×

ภาษีฟรีแลนซ์ VAT ภาษีกองทุน มรดก ที่ดิน และช้อปช่วยชาติ

13.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

00.52 ภาษีกับฟรีแลนซ์

04.30 ฟรีแลนซ์มือเทพกับเรื่อง VAT

09.35 ภาษีกองทุน

13.38 ภาษีมรดกและที่ดิน

20.05 ลดหย่อนและช้อปช่วยชาติ

22.49 ภาษีกับประกัน

26.17 คำแนะนำจาก TaxBugnoms

     โค้ชหนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์ (The Money Coach) ถกกันต่อกับ ‘พรี่หนอม’ หรือ ถนอม เกตุเอม ผู้เชี่ยวชาญด้าน ภาษี เจ้าของเพจ TaxBugnoms กับสารพันคำถามเรื่องภาษี ไล่ตั้งแต่อาชีพที่ปวดหัวกับภาษีที่สุดอย่างฟรีแลนซ์ จ่ายภาษีเงินได้แล้วไหนจะต้องจ่าย VAT อีก หรือภาษีกองทุน ภาษีที่ดินก็มีด้วยเหรอ ไปจนถึงเรื่องช้อปช่วยชาติ และปิดท้ายด้วยคำแนะนำถึงผู้ที่ต้องเสียภาษีทุกคน

     ใครที่ยังไม่เคยฟังเรื่องภาษีตอนที่แล้ว สามารถฟังได้ที่ thestandard.co/podcast/themoneycase10

 


 

ในฐานะที่ให้คำปรึกษาด้าน ภาษี มาพอสมควร คนกลุ่มไหนที่ถือว่าน่าสงสารมากที่สุด ผิดบ่อยที่สุด โดนเยอะสุด?

     ฟรีแลนซ์โดนเยอะที่สุด เหมือนชีวิตเหนื่อยอยู่แล้ว พอได้เงินมาก็บริหารลำบาก แล้วยังไม่รู้ว่าต้องเสียภาษี

 

เรื่องอะไรที่ฟรีแลนซ์มักจะพลาด?

     คำว่า ‘หักภาษี ณ ที่จ่าย’ สมมติค่าจ้าง 10,000 บาท แต่เขาจ่ายจริง 9,700 บาท โดนหัก 3% พอหักภาษี ณ ที่จ่ายปั๊บก็คิดว่าจบ คิดว่าเป็นคนดีเสีย ภาษี ถูกต้องแล้ว เข้าใจแบบนี้มาตลอด แต่จริงๆ มันคือการถูกหักภาษีเพื่อเป็นหลักฐานว่าคุณมีรายได้ กฎหมายสั่งให้หักไว้ หักเสร็จคนที่จ้างเราเขาก็ส่งไปสรรพากร เพื่อบอกว่าเรามีรายได้เท่านี้ และต้องไปยื่น ภาษี ซึ่ง ภาษี ที่หักคือการจ่ายไว้ล่วงหน้า 3%

 

ซึ่งต้องมาดูกันอีกทีหนึ่งว่ารวมทั้งปีแล้วคุณมีรายได้เท่าไร และต้องจ่ายแค่ไหน?

     แล้วเอา 3% พวกนี้ที่สะสมมาไปหักออก ต้องจ่ายเพิ่มหรือได้คืนแล้วแต่คน

 

ผมเคยเป็นฟรีแลนซ์อยู่ช่วงหนึ่ง ทำงานแล้วมีปัญหากับหลักฐานภาษีมาก ทั้งใบหัก ณ ที่จ่าย บางที่ก็ให้ บางที่ก็ไม่ให้ พอไม่ให้เราก็จะลักลั่น เอ๊ะ อันนี้สรรพากรเขาจะรู้ไหม หรือเขาไม่รู้มั้ง?

