ไขข้อสงสัยอีกชุดใหญ่จากคำถามทางบ้านที่ The Money Coach รวบรวมมา อย่าง แบล็กลิสต์มีจริงไหม? เบี้ยวหนี้แบบไหนส่งผลต่อเครดิตมากกว่ากัน? เคลียร์หนี้เสียหมดแล้ว แต่ยังกู้ไม่ผ่านต้องทำอย่างไร? ตอบทุกคำถามโดยแขกรับเชิญพิเศษที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)
สวัสดีครับ สวัสดีคุณผู้ฟังทุกท่านนะครับ กลับมาพบกับ The Money Case By The Money Coach อีกครั้งนะครับ วันนี้ต่อกันที่ตอนที่ 2 ของเครดิตบูโร ผมเชื่อว่าครั้งก่อนที่ได้ฟังกันน่าจะได้ข้อมูลซึ่งเป็นประโยชน์มาก บางเรื่องผมเองก็เพิ่งรู้และทำให้เข้าใจเรื่องของข้อมูลเครดิตมากขึ้นว่ามีประโยชน์อย่างไร คราวที่แล้วเราบอกไปแล้วว่าเครดิตดีไม่ดีดูอย่างไร ธนาคารก็คงจะเข้าไปดูข้อมูลเราแบบนั้นแหละ ใครที่บริหารจัดการการเงินตัวเองดีก็ไม่ต้องไปกังวลอะไร ทีนี้เรามีคำถามอีกเยอะจากทางบ้านที่ส่งมาทางเฟซบุ๊ก และวันนี้เรายังอยู่กับคุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด นะครับ
01.14
คำถามจากทางบ้าน
คำว่าแบล็กลิสต์ มันมีจริงไหม และคนที่ทำแบล็กลิสต์ใช่เครดิตบูโรหรือเปล่า เพราะเวลากู้จะติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโร
แบล็กลิสต์ไม่มีอยู่จริงนะครับ วิธีพิสูจน์ง่ายนิดเดียว เข้าไปที่กูเกิล ไปที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แล้วคีย์คำว่าแบล็กลิสต์ ในนั้นจะเขียนชัดเจนว่าคำนี้จริงๆ ใช้กับอาชญากรรมค้ามนุษย์ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องนี้
การเก็บข้อมูลของเครดิตบูโร เก็บข้อมูลทั้งบวกและลบ ถ้าชำระดี ชำระครบ เราเรียกว่าไม่ค้างชำระ แต่ถ้าค้างชำระ เราก็บอกว่าค้างชำระ ผมยกตัวอย่างเทียบให้เห็นชัดๆ ในประเทศไทยเราเก็บข้อมูล 36 เดือนย้อนหลัง ทั้งดีและไม่ดี ในกัมพูชาประวัติดีจะเก็บ 10 ปี ประวัติไม่ดีเก็บ 3 ปี เขาส่งเสริมให้คนมีประวัติที่ดี เก็บยาวๆ เพื่อให้คนนั้นสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ดีกว่าอีกคนหนึ่ง แบล็กลิสต์ไม่มีอยู่จริงนะครับ แต่การเก็บประวัติตามข้อเท็จจริงว่าใครได้ F ได้ C หรือ A ก็เป็นไปตามนั้น เพียงแต่ระยะเวลา ถ้าเป็นสมุดพกไม่มีใครไปลบมันได้ แต่ของเครดิตบูโร 3 ปีย้อนหลัง พอเราอยู่ที่ปีที่ 11 เราจะข้อมูลปีที่ 11 10 9 พอเราเลื่อนไปปีที่ 12 เราก็จะมี 12 11 10 ส่วน 9 ก็หายไป
เคลียร์นะครับ แบล็กลิสต์ไม่มีจริงนะครับ
เพื่อเป็นการยืนยัน ท่านไหนก็ตามตรวจรายงานข้อมูลเครดิตบูโร แล้วสามารถเอารายงานตัวนี้มาหาผมที่ออฟฟิศ แล้วชี้ให้ผมดูว่าตรงนี้เรียกว่าแบล็กลิสต์ เรายินดีจ่ายให้ 1,000,000 บาท
03.20
