ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2022 ณ เมืองโกม (Qom) ประเทศอิหร่าน
ขณะที่เด็กหญิงจำนวนมากกำลังตั้งใจฟังสิ่งที่อาจารย์สอนในชั้นเรียน แต่แล้วกลับมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น เมื่อมีกลิ่นฉุนคล้ายของเน่าลอยคลุ้งขึ้นมาเตะจมูก
หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง เด็กหญิงหลายสิบคนเริ่มวิงเวียนศีรษะ พวกเธอหายใจไม่ออก ผิวเปลี่ยนเป็นสีขาวเผือดจนน่ากลัว เสียงไซเรนของรถพยาบาลดังกึกก้องทั่วบริเวณโรงเรียน เพื่อมารับตัวเด็กๆ ไปรักษาตัว
เรื่องราวประหลาดควรจะจบลงแค่นั้น แต่กลับกลายเป็นว่าจนถึงวันนี้มีนักเรียนหญิงกว่า 1,000 คนใน 25 จังหวัดของอิหร่านที่ประสบกับเหตุการณ์เดียวกัน และทุกๆ ครั้งที่กลิ่นปริศนาโชยขึ้น มักจะเกิดขึ้นใน ‘โรงเรียน’ สถานที่ที่ควรจะปลอดภัยกับเด็กๆ มากที่สุด ทำให้หลายฝ่ายอดกังวลไม่ได้ว่า หรือนี่คือ ‘การวางยาพิษหมู่’ ที่ตั้งใจส่งสารข่มขู่ถึงเด็กผู้หญิงโดยเฉพาะ
แม้ขณะนี้ต้นสายปลายเหตุของสถานการณ์ดังกล่าวจะยังไม่แน่ชัด แต่ก็มีหลายทฤษฎี หลายสมมติฐานเกิดขึ้น โดยนักสังเกตการณ์บางส่วนมองว่า นี่คือการตอบโต้อย่างรุนแรงต่อบรรดาสตรีและเด็กหญิงที่หาญกล้าออกมาประท้วงการตายของ มาห์ซา อามินี ซึ่งเป็นหญิงสาวชาวเคิร์ดที่เสียชีวิตหลังถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมไปก่อนหน้านี้ แต่ถึงเช่นนั้น คนอีกกลุ่มก็บอกปัดทฤษฎีดังกล่าว เนื่องจากพวกเขามองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็น ‘อุปาทานหมู่’ จากการที่นักเรียนหญิงของอิหร่านเผชิญกับแรงกดดันจากการก้าวขึ้นมารับบทบาทเป็นผู้นำการประท้วงในช่วงที่เกิดขึ้น
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่อาจตัดทิ้งอีกหนึ่งความเป็นไปได้ที่ว่า ยังมีกลุ่มหัวรุนแรงที่ไม่อยากเห็นผู้หญิงมีสิทธิทางการศึกษา โดยถึงแม้อิหร่านจะเป็นประเทศอิสลามที่มีความเข้มงวดสูง แต่ผู้หญิงในประเทศก็สามารถศึกษาเล่าเรียนได้เป็นปกติ นับตั้งแต่ปี 2011 จำนวนของนักศึกษาหญิงในระดับมหาวิทยาลัยมีจำนวนมากกว่านักศึกษาชายเสียด้วยซ้ำ ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า อัตราการรู้หนังสือของผู้หญิงปรับตัวขึ้นจาก 26% ในปี 1976 (หรือก่อนการปฏิวัติอิสลาม) มาอยู่ที่ระดับ 85% ในปี 2021 และถึงแม้ในปี 2012 จะมีการออกนโยบายที่จำกัดสถานศึกษาสำหรับผู้หญิงในบางมหาวิทยาลัยของรัฐ แต่อิหร่านก็ไม่เคยตกอยู่ในสถานะที่เป็นประเทศที่จำกัดสิทธิในการเข้าเรียนของผู้หญิงมาก่อน
ทำให้เกิดคำถามดังขึ้นมาว่า เกิดอะไรขึ้นกับอิหร่านกันแน่?