     เอาง่ายๆ ถ้าเขาจ้าง 10,000 บาท แล้วถูกหัก 3% หรือเท่าไหร่ก็ตาม คือเงินไม่ครบตามค่าจ้าง สรรพากรเขารู้แล้ว หน้าที่เราคือทวงใบนั้นมาให้ได้ ผมแนะนำว่าให้ทวงเร็วที่สุด คือทันทีที่ได้เงินแล้วทวงเลย ถ้าปล่อยไว้นานแล้วสิ้นปีไปทวงอาจจะหาย แล้วเราจำไม่ได้ด้วย คืออย่างน้อยถ้าไม่มีก็ต้องจดรายละเอียดไว้

 

ผมแนะนำเลยว่าถ้าเป็นฟรีแลนซ์ให้จดไว้เลย อาจจะเป็น Excel ตารางงาน แล้วโน้ตไว้เลยว่าได้เงินเท่าไร หัก ณ​ ที่จ่ายเท่าไร แล้วเวลาเราไล่คุ้ยเอกสารของเรามันจะง่าย ต่อให้มันหายไปเราก็ยังยื่นไปได้ว่าเราโดนหักไปแล้ว 3% ฟรีแลนซ์จะโดนประจำ

     อันนี้ผมเล่าปัญหาต่อเลยแล้วกัน บางคนเป็นฟรีแลนซ์มือเทพรายได้สูง ปีหนึ่งเกิน 1,800,000 บาท จะโดน VAT อีกทีหนึ่ง คือรายได้จากการจ้างลักษณะนี้ ถือว่าเป็นงานบริการ มันต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้ามีรายได้ 1,800,000 บาท หารแล้วมีรายได้เดือนละ 150,000 บาท มีความเป็นไปได้ที่ฟรีแลนซ์มือดีๆ จะมีรายรับขนาดนี้ บางคนเป็นนักพูด รายได้ดีมาก จนสรรพากรมาหาที่บ้านว่าคุณต้องจด VAT แล้ว รายได้คุณเกิน 1,800,000 บาทแล้ว

     เราต้องเช็กตัวเองก่อน โดยเฉพาะการจดรายละเอียดงานแต่ละวันไว้ ว่าเรามีรายได้เท่าไร ถูกหักภาษีเท่าไร พอเห็นแล้วจะกะตัวเองถูก

 

VAT คือโดนหลายเด้งเลยนะ แล้วค่าปรับ VAT คือ 2 เท่าของภาษีที่คุณต้องเสีย บวกเงินเพิ่มอีก 18% ด้วย

     ถ้าเป็นมนุษย์ธรรมดาไม่ได้ยื่นภาษี แล้วไปยื่นเองก็จะไม่โดนเบี้ยปรับ แต่ต้องเสียดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือน ส่วน VAT นี่โดนต่ำสุดคือ 1 เท่า สูงสุด 2 เท่า บวกเงินเพิ่ม พูดง่ายๆ คือผิด 100 จ่ายหนักสุดคือ 400 เป็นภาษีที่สรรพากรรัก

 

ฟรีแลนซ์ทั้งหลายต้องระมัดระวังนะครับ

     เราต้องเช็กดีๆ ว่าเขาหักหรือไม่หัก อาจจะโดนสับขาหลอกว่าไม่ได้หัก แต่จริงๆ แล้วหักแล้วแอบนำส่งไป เช็กให้ชัด ถ้าหักส่งยังไงก็ต้องยื่น ถ้าไม่ส่งจะยื่นหรือไม่ยื่นก็ต้องถามความดีในใจ อันนี้แล้วแต่คน ผมไม่มีสิทธิ์บอก

 

ทำไมต้องเก็บทั้งภาษี และ VAT?

     เราต้องกลับมาดูทางเศรษฐศาสตร์ว่า ภาษีจะเก็บจาก 3 แหล่ง คือเงินได้ คุณมีรายได้เยอะก็เสียภาษีเยอะ สอง บริโภค อย่างเช่น VAT คุณกินเยอะใช้จ่ายเยอะ คุณต้องเสียภาษีให้ประเทศนี้เยอะ สุดท้ายคือ ความมั่งคั่ง ทรัพย์สิน เช่น มรดก ที่ดิน ซึ่งแต่ละประเทศจะใช้ 3 อันนี้ แล้วแต่ว่าเขาจะเลือกแบบไหน เป็นฐานหลักในการประเมิน มันไม่ใช่การเสียภาษีซ้ำซ้อน ส่วนที่เป็นรายได้ก็ส่วนหนึ่ง ส่วนที่เป็น VAT ก็ส่วนหนึ่ง เป็นภาษีที่เก็บจากคนละส่วน

 

เก็บทุกอย่างอย่างนี้คนมีรายได้น้อยก็ดีสิ?