ข้อมูลเครดิตของคุณคือ มีข้อมูลไม่ค้างชำระ กับ ค้างชำระเท่านั้นเอง เครดิตบูโรมีหน้าที่บันทึกข้อมูลตามจริง คุณเรียนอย่างไรผลการเรียนก็ออกตามนั้น ให้เข้าใจกันด้วย แล้วทำไมข้อมูลเครดิตถึงดูเป็นความลับจังเลย ทำไมไม่สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา ทำไมต้องมาขอดู
คืออย่างนี้ครับ ประวัติของคนเราที่สำคัญในชีวิตคือ ประวัติทางการแพทย์ มันมีความเป็นส่วนตัว มีกฎหมายรองรับ เราลองนึกภาพว่าเราอยากจะเข้าไปดูอะไรของใคร มันดูได้ตลอดมันไม่ควร ในกฎหมายของเครดิตบูโรที่เขียนไว้เพื่อพิทักษ์ดูแลสิทธิ์ของเจ้าของข้อมูล ภรรยาไม่สามารถบังคับดูของสามีได้ หรือขโมยดูก็ไม่ได้ สมมติว่าภรรยาแอบดูของสามี สามีสามารถแจ้งตำรวจจับได้ อันนี้เรื่องจริง
อีกอย่างคือข้อมูลทางการเงิน มันเหมือนกับข้อมูลโทรศัพท์ เราจะมีความเป็นส่วนตัวปกป้องอยู่ ดังนั้นการเข้ามาดูข้อมูลนี้ คนในโลกนี้ที่จะดูข้อมูลเครดิตบูโรได้มีแค่ 2 คนเท่านั้นคือ ตัวเราเอง ไม่รวมคู่สมรส ตัวเราเองเราจะดูเมื่อไร เราก็ไปตามช่องทางที่เขากำหนด กับอีกคนคือคนที่เราไปขอกู้ เราต้องอนุญาตให้เขาดู เพราะว่าเขาต้องไปหยิบเงินของอีกคนมาให้เรา ลองนึกภาพตาม คนๆ นั้นเราอนุญาต เขาถึงดู คนนั้นดูได้เพราะวิเคราะห์สินเชื่อหรือออกบัตรเครดิตเท่านั้น ถ้าคนนั้นเอาไปให้คนอื่นดูปุ๊บ เขามีโทษทางอาญา ติดคุก อันนี้กฎหมายรองรับไว้ ประเด็นของความไม่สะดวกในการดูข้อมูลเครดิตบูโรวันนี้เป็นเพราะว่า เรากำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบแอนะล็อกหรือกระดาษ ไปเป็นดิจิทัลคือผ่านมือถือ เพียงแต่วันนี้กฎกติกามารยาทในการพิสูจน์ตัวตนว่า นายสุรพลที่ใช้โทรศัพท์เบอร์นี้ ติดต่อเข้ามานี้เป็นนายสุรพลจริง วันนี้เรากำลังรอสิ่งที่เรียกว่ากฎกติกามารยาทในการพิสูจน์ตัวตน ซึ่งหลักการพิสูจน์ตัวตนนายสุรพลคือ นายสุรพลแม้ไม่เห็นหน้ากัน นายสุรพลเป็นเจ้าของโทรศัพท์เครื่องนี้ ไอแพดเครื่องนี้จริง และรายการที่ทำบนเครื่องมือนี้โดยนายสุรพลจริง นี่คือเงื่อนไขตามกฎหมาย เราต้องนึกภาพตามนะครับว่า ถ้ามันหละหลวม ใครเข้ามาดูข้อมูลของเรา มันเหมือนคนๆ นี้เข้ามาดูสมุดพกเรา เราจะไม่แฮปปี้นะ เพราะฉะนั้นสิทธิ์เหล่านี้จะต้องถูกกฎหมาย รออีกนิดหนึ่งครับ ให้เราสามารถก้าวไปสู่ดิจิทัลได้ อีกนิดเดียวแล้วเดี๋ยวมันจะสำเร็จ
แล้วอย่างนี้เราเช็กทางออนไลน์ได้หรือยัง
ยังไม่ได้ เรากำลังยื่นขอเรื่องไปยังหน่วยงานที่กำกับดูแลเราว่า นาย ก. ไปติดต่อที่แบงก์ ยื่นคำขอที่แบงก์ แล้วเราสามารถส่งข้อมูลแทนที่เป็นกระดาษใส่ซองมาให้ เป็นอีเมลได้ไหม แต่พอส่งไปเสร็จไม่ได้เปิดง่ายๆ จะมีพาสเวิร์ดวิ่งผ่านมือถือไป ซึ่งต้องเป็นมือถือเขาถึงจะเห็น อีกนิดเดียวครับ