อะไรคือต้นเหตุของการวางยาพิษ
สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักพยายามสืบเสาะเกาะติดสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่อย่างที่เรารู้กันดีว่า อิหร่านมีการจำกัดเสรีภาพสื่อที่ค่อนข้างเข้มงวด ทำให้การสืบสวนหาที่มาที่ไปนั้นทำได้ยากยิ่ง และขณะนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ฉะนั้น นี่จึงเป็นรายละเอียดเท่าที่สำนักข่าวต่างๆ จะสามารถรวบรวมมาได้ เพื่อนำมาปะติดปะต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น
เริ่มต้นจากสำนักข่าว The Guardian ของอังกฤษ ซึ่งรายงานโดยอ้างอิงการรวบรวมข้อมูลจาก ดีปา พาเรนต์ (Deepa Parent) นักข่าวสายสิทธิมนุษยชนที่ประจำอยู่ในอิหร่าน พาเรนต์กล่าวว่า การโจมตีที่เกิดขึ้นนั้น ‘ไม่มีอะไรซับซ้อน’ เนื่องจากเขาได้ไปสอบถามแพทย์คนหนึ่งที่ดูแลเหล่าเด็กหญิงที่ป่วยจากการถูกวางยา ซึ่งทุกคนมีอาการคล้ายกันคือหายใจลำบาก คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ และอ่อนเพลีย
แพทย์กล่าวว่า จากการสังเกตอาการของผู้ป่วย เป็นไปได้ว่าเด็กหญิงเหล่านี้ได้รับสารพิษชนิด Organophosphates อย่างอ่อนๆ ซึ่งเป็นสารเคมีสำหรับกำจัดแมลงที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย อีกทั้งแพทย์ยังกล่าวด้วยว่า จากประสบการณ์ส่วนตัว ในอดีตเขาเคยรักษาผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายกันเฉพาะคนที่ทำงานในแวดวงเกษตรกรรมหรือในกองทัพเท่านั้น
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า เคสแรกของเด็กที่ถูกวางยาเกิดขึ้นในเมืองโกม ซึ่งเป็นเมืองถิ่นของบรรดาผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ อยู่ห่างจากกรุงเตหะรานไปราว 80 ไมล์ ทำให้พาเรนต์มองว่า แม้การศึกษาของเด็กหญิงจะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในประเทศ แต่ก็ปฏิเสธความจริงข้อหนึ่งไม่ได้ว่า ยังมีกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงที่ต่อต้านประเด็นดังกล่าว โดยย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน มีเด็กนักเรียนหญิง 18 คนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองป่วยพร้อมกันในเมืองโกม และนับจากนั้นก็มีรายงานว่ามีเด็กหญิงในโรงเรียนอย่างน้อย 58 แห่งทั่วประเทศที่มีอาการในลักษณะเดียวกัน
แม้จะมีรายงานว่าพบอาการป่วยดังกล่าวในกลุ่มครู เด็กนักเรียนชาย และผู้ปกครองด้วยประปราย แต่เคสส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่โรงเรียนหญิงล้วน ขณะภาพที่แพร่อยู่บนโลกออนไลน์เผยให้เด็กหญิงหลายคนถูกนำตัวขึ้นรถโรงพยาบาล พร้อมกับฝูงชนที่ยืนมุงดูเหตุการณ์จำนวนมาก
นักเรียนคนหนึ่งในเมืองชาห์ริยาร์ (Shahryar) ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเตหะราน กล่าวว่า เธอและเพื่อนร่วมชั้นซึ่งเป็นเด็กหญิงทั้งหมด ‘ได้กลิ่นแปลกๆ’ คล้ายผลไม้เน่าแต่แรงกว่ามาก และวันต่อมานักเรียนหลายคนก็ป่วยจนต้องลาหยุด รวมถึงครูสอนภาษาอังกฤษที่อยู่ร่วมชั้นเรียนในเวลาที่กลิ่นแปลกปลอมโชยขึ้นมาเตะจมูก
เธอกล่าวว่าแม่ของเธอตกใจมาก เพราะเธอตัวขาวซีดและหายใจไม่ออก แต่โชคดีที่ไม่นานก็หายป่วย และเด็กส่วนใหญ่ในโรงเรียนก็มีอาการดีขึ้นในเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง แต่ถึงเช่นนั้น ครูใหญ่ของโรงเรียนกลับหวาดกลัวเหตุการณ์ดังกล่าว และสั่งห้ามไม่ให้นักเรียนพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน ผู้สังเกตการณ์บางกลุ่มก็ตั้งสมมติฐานว่า เหตุวางยาพิษหมู่อาจมีรัฐบาลให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง เพื่อข่มขู่ผู้หญิงที่ออกมาประท้วงรัฐบาลต่อการตายของมาห์ซา อามินี หญิงสาวชาวเคิร์ดวัยเพียง 22 ปีที่เสียชีวิตหลังถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมเพราะเธอสวมฮิญาบไม่เรียบร้อย โดยกระแสการประท้วงที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานับว่ารุนแรงอย่างมาก มีชายและหญิงหลายคนกล้อนผมตัวเองเพื่อประท้วง รวมถึงเผาฮิญาบเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการต่อต้าน ซึ่งเป็นการกระทำที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการท้าทายหลักศาสนาที่ชาวอิหร่านยึดถือมาช้านาน และการวางยาเฉพาะนักเรียนหญิงก็ทำได้ง่าย เพราะโรงเรียนเกือบทั้งหมดในอิหร่านจะแบ่งเพศชัดเจนอยู่แล้ว
แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่า นี่อาจเป็นการโจมตีที่เกิดจากพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า สารที่ใช้วางยาเป็นสารเคมีกำจัดแมลงที่หาได้ง่ายในท้องตลาด ขณะที่บางส่วนมองว่านี่อาจเป็นอุปาทานหมู่ เพราะเด็กสาวจำนวนมากอาจรู้สึกกดดันจากกระแสการปราบปรามผู้ชุมนุมก็เป็นได้
ด้านสำนักข่าว BBC สอบถามผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสารเคมีที่อาจเป็นต้นเหตุของอาการป่วยปริศนา โดย แดน คาสเซตา (Dan Kaszeta) ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธเคมี จากสถาบัน Royal United Services Institute (Rusi) กล่าวว่า “การค้นหาสารเคมีถือเป็นหลักฐานที่มีประโยชน์ แต่อาจเป็นเรื่องยากมาก” เพราะสารต่างๆ สามารถสลายตัวหรือเสื่อมสภาพได้รวดเร็ว การเก็บตัวอย่างจึงต้องทำ ณ สถานที่เกิดเหตุโดยทันที ขณะการตรวจสอบจากสารคัดหลั่ง เช่น ปัสสาวะ หรือเลือด ก็อาจให้คำตอบได้ไม่ชัดเจน เพราะสารเคมีที่ทำให้คนป่วยในลักษณะนี้มีหลายแสนชนิด
ทำไมถึงพุ่งเป้าทำร้ายเด็กผู้หญิง
“หลังจากการเสียชีวิตของมาห์ซา ส่วนใหญ่แล้วนักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นคนกลุ่มแรกที่ลงถนนประท้วง” พาเรนต์กล่าว “แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีรายงานว่าเด็กสาววัยรุ่นสามคนเสียชีวิตจากการถูกตีเข้าที่ศีรษะ ได้แก่ เซตาร์เรห์ ทาจิก (Setareh Tajik), ซารีนา เอสมาอิลซาเดห์ Sarina (Esmailzadeh) และ นิกา ชาห์การามี (Nika Shahkarami)”
การตายของหญิงทั้งสามทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะหลังจากนั้น โลกก็ได้เห็นภาพของหญิงวัยรุ่นชาวอิหร่านที่ชูนิ้วกลางในการประท้วง มีการเผารูปอยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านในห้องเรียนของพวกเขา ในเวลาต่อมา เด็กผู้หญิงก็เริ่มโดดเรียนและเข้าร่วมการประท้วงที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
แม้จะมีความเป็นไปได้ว่ามีกลุ่มหัวรุนแรงที่อาจพยายามฉวยโอกาสจากสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังเปราะบางเพื่อพยายามกีดกันไม่ให้ผู้หญิงได้รับการศึกษา แต่ส่วนมากแล้วชาวอิหร่านเชื่อว่านี่เป็นการวางยาเพื่อขัดขวางการประท้วง โดยพาเรนต์กล่าวว่า นักกิจกรรมและเครือข่ายการประท้วงกล่าวว่า นี่คือการแก้แค้นเด็กสาวและครอบครัวของพวกเธอที่ท้าทายอำนาจรัฐ