     ถ้ามองในแง่คนมีรายได้น้อย เขาเสีย VAT เยอะนะ ดูเหมือนเราเสีย 7% เท่ากัน แต่ว่าการใช้จ่ายของคนรายได้น้อย เขาใช้เต็มร้อย สมมติเงินเดือน 10,000 บาท แล้วอยู่ในระบบ VAT หมดเลยคือเขาเสีย 7% ของ 10,000 บาท กลับกันถ้าผมเป็นคนมีรายได้ 100,000 บาท ผมใช้แค่ 50,000 บาท ผมเสีย VAT แค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งผมเก็บไว้

     แล้วคนรวยมีโอกาสเสีย VAT น้อยกว่าอีก เพราะเวลาไปซื้อของตามห้าง ตามชั้น เช่น ทิชชู่ คนรวยซื้อเหมาแพ็กได้ คือเสีย VAT ถูกต่อหน่วย แต่คนจนซื้อทีละม้วน ม้วนหนึ่งคือโดน VAT เต็มๆ ถ้าซื้อจำนวนเท่ากันคนจนเสียมากกว่า

 

ภาษีของกลุ่มที่ซื้อขายกองทุน ต้องเสียภาษีไหม เสียอย่างไรบ้าง?

     สิ่งที่ได้จากกองทุนมี 2 อย่าง คือหนึ่ง กำไร วันนี้ซื้อถูก อนาคตขายแพง ได้กำไรจากการขาย สองคือ เงินปันผลจากกองทุน ที่มีการจ่ายปันผล ตัวผลกำไรกฎหมายทุกวันนี้เขายกเว้นให้ เพราะต้องการกระตุ้นการลงทุน กำไรเท่าไร ไม่ต้องเสียเลย ยกเว้น LTF RMF ติดเงื่อนไขอันนี้อีกเรื่องหนึ่ง แต่กองทุนทั่วไปจะเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่กองทุนที่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษี ด้านเงินปันผล บ้านเราจะใช้วิธีให้เลือกว่าจะยอมโดน Final Tax คือยอมโดนหักไปเลย 10% เวลาจ่ายปันผลมา 10,000 บาท หัก 10% รับเงิน 9,000 บาท จบ ไม่ต้องรวมมาเสียภาษีตอนปลายปี หรือจะเอา 10,000 บาท พร้อมภาษีที่ถูกหักไว้ 10% มารวมตอนปลายปีก็ได้ ให้สิทธิ์เลือก แล้วแต่ว่าเราจะชอบแบบไหน

 

ต้องประเมินตัวเราด้วยว่ารายได้เราเยอะอยู่แล้วหรือเปล่า?

     ถูกครับ ถ้าคำนวณภาษีเป็น รู้ว่าตัวเองเสียเกินฐาน 10% ก็อาจจะไม่ต้องเอามารวม แต่ดีที่สุดคือเสียไปเลย มารวมมีเสียเพิ่มอยู่แล้ว

 

อันนี้รวมไปถึงการซื้อขายบ้านด้วยไหม เอามารวมเป็น Final Tax ได้ไหม

     เฉพาะซื้อขายบ้านทั่วไปได้

 

สมมติซื้อบ้านมา 1,000,000 บาท อีก 3-4 ปี ผมขาย 1,500,000 บาท ผมเสียภาษีที่กรมที่ดินไปแล้ว ต้องมารวมเป็นรายได้อีกไหม

     ไม่ต้องครับ ยกเว้นทำพวกบ้านจัดสรรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นบุคคลธรมดาถ้ายอมจ่ายก็จบ

 

