×

ผบ.ตร. ร่วมประชุมทุกหน่วยงาน หาแนวทางแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลังพบ 2 เดือน ปชช. สูญเงิน 1.5 พันล้าน

โดย THE STANDARD TEAM
13.05.2022
  • LOADING...
สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข

วานนี้ (12 พฤษภาคม) พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และอาชญากรรมออนไลน์

 

พล.ต.อ. สุวัฒน์เปิดเผยว่า เฉพาะในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา คือ 1 มีนาคม – 30 เมษายน พบสถิติการร้องทุกข์แจ้งความเฉลี่ยวันละ 300 คดี รวม 20,400 คดี ในจำนวนนี้มีคดีที่มีความเชื่อมโยงกัน 3,285 คดี รวมมูลค่าความเสียหายเกิดขึ้นกว่า 1,500 ล้านบาท ผู้เสียหายส่วนใหญ่พบว่าถูกหลอกลวงด้านการเงิน  

 

ในกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้น ตำรวจสืบสวนพบบัญชีเกี่ยวข้องการกระทำความผิดและได้ขออายัดเงินไปแล้ว 6,405 บัญชี ซึ่งมียอดเงินรวม 1,229,140,173 บาท โดยขณะนี้พบว่าสามารถอายัดเงินไว้ได้ 62,517,510 บาท  

 

พล.ต.อ. สุวัฒน์ระบุว่า ผลการหารือแนวทางแก้ไขในเบื้องต้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) จะออกหลักเกณฑ์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องบัญชี โดยกำหนดจำนวนบัญชีที่สามารถเปิดได้, การอายัดแบบจำกัดวงเงิน, การจัดทำฐานข้อมูลกลางเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอายัดเงินต่างบัญชีธนาคาร และระงับบัญชีด้วยหมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์, ออกประกาศให้ธนาคารจัดทำช่องทางให้ประชาชนสามารถอายัดเงินได้เองผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร และเชิญคู่กรณีไกล่เกลี่ยภายใน 3 วัน 

 

ด้านสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะยึดอายัดทรัพย์สิน เงินดิจิทัล ติดตามเส้นทางการเงินที่เข้าข่ายเป็นความผิดมูลฐานอย่างรวดเร็ว และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งการอายัดเงินสดุลเงินดิจิทัล ปปง. สามารถอายัดสกุลเงินที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รองรับ และสามารถอายัดบัญชีของผู้เทรดเหมือนบัญชีกับธนาคารทั่วไป แต่ยอมรับว่าหากถูกแปลงเป็นสกุลเงินอื่น หรือถูกโอนไปต่างประเทศ ก็เป็นเรื่องยาก

 

และการออกประกาศโดย ก.ล.ต. เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินคดีกับผู้ค้าขายเหรียญแบบ Peer-to-Peer และการวางแนวทางในการยึดเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีจากผู้กระทำความผิด 

 

ขณะที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะสนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างกลไล ระบุตัวตนตามตามกฎหมาย โดยออกประกาศให้ใช้วิธีการลงทะเบียนจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละค่ายโดยตรงเท่านั้น และจำกัดจำนวนซิม หรือหมายเลข 5 หมายเลขต่อผู้ใช้บริการ 1 คน หากจะเปิดหมายเลขที่ 6 ผู้เปิดหมายเลขต้องไปยืนยันตัวตนกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยตนเอง

 

แก้ไขปัญหาการส่งข้อความโฆษณาหรือการปลอมเบอร์โทรศัพท์ ด้วยการโทรผ่านอินเทอร์เน็ต จะมีการบังคับให้แสดงเป็นเลข 0 ทั้งหมด หรือไม่ต้องแสดงหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อให้ง่ายต่อการสังเกตของประชาชน พร้อมกับระงับเส้นทางการเชื่อมต่อกับตัวแทนเครือข่ายที่ไม่ได้รับความร่วมมือในการระบุตัวตนผู้กระทำผิด  

 

จัดทำฐานข้อมูลกลาง เพื่อให้สามารถตรวจสอบชื่อผู้ลงทะเบียนซิมโทรศัพท์และประวัติการรับ-ส่งข้อความสั้นย้อนหลัง เพื่อให้ช่วยในการระบุตัวตนผู้กระทำผิด การแจ้งเตือน และเสริมภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนผ่านแอปธนาคาร, แอปเป๋าตังค์ และข้อความสั้นจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

 

ทั้งนี้ พล.ต.อ. สุวัฒน์กล่าวย้ำว่า อย่าหลงเชื่อการข่มขู่หรือเชิญชวนลงทุนต่างๆ และอย่าให้ข้อมูลส่วนตัวกับผู้อื่นโดยง่าย และหากตกเป็นผู้เสียหายให้รีบแจ้งความที่สายด่วน 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งความออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.com

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X