วันนี้ (10 กุมภาพันธ์) เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตระเวนลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่และจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศ ร่วมกับภาคเอกชนที่รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม
ในจุดแรกคือ ด้านหลังสถานีรถไฟด่านพรมแดนคลองลึก อำเภออรัญประเทศ ที่มีแนวรั้วติดกันกับชายแดนประเทศกัมพูชา ในจุดนี้เจ้าหน้าที่ทำการเรียกผู้ประกอบการภาคเอกชนซึ่งเป็นเจ้าของสายสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต จำนวน 13 ราย มาแสดงตัวเป็นเจ้าของสายพร้อมทำสัญลักษณ์ตามสายของตนเอง
หากสุดท้ายสายโทรศัพท์หรือสายอินเทอร์เน็ตใดไม่มีเจ้าของ เจ้าหน้าที่ กสทช. จะทำการตัดสายดังกล่าวที่โยงไปประเทศกัมพูชาทันทีเนื่องจากมีข้อพิรุธว่าเป็นการเชื่อมโยงสัญญาณที่ไม่ได้รับอนุญาตและอาจจะนำไปก่ออาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์
โดยผู้ประกอบการทั้ง 13 รายที่ขออนุญาตให้บริการสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา มีการประกอบธุรกิจ 2 รูปแบบคือ
- บริการวงจรสื่อสารข้อมูลส่วนตัวความเร็วสูงระหว่างประเทศ (International Private Leased Circuit หรือ IPLC) ซึ่งเป็นธุรกิจบริการสัญญาณ อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ระหว่างบริษัทเดียวกันแต่คนละสาขา หรือ บริษัทกับพาร์ตเนอร์ธุรกิจ ในส่วนนี้ IP address(เลขที่อยู่ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) ที่ส่งไปจากไทย จะคงความเป็น IP address ไทย ซึ่งส่วนนี้มิจฉาชีพจะอาศัยช่องว่างของความเป็น IP address ไทยหลอกลวงคนไทย
- บริการเชื่อมต่อสื่อสารข้อมูลอินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่าย (International Internet Gateway หรือ IIG) เป็นธุรกิจที่บริการสัญญาณ อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ รายใหญ่ที่ขายทั้งสัญญาณ ซึ่งเมื่อสัญญาณข้ามประเทศแล้ว IP address จะเปลี่ยนเป็นของประเทศนั้นๆ
เจ้าหน้าที่ กสทช. กล่าวเสริมว่า หลังจากที่ระบุตัวเจ้าของสายสัญญาณในจุดนี้ได้เรียบร้อยแล้ว กสทช. จะตรวจสอบย้อนไปที่ปริมาณการใช้สัญญาณแต่ละสายหากพบว่าผิดวิสัย เช่น มีการใช้งานอินเทอร์เน็ต-โทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมงเป็นจำนวนมาก จะเรียกเอกชนรายนั้นมาสอบว่าสายสัญญาณดังกล่าว อาจถูกใช้ในเครือข่ายของแก๊งคอลเซ็นเตอร์
หลังจากตรวจสอบพบว่าจุดหลังสถานีรถไฟด่านพรมแดนคลองลึก มี 32 สายสัญญาณ แต่มีเจ้าของมาแสดงตนเพียง 29 สาย ดังนั้นเจ้าหน้าที่จะตัด 3 สายสัญญาณทิ้ง ส่วนขั้นตอนหลังตัดสายสัญญาณอินเทอร์เน็ต แบบไฟเบอร์ออปติก 3 เส้นไปแล้วเจ้าหน้าที่ กสทช. จะย้อนดูเส้นทางสายสื่อสารที่ถูกตัด ว่าเส้นทางที่โยงไปฝั่งกัมพูชามีระยะทางเท่าใด ส่วนฝั่งไทยต้องลากต่อไปว่าสายที่ลักลอบติดตั้งไปจบที่ตรงไหน เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าใครเป็นเจ้าของสาย