LTF RMF มีเงื่อนไขไหนบ้างที่ผิดเงื่อนไขแล้วโดนภาษีคืนน้อยที่สุด

     เดี๋ยวนะ คือหลักผมไม่รู้ว่าวิธีคิดของคนบางส่วน ว่ากฎหมายบอกแบบนี้ แต่จะทำในสิ่งที่กฎหมายไม่ได้บอก แล้วถามว่าจะไม่โดนภาษีได้ไหม

 

ต้องบอกก่อนว่า RTF คือกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ LMF คือกองทุนหุ้นระยะยาว ซึ่งรัฐจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

     อย่าง LTF ก็ซื้อได้ 15% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ซื้อแล้วต้องถือครองไว้ ณ ปัจจุบัน 7 ปีปฏิทินขึ้นไป ก็นับเป็น 5 ปีกับ 2 วัน ประมาณนั้น แล้วแต่เขาจะนับวันกัน ก็คือต้องไม่ผิดเงื่อนไขนี้ ถ้าขายก่อนก็ผิด กำไรจากการขายต้องเสียภาษี ซึ่งปกติมันไม่เสีย หรือสิทธิลดหย่อนที่ใช้ไปก็ต้องไปคืนเขา เพราะถือว่าคุณไม่ได้ทำตามที่กฎหมายกำหนด

 

ภาษีอีกอย่างที่ใหม่มากคือภาษีมรดกและที่ดิน

     ภาษีมรดกจริงๆ มันใช้ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2559 แต่กฎหมายประกาศมาตั้งแต่ 28 กรกฎาคม 2558 ให้เวลา 180 วันในการปรับตัว ผมอ่านรายงานประจำปีของกรมสรรพากร เป็นปีภาษี ปีงบประมาณที่ตัดเดือนตุลาคม 2559 ยอดภาษีที่จัดเก็บได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-ตุลาคมคือ 0 บาท ไม่มีใครโดนภาษีเลย เป็นภาษีที่ลดความมั่งคั่งในการส่งต่อมรดก ถ้าเป็นมรดกเกิน 100,000,000 บาท เก็บ 5% ของส่วนที่เกิน 100,000,000 บาทนั้น ทรัพย์สินที่เก็บจะเป็นทรัพย์สินที่ลงทะเบียนอย่างเดียว อาจจะเป็นเงินฝากธนาคาร หลักทรัพย์ต่างๆ พวกกองทุน หุ้น ยานพาหนะมีทะเบียนรถ อสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินการเงินอื่นๆ ถ้าเป็นทองคำก็อาจจะไม่โดน

 

สรุปว่าภาษีมรดกที่ผ่านมายังเก็บไม่ได้เลย

     ถ้าจำไม่ผิด มันเป็นการให้ยื่นด้วยตัวเองก่อนด้วย น่าจะยังไม่มีการเข้าไปตรวจสอบ เพราะภาษียังใหม่อยู่ ก่อนภาษีจะบังคับใช้ก็จะมีข่าวว่าโอนหุ้นให้ลูกแล้ว

 

ส่วนภาษีที่ดิน มันโดนทุกคนที่มีอสังหาริมทรัพย์ เราอยู่ในข่ายที่ราคาถึงหรือไม่อย่างไร แต่หลังที่ 2 โดนแน่ๆ

     ถ้าเป็นที่อยู่อาศัยแล้วมีเกิน 1 หลัง โดนแน่ๆ

 

ตกลงมันชัดเจนหรือยัง

     เอาเป็นว่าข้อมูลที่มีอยู่อาจจะไม่ได้อัพเดตที่สุด เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลงตลอด แต่ว่า ณ ปัจจุบัน ภาษีที่ดินเก็บจากมูลค่าหรือราคาประเมินของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะมาแทนภาษีโรงเรือนกับภาษีบำรุงท้องที่ เดิมบ้านเราเสียภาษีปีหนึ่งไม่กี่ร้อยไม่กี่พัน คือภาษีบำรุงท้องที่ ถ้าทำธุรกิจจะเสียภาษีโรงเรือนจากรายได้ค่าเช่าก็ว่ากันไป 2 ตัวนี้จะถูกยกเลิก แล้วมาเสียภาษีที่ดินแทน

