่นสีสเปรย์ข้อความบนกำแพงวัดพระแก้ว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566
ต่อมามีรายงานเพิ่มเติมจากสถานีตำรวจนครบาล (สน.) พระราชวัง ซึ่งเป็นข้อมูลภาพวงจรปิดยืนยันถึงความสัมพันธ์ การนัดหมายก่อนเกิดเหตุ และขณะเกิดเหตุ ของ ศุทธวีร์ สร้อยคำ หรือ บังเอิญ ศิลปินอิสระที่ก่อเหตุพ่นสีสเปรย์ กับ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ และ ณัฐพล เมฆโสภณ 2 สื่อมวลชน รวมถึงผู้ก่อเหตุอื่นๆ ได้แก่ เวหา แสนชนชนะศึก, สายน้ำ-นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์, ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ หยก เยาวชนวัย 14 ปี
ในวันก่อนเกิดเหตุพ่นสี 27 มีนาคม 2566 ช่วงเวลา 18.00-19.30 น. เจ้าหน้าที่รายงานว่า ทุกคน (ศุทธวีร์ สร้อยคำ, ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์, เวหา แสนชนชนะศึก และ ณัฐพล เมฆโสภณ) ได้เดินทางมาบริเวณหน้าศาลฎีกาเพื่อวางแผนและสำรวจเส้นทางก่อเหตุ
ในวันก่อเหตุพ่นสี 28 มีนาคม 2566 ช่วงเวลา 16.00-17.40 น. ทุกคนมารวมตัวกันในบริเวณรอบๆ สถานที่ที่ศุทธวีร์จะก่อเหตุ
โดยเจ้าหน้าที่มีการแจกแจงหน้าที่ดังนี้
- หยก ทำหน้าที่ไลฟ์ขณะก่อเหตุ
- นภสินธุ์ ทำหน้าที่ถ่ายวิดีโอตอนก่อเหตุจากมุมซ้าย
- ณัฐพล เมฆโสภณ ทำหน้าที่ถ่ายรูปตอนก่อเหตุจากมุมขวา
- ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ทำหน้าที่ถ่ายภาพนิ่งขณะก่อเหตุ
จากนั้นช่วงเวลา 17.40-18.00 น. ขณะก่อเหตุ เจ้าหน้าที่รายงานว่า ทุกคนเข้าประจำจุดและทำหน้าที่ที่แต่ละคนรับผิดชอบ ขณะที่ศุทธวีร์กำลังก่อเหตุ มีบุคคลเพิ่มเติมจากช่วงก่อนหน้านี้คือ
- ศุทธวีร์ ก่อเหตุพ่นสีสเปรย์
- ทานตะวัน กระจายคลิปที่นภสินธุ์ถ่ายลงโซเชียล
ทั้งนี้ หลังก่อเหตุตำรวจ สน.พระราชวัง จับกุมศุทธวีร์ทันที พร้อมแจ้ง 2 ข้อหา คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 32 และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 12 และแจ้งข้อหาหยกในเวลาต่อมา
ภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน