×

เปิดเอกสารความเห็นกฤษฎีกาฉบับเต็ม ปมคำสั่ง ‘พล.ต.อ. สุรเชษฐ์’ ออกจากราชการไว้ก่อน

โดย THE STANDARD TEAM
29.05.2024
  • LOADING...

วานนี้ (28 พฤษภาคม) ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามในบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบความเห็นกรณีสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย ล่าสุดได้มีบันทึก (เรื่องเสร็จที่ 637/2567) มีรายละเอียดดังนี้ 

 

สรุปความได้ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 105 มาตรา 108 มาตรา 131 และมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 

 

ประกอบกับข้อ 8 แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ. 2547 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และโดยที่มาตรา 140 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 บัญญัติว่า การพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการตำรวจตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือตำแหน่งเทียบเท่า ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ

 

ประกอบกับข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการ และการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนฯ กำหนดว่า การสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกจากราชการไว้ก่อน ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน

 

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจึงขอหารือว่า นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง และมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ประกอบกับข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนฯ โดยนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ และจะต้องดำเนินการเมื่อใด

 

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักงาน ก.พ.) และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว

 

ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามคำชี้แจงของผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า กรณีตามข้อหารือนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวตามมาตรา 105 มาตรา 108 มาตรา 119 และมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ในวันเดียวกันกับวันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวออกจากราชการไว้ก่อน

 

นอกจากนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามคำชี้แจงของผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่า ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจแล้ว

 

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) พิจารณาข้อหารือและข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังกล่าวแล้วเห็นว่า ข้อหารือนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกจากราชการไว้ก่อน นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน ตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง และมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ประกอบกับข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ. 2547 หรือไม่ และจะต้องดำเนินการเมื่อใด 

 

ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) เห็นว่า มาตรา 131 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 บัญญัติให้การสั่งให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา ออกจากราชการไว้ก่อน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร. ซึ่งปัจจุบัน ก.ตร. ยังไม่ได้ออกกฎ ก.ตร.

 

เมื่อมีการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจซึ่งถูกสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนแล้วเสร็จ ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 105 สั่งลงโทษตามความร้ายแรงแห่งกรณี ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อน จะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้ และให้มีคำสั่งลงโทษย้อนหลังไปถึงวันที่ถูกสั่งพักราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน

 

เงินเดือน เงินอื่นที่จ่ายเป็นรายเดือน และเงินช่วยเหลืออย่างอื่น และการจ่ายเงินดังกล่าวของผู้ถูกสั่งพักราชการและผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยการนั้น หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสั่งพักราชการ การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ระยะเวลาให้พักราชการและให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามมาตรานี้ด้วยโดยอนุโลม 

 

แต่ระยะเวลาให้นับแต่วันที่พ้นจากราชการด้วยเหตุอื่นที่มิใช่เหตุการณ์สั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนในเรื่องดังกล่าว แต่มาตรา 139 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ได้บัญญัติรองรับไว้ว่า ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎ ก.ตร. ให้นำกฎ ก.ตร. ซึ่งใช้อยู่เดิมมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ 

 

ด้วยเหตุนี้ การดำเนินการเกี่ยวกับการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนจึงต้องดำเนินการตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ. 2547 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และใช้บังคับอยู่เดิมต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565

 

กรณีจึงต้องพิจารณาต่อไปว่า ข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนฯ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ในการสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกจากราชการไว้ก่อน ให้ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 หรือไม่

 

มีความเห็นว่า เมื่อมาตรา 140 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 บัญญัติหลักการเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่า จะต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ 

 

ส่งผลให้การสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง

 

เนื่องจากมิใช่การพ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ ด้วยเหตุที่การออกจากราชการไว้ก่อนมิใช่โทษทางวินัยตามมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565

 

จึงเห็นว่า ข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนฯ มิได้ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ดังนั้น ในการสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกจากราชการไว้ก่อนตามข้อหารือนี้จึงต้องดำเนินการตามข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร. ดังกล่าว

 

กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีจะต้องนำความกราบบังคับทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรายดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน

 

สำหรับกรอบระยะเวลาที่จะต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งนั้น เมื่อพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ไม่ได้บัญญัติระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการในกรณีนี้ไว้ จึงเป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องพิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบภายในระยะเวลาอันเหมาะสมตามควรแก่กรณีต่อไป

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) มีข้อสังเกตว่า ในการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจรายใดพ้นจากตำแหน่งนั้น โดยที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีหน้าที่ต้องตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของการสั่งให้ข้าราชการรายดังกล่าวออกจากราชการไว้ก่อนอย่างรอบคอบให้เป็นที่ยุติเสียก่อน

 

เมื่อในกรณีนี้พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน มีผลเป็นการปรับปรุงบทบัญญัติขึ้นใหม่จากที่เคยบัญญัติไว้แต่เดิมในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 หลายประการ โดยมีเจตนารมณ์สำคัญเพื่อให้การจัดระเบียบข้าราชการตำรวจเป็นไปตามหลักนิติธรรมและเกิดความเป็นธรรม

 

ดังจะเห็นได้จากคำปรารภของพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 และมาตรา 60 ที่ได้บัญญัติหลักการใหม่ให้การจัดระเบียบข้าราชการตำรวจคำนึงถึงระบบคุณธรรม มาตรา 60 (4) บัญญัติให้การดำเนินการทางวินัยต้องเป็นไปด้วยความยุติธรรมและโดยปราศจากอคติ

 

รวมทั้งการบัญญัติให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ และคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรมและพิจารณาเรื่องร้องเรียน ประกอบกับมาตรา 120 วรรคสี่ ได้เพิ่มหลักการใหม่นอกเหนือจากมาตรา 131 วรรคหนึ่ง โดยบัญญัติว่า ในระหว่างการสอบสวน จะนำเหตุแห่งการถูกสอบสวนมาเป็นข้ออ้างให้กระทบสิทธิของผู้ถูกสอบสวนไม่ได้

 

เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งในกรณีนี้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนมีขึ้นในวันเดียวกันกับวันที่มีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน และการสอบสวนย่อมเป็นการกระทบสิทธิหลายประการของผู้ถูกสอบสวน

 

กรณีจึงเห็นได้ว่า การสั่งให้ข้าราชการตำรวจรายนี้ออกจากราชการไว้ก่อน หากเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้น ย่อมจะทำให้การพิจารณาเหตุแห่งการกระทบสิทธิของผู้นั้นและความจำเป็นที่จะต้องสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการไว้ก่อนชอบด้วยกระบวนการตามกฎหมายและเป็นธรรมแก่ผู้ถูกสอบสวน และการนำความกราบบังคมทูลตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ย่อมเป็นไปด้วยความชอบธรรม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising