×

ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อแบรนด์ Poem ที่ต้องเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ณ เวลานี้

19.03.2020
  • LOADING...
Poem

เป็นระยะเวลาหลายปีที่อุตสาหกรรมแฟชั่นต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่มีเข้ามาไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะยุค Digital Disruption ที่เราอาจจะได้ยินกันมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน รวมถึงล่าสุดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระทบธุรกิจในทุกภาคส่วน เช่นเดียวกับแบรนด์แฟชั่นไทยที่ก่อนหน้านี้ทาง THE STANDARD ได้ติดต่อสัมภาษณ์ดีไซเนอร์ไทยจำนวน 10 แบรนด์ แต่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากอีกมากมายที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ตั้งแต่เรื่องยอดขาย สายพานการผลิต ความเชื่อมั่นของลูกค้า และการรับมือและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ 

 

สำหรับ Poem แบรนด์เสื้อผ้าที่หลายคนรู้จักดี และขึ้นชื่อในเรื่องของเสื้อผ้าที่ได้แนวคิดมาจากกูตูร์ มากกว่าการเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นรันเวย์ และแน่นอน เวลาเช่นนี้เขาก็เป็นอีกหนึ่งในหลายแบรนด์ที่ได้รับผลกระทบจากเจ้าไวรัสที่เข้ามาซ้ำเติมบาดแผลของการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

 

“พูดได้เลยว่า เราเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เราเป็นเสื้อผ้าก็จริง แต่เราไม่ใช่ปัจจัย 4” ประโยคแรกที่ ฌอน-ชวนล ไคสิริ ผู้ก่อตั้งแบรนด์และผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ Poem บอกกับเรา เมื่อเราถามถึงสถานการณ์ที่แบรนด์เจอในช่วงวิกฤตโควิด-19 

 

ความน่าสนใจของแบรนด์ Poem อยู่ที่เราจะได้ยินชื่อเสียงของแบรนด์ในเรื่องของชุดสั่งตัด ไม่ว่าจะเป็นชุดเจ้าสาว ชุดออกงานกลางคืน ที่ต้องเข้ามาวัดตัวโดยเฉพาะ จนมีวลีฮิตที่ว่า “ขึ้นยานแม่ต้อง wear Poem” เราจึงสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบในส่วนนี้ เพราะนี่คือภาพจำของแบรนด์ แต่คำตอบที่เราได้จากคุณฌอนกลับผิดคาดจากที่เราคิด

 

“ในส่วนของธุรกิจ เรามีเสื้อผ้า Ready-To-Wear ไปประมาณ 80-90% เราออกตามซีซันมากกว่าสั่งตัด และที่กระทบมากที่สุดก็น่าจะเป็นฝั่งนี้ เพราะว่าฝั่ง Custom-Made ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าสาวหรือคนที่จะใส่ไปงานที่แพลนล่วงหน้าเป็นปีหรือสองปี อาจจะมีกระทบบ้าง แต่ถือว่าน้อย เพราะช่วงนี้คนไม่ค่อยแต่งงาน โดยเฉพาะหน้าร้อน หรือถ้ามีงาน ทางแบรนด์ก็จะปิดจ๊อบส่งชุด ปิดออร์เดอร์ทุกอย่างตั้งแต่ช่วงก่อนปีใหม่แล้ว เลยทำให้ช่วงเดือนมีนาคม-สิงหาคมจะไม่ค่อยมีงาน เพราะคนไทยชอบแต่งงานปลายปี และจะเริ่มสั่งกับแบรนด์ในช่วงปลายปีที่แล้ว”

 

Poem

Photo: poem_official / Instagram

 

ดังนั้น ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่โมเดลธุรกิจแบบ Made-to-Order แต่กลับกลายเป็นเรื่องของเสื้อผ้าบนราวที่ผลิตมาพร้อมขายหน้าร้าน 

 

“น่าจะเป็นเรื่องยอดขายมากกว่าที่เรียกได้ว่า บรรยากาศของการช้อปปิ้งมันหายไปหมดเลย ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่แล้วตัวเลขมันเด่นชัดมาก ลงไปประมาณ 60-70% เลยก็ว่าได้” 

 

เช่นเดียวกับเรื่องสายพานการผลิต ทั้งเรื่องวัตถุดิบอย่างผ้า ที่ต้องพึ่งพาประเทศต้นน้ำ ไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลี ญี่ปุ่น หรืออินเดีย จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ทำให้เรื่องโปรดักชันดำเนินต่อไปได้ 

 

“เรื่องสั่งผ้าไม่ค่อยมีปัญหา เราสต๊อกผ้าเอาไว้แล้ว เลยมีผ้าเพียงพอที่จะใช้ โชคดีที่เราสั่งผ้าล่วงหน้า 1-2 ปี เพื่อมาทำคอลเล็กชันต่อไป”

 

การปรับตัวครั้งล่าสุดของแบรนด์เริ่มขึ้นเมื่อปี 2018 คุณฌอนเผยว่า ได้เตรียมการปล่อยเว็บไซต์ E-Commerce ไว้เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เมื่อลูกค้าเริ่มมาหน้าร้านน้อยลง ช่องทางออนไลน์จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวต่อไปที่แบรนด์ต้องปรับตัว ถึงอย่างไรก็ตาม แผนนี้ก็ไม่ได้เป็นอาวุธลับเพื่อมาต่อกรกับไวรัสโคโรนาโดยเฉพาะ 

 

“มันเป็นกลยุทธ์ของธุรกิจในโลกแฟชั่นสักพักแล้ว แต่สำหรับดีไซเนอร์ไทยน่าจะเป็นสิ่งที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกดิจิทัล เพราะทุกวันนี้คนแทบจะไม่มาหน้าร้าน มาเดินซื้อถือของเหมือนเมื่อก่อน สำหรับเรื่องโควิด-19 มันก็ต้องมีโปรโมชันออกมากระตุ้นการซื้อมากขึ้นกว่าเดิม”

 

แต่อีกหนึ่งผลกระทบหลักที่ Poem ต้องเจอเข้าอย่างจังคือ การเลื่อนการเปิดร้านแฟล็กชิปสโตร์ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ที่ต้องเลื่อนออกไปจากเดิมที่วางไว้เดือนมิถุนายน กลายเป็นเดือนสิงหาคมหรือกันยายน เพื่อให้ตรงกับช่วงเปิดฤดูกาลใหม่ เพราะลูกค้าชาวจีนคือหนึ่งในลูกค้าหลักของแบรนด์ ผลมาจากวัฒนธรรมในการช้อปปิ้งเสื้อที่ใกล้เคียงกัน เช่นเดียวกับรูปร่างที่คล้ายกันของผู้หญิงไทยและจีน ที่แบรนด์สามารถเข้าใจได้อย่างทะลุปรุโปร่ง จึงทำให้การกำหนด Sizing เสื้อผ้าทำได้ไม่ยาก และตอบโจทย์ลูกค้าทั้งสองกลุ่ม แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสถานการณ์

 

Poem

Photo: poem_official / Instagram

 

ตั้งแต่ช่วงที่มีข่าวของการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ในปีนี้แบรนด์ต้องพับเก็บการออกคอลเล็กชันตามฤดูกาลโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งคอลเล็กชัน Pre-Fall และ Fall/Winter 2020 ที่แบรนด์ไทยมักออกตรงตามฤดูกาลของทุกปี จึงทำให้แบรนด์ต้องกลับมาทำการบ้านใหม่ ซึ่งคุณฌอนเรียกมันว่า ‘Post-COVID Plan’ ว่าต้องทำอย่างไรหลังสถานการณ์คลี่คลาย เพราะตามที่เขากล่าวตั้งแต่ต้น เมื่อแฟชั่นเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย 

 

“ลูกค้าจะต้องมองว่า Poem คือเสื้อผ้าที่คุ้มค่าการลงทุน เมื่อเขาซื้อชุดของเราไปวันนี้ เขาจะต้องใส่ไปได้ 5 ปี 10 ปี เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่เราคิดไว้ในช่วง 6-8 ปีที่ผ่านมา ให้แบรนด์มีจุดเด่นเรื่อง Timeless Design เมื่อคุณซื้อสูทของ Poem ไป อาจจะลงทุนชุดหนึ่งราคา 20,000-25,000 บาท แต่จะต้องใส่ได้จริงๆ ทุกๆ โอกาส ให้คนรู้สึกว่า มันเป็น Investment Piece มันอยู่ได้นาน มากกว่าใส่ได้แค่ครั้งเดียวหรือสองครั้งก็เก็บใส่กล่องแล้ว”

 

การแข่งขันในสนามแฟชั่นที่แต่ละวันที่ทุกแบรนด์ต่างผลิตเสื้อผ้ามาอย่างน้อย 4 ครั้งต่อปี นี่จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เรา ในฐานะผู้บริโภค ได้ตัดสินใจเลือกซื้ออย่างมีสติที่สุด ท่ามกลางเศรษฐกิจที่เชื่อใจไม่ได้พอๆ กับรายการพยากรณ์อากาศและโรคระบาดที่ทำให้หลายอย่างต้องหยุดนิ่ง โอกาสนี้จึงเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่ทำให้แบรนด์ต้องกลับมาทบทวนการดำเนินธุรกิจ เช่นเดียวกับที่ Poem ทำอยู่ เพื่อให้เราต้องอยู่รอดต่อไป

 

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ได้ที่ thestandard.co/coronavirus-coverage

และอัปเดตทุกความเคลื่อนไหวของโรคโควิด-19 ได้ที่ www.facebook.com/thestandardpop

 

ภาพ: Courtesy of Brand

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories