×

เทยธรณีวิทยา: ขุดหิน ขุดทราย ยันวิจัยงาช้าง

30.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

02.49 เริ่มสนใจจากการเรียนวิทยาศาสตร์

05.19 เรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์ภาคพื้นพิภพ

08:40 ลงภาคสนามขุดหินดินทราย

17.55 วิจัยเรื่องงาช้างไทย

22.14 เก็บข้อมูลงาช้าง

30:41 แร่เศรษฐกิจในประเทศไทย

39.10 อยากเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายไหม

 

ภาพจำของเหล่าเทยกับความสวยๆ งามๆ แทบจะเป็นเรื่องแยกกันไม่ออก โดยเฉพาะของสวยงามอย่างเพชรนิลจินดา


จักรกริช บุญมี นักวิจัยด้านธรณีวิทยาและอัญมณีวิทยาก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอเรียนจบด้านวิทยาศาสตร์ภาคพื้นพิภพ แต่ที่มากไปกว่านั้น เมื่อเลือกหัวข้อวิจัยปริญญาโท เธอเลือกเก็บฐานข้อมูลด้านแร่ของงาช้างไทยเพื่อนำข้อมูลนี้ส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐได้ใช้เปรียบเทียบคืองาช้างไทยหรือไม่ ช่วยอนุรักษ์และลดการซื้อขายงาช้างไทย ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ใช่ ดูเหมือนเธอเป็นเทยโลกสวย แต่เพื่อให้แหล่งแร่และงาช้างไทยอยู่ไปชั่วลูกสืบหลาน เธอยอม

 

ก่อนจะเป็นนักศึกษาปริญญาเอก ตั้งแต่เด็กคุณสนใจอะไร เล่นขุดดินขุดทรายมาตั้งแต่ตอนนั้นเลยหรือเปล่า

ตอนเด็กๆ ยังไม่มีความสนใจเรื่องหิน ดิน ทรายสักเท่าไร เพราะยังยึดความฝันเดิมคืออยากทำงานอะไรก็ได้เที่ยวกับภาษาอังกฤษ แต่พอดีดันเลือกไปเรียนสายวิทย์-คณิต ก็ต้องเรียนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ มันดันไปคลิกกับวิชาทางวิทยาศาสตร์ เราชอบฟิสิกส์ที่สุด เป็นวิชาที่ทำคะแนนได้ดีที่สุด จริงๆ เคยคิดว่าอยากเป็นวิศวกร แต่วิศวะฯ ผู้ชายเยอะ เดี๋ยวใจแตกแล้วเรียนไม่จบ กลัวอย่างนี้แหละ พอดีเราเป็นตุ๊ดบอบบางตัวเล็กๆ เลยเรียนวิทยาศาสตร์ดีกว่าไหม แต่จะเรียนอะไรที่มันแมตช์กับตัวเรา ถ้าจะเรียนฟิสิกส์อย่างเดียวมันก็น่าจะไม่สนุก เพราะคงจบออกมาหัวฟูเหมือนไอน์สไตน์ นึกสภาพตุ๊ดหัวฟูเดินอยู่กลางถนน มันคงเป็นภาพที่ไม่น่าดู ถ้าจะเป็นนักเคมี ทำการทดลองแล้วสารเคมีระเบิดใส่ผม ผมหายหมดทำยังไง เรียนชีววิทยา ถ้าเกิดจุลินทรีย์หรือเชื้อโรคเข้าร่างกาย เกิดการกลายพันธุ์ขึ้นมามันคงไม่โอเค เอาจริงๆ มโนมาก


ทีนี้ก็เลยมีความรู้สึกว่าสาขาธรณีวิทยามันน่าสนใจนะ ซึ่งสมัยนั้น พ.ศ. 2546 ธรณีวิทยามีแค่ไม่กี่มหาวิทยาลัยในประเทศไทย มีจุฬาฯ เชียงใหม่ มหิดล แต่ทีนี้บังเอิญเพื่อนในกลุ่มไม่มีใครไปจุฬาฯ เลย ครั้นว่าเราจะไปจุฬาฯ คนเดียวฉายเดี่ยวก็ยังไงๆ อยู่ ก็เลยลองดูซิว่าเกษตรศาสตร์มีอะไรที่มันแมตช์กับเรา ก็เลยไปศึกษาสาขาหนึ่ง ชื่อสาขาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ หรือ Earth Science คล้ายกับธรณีวิทยา แต่แตกต่างกันนิดหนึ่ง เฮ้ย สาขานี้น่าสนใจว่ะ เลยยื่นคะแนนเอ็นทรานซ์อันดับ 1 ไปเลย ปรากฏว่าติดค่ะ ก็เลยเอาที่นี่ มุ่งมั่นสิ่งนี้แหละ

 

แล้วก็ชอบที่นี่เลยใช่ไหม

เข้ามาตอนแรกยังแอบกลัวเหมือนกัน เพราะว่าเราเป็นรุ่นที่ 3 ที่สาขานี้เปิดมา แล้วอาจารย์เขามาเห็นเราตอนวันรับน้อง ทีนี้เขาก็ไปพูดกับรุ่นพี่ว่าเด็กคนนี้เป็นตุ๊ด จะเรียนได้เหรอ เราต้องเข้าป่า ปีนเขา ออกภาคสนามอยู่ตลอด น้องเขาจะไหวเหรอ ลองไปถามซิ ลองไปสืบมาซิ เราก็แอบกังวล ด้วยความที่อาจารย์เขาก็เป็นห่วงเรา

 

คือเป็นตุ๊ดคนเดียวในรุ่นเหรอ

เรื่องจริงค่ะ เป็นคนแรกของสาขาด้วย เรียกว่าเป็นตุ๊ดบุกเบิกก็ว่าได้ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังภาคภูมิใจอยู่ เพราะทุกคนเรียกว่าคุณแม่หมดเลยค่ะ

 

เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมคะว่าวิทยาศาสตร์พื้นพิภพเรียนอะไรกันบ้าง

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าหลักสูตร Earth Science มันจะคล้ายๆ กับธรณีวิทยา มันจะต่างกันตรงที่ธรณีวิทยาจะเรียนเฉพาะหมวดธรณีวิทยาอย่างเดียว พวกหิน ดิน ทราย แมกมา ลาวา รวมถึงแก่นโลกที่เราเรียกว่า Core แต่ทีนี้พอมาเป็น Earth Science เราจะเรียนเกี่ยวกับพวกน้ำทะเล น้ำจืด น้ำใต้ดิน น้ำบนอากาศ ไม่พอค่ะ เราเรียนเกี่ยวกับพวกอุตุนิยมวิทยาด้วย ก็จะเรียนตั้งแต่พื้นดินถึงชั้นบรรยากาศชั้นนอกสุดเลย มันก็เลยดูเหมือนสาขานี้น่าสนใจกว่าธรณีวิทยาเฉยๆ มันมีความหลากหลายมากกว่า

 

ไล่เรียงให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าแต่ละชั้นปีเรียนอะไรกันบ้าง

อย่างปี 1 เทอมแรก นิสิตจะยังไม่มีวิชาสาขา เป็นวิชาพื้นฐานไปก่อน แล้วจะมาเรียนวิชาในสาขาตอนปี 1 เทอม 2 เริ่มด้วยวิชาธรณีพลศาสตร์ หรือ Geodynamics ซึ่งวิชานี้เรียนเกี่ยวกับระบบต่างๆ ในโลก ก็จะอธิบายถึงว่าโลกกำเนิดมาอย่างไร ทฤษฎีการกำเนิดโลกที่เขาสันนิษฐานว่าน่าเชื่อถือหรือเป็นไปได้มีอะไรบ้าง เรียนเกี่ยวกับส่วนประกอบของโลก

 

แล้วต้องลงภาคสนามเมื่อไร

จริงๆ รุ่นเราออกภาคสนามตั้งแต่ปี 1 เทอม 2 เลย อาจารย์จะจัดทริป 2 วัน อาจารย์จะพาไปดูหินต่างๆ ครั้นที่เราเป็นตุ๊ด ออกภาคสนามครั้งแรกเราก็ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวเท่าไร เราก็จัดเต็ม นึกว่าไปเที่ยวภูทับเบิก ใส่เสื้อกันหนาวคลุมอย่างเดียว กางเกงฟิตเปรี๊ยะตึง หมวกชายหาดใบใหญ่ๆ ด้วยความที่เรากลัวดำก็ออกไปอย่างนั้น ก่อนจะขึ้นรถ อาจารย์บอกว่าแต่งอย่างนี้อย่าไปดีกว่าไหมคะ เราก็ตกใจ เราบอกว่าไม่ทราบค่ะ ก็เลยมาแนะนำให้ว่าควรจะแต่งตัวให้ถูกต้อง ให้สะดวกสบาย ทะมัดทะแมง


เราลงพื้นที่ดูชุดหินต่างๆ ตอนนั้นไปที่สระบุรี ดูหินปูน หินแกรนิต ให้เห็นความแตกต่างของหินก่อน ก่อนที่ขึ้นปี 2 จะเรียนวิชาหินอีกทีเพื่อทำความเข้าใจกับมัน เหมือนไปเซอร์เวย์ดูว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่เราจะได้พบเจอตลอดระยะเวลา 4 ปีที่เรียนมหาวิทยาลัย

 

พอลงพื้นที่แล้วชอบไหม

จริงๆ ตอนแรกก็ยังไม่ชอบเท่าไรนะ เอาจริงๆ เรามีความคิดว่าเราไม่เหมาะกับสาขานี้ด้วย เราเคยยื่นคะแนนจะไปเรียนเภสัชฯ อยากไปเป็นเภสัชตุ๊ด แต่โชคร้ายบังเกิดขึ้นคือคะแนนปีนั้นสูงเกินไป เลยไม่ติด โอเค ในเมื่อเรามาทางนี้แล้ว เราสามารถไปต่อได้ก็ได้

 

แล้วมีจุดเปลี่ยนอะไรไหมที่ทำให้เรารู้สึกว่าให้หันกลับมาชอบมัน

จุดเปลี่ยนสำหรับเราคือมีอาจารย์คนหนึ่ง ท่านชื่อ ผศ.ดร.พรสวาท วัฒนกูล ท่านเป็นอดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ท่านจุดประกายตอนเราเรียนปี 1 ท่านพูดอยู่ตลอดเวลาว่าเราเป็นแบบนี้ เราควรจะทำให้คนอื่นเห็นว่าเราทำได้ แล้วเราก็ต้องทำให้ได้ด้วย อย่าให้คนอื่นที่เขามาบอกว่าหนูเป็นตุ๊ด หนูทำไม่ได้แน่เลย อย่าเอาความคิดนี้มาฝังใส่ไว้ในหัวเรา ท่านคอยพูดทีเล่นทีจริงว่าหนูทำได้อยู่แล้ว

 

ต้องทำให้ทุกคนเห็นว่าเราไม่ได้เป็นตุ๊ดกะโหลกกะลาไก่กา สามารถทำอะไรที่ผู้หญิงผู้ชายปกติเขาทำได้ นี่เป็นจุดเปลี่ยนจุดหนึ่งที่ทำให้เรามองว่าเราสามารถทำอะไรเหมือนผู้หญิงผู้ชายได้นะ

 

ระหว่างการลงพื้นที่มีความประทับใจอะไรเป็นพิเศษไหม

เรื่องที่จำไม่เคยลืมคือตอนอยู่ปี 3 เราลงเรียนซัมเมอร์ก่อนปี 4 หลักสูตรของเรามีการบังคับให้ออกภาคสนามอย่างน้อย 1 ซัมเมอร์ รุ่นเราออกภาคสนามประมาณ 20 วัน แบ่งเป็นกลุ่มทั้งหมด 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะได้รับผิดชอบพื้นที่ในการศึกษาภาคสนาม กลุ่มละ 20 ตารางกิโลเมตร กลุ่มหนึ่งมีแค่ 4 คน เราต้องเดินสำรวจลักษณะธรณีวิทยาพื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบให้เสร็จภายใน 20 วัน พื้นที่ที่เราได้รับเลือกคืออำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ช่วงซัมเมอร์คือเดือนเมษายนถูกไหมคะ คิดดูสิคะ จังหวัดตากคือจังหวัดที่ร้อนที่สุดในประเทศไทย นึกสภาพสิคะ ตุ๊ดสวยๆ อย่างเราต้องตากแดดตัวดำ ยอมรับว่าตอนนั้นเราก็สลัดคราบรักสวยรักงามทิ้งทันที เราเป็นห่วงร่างกายเราไม่ได้แล้ว สิ่งที่เราต้องทำคือเดินศึกษาภาคสนามให้ทันเวลา มันไม่ใช่การเดินแนวราบด้วยนะคะ จังหวัดตากภูเขาเยอะ เดินขึ้นเขาสูงมาก ไม่พอนะคะ ลงห้วยด้วยนะคะคุณขา

 

แล้วตอนนั้นใช้ชีวิตอย่างไร

เราโชคดีหน่อย ได้พักในอุทยาน เรื่องที่พักเลยไม่มีปัญหา ตอนเช้ามีรถตู้มารับไปส่งพื้นที่ ตอนเย็นมีรถตู้มารับอีกทีหนึ่ง ถ้าวันนี้เราวางแผนว่าจะเดินจากจุด A ไปจุด B รถตู้ก็จะไปรอที่จุด B ถ้าวันนี้เดินไม่ถึง รถตู้ก็ต้องรออยู่


มีอีกเรื่องหนึ่งที่ประทับใจที่ไปลงพื้นที่ที่นี่ วันแรกคงคอนเซปต์เดิมคือกางเกงขาเดฟ หมวกใบใหญ่ เพราะเรายังกลัวดำอยู่ ห่วงสวยอยู่ ต้องปีนเขาค่ะ เกิดอะไรขึ้นทราบไหมคะ เป้าแตกค่ะ แตกตั้งแต่เป้ายันหัวเข่า เราต้องเดินตั้งแต่เช้ายันมืด แล้วคิดดู เสื้อผ้ามันอยู่ที่แคมป์ แปลว่าเราต้องเดินลมเย็น 1 วันเต็มๆ ให้กำไรชาวบ้านไป ชาวบ้านละแวกนั้นก็อากาศเย็นดี แต่ก็สู้ หลังจากนั้นขาเดฟไม่เอาอีกแล้ว เราก็ไม่คิดว่าการปีนเขามันจะทรหดขนาดนี้ คิดว่าน่าจะพอไหว เฮ้อ ชีวิตตุ๊ดอย่างฉันไม่น่าจะมาเจออะไรแบบนี้เลย


แล้วใน 20 วันนี้ เราจะต้องเอาข้อมูลหลังจากเดินสำรวจมาทำเป็นแผนที่ ซึ่งแผนที่ทั้ง 4 กลุ่มมันจะต่อกัน แล้วเราก็จะต้องเดินหาชุดหินแล้วมาวาดลงบนแผนที่ ลองจินตนาการตามนะคะ 4 กลุ่ม แผนที่ต่อกันทั้งหมด แต่ถูกซอยเป็นกลุ่มละ 20 ตารางกิโลเมตร สิ่งที่เราคิดไว้ก่อนที่จะเสร็จงาน เราคิดว่าต้องทำยังไงก็ได้ให้แผนที่ทั้ง 4 กลุ่มเอามาวางแล้วต่อกัน คือลักษณะชุดหินต้องเป็นชุดเดียวกันแล้วต่อให้สนิททั้ง 4 กลุ่ม มันคือความประทับใจชนิดหนึ่งค่ะที่ตุ๊ดตัวเล็กๆ อย่างดิฉันสามารถพาทีมไปทำได้สำเร็จ เราสามารถเดินสำรวจแล้วเอาชุดหินมาต่อกับชุดของเพื่อนกลุ่มถัดไปแล้วมันคือชุดเดียวกัน แปลว่าเราทำถูกต้อง น้ำตาไหลค่ะ

 

ยุคนั้นไม่ลำบากเหรอคะ เพราะไม่มี Google Maps รู้ได้อย่างไรว่ามันครบ 20 ตารางกิโลเมตรแล้ว

สมัยนั้นโทรศัพท์ยังจอเทาอยู่เลยค่ะ เราต้องใช้ความรู้ทั้งหมดที่เราเรียนมาตั้งแต่ปี 1 2 3 เราเรียนแล้วจะทำการสำรวจว่าหินแต่ละชนิดมีลักษณะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร มีการวางตัวอย่างไร แนวไหน เราก็ต้องวัดว่าทิศทางในการวางตัวของชั้นหินเป็นอย่างไร ต้องวัดให้เป๊ะด้วย เพราะว่าต้องไปแมตช์กับเพื่อนกลุ่มต่อไป ถ้าเราทำผิดกลุ่มเดียว มันก็จะทำให้งานของเราทั้งรุ่นผิดทั้งหมด

 

การเรียนปริญญาตรีกับปริญญาโทต่างกันมากไหม

ปริญญาโทมันจะเป็นการวิจัยเชิงลึกยิ่งขึ้น ก็ไม่เหมือนปริญญาตรี เราเลือกจะทำเรื่องตรวจวิเคราะห์งาช้างไทย เป็นหัวข้อธีสิสปริญญาของเรา

 

งาช้างมันเกี่ยวกับ Earth Science ด้วยเหรอคะ ถามตรงๆ เลย

ไม่แปลกเลยค่ะ หลายคนจะตกใจว่างาช้างเกี่ยวกับ Earth Science ยังไง เราต้องบอกก่อนว่าตอนปี 4 เรามีความสนใจเรื่องแร่ ซึ่งจริงๆ แล้วกระบวนการเกิดแร่มี 2 กระบวนการด้วยกัน อย่างแรกคือเกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต คือพวกแร่ทั่วไปที่เราเห็น อย่างต่างหูสวยๆ ที่เราเห็น ส่วนอีกชนิดหนึ่งคือแร่ที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตเป็นคนสร้างแร่นั้นขึ้นมา ถ้ายกตัวอย่างให้ชัดเจนที่สุดและคนทั่วโลกเก็ตได้เร็วที่สุดคือไข่มุกที่มาจากหอยมุก หอยมุกเขาจะมีเซลล์ชนิดหนึ่งที่คอยสร้างน้ำมุกเอามาเคลือบกันเป็นชั้นๆ แล้วก่อตัวกันเป็นก้อน เป็นเม็ดไข่มุกขึ้นมา ลักษณะจะคล้ายกันกับงาช้าง ซึ่งเกิดจากเซลล์ ร่างกายช้างจะมีเซลล์ตัวหนึ่งที่คอยสร้างงาช้าง ซึ่งงาช้างเองก็ถือว่าเป็น Bio-Hydroxyapatite ในร่างกายมนุษย์ก็มี เช่น ฟัน กระดูก หรือในสัตว์อย่างนอแรด เขากวางก็ใช่

 

งานวิจัยมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

งานวิจัยของเราจะศึกษาลักษณะทางกายภาพและทางเคมีของงาช้าง ซึ่งตัวเราเองมองว่าประเทศไทยหรือในโลกนี้ งานวิจัยเกี่ยวกับงาช้างมีน้อยมาก ถ้ามองย้อนกลับไป 5-10 ปีที่ผ่านมา มีการรณรงค์เกี่ยวกับการต่อต้านการค้างาช้าง งานวิจัยเราสามารถซัพพอร์ตได้ไม่ใช่แค่ระดับประเทศ แต่คือระดับโลก เรามองว่าสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับโลกเราอย่างมาก เราจึงทำการศึกษาทั้งลักษณะทางกายภาพ ดูว่างาช้างมีลักษณะอย่างไร และศึกษาเคมีองค์ประกอบของมัน ใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ขั้นสูงมาตรวจวิเคราะห์ จนตอนนี้เราสามารถสร้างฐานข้อมูลงาช้างไทยขึ้นมาได้ จริงๆ แล้วเราสามารถเผยแพร่ให้หน่วยงานราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องการใช้ข้อมูลตรงนี้ได้ด้วยเหมือนกัน เช่น เวลาตำรวจศุลกากรที่สนามบินเขาจับงาช้างได้ บางทีเขาอาจจะไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่างาช้างนั้นเป็นงาช้างบ้านเรา หรือนำเข้ามาจากแอฟริกา หรืองาช้างที่ลักลอบมาจากอินเดีย เขาไม่มีทางทราบได้ แต่ถ้าเขาเอาตัวอย่างชิ้นเล็กๆ มาตรวจวิเคราะห์แล้วเทียบกับฐานข้อมูลที่เรามี เราก็จะสามารถบอกได้ว่างาช้างที่จับมาได้เป็นงาช้างไทยหรือไม่

 

ตอนที่ทำวิจัย มีวิธีการเก็บอย่างไรบ้าง

จริงๆ ตอนแรกสุดเรามองว่าเราควรจะมีตัวอย่างงาช้างที่หลากหลาย อาจารย์ที่ปรึกษาก็มองว่าคิดถูก แต่ในความเป็นจริงอาจทำได้ไม่เหมือน อาจทำได้เฉพาะส่วนที่เข้าถึง เราเลือกงาช้างจาก 2 แหล่ง คือจากสุรินทร์ และอีกที่คือลำปาง เราทำหนังสือเข้าไปขอความอนุเคราะห์ตัวอย่าง เราไม่ได้ยกงาช้างมาทั้งกิ่ง เราตัดมาประมาณ 1-2 เซนติเมตร


การเก็บข้อมูลเราต้องลงพื้นที่ ที่สุรินทร์ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะค่อนข้างคุ้นชินอยู่แล้ว เข้าไปตามหมู่บ้านที่เลี้ยงช้าง ดูว่าสิ่งที่ช้างกินเป็นอย่างไรบ้าง พื้นที่เป็นอย่างไร ลักษณะดินและหินบริเวณนั้นเป็นอย่างไร มีการขอตัวอย่างเล็กๆ จากควาญช้าง ก็ได้มาจำนวนหนึ่ง แต่มีอีกที่คือที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง มีช้างอยู่หลายร้อยเชือก ตรงนั้นเราทำหนังสือเข้าไปขอความอนุเคราะห์ จริงๆ ตัวอย่างของเราจะเพียงพอแล้ว แต่ใจเราอยากจะได้อีกสัก 1 ตัวอย่าง แล้วบังเอิญเราเห็นช้างเชือกหนึ่ง ชื่อพลายพระเหม่ ชื่อดูพม่านิดหนึ่ง แต่เขามีความพิเศษคือเป็นช้างงาเดียวตั้งแต่เกิด เรามีความรู้สึกว่าช้างเชือกนี้มีความน่าสนใจและดูใจดี เลยลองคุยกับสัตวแพทย์และควาญช้างที่ดูแลเขาอยู่


เราถามว่าเป็นไปได้ไหมถ้าอยากจะได้ตัวอย่างงาช้างจากตัวที่ยังมีชีวิตอยู่จริงๆ เขาบอกว่าได้ เพราะปกติช้างทุกเชือกที่อยู่ในศูนย์อนุรักษ์ช้างจะมีการตัดงาอยู่แล้ว เพราะถ้าไม่ตัดงาจะชนกัน แล้วโคนจะเน่า ทำให้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่เขาไปคุยกับควาญช้าง ควาญช้างเลยมาทำความเข้าใจกับเราว่าก่อนตัดต้องมีการทำพิธีกรรม เหมือนเป็นการขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลช้างเชือกนั้นอยู่ เขาบอกให้เรานั่งรอเลย ตอนนั้นตื่นเต้นค่ะ ไม่เคยเห็นเหมือนกัน มีการสวด พรมน้ำมนต์ จุดธูปเทียนต่างๆ นานา สักพักหนึ่งเขาหันมาบอกว่าพิธีกรรมเสร็จสิ้นแล้ว ต่อไปนี้เป็นการตัดแล้วนะ


ควาญช้างหยิบเลื่อย เราก็เดี๋ยวก่อน เลยบอกเขาว่าขอนิดเดียว ไม่เอาเยอะนะคะ พอเขาหยิบเลื่อยขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นคือช้างลุกฮือ แล้ววงนั้นแตกกระจาย วิ่งคนละทิศละทางแบบไม่สนชีวิต เราก็งงมาก เฮ้ย! ตายแล้ว ฉันจะเอาชีวิตมาทิ้งในปางช้างไม่ได้ ถ้าเปิดข่าวหน้าหนึ่งว่านักวิจัยตุ๊ดเสี่ยงชีวิตโดนช้างเหยียบตายทำยังไงคะ ทีนี้ควาญช้างก็รวบรวมสติ พยายามทำให้ช้างใจเย็นลง ช้างก็เริ่มเชื่อฟัง ก็ให้ตัด เลยได้มาประมาณ 1 เซนติเมตร ถือว่าเป็นเรื่องค่อนข้างประทับใจมาก คือช้างคงเสียวน่ะค่ะ เพราะงาช้างจริงๆ คือฟัน


เขาบอกว่าถ้าวิ่งหนีช้างให้วิ่งเป็นวงกลม แล้วช้างเขาก็บ้าคลั่งอยู่ เราวิ่งเป็นวงกลมแล้วกลับมาอีกที อ้าว! ช้างอยู่ข้างหน้าเราที่เดิม แล้วคนวิ่งเป็นวงกลม เฮ้ย เดี๋ยวก่อนทฤษฎีนี้ใช้ได้หรือเปล่า อันนี้เรื่องจริงนะคะ ถ้าเจอช้างป่าให้วิ่งเป็นวงกลม แต่ให้ดูก่อนว่าช้างนั้นอยู่หน้าหรืออยู่หลัง

 

 

อย่างนี้เราได้เห็นสถานการณ์ช้างไหมคะว่าเหลือเยอะน้อยแค่ไหน

เอาจริงๆ ช้างที่อยู่ที่อยู่ในประเทศไทยที่เป็นช้างเลี้ยงก็ยังมีอยู่จำนวนหนึ่ง จะเรียกว่ามากก็เรียกได้ เพราะมันมีการผสมพันธุ์อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นช้างป่า สถานการณ์ก็ค่อนข้างน่าสงสาร เพราะเหลือน้อย ตายบ้างจากกระบวนการทางธรรมชาติที่รบราฆ่าฟันกันเอง หรือการรบกวนชาวบ้าน ชาวสวน แล้วเกิดถูกยิงตายบ้างที่เราเห็นในข่าว

 

แล้วงาช้างเลี้ยงกับงาช้างป่ามีส่วนประกอบที่เหมือนกันไหม

จริงๆ เหมือนกัน เพราะมันคืองาช้างในประเทศไทยเหมือนกัน เขากินพืชพันธุ์ธัญญาหารที่อยู่ในประเทศเรา พวกธาตุเคมีองค์ประกอบมันก็จะซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านพืชผักที่เขากินเข้าไป เพราะฉะนั้นมันเลยทำให้เคมีองค์ประกอบเขาคล้ายกัน

 

ตอนแรกที่บอกว่าสนใจเรื่องแร่ แล้วทำไมไม่ทำเรื่องเพชรพลอยหรืออัญมณีสวยงาม ทำไมถึงเลือกทำเรื่องงาช้างคะ

พอดีเราเป็นตุ๊ดโลกสวย เรามองการทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งว่าประเทศชาติจะได้ประโยชน์อะไรจากงานวิจัยชิ้นนั้น แต่จริงๆ แร่สวยงามก็มีประโยชน์ต่อประเทศชาตินะ แต่ที่เราทำเกี่ยวกับงาช้างมันมีประโยชน์กับประเทศชาติอย่างมาก แล้วมากกว่านั้นก็คือมันมีประโยชน์กับทั้งโลกเลย อย่างน้อยมันทำให้ตำรวจเขาออกบทลงโทษให้กับผู้กระทำผิดในการค้างาช้างได้อย่างเต็มรูปแบบ ดีกว่าจับมาแล้วเป็นงาช้างแอฟริกาหรืองาช้างไทย เพราะอย่างงาช้างแอฟริกายังมีการซื้อขายได้บ้าง แต่งาช้างบ้านเราห้ามไม่ให้มีการซื้อขายเลย และครอบครองได้แค่ 2 ชิ้น แต่ถ้าเกินต้องไปดีแคลร์ต่อกรมอุทยานแห่งชาติ

 

ปัจจุบันหน้าที่คือการดูแลแร่เศรษฐกิจ รายละเอียดงานเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนนี้ที่เราทำอยู่เป็นนักธรณีวิทยาและนักอัญมณีวิทยา คือดูแลโครงการวิจัยในหน่วยวิจัย ซึ่งในงานที่เราดูแลหลักๆ คือเกี่ยวกับทรัพยากรอัญมณี เราไปสำรวจแหล่งแร่ เข้าป่าเข้าเขาอีกแล้ว ไปอยู่กับชาวไร่ ไปร่อนแร่กับเขาจริงๆ ตัวเลอะโคลนสีแดง ถึงจุดนั้นแล้วถ้าห่วงสวยคงไม่ได้พลอยออกมา


เราสำรวจดูลักษณะหิน ดูชุดหินต่างๆ ว่าหินลักษณะนี้จะมีพลอยหรือแร่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจไหม ถ้าศึกษาลักษณะทางหินเรียบร้อยแล้วสรุปว่ามี ต่อไปจะเป็นกระบวนการสำรวจตัวแร่ เช็กปริมาณแร่ดู หลักๆ เราไม่เน้นการขุดเพื่อที่จะทำลายระบบนิเวศ เราจะใช้การร่อนแร่ตามแม่น้ำ ซึ่งเราจะประเมินศักยภาพได้จากการร่อนเจอ อย่างพื้นที่หลักที่โครงการวิจัยรับผิดชอบอยู่ก็จะมีจันทบุรี ตราด กาญจนบุรี อุบลราชธานี และแพร่ ซึ่งแพร่คือแหล่งอัญมณีแหล่งสุดท้ายของประเทศ

