×

หมีขั้วโลกเสี่ยงอดตาย เหตุเวลาที่น้ำแข็งในอาร์กติกละลายยาวนานกว่าเดิม

15.02.2024
  • LOADING...

หมีขั้วโลกในเมืองฮัดสันเบย์ของแคนาดาเสี่ยงที่จะอดอาหารตาย หลังภาวะโลกรวนทำให้ระยะเวลาที่น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกละลายนั้นยาวนานกว่าเดิม แม้พวกหมีจะพยายามปรับตัวมาหาอาหารบนพื้นดินแล้วก็ตาม

 

ต้องอธิบายแบบนี้ว่า ปกติแล้วในช่วงเดือนที่อากาศหนาวจัด หมีขั้วโลกจะใช้แผ่นน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรอาร์กติกออกล่าหาอาหาร เช่น แมวน้ำวงแหวน (Ringed Seal) ที่อุดมไปด้วยไขมัน ส่วนในเดือนที่อากาศอบอุ่นมากขึ้นจนปริมาณแผ่นน้ำแข็งลดลง หมีขั้วโลกจะปรับตัวเข้าสู่โหมดประหยัดพลังงานหรือเข้าสู่ภาวะจำศีล

 

อย่างไรก็ตาม ภาวะโลกรวนที่มนุษย์ก่อขึ้นทำให้ช่วงระยะเวลาที่แผ่นน้ำแข็งละลายนั้นยาวนานกว่าเดิม บีบให้หมีขั้วโลกต้องใช้ชีวิตบนบกมากขึ้น โดยผลการวิจัยล่าสุดที่ทำการเฝ้าติดตามพฤติกรรมของหมีขั้วโลก 20 ตัวในเมืองฮัดสันเบย์ชี้ว่า หมีขั้วโลกพยายามปรับตัวเพื่อหาอาหารในช่วงที่พื้นที่บางส่วนของมหาสมุทรอาร์กติกไร้น้ำแข็ง

 

สำนักข่าว AFP สัมภาษณ์ แอนโธนี ปากาโน นักชีววิทยาสัตว์ป่าที่ทำการวิจัยร่วมกับสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา และผู้เขียนหลักของการศึกษานี้ โดยเขากล่าวว่า หมีขั้วโลกเป็นสัตว์ที่ฉลาด มีความคิดสร้างสรรค์ในการหาแหล่งอาหารบนพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อเอาชีวิตรอด

 

ผลการวิจัยของปากาโนได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการ Nature Communications โดยเขาได้เฝ้าติดตามกลุ่มหมีขั้วโลกตลอดระยะเวลา 3 ปีในช่วงที่ระยะเวลาปลอดน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกยาวนานขึ้น โดยผลการวิจัยระบุว่า ระยะเวลาปลอดน้ำแข็งดังกล่าวยาวนานขึ้นถึง 3 สัปดาห์ในช่วงปี 1979-2015 หรือแปลว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเหล่าหมีขั้วโลกต้องปรับตัวไปใช้ชีวิตบนบกเฉลี่ยที่ 130 วัน

 

การวิจัยพบว่ามีหมีขั้วโลกแค่ 2 ตัวที่เข้าโหมดประหยัดพลังงานในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงจำศีล แต่อีก 18 ตัวที่เหลือนั้นพยายามเอาชีวิตรอดด้วยการปรับรูปแบบการหาอาหาร โดยพวกเขาพบว่าหมีกินอาหารที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงหญ้า ผลเบอร์รี นกนางนวล สัตว์จำพวกหนู และซากแมวน้ำ 

 

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบว่าความพยายามของหมีที่จะออกไปหาอาหารทดแทนบนแผ่นดินก็ยังให้พลังงานไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับเหยื่อที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลตามปกติ โดยหมี 19 ตัวจาก 20 ตัวน้ำหนักลดลงอย่างมากในช่วงระยะเวลาดังกล่าว หรือเฉลี่ยที่ 1 กิโลกรัมต่อวัน พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ยิ่งหมีขั้วโลกต้องใช้เวลาอยู่บนแผ่นดินนานเท่าไร พวกมันก็ยิ่งเสี่ยงต่อการอดอาหารตายมากขึ้น

 

ปัจจุบันโลกของเราเหลือหมีขั้วโลกอยู่ตามธรรมชาติที่ราว 25,000 ตัว และกำลังตกอยู่ในอันตรายจากภาวะโลกรวน โดยหนึ่งในวิธีการสำคัญที่มนุษย์จะช่วยเซฟประชากรหมีขั้วโลกไว้ได้คือการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม แต่ก็ถือว่าสถานการณ์ปัจจุบันน่ากังวล เพราะโลกของเรามีอุณหภูมิทะลุ 1.2 องศาเซลเซียสไปแล้ว อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่แผ่นน้ำแข็งในทะเลก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X