เครดิตของผมทำไมผมต้องเสียสตางค์ดู
มีลักษณะอย่างนี้ครับ เครดิตของเรา เราไม่ต้องเสียสตางค์ดูนะครับ กรณีที่ทุกๆ ต้นปี จะมีหนังสือจากสถาบันการเงินที่เรากู้ เขาจะส่งไปให้เราว่าบัญชีบ้านที่เรากู้ที่แบงก์นี้ 12 เดือนที่ผ่านมาปีที่แล้ว แบงก์ส่งข้อมูลบวกหรือลบให้กับเรา ที่เห็นว่า 1010 ปกติ อันนั้นคือสิทธิ์ตามกฎหมายที่ไม่ต้องเสียเงิน เราเป็นหนี้ 5 บัญชี เราจะได้ 5 ฉบับในเดือนมกราคม เขาจะส่งมาให้โดยอัตโนมัติ อันนั้นคือสิทธิ์ แต่ทีนี้วันที่เราอยากจะได้ข้อมูล วันนั้น วันนี้ เดือนนั้น เดือนนี้ เช่น เราจะเตรียมตัวไปขอกู้บ้านเดือนพฤศจิกายน เราก็ไปหาข้อมูลล่าสุดมาดูก่อนเพื่อเตรียมตัวเองก่อนว่า ประวัติฉันเป็นอย่างไร ซ้อมสัมภาษณ์ เราก็จะไปหาข้อมูล ตรงนั้นถึงจะเสียสตางค์ แล้วถ้าไม่อยากเสียสตางค์ อีกอันหนึ่งก็คือเข้าไปดูในเว็บไซต์เครดิตบูโรว่าเราไปจัดกิจกรรมที่ไหน อันนี้เราไม่เก็บสตางค์
08.59
เคยสมัครบัตรเครดิต (เพราะอยากได้ของแถม) ได้บัตรมาแล้วแต่ยังไม่ได้เปิดใช้ พนักงานบอกว่าบัตรจะตัดเองถ้าไม่เปิดใช้ภายใน 6 เดือน ระหว่างที่เรายังไม่เปิดใช้อย่างนี้ข้อมูลขึ้นไหม
เมื่อบัตรถูกอนุมัติ ข้อมูลจะถูกส่งมาแต่ยอดหนี้จะเป็นศูนย์ เพราะฉะนั้นเดือนที่ 1 เราไม่ได้ใช้ก็ศูนย์ เพราะฉะนั้นเดือนที่ 2 เราไม่ได้ใช้ก็ศูนย์ เพราะฉะนั้นเดือนที่ 3 เราไม่ได้ใช้ก็ศูนย์
เพราะฉะนั้นการอนุมัติบัตรเกิดแล้วก็เหมือนหนี้เกิดแล้ว
ถูกครับ บัตรอนุมัติ สัญญาเกิด เขาก็ส่งข้อมูลมา พูดง่ายๆ ว่ามีสัญญาแต่ไม่ได้สิทธิ์ตามสัญญา 2 ขั้นตอนนะครับ Approve กับ Activate คือ Approve บัตร สัญญาเกิด ข้อมูลมา เราไม่ได้ใช้บัตรเพราะเราไม่ได้ Activate ข้อมูลมันก็จะเป็นศูนย์ไปเรื่อยๆ ผ่านไป 36 เดือน ก็มีศูนย์ 36 ตัว
10.07
ระหว่างเบี้ยวหนี้บัตรเครดิตกับสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไหนมีผลต่อเครดิตมากกว่ากัน
มีผลทั้งคู่ เพราะเวลาเราไปเบี้ยวหนี้อะไรก็ตาม มันจะผิด 2 สิ่ง สัญญาไม่เป็นสัญญา เป็นหนี้ไม่ใช้หนี้ คำถามผมถามแค่ว่า ถ้าเราเป็นเจ้าของเงินฝาก และเรากำลังเป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อแบงก์ คำถามคือ แล้วถ้าเขามาบอกว่าจะเบี้ยวหนี้หรือว่าไม่จ่าย เราคิดว่าเราเสี่ยงไหม เงินฝากเรา สมมติว่าผมดูแลเงินของครอบครัว มีเพื่อนของภรรยา หรือเพื่อนของเพื่อนภรรยา คนหนึ่งยืมเงินเราแล้วบอกว่าวันที่ 15 จ่าย วันที่ 14 จ่าย อีกคนบอกว่าคืนวันที่ 18 แต่คืนวันที่ 7 เดือนถัดไป ถามว่าถ้าเราต้องให้กู้อีกครั้ง เราจะให้ใคร
แล้วถ้าบัตรเครดิตกับบ้านละครับ ถ้าในทางข้อมูลเครดิตคือเบี้ยวเหมือนกันใช่ไหมครับ