 

แล้วมีวิธีการดูอย่างไรว่าพื้นที่ตรงไหนน่าจะมี

พูดถึงไพลินสีน้ำเงินก่อน เพราะมันมีราคาสูง ก่อนอื่นเวลาเราสำรวจ เราพยายามหาหินบะซอลต์ให้ได้ ถ้าเราเจอหินบะซอลต์ สิ่งที่เราจะหาลำดับต่อไปคือเพื่อนแร่ หรือเพื่อนพลอย คือแร่ประกอบหิน สมมติว่าเราสำรวจแร่แล้วเจอนิลสีดำอยู่ในหิน เพราะฉะนั้นเราสามารถการันตีได้ 100% ว่าตรงนี้น่าจะมีไพลิน หรืออาจจะเป็นทับทิมก็ได้

 

 

ข้อมูลที่เราทำเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง คืออยู่ๆ จะให้ชาวบ้านไปร่อนแล้วเก็บออกมาอย่างนั้นได้เลยหรือเปล่า

หลังจากที่ได้ข้อมูลครบหมดทั้งด้านธรณีวิทยาและทางด้านแร่ อัญมณี เราจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาเรียบเรียง จัดเรียง เสร็จแล้วจะทำการเผยแพร่ให้กับนักเรียนในจังหวัดนั้นๆ ชาวบ้าน ผู้ประกอบการ แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ในหน่วยราชการ เราก็เข้าไปให้ความรู้เขา เราไปบอกเขาว่าทรัพยากรหรือทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ของคุณยังมีปริมาณมากนะ แต่เราก็พยายามปลูกฝังจิตสำนึกให้กับทุกคนที่เราไปอบรมมา ให้เขาเกิดความรู้สึกตระหนักว่าจะใช้ทรัพยากรเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร นี่คือสิ่งสำคัญของการทำโครงการวิจัยนี้ ไม่ใช่เราบอกว่าพื้นที่ของคุณมีพลอยอยู่ เขาไปขุดกันหมดเลย ทีนี้อีก 20-30 ปีข้างหน้าเขาจะทำอะไรกัน

 

เพราะฉะนั้นเราต้องไปปลูกฝังจิตสำนึกให้คนในพื้นที่มีความหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติของตัวเองที่มี เขาสามารถใช้ทรัพยากรเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร

 

 

แล้วเป้าหมายที่บอกว่าจะไปเรียนต่อปริญญาเอกในสาขาเดิม คิดว่าเราจะกลับมาทำอะไรต่อไป

เป้าหมายหลังจากเรียนจบปริญญาเอก เราอยากกลับมาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย อยากจะใช้ความรู้ที่เราสั่งสม อยากถ่ายทอดประสบการณ์ที่เราได้ทำงานต่างๆ ให้กับเยาวชน นิสิต นักศึกษา ให้เขาได้ทราบว่าทรัพยากรธรรมชาติในโลกเราควรจะใช้อย่างไรให้ลูกหลานเรายังมีใช้อยู่ ไม่ใช่เราใช้แล้ว 10 ปีหมดไป เราอยากจะถ่ายความรู้เพื่อให้เขาได้ใช้ประโยชน์ตรงนี้ต่อไปอีก

 


 

Credits

The Host นันท์ณภัส ธิปธรารัตนศิริ

The Guest จักรกริช บุญมี

 

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Music Westonemusic.com

FYI
  • Geodynamics หรือธรณีพลศาสตร์ คือวิชาที่ว่าด้วยระบบต่างๆ ในโลก, อธิบายถึงว่าโลกกำเนิดมาอย่างไร, ทฤษฎีการกำเนิดโลกที่เขาสันนิษฐานว่าน่าเชื่อถือหรือเป็นไปได้มีอะไรบ้าง รวมถึงส่วนประกอบของโลก
  • Bio-Hydroxyapatite หมายถึง แร่ที่เกิดจากเซลล์ของสิ่งมีชีวิต เช่น ไข่มุก, งาช้าง, นอแรด ส่วนในร่างกายของมนุษย์ เช่น ฟัน, กระดูก
  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X