     ภาษีที่ดินจะคิดจากราคาประเมินของทรัพย์สินนั้นๆ แต่อัตราภาษีจะคิดจากการใช้งาน ก็จะแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ เกษตร อยู่อาศัย พาณิชย์ และรกร้าง คือไม่ได้ใช้ ซึ่งวัตถุประสงค์ของภาษีที่ดินนี้คือ เขาอยากจะให้เก็บที่ดินที่ไม่ถูกพัฒนา เพราะฉะนั้นพวกรกร้างจะถูกเสียภาษีในอัตราที่สูง เพราะจะกระตุ้นการใช้ทรัพยากรไม่ให้คนเก็งกำไรมากขึ้น อันนี้คือนโยบายภาษี ซึ่งแต่ละอัตราของเกษตร ที่อยู่อาศัย พาณิชย์จะไม่เท่ากัน เกษตรจะถูกหน่อยเพราะสนับสนุนให้คนทำเกษตร อยู่อาศัยก็มียกเว้น เช่น บ้านหลังแรกถ้าไม่เกิน 50 ล้าน ตอนนี้เห็นจะเปลี่ยนเป็น 20 ล้าน

 

ฟังถึงตรงนี้อย่าเพิ่งโวยวายกันนะครับ ถ้าคุณมีบ้านหลังเดียว และมูลค่าบ้านไม่เกิน 20 หรือ 50 ล้านที่ยังไม่ได้ Final คุณก็ไม่ต้องตกใจกับภาษีตัวนี้ ทำใจสบายๆ

     ส่วนตัวผมว่าที่ควรจะโวยวายจริงๆ คือวิธีการประเมินราคาอย่างเท่าเทียม คือบ้านแต่ละที่ ราคาประเมินเป็นธรรมจริงๆ ไหม สมมติมีบ้าน 2 ที่ เป็นบ้านเหมือนกันเลย ราคาเท่ากันไหม วิธีการคิดจะคิดยังไงให้มันดูเหมาะสม และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หรือการตีประเภท มีบ้านหลังหนึ่งผมปลูกทั้งผัก ให้เช่าด้วย ปล่อยพื้นที่รกร้างให้หมาวิ่งเล่นนิดหน่อย มีบ้านอยู่ด้วย จะคิดอัตรายังไงให้ชัดเจน คือนโยบายภาษีมันไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือการเอามาใช้ ว่ามันจะเป็นแบบไหนต้องติดตามต่อไป อาจจะเป็นเพราะเรื่องนี้เลยทำให้เลื่อนไปเรื่อยๆ ตอนนี้คือ 1 มกราคม 2562

 

มีคำถามหนึ่งถามว่า ตอนนี้ยังไม่เสียภาษี แต่อยากลดหย่อนภาษี มาตรการต่างๆ ที่ออกมาหนูใช้ได้ไหมคะ?

     ใช้ได้ แต่มันไม่ประหยัดภาษี ผมชอบคนที่เขาอยากเก็บเงินนะ ล่าสุดเพื่อนถามมาว่า เงินเดือน 20,000 บาท จะซื้อ RMF เพื่อเก็บเกษียณ ไม่ได้เอาไปลดหย่อนภาษีด้วย ถามว่าเป็นอะไรไหม ถ้ามองว่าประโยชน์ในการลดภาษีมันเสียเปล่า หรือในวันนี้เรารายได้น้อย เราจำเป็นต้องใช้เงินหรือเปล่า มันอยู่ที่ภูมิคุ้มกันการเงินแต่ละคนว่าเขามีอะไร สมมติว่าอนาคตเขาต้องใช้เงินแล้วต้องขายพวกนี้ วุ่นวายมากเลยนะ เพราะคุณเก็บมาไม่นานแล้วคุณต้องไปทิ้ง แล้วไปคืนสิทธิ์ แล้วยิ่งรายได้เราน้อย เวลาโดนอะไรพวกนี้มันกระทบชีวิตเยอะ คนรวยบางทีทำผิดเขาอาจจะไม่กระทบอะไรมากก็ได้ แต่พอมีรายได้น้อยผิดปั๊บโดนปรับ โดนอะไรเพิ่มแล้วอาจจะไม่คุ้มค่า อันนี้ก็ต้องระวัง