คือค้างชำระเหมือนกัน สินเชื่อคือสินเชื่อ มันไม่ใช่เป็นลักษณะทางอาญาลักวิ่งชิงปล้น ไม่ใช่การทำร้ายร่างกาย แล้วจะโทษเบากว่าฆ่าคนตาย มันไม่ใช่ แต่เขาเรียกว่ามีความเสียหายในประวัติทางการเงิน เพราะเป็นลักษณะของพฤติกรรมที่เป็นหนี้ไม่ใช้หนี้ สัญญาไม่เป็นสัญญาตรงนี้ต่างหาก ผมอยากเรียนทุกท่านว่า หลักประกันที่ดีที่สุดที่จะไปกู้เงินคือนิสัยของเรา วินัยของเราที่ทำกับหนี้อันนั้นคือหลักประกันที่ดีที่สุด ดีกว่าที่ดินหรือทุกอย่าง
12.14
หลานสาวเคยลืมผ่อนบัตรเดรดิต 2 เดือน แต่เดือนละ 500 บาทเอง แต่เลยติดข้อมูลว่ามีปัญหา ต้องแก้ไขอย่างไร
อันที่ 1 ต้องเข้าใจก่อนว่า หนี้มากหนี้น้อยมันไม่ใช่สาระสำคัญ แต่สาระสำคัญคือเราเป็นหนี้ก็ต้องใช้หนี้ กรณีเราเป็นเจ้าหนี้ นึกถึงใจเจ้าหนี้นะครับ เราบอกว่าเจ้าหนี้ให้กู้ไป 500 บาท ลูกหนี้บอกว่า 500 บาทเอง เจ้าหนี้อาจจะรู้สึกว่าตั้ง 500 บาท มันคนละมุมกัน เหมือนน้ำเหลืออยู่ครึ่งแก้ว อาจจะเป็นเหลือแค่ครึ่งแก้ว หรือเหลือตั้งครึ่งแก้ว มันมอง 2 มุม
อีกอันหนึ่งเจ้าหนี้อาจจะคิดได้ว่าสตางค์น้อยยังเบี้ยว เพราะฉะนั้นสตางค์มากยิ่งจะไม่จ่ายถูกไหมครับ แต่ฝั่งลูกหนี้อาจจะบอกว่าสตางค์แค่นี้เอง สตางค์แค่นี้ทำไมไม่จ่ายล่ะ ทีนี้วิธีทำ ถ้าเราค้างเดือนเมษายน เรารีบไปเคลียร์เดือนพฤษภาคมเพื่อหยุดประวัติไม่ดี พอเดือนพฤษภาคมเราก็จะกลายเป็นปกติ แต่เมษายนค้างชำระ พอเป็นมิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคมเป็นปกติไปเรื่อยๆ ประวัติที่ดีมันจะช่วยให้เราเห็นว่าครั้งนั้นมันเป็นเพียงครั้งหนึ่งหรือมันมีเหตุ แต่มันไม่ใช่ลักษณะพฤติกรรมที่ประจำสม่ำเสมอ หรือว่า 2 เดือนค้างที 3 เดือนค้างที ภาษาสินเชื่อเราเรียกว่าการผ่อนตะกุกตะกัก คือมันไม่ราบรื่น
14.14
เพื่อนคนหนึ่งเป็นหนี้บัตรเครดิตมาหลายปีแล้ว พอไปตรวจข้อมูลกับเครดิตบูโรก็ไม่พบรายการหนี้เดิมที่มีแล้ว เกิน 3 ปีไปแล้ว แบบนี้เวลาไปขอกู้ต่อจากนี้ ทางธนาคารจะเห็นหนี้ที่มีในอดีตอีกไหมครับ
ถ้าไปกู้ธนาคารที่เราเคยกู้อยู่ ที่เราบอกว่าเราหายไป ธนาคารเดิมเขายังเก็บข้อมูลไว้อยู่ ผมอนุมานว่าท่านผู้ถามเป็นหนี้ไม่ดี ผมเรียนอย่างนี้ครับ หนี้ไม่ดีจะมีเกณฑ์อย่างนี้ สมมติว่าเราเป็นหนี้ NPL คือเรามีบัตรเครดิต แล้วเราไม่จ่าย 3 งวดติดกัน เรากลายเป็น NPL นับแต่วันที่เราเป็น NPL นับไป 5 ปี ธนาคารจะส่งข้อมูลให้เครดิตบูโรทุกปี ทั้งหมด 60 งวด ผมจะเก็บไว้แค่ 36 งวด ครบ 5 ปีปุ๊บ มันก็มีแต่คำว่าค้างถูกไหมครับ ผมเก็บมา 36 บรรทัด ปีที่ 5 ผมก็จะมีข้อมูลปีที่ 5 4 3 พอปีที่ 6 ผมจะเริ่มลบข้อมูล ผมจะต้องใช้เวลาอีก 36 เดือนในการลบทีละบรรทัด เพราะฉะนั้นบวกไปอีก 