วันนี้ (11 พฤษภาคม) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. เปิดเผยถึงกรณีการดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ Lazada ว่าเรื่องนี้ทาง พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งให้ติดตามบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตั้งแต่ทราบว่ามีการเผยแพร่โฆษณาดังกล่าวออกไปเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเป็นการนำเสนอสินค้าที่มีเนื้อหาพาดพิงไปยังบุคคลที่มีอาการเจ็บป่วย มีความบกพร่อง หรือความไม่เท่าเทียม
โดยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ศรีสุวรรณ จรรยา ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ข้อหา คือตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจจะมีข้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ทางกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้ตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนขึ้นมา และดำเนินการสอบปากคำตัวแทนจากศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และได้ประสานงานกับทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ตรวจสอบและปิดกั้น URL ที่นำเสนอเนื้อหาไม่เหมาะสมดังกล่าวไปแล้วจำนวน 49 URL ทั้งลิงก์ที่นำไปโพสต์และแชร์
ส่วนการดำเนินคดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง เบื้องต้นอย่างน้อย 3 ราย ทั้งบริษัทผู้ผลิตเนื้อหา บริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มที่เป็นผู้เผยแพร่ รวมถึงตัวนักแสดง ซึ่งจะต้องเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาสอบสวน และนำคำให้การมาประกอบพยานหลักฐานว่าใครจะเข้าข่ายความผิดอย่างไรบ้าง
พ.ต.อ. กฤษณะยืนยันว่า ตำรวจไม่ได้เลือกปฏิบัติ หรือตั้งธงความผิด แต่เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ผู้เสพสื่อออนไลน์เห็นชัดอยู่แล้วว่าการกระทำนี้เหมาะสมหรือไม่ แม้บริษัทผู้ผลิตเนื้อหาจะออกแถลงการณ์แล้ว แต่เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น โดยเฉพาะความผิดที่เสี่ยงต่อการฝ่าฝืนกฎหมายเรื่องความมั่นคง ก็ต้องดำเนินตามกฎหมาย ซึ่งบริษัทอาจทำเพื่อการตลาด แต่ก็ต้องดูเรื่องสิทธิและหน้าที่ด้วย อย่าทำอะไรที่สุ่มเสี่ยง
โดยที่ผ่านมาทางตำรวจได้ตั้งหน่วยเพื่อดูแลตรวจสอบเนื้อหาที่เผยแพร่อยู่แล้ว หากรายใดทำผิดฝ่าฝืนข้อกฎหมายก็เรียกดำเนินคดีมาตลอด ฉะนั้นยืนยันว่าไม่ได้เจาะจงเฉพาะรายใด
ส่วนกรณีที่ 3 เหล่าทัพออกคำสั่งแบนไม่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้บริการแพลตฟอร์มดังกล่าวนั้น พ.ต.อ. กฤษณะระบุว่า ในส่วนของ ตร. ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกคำสั่งดังกล่าว เพราะตำรวจถือว่ามี 2 สถานะ คือ ผู้บังคับใช้กฎหมายและประชาชนทั่วไป ซึ่งในฐานะประชาชนทั่วไป ก็ต้องให้พิจารณาไตร่ตรองเอาเองว่าจะปฏิบัติอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คงไม่ถึงขั้นต้องมีคำสั่งไปห้ามปราม
ทั้งนี้ พ.ต.อ. กฤษณะกล่าวด้วยว่า ไม่ได้มีคำสั่งห้ามข้าราชการตำรวจกว่า 2 แสนคนทั่วประเทศสั่งของ หรือห้ามบริษัท Lazada เข้าพื้นที่ แต่เชื่อว่าข้าราชการตำรวจทุกคนสามารถพิจารณาได้ว่าการล้อเลียนความเจ็บป่วย หรือความบกพร่องของผู้อื่นเหมาะสมหรือไม่ และควรตอบสนองอย่างไร ตำรวจในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจึงต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ผลิตสื่อโฆษณา ย้อนกลับไปดูสิทธิหน้าที่ของตัวเอง อย่าละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง โดยใช้กรณีนี้เป็นบทเรียน เพราะเป็นเรื่องที่กระทบจิตใจของประชาชน และย่อมถูกกดดันด้วยมาตรการทางสังคม