     ถามว่าไม่ควรใช่ไหม ถ้าเก็บเงินผมว่าโอเค จะเริ่มสะสมก็แล้วแต่ ถ้าสบายใจก็ทำ มั่นใจว่าไม่ขาย ทำตามสิทธิ์ได้ก็โอเค แต่สำหรับช้อปปิ้ง เที่ยว อะไรทั้งหลายพวกนี้มันคือใช้จ่าย ถ้าไม่เสียแล้วไม่จำเป็น จ่ายไปเพื่อลดภาษีมันยิ่งไม่มีประโยชน์ ส่วนใหญ่ที่ใช้ผิดคือชอบใช้กลุ่มนี้

 

คือกลุ่มช้อปปิ้ง ท่องเที่ยว ลดหย่อนตรงนี้?

     คนที่ใช้ส่วนหนึ่ง ประมาณ 20-30% เป็นคนไม่ค่อยเสียภาษีอยู่แล้ว

 

คือไม่ได้เสียภาษีอยู่แล้วแต่ไปช้อปช่วยชาติ?

     แล้วก็ขอลดภาษี แล้วก็ไปยื่น แล้วก็ไม่เสียภาษี วนเป็นลูปแบบนี้ ปีที่แล้วทำแบบนี้ปีนี้ทำซ้ำ ไม่รู้ทำยังไง

 

ถามว่ารายได้ไม่เสียภาษีใช่ไหม เขาตอบว่าอย่าว่าแต่เสียภาษีเลย เงินยังไม่พอใช้เลย เลยถามกลับไปว่าแล้วใช้ยังไง เขาบอกว่ารูดบัตรสิครับ ดูดีๆ ว่าถ้าคุณยุ่งในตอนที่คุณไม่พร้อม บางทีมันมีภาระเพราะว่าหลายๆ กองทุน เช่น RMF มันล็อกยาวและนาน

     คือถ้าอยากเก็บจริงๆ ก็กองทุนธรรมดาก่อนก็ได้ เพราะมันไม่ต้องเสียภาษี

 

แล้วการลดหย่อนประกันสุขภาพ มีการเถียงกันว่าการซื้อประกันสุขภาพมันก็ช่วยลดภาระของภาครัฐ ทำให้ไม่ต้องใช้บัตรทอง บัตร 30 บาท ไม่ต้องใช้ประกันสังคม เรามาใช้ของตัวเอง

     ครม. เพิ่งอนุมัติ แต่หลักการลดหย่อนยังไม่ได้ออกมาเป็นแนวทางชัดเจน บอกแค่ว่าให้เบี้ยประกันสุขภาพได้ 15,000 บาท รวมกับประกันชีวิตไม่เกิน 100,000 บาท คืออยู่ในวง 100,000 บาท ไม่ได้ออกมาแยกต่างหาก

 

ถ้าคุณซื้อประกันชีวิตไม่ถึง 100,000 บาท

     อาจจะเพิ่มประกันสุขภาพเข้าไป 15,000 บาทได้ หรือว่าคนที่เคยจ่ายประกันสุขภาพมาก่อน ปีนี้จะเร่ิมให้ลดหย่อนเลยไหม หมายถึงว่าเบี้ยเก่าจะได้ใช้ปีนี้หรือเปล่า หรือว่าต้องไปซื้อเบี้ยใหม่ อันนี้ยังไม่เคลียร์ แต่ผมคิดว่าน่าจะให้หมด ไม่งั้นมันดูซับซ้อน มันน่าจะเครียดไป

 

ดูในมุมหนึ่งก็เป็นการช่วยเหลือภาครัฐ ลดภาระภาครัฐ

     ก็ลองดูว่าเขาจะยังไงต่อ หลักๆ คือประมาณนี้ และน่าจะเริ่มใช้ของปีนี้เลย

 

แล้วประกันอุบัติเหตุด้วยไหม?