3 ปี ใครก็ตามเป็นหนี้ NPL แล้วไม่จ่าย ส่งประวัติเข้ามาอยู่กับเราทั้งหมด 8 ปี แล้วข้อมูลก้อนนั้นก็จะหายออกจากระบบเราไป ทีนี้หายไปปุ๊บ ถ้าเรากลับไปที่แบงก์นั้นเขายังเก็บข้อมูลอยู่ แต่ไปอีกแบงก์หนึ่งเขาจะไม่เห็น แต่ลักษณะของคนที่จะไม่จ่าย เขาจะไม่จ่ายหลายบัญชี เขาจะไม่จ่ายบัญชีเดียว ดังนั้นก็เจอรายการแบบนี้หมด ขึ้นอยู่กับว่ามันจะไปจบที่ปีไหน
เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ว่าคุณเคยทำกรรมกับแบงก์นี้ เขายังมีข้อมูลคุณอยู่
อันนั้นเป็นถังข้อมูลของแบงก์นั้น ไม่เกี่ยวกับของเครดิตบูโร
อันนี้ที่เขาสงสัยคือเครดิตบูโรไม่มีข้อมูลของผมแล้ว ทำไมผมยังกู้ไม่ได้ แสดงว่าเป็นไปได้ว่าคุณกลับไปแบงก์เก่า
หรือเราอาจจะเจอคดีที่มีคำพิพากษาแล้ว มันอยู่ในราชกิจจานุเบกษา และในนั้นมันอยู่ถาวร สามารถเช็กได้
17.36
เคยมีข้อมูลหนี้เสียในเครดิตบูโรและเพิ่งเคลียร์หมด แต่ว่ายังกู้ไม่ผ่านจะทำอย่างไร
ลักษณะอย่างนี้เขาเรียกว่าคนเคยค้าง สมมติว่าเคลียร์จบ ปิดบัญชี มันไม่มีข้อมูลใหม่เข้า ข้อมูลเก่าก็รอเวลาถูกลบทิ้งไป ถ้าเราจะไปกู้ใหม่เราก็ต้องมีประวัติที่ดี สมมติเราหยุดประวัติที่เสียไว้แล้ว ประวัติหลังจากที่เสียเขาเรียกว่าระยะดูใจ คิดง่ายๆ อย่างนี้ครับว่า เรามีลูกคนหนึ่ง เรียนดีมาตลอด แต่เทอมนี้เรียนไม่ดี เราจะทำอย่างไรกับเขา เราก็ต้องมีการภาคทัณฑ์ มีการหยุดอะไรบางอย่าง เมื่อไรก็ตามที่เขากลับเข้าแทร็กเดิมได้ เราก็ปล่อยเขาได้ อย่างนั้นเรียกว่าระยะดูใจ เพราะฉะนั้นเดือนนี้มิถุนายนค้าง กรกฎาคมเคลียร์ นับตั้งแต่กรกฎาคม คือ สิงหาคม กันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ชำระให้ครบและตรง ประวัติดีก็จะโชว์ขึ้นมา ประวัติดีนี้คือตัวที่พิสูจน์ว่า ฉันจะไม่กลับไปทำแบบนั้นอีกแล้ว ทีนี้ระยะดูใจสั้นหรือยาวมันอยู่ที่แต่ละแบงก์ แบงก์ A อาจจะ 6 เดือน แบงก์ B อาจจะ 12 เดือน แบงก์ C อาจจะ 18 เดือน ที่ผมเห็นสั้นสุดคือ 6 เดือน ยาวสุดคือ 24 เดือน เพราะฉะนั้นจะกู้ที่แบงก์ไหนถามเขานิดหนึ่งว่า กรณีที่มีประวัติค้างชำระ นับแต่วันที่เคลียร์ยอดค้างชำระนั้นเสร็จสิ้น แบงก์จะให้โอกาสเราดูใจกันอีกกี่เดือน ซึ่งบางแบงก์เขาจะบอกว่าอีก 6 เดือนค่อยมาคุยกันใหม่ เดือนที่ 7 ค่อยมาใหม่ แสดงว่าระยะดูใจคือ 6 เดือน แท็กติกมันอยู่ตรงนี้ครับ
เพราะฉะนั้นถ้าวันนี้คุณเพิ่งจบหนี้เก่าไป แน่นอนว่าถ้ากู้ตอนนี้อาจจะติดปัญหานิดหนึ่ง เพราะว่าคุณยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเอง
บางท่านก็อาจจะบอกว่า งั้นก็เอาเงินฝากไปค้ำสิ มันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเงินฝากค้ำหรือหลักประกัน หลักประกันที่ดีที่สุดอย่างที่ผมบอกคือพฤติกรรมของเรา อะไรคือความเชื่อที่คนให้กู้เขาจะเชื่อว่าเราจะไม่กลับไปเป็นแบบนั้นอีก
20.18
กรณีที่เราเป็นผู้ค้ำประกัน เราไม่ได้เป็นผู้กู้ ทีนี้รายละเอียดที่คนกู้ไปทำสัญญา มันจะไปบันทึกในข้อมูลผู้ค้ำด้วยหรือไม่
ไม่ครับ กฎหมายกำหนดเครดิตบูโรว่า ผู้ค้ำไม่ใช่ผู้ขอสินเชื่อ เครดิตบูโรเฉพาะผู้ขอสินเชื่อเท่านั้น นายสุรพลกับนาย ก. นาย ก. ค้ำประกันให้นายสุรพล ประวัติจะมีเฉพาะนายสุรพล บัญชีนี้จะไม่อยู่ที่นาย ก. แต่ธนาคารที่นายสุรพลและนาย ก.ไปทำนิติกรรมไว้ ธนาคารจะมีข้อมูลทั้ง 2 คน แต่ธนาคารอื่นและในระบบเครดิตบูโรไม่มี เพียงแต่ท่านต้องเข้าใจ แต่ถ้ากู้ร่วมต่างกันนะ กรณีกู้ร่วมหมายความว่า นายสุรพลกับนาย ก. เป็นหนี้บัญชีเดียวกัน เพราะฉะนั้นหนี้สินก้อนนี้อยู่ทั้ง 2 คน นึกภาพตามนะครับ เพราะว่าเรา 2 คนเป็นหนี้บัญชีเดียวกัน แบงก์ไม่รู้ว่าใครเป็นคนจ่าย ทีนี้มันจะมีปัญหาเกิดขึ้นมา นายสุรพลกับนาย ก. ตกลงกันเอง แบงก์ไม่รู้เรื่องว่าใครเป็นคนจ่ายหนี้ก้อนหนี้ แต่ประวัติมันโชว์ทั้ง 2 คน ถ้าคนใดคนหนึ่งผิดสัญญากันเอง บาปเคราะห์จะโดน 2 คน
21.53
เพิ่งไปตรวจข้อมูลกับเครดิตบูโรมา พบว่าบางรายการยังไม่อัพเดตเลย ปิดหนี้หมด หักบัตรทิ้งแล้ว แต่ก็ยังปรากฏข้อมูลอยู่ ปกติหลังจากเคลียร์หนี้หมดแล้ว สถาบันการเงินจะส่งรายงานเคลียร์หนี้เราให้เครดิตบูโรภายในกี่วัน
สมมติปิดบัญชีเดือนกันยายน ยอดหนี้เป็นศูนย์ ข้อมูลของเดือนกันยายนนี้ แบงก์จะปิดบัญชีวันที่ 30 กันยายน ข้อมูลจะส่งให้เครดิตบูโรไม่เกินวันที่ 20 ตุลาคม ก็คือวันที่ 20 ของเดือนถัดไป และเครดิตบูโรใช้เวลาอีกไม่เกิน 5 วันในการเอาขึ้นระบบ เพราะฉะนั้นถ้าเราไปเช็กข้อมูลวันที่ 26 เราจะเห็นเลยว่า ณ สิ้นเดือนกันยายนยอดหนี้เราเป็นศูนย์ เราไม่สามารถทำเป็นออนไลน์อัพเดตได้เพราะว่าเรื่องหนี้เป็นเรื่องเซนซิทีฟ ลองคิดภาพว่าเราไปจ่ายหนี้ปิดบัญชีวันที่ 29 หรือ 30 แบงก์จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบให้แน่ใจว่าชำระหนี้เสร็จสิ้นครบถ้วน ไม่มีหนี้ค้างต่างๆ และอัพเดตขึ้นระบบ เพราะถ้าแบงก์ส่งข้อมูลผิด เขาจะเจอบทปรับ 300,000 บาท ต่อรายการ และปรับอีก 10,000 บาททุกวันจนกว่าข้อมูลจะถูก อันนี้คือการพิทักษ์รักษาสิทธิ์ว่า ก่อนที่คุณจะเอาอะไรขึ้นระบบ คุณจะต้องตรวจแล้วตรวจอีก
ถ้าเจ้าของข้อมูลรายนี้ไม่สบายใจ มาติดต่อที่สำนักงานเครดิตบูโร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ชั้น 2 อาคาร 2 ยื่นเรื่องเลยครับ บอกว่าช่วยดูให้ผมหน่อยว่าข้อมูลไม่อัพเดต หรือมันผิดถูก ในกฎหมายบอกเลยว่าทันทีที่ท่านยื่นเรื่องให้เราอย่างเป็นทางการ มีแบบฟอร์มทุกอย่างครบ เราจะต้องดำเนินการและต้องมีหนังสือตอบให้ภายใน 30 วัน และพออัพเดตปุ๊บ ผมต้องพิมพ์รายงานฉบับที่อัพเดตที่สุด แนบไปกับหนังสือฉบับนั้นส่งคืนไปด้วย