รัฐบาลอิหร่านทำอะไรแล้วบ้าง
ทางการเพิกเฉยต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่นานหลายเดือน แต่แล้วตัวเลขของผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายคลึงกันก็ได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เจ้าหน้าที่ต้องออกมาเทกแอ็กชัน โดยวานนี้ (6 มีนาคม) คามาเนอีได้กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยระบุว่า เหตุวางยาพิษเด็กนักเรียนหญิงในประเทศถือเป็นอาชญากรรมที่ ‘ไม่อาจให้อภัยได้’ และหากมีการจงใจกระทำความผิดจริง คนผู้นั้นก็ควรรับโทษถึงตาย
ด้านอัยการสูงสุดประกาศเมื่อราวสองสัปดาห์ก่อนว่า ขณะนี้ทางการกำลังเปิดการสอบสวนทางอาญา อย่างไรก็ตาม ทางการอิหร่านรายงานว่า จากข้อมูลที่มีอยู่เบื้องต้นกล่าวได้แค่เพียงว่า ‘นี่อาจเป็นอาชญากรรมและการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน’
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญมองว่า หากนานาชาติให้ความสนใจกับข่าวที่เกิดขึ้น ก็อาจจะช่วยกดดันให้รัฐบาลอิหร่านลงมือตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจังอีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายไม่ค่อยไว้วางใจการสืบสวนของรัฐบาลอิหร่าน เพราะนอกเหนือจากทฤษฎีที่ว่าเจ้าหน้าที่อาจเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเสียเองแล้ว อีกประเด็นหนึ่งคือเมื่อพิจารณาจากประวัติในอดีต เจ้าหน้าที่ของอิหร่านมักเลือกปฏิบัติในการตรวจสอบเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง เช่น เมื่อปี 2014 เคยเกิดเหตุการณ์ที่มีคนร้ายขับจักรยานยนต์ไล่สาดน้ำกรดใส่ใบหน้าผู้หญิงหลายคนในเมืองอิสฟาฮาน แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการนำตัวคนผิดมารับโทษ
อนาคตการประท้วงนับจากนี้
แม้ยากจะที่จะประเมินหาสาเหตุที่แน่ชัด แต่การวางยาหมู่ครั้งนี้ก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กำลังเปราะบางของอิหร่าน และถึงแม้กระแสการประท้วงจะเริ่มซาลงเมื่อช่วงไม่นานมานี้ (ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรัฐบาลเลือก ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ ด้วยการสั่งประหารชีวิตผู้ประท้วงบางราย) แต่เป็นไปได้ว่า ข่าวการวางยาเด็กหญิงจะสุมไฟแห่งความโกรธแค้นให้ปะทุขึ้นในใจของสตรีอีกครั้ง และในวันพุธนี้ (8 มีนาคม) ซึ่งตรงกับวันสตรีสากล ก็มีคนบางกลุ่มที่เตรียมวางแผนเปิดฉากการประท้วงรอบใหม่ด้วย
ผู้ประท้วงหลายคนกล่าวว่า พวกเขาจะไม่ยอมให้เรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิงอีกแล้ว ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า พลังของสตรีที่ลุกขึ้นต่อกรกับความอยุติธรรมในบทสุดท้ายนั้นจะจบลงเช่นไร
ภาพ: Reuters
อ้างอิง:
- https://www.bbc.com/news/world-middle-east-64829798
- https://www.theguardian.com/world/iran-blog/2014/oct/20/acid-attacks-isfahan-hijab-iran-young-women-motorbikes
- https://www.theguardian.com/world/2023/mar/06/what-do-we-know-suspected-poisonings-schoolgirls-iran
- https://www.reuters.com/world/middle-east/khamenei-says-poisoning-schoolgirls-iran-is-an-unforgivable-crime-2023-03-06/
- https://www.bbc.com/news/world-middle-east-64797957