     เฉพาะสุขภาพครับ

 

ประกันโรคร้ายแรงล่ะครับ?

     ถ้าอยู่ในกลุ่มสุขภาพน่าจะได้ครับ

 

เพราะฉะนั้นลืมประกันอุบัติเหตุไป?

     ก็คือถ้าจะจ่ายเพื่อดูแลตัวเองก็จ่ายไป แต่ลดหย่อนไม่ได้

 

ถ้าอยากจะคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีที่ไม่เป็นธรรม จะไปคุยกับใครได้บ้าง?

     ทุกเย็นวันศุกร์จะมีคนๆ หนึ่งพูดบ่อยๆ…

 

ให้สายตรงเข้าไป?

     ก็คุยกับท่านเอาเอง… ไม่ใช่สิ คือมันคัดค้านไม่ได้โดยตรง แต่รัฐธรรมนูญใหม่ มาตรา 77 ต้องฟังประชาพิจารณ์ คือทุกครั้งที่มีกฎหมายออกใหม่ เขาจะมีส่งแนวทางเป็นร่างให้อ่านและให้ความเห็นไป เราก็ให้ความเห็นไป บอกว่าเราคิดเห็นยังไง เราไม่ชอบอะไรก็พิมพ์ไปทางออนไลน์ได้ อยู่ในหน้าแรกของเว็บไซต์กรมสรรพากร ตอนนี้เราทำได้แค่นี้แหละครับ เวลาเราเลือกนักการเมืองเข้าไป เขามีหน้าที่ในการออกกฎหมาย ดังนั้นเขาคือผู้แทน หน้าที่ก็ส่งให้เขาทำ เขาออกอะไรมา หน้าที่เราถ้าไม่เห็นด้วยก็โต้เถียงในรูปแบบประชาพิจารณ์

 

ในฐานะที่หนอมเป็นผู้เผยแพร่ความรู้ให้คำอธิบายด้านภาษี มีคำแนะนำอะไรในกลุ่มที่ฟัง The Money Case อาจจะเป็นกลุ่มทำงานประจำ ฟรีแลนซ์ ทำธุรกิจส่วนตัวในนามตัวเอง มีคำแนะนำอะไรบ้าง?

     แนะนำง่ายๆ ตรงๆ ว่าอยากให้คำนวณให้เป็นก่อน คือรู้วิธีการคำนวณก็ได้ แต่ไม่ต้องกดเครื่องคิดเลขให้ออกมาเป็นตัวเลขหรอก แต่รู้ว่าหลักการคิดมันเป็นยังไง แล้วเราต้องใช้อะไร พอคำนวณเป็นมันตอบได้หมดว่าเราต้องเพิ่มอะไร

     การไม่อยากเสียภาษีผมไม่ได้มองว่ามันเป็นความผิดนะครับ ผมพูดตลอดว่าคุณจะอยากเสียหรือไม่อยากเสียมันไม่ใช่เรื่องผิด มันเป็นความรู้สึก แต่กฎหมายมันสั่งให้คุณเสียคุณก็ต้องทำให้คุณโอเคที่สุดกับตัวเอง คือมีความสุขด้วย เสียภาษีในจำนวนเงินที่เราพอใจ ลดหย่อนอะไรได้ และอย่าไปลดหย่อนจนเสียสติ อย่าไปเต็มที่กับชีวิตมากจนไม่มีความสุข หมายถึง LTF RMF ประกันเต็มแม็ก ทุกอย่างหมดเลย แล้วท้ายที่สุดต้องใช้เงินเอาพวกนี้ออกมา แล้วก็กลายเป็นว่ามีความทุกข์ก็ต้องไปทำผิดเงื่อนไข คือทุกอย่างกฎหมายบอกให้ทำอะไร เราไม่ต้องพลิกแพลงมากก็ได้ คือใช้ชีวิตให้มีความสุข ภาษีเป็นเรื่องหนึ่งที่รู้แล้วรู้เลย เข้าใจทีเดียว ถ้าคำนวณเป็นมันตอบทุกอย่าง มันจะรู้ว่าตัวเองต้องวางแผนอะไร แล้วผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าถ้าคนคำนวณภาษีเป็น เรื่องเงินอย่างอื่นมันเก่งหมดเลย เพราะภาษีเป็นเรื่องยากน่าจะยากเกือบที่สุด ถ้าคุณเข้าใจเรื่องนี้เรื่องอื่นไม่ลำบาก ขอแค่ใส่ใจ