24.49
จริงหรือไม่ว่าถ้าขอตรวจข้อมูลเครดิตบ่อยๆ จะมีผลต่อการอนุมัติสินเชื่อ
อย่างนี้ครับ การตรวจข้อมูลเครดิตบ่อยๆ ถ้าตัวเองตรวจเอง หมายถึงเราไปยื่นขอตรวจไปผ่านช่องทางต่างๆ ไม่มีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อ ถ้าเราตรวจเองนะ หรือถ้าเราเป็นลูกค้าเก่าของแบงก์แล้วแบงก์นั้นเขาตรวจเรา สมมติผมเป็นลูกค้าแบงก์ ก. แล้วแบงก์ ก. ตรวจผมทุกเดือนก็ไม่มีผล สิ่งที่จะมีผลกรณีเดียวคือ กรณีที่เราไปขอกู้หลายๆ ที่ในเวลาใกล้เคียงกัน ตัวนั้นการที่แบงก์เข้ามาตรวจข้อมูลของเราเพื่อการพิจารณาสินเชื่อใหม่ แบงก์ ก. เข้ามาตรวจ แบงก์ ข. เข้ามาตรวจ แบงก์ ค. เข้ามาตรวจ มันมองได้ 2 มิติ คือเราเป็นลูกค้าดีเขาเลยเข้ามา เพราะว่าเราไปยื่นขอไว้หลายที่ หรือ เรากำลังอยู่ในภาวะร้อนสตางค์ แล้วเราไปยื่นขอหลายที่ มันมี 2 มุม ทีนี้เขาจะดูว่า 2 มุมนี้เกิดอะไรขึ้น เขาก็ต้องไปดูข้อมูลอื่นๆ ประกอบ เช่น ทุกบัญชีที่เรามีอยู่แต่เดิมเต็มวงเงินหมด รายได้เราไม่มากแต่ทุกวงเงินเต็ม ยอดผ่อนเราเต็มเพดานแล้วแต่เราไปเหวี่ยงใบสมัครเพียบเลยทุกที่ อย่างนี้จะตีความแบบหนึ่ง แต่ถ้าวงเงินเรานิดเดียว แล้วเราไม่เคยมีบ้านแต่กำลังจะขอกู้บ้าน แต่เราไปเหวี่ยงหลายที่ รายได้เราสูง มุมที่ดูไม่ได้มีมุมเดียว มันมีหลายมุม มันต้องดูปัจจัยแวดล้อมด้วย
26.44
อีกอันหนึ่งที่ผมคิดว่ามีคนถามกันเยอะขึ้นเรื่อยๆ พอดีเขาติดต่อไปบางทีแล้วพูดกันมาว่า คะแนนติดลบ คะแนนเป็นบวก รู้สึกว่าเหมือนจะมีสถาบันการเงินหรือสินเชื่อพูดว่า ถ้าเกิดคะแนนคุณขาดไปนิดหนึ่ง เขาเลยถามกลับมาว่า เอ๊ะ เมืองนอกเรื่องข้อมูลที่เรียกว่า เครดิตสกอร์ ของเมืองไทยมาหรือยัง
ของเมืองไทยมีเครดิตสกอร์ครับ เราให้บริการที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ชั้น 2 อาคาร 2 ว่าเราเป็นแบบไหน AA คือดีสุด HH คือแย่สุด ไปตรวจได้ครับว่าเราอยู่ในชั้นไหน แต่คะแนนที่กำลังพูดนี่มันมี 2 คนที่ทำนะครับ คือเครดิตบูโรทำ กับอีกคนหนึ่งคือแบงก์เขาก็มีทำ ส่วนแบงก์เขาจะทำเพื่อจะดูว่าลูกค้านี่อยู่ในเกรดไหน มันเหมือนกับการให้เกรด เราเรียนมา 4 เทอมก็ให้เกรด เพราะฉะนั้น 3.08 ของมหาวิทยาลัยนี้ กับ 3.08 ของสอบแอดมิชชันทั่วประเทศมันไม่เท่ากัน มันคนละมุม ของเครดิตบูโรคือการบอกว่า คนๆ นี้ใช้สินเชื่อโดยรวมแล้วเกรดเท่านี้ แต่ถ้าเป็นของธนาคารเขาอาจจะบอกว่า ถ้าเป็นสินเชื่อบ้านคนแบบนี้จะเกรดแบบนี้
ผมเปรียบเทียบให้ดูนะ 3.8 ของเครดิตบูโรกับ 3.8 ของแบงก์ มันอาจจะฐานคิดหรือปัจจัยคนละแบบ เวลาเจอคะแนนต้องถามว่า คะแนนนี้ใครทำ เป็นแบงก์สกอร์หรือเครดิตบูโรสกอร์ ถ้าแบงก์สกอร์ เราก็ต้องถามต่อว่าแบงก์สกอร์คิดมาจากอะไรเป็นปัจจัยหลัก แต่ถ้าเป็นเครดิตบูโรแล้วมาหาเรา เราจะมีทีมงานอธิบายว่าที่ได้คะแนนหรือเกรดเท่านี้เป็นเพราะประมาณ 5 เรื่องหลักดังต่อไปนี้
28.58
คิดว่าน่าจะได้ประโยชน์ไปพอสมควร ผมคิดว่าคำถามที่ชอบถามกันเยอะๆ และสงสัยคิดไปเอง วันนี้คุณสุรพลตอบให้เกือบทั้งหมดแล้ว สุดท้ายอยากให้คุณสุรพลฝากถึงผู้ที่จะขอสินเชื่อ ผู้ที่จะมีสัญญาสินเชื่ออยู่แล้ว เป็นคำแนะนำก็ได้ครับในการบริหารเครดิต ซึ่งมีผลและมีประโยชน์ต่อชีวิตมากๆ
การกู้เงิน กู้ได้ การกู้เงินไม่ใช่เรื่องที่ผิด ไม่ใช่บาป แต่การกู้เงินและบริหารให้ได้ อันนั้นคือความฉลาด เราจะสามารถบริหารเงินกู้ได้อย่างชาญฉลาด จุดเริ่มต้นก็คือว่าคิดก่อนกู้ การกู้จะต้องอยู่บนพื้นฐานความจำเป็นที่ต้องกู้ ไม่ใช่แค่ความอยากที่อยากจะกู้ เพราะเมื่อไรที่เราเริ่มต้นทุกอย่างด้วยความอยาก เรากลัดกระดุมเม็ดแรกของเสื้อตัวที่สวยผิด พอกระดุมเม็ดแรกมันกลัดผิด เม็ดที่ 2 ไม่ต้องพูดถึง มันต้องผิดตามมาด้วย การที่เราจะแยกแยะว่าอยากหรือจำเป็น อันนั้นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของจุดเริ่มต้นของทุกเรื่อง ความฉลาดทางการเงินซึ่งหมายรวมถึงเรื่องเป็นหนี้ด้วย
น่าจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเชื่อว่าคนน่าจะเข้าใจบริษัท เครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร ได้อย่างถูกต้อง และสุดท้ายแล้วเครดิตทางการเงินทั้งหมดเป็นเรื่องของลูกหนี้ หรือตัวผู้กู้เอง ท่านมีหน้าที่บริหารให้ดีที่สุด และข้อมูลที่เครดิตบูโรนำเสนอนั้นเป็นข้อมูลของตัวคุณเอง คุณบริหารดีก็มีข้อมูลที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อการขอสินเชื่อครั้งต่อไป คุณบริหารไม่ดี ข้อมูลก็ต้องออกมาไม่ดี และมีผลต่อการขอสินเชื่อที่มีอุปสรรคเยอะแยะเต็มไปหมด วันนี้ต้องขอบคุณคุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ที่มาเป็นเกียรติในวันนี้
ติดตาม The Money Case By The Money Coach ในตอนต่อๆ ไป สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ
Credits
The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์
The Guest สุรพล โอภาสเสถียร
Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์
Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director กริณ ลีราภิรมย์
Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
Music Westonemusic.com