     อีกเรื่องหนึ่งที่อยากให้รู้คือตัวเองทำถูกหรือผิด สิ่งที่น่ากลัวทุกวันนี้คือ ตัวเองทำผิดอยู่แล้วเข้าใจว่าตัวเองทำถูก แล้วมันส่งผลเสียกับตัวเอง ผิดถูกนี่คือกฎหมายนะครับ เช่น บอกว่าไม่อยากเสียภาษี สุดท้ายคุณโดนสรรพากรมาประเมิน คุณจะด่าสรรพากร คุณจะด่ารัฐบาลหรืออะไรก็ได้ แต่ประเด็นคือเริ่มต้นจากที่คุณทำผิดกฎหมายอยู่ ในขณะเดียวกันถ้าคุณทำถูกกฎหมาย เวลาทำอะไรที่ไม่ดี คุณต้องยึดมั่นในความถูกต้องของคุณด้วย ไม่ใช่ว่าคุณทำถูกอยู่แล้ว แล้วเขาบอกว่าคุณผิด คุณยอมๆ ไปแล้วก็จบ มันคือการสร้างนิสัยแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็ต้องยอมเหนื่อยเพื่อพิสูจน์ว่าเราถูก

 

แล้วถ้าทำธุรกิจส่วนตัว จ้างนักบัญชีให้ดูแลได้เลยไหมจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้?

     ได้ แต่คำถามคือแล้วรู้ไหมว่าเขาเก่งจริงหรือเปล่า คือถ้าคุณไม่รู้เรื่องนี้แล้วคุณจะรู้ได้ยังไงว่าเขาเก่ง แล้วคุณจะควบคุมเขาได้ยังไง เพราะฉะนั้นหลักการเบื้องต้นของคนทำธุรกิจที่เก่งๆ เขารู้ แน่นอนเขาต้องมีข้อมูลให้ศึกษาระดับหนึ่ง ต้องตรวจเป็น ต้องเข้าใจ มีการติดตามข่าว มันจะเป็นประโยชน์กับตัวเขาอยู่แล้ว

 

เพราะฉะนั้นในมุมของคนที่ทำงานไม่ว่าจะทำงานประจำหรือทำธุรกิจส่วนตัวลองนั่งมองนิดนึงว่า ถ้าเราทำงานประจำ ฐานภาษีสูงสุดไปถึง 35% ก็แสดงว่ารายได้ของเราส่วนหนึ่งที่หามาได้ มันก็ต้องกลายเป็นภาษี 35% ถือว่าเป็นรายจ่ายที่สูง ถ้าทำกิจการส่วนตัวสูงสุด 20% เราควรใส่ใจและศึกษามัน ทำให้ถูก เรื่องภาษีในคอนเซปต์ผมเองและตรงกับหนอมคือการทำให้ถูกแต่แรก และสบายใจ เคลียร์ ไร้กังวล

     ถ้าเกิดมีคำถามเรื่องของภาษี ติดตามได้ที่ไหนครับ?

     เฟซบุ๊กแฟนเพจ TaxBugnoms

 

แล้วสรรพากรติดต่อได้ทางไหนบ้าง?

     มีเว็บไซต์กรมสรรพากร และเฟซบุ๊กแฟนเพจ พิมพ์ กรมสรรพากร ก็จะเจอเลย

 

ถามไปแล้วเขาจะตอบไหม?

     ผมว่านโยบายเขาไม่ตอบนะ เพราะเป็นการให้ความเห็น แต่ถ้าอยากได้คำตอบให้ถาม Call Center 1161

 


 

Credits
The Host
จักรพงษ์ เมษพันธุ์

 

Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising