บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร คืออะไร มีความสำคัญแค่ไหน เป็นอุปสรรคสำหรับคนขอเงินกู้อย่างที่หลายคนเชื่อจริงหรือไม่ พวกเขาเก็บข้อมูลกันอย่างไร ข้อมูลเครดิตที่ดีเป็นแบบไหน ไม่มีใครจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ดีเท่าแขกรับเชิญพิเศษของเราในเอพิโสดนี้ คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
สวัสดีคุณผู้ฟังทุกท่านนะครับ กลับมาพบกับรายการ The Money Case By The Money Coach อีกครั้งหนึ่งนะครับ ในตอนนี้ต้องบอกเลยว่าเป็นตอนที่ตั้งใจมาก อยากจะสื่อสาร อยากให้คนทั่วไปที่อยากจะรู้เรื่องการเงินรับทราบ เพราะว่าผมเองตอบคำถามทางการเงินเยอะมาก และหลายครั้งคนที่ส่งคำถามกันเข้ามา โดยเฉพาะเรื่องการกู้เงิน ยืมเงิน หรือมีหนี้สินทั้งจ่ายและไม่จ่ายก็ตาม ก็จะมีหน่วยงานหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องข้อมูลทางการเงิน และหลายครั้งก็ตกเป็นจำเลย เวลาที่กู้ไม่ได้ก็จะมีคนพูดว่า กู้ไม่ได้เพราะติดเครดิตบูโร วันนี้เพื่อเอาให้เคลียร์กันไปเลย เรียนเชิญหัวเรือใหญ่ของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ท่านเป็นผู้จัดการใหญ่ของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติเลยทีเดียว วันนี้ขอต้อนรับเกสต์ของเรา คุณสุรพล โอภาสเสถียร
ต้องขออนุญาตเรียกพี่สุรพลนะครับ ตอนที่บอกว่าจะเชิญพี่สุรพลมาเป็นเกสต์ในวันนี้นั้น ผมก็โพสต์ข้อความลงไปในเฟซบุ๊กว่าใครมีคำถามอะไรที่อยากจะถามบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร ให้ส่งมาได้เลย
ถามได้เลยครับ
คนเฟซบุ๊กมาเยอะมาก เป็นร้อยเลย ต้องมานั่งไล่กรองกันพอสมควร วันนี้เราจะคุยกันว่าบริษัทข้อมูลแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร มีหน้าที่อะไร แล้วเครดิตมีความสำคัญกับคนมากแค่ไหน รวมถึงทุกข้อสงสัย
ยินดีครับ
02.05
เครดิตบูโรคืออะไร ตั้งมาเพื่ออะไร
เครดิตบูโรคือองค์กรหนึ่งที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อจะรวมข้อมูลคนเป็นหนี้ ใครไปเป็นหนี้แบงก์ ใครไปเป็นหนี้นอน-แบงก์ มันจะมีองค์กรแบบนี้เป็นศูนย์กลางในการเก็บข้อมูลคนที่เป็นหนี้ ถ้าจะเปรียบเทียบ มันคือสมุดพกของคนเป็นหนี้ เหมือนว่าเราไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยนั้นหรือที่โรงเรียนนั้นแล้วก็จะมีจะสมุดพกเพื่อรวบรวมว่าคนคนนี้มีผลการเรียนอย่างไร มันก็เหมือนกันกับว่าคนคนนี้มีหนี้ที่ไหนบ้าง แล้วปฏิบัติต่อหนี้แต่ละก้อน แต่ละที่อย่างไร องค์กรนี้ในต่างประเทศและในประเทศไทยเรียกว่าเครดิตบูโร
แสดงว่ามีอยู่ทุกประเทศ
190 กว่าประเทศในโลกนี้ครับ ประเทศกานาก็มี เอธิโอเปียก็มี เร็วๆ นี้เมียนมาก็ตั้งแล้ว เพราะฉะนั้นในประเทศที่มีการกู้ยืมกันระหว่างธุรกิจกับแบงก์ หรือธุรกิจกับนอน-แบงก์ หรือนาย ก. นาย ข. เช่าซื้อรถ ก็จะมีเครดิตบูโร
เรียกว่าเป็นลักษณะสากลอยู่แล้ว
มันเหมือนโครงสร้างพื้นฐาน เหมือนถนน สะพาน กรณีที่เป็นระบบสถาบันการเงิน เราเปรียบเทียบกันอย่างนี้ครับ
เพราะฉะนั้นในหลักการคือการเก็บรวบรวมข้อมูลของคนเป็นหนี้เพื่อจะมีผลกับการพิจารณาสินเชื่อของบุคคลนั้นๆ เพียงอย่างเดียวหรือเปล่าครับ
ลองนึกภาพต่อนะครับ เช่น นายสุรพลมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นบ้าน มีบัตรเครดิตอยู่กับธนาคารกรุงเทพ แต่ละเดือนธนาคารกรุงเทพก็ส่งข้อมูล ไทยพาณิชย์ก็ส่งข้อมูล ทีนี้ผมอยากเกิดจะไปกู้กรุงศรี วันที่ผมไปกู้กรุงศรี กรุงศรีไม่รู้จักตัวผม กรุงศรีจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผมนิสัยดีพอที่จะกู้เงินเขา เขาก็จะต้องให้ผมอนุญาตเพื่อจะเข้าไปดูข้อมูลผมที่ทำไว้กับธนาคารกรุงเทพ ไทยพาณิชย์ ว่าผมทำนิสัยอย่างไร
04.29
เพราะฉะนั้นสำหรับคนทั่วไป เขาจะมีความรู้สึกว่าหน่วยงานตรงนี้มาเก็บข้อมูลของเขาไป แต่จริงๆ แล้วโดยประโยชน์มันมี
อย่างนี้ครับ ก่อนปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ลองนึกภาพนะครับ มีคนเอาเงินไปฝาก 100 บาท แล้วแบงก์เอาเงินก้อนนี้ไปปล่อยกู้ให้กับอีกคนหนึ่ง ปรากฏว่าเราไม่รู้จักคนกู้มากพอ 100 บาทที่เราเอาไปปล่อยกู้เสียหาย 47 บาท เราเหลือเงินกลับมาให้คนฝาก 53 บาท แล้วส่วนที่ขาดไปที่คนฝากจะต้องได้เต็ม 100 บาท เขาเอาภาษีไปเติม ก็คือหนี้ที่เราเจอ ที่เราเรียกว่าหนี้กองทุนฟื้นฟู นั่นคือความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเครดิตบูโรมีหน้าที่หนึ่งคือให้ข้อมูลกับคนปล่อยกู้เพื่อจะปกป้องเงินฝาก นี่คือหลักการพื้นฐาน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเป็นเครื่องมือของคนปล่อยกู้อย่างเดียว ลึกๆ แล้วมันคือเครื่องมือป้องกันฝั่งเงินฝาก เพราะคนที่เอาเงินมาฝาก เขาต้องการฝาก 100 บาท แล้วอยากได้คืน 100 บาท แล้วคนที่เอาเงินไปฝากหรือเอาไปปล่อยกู้ต่อก็ต้องดูแลให้เรียบร้อย แบงก์จะไปปล่อยกู้ต่อใคร แบงก์ต้องรู้จักคนนั้นอย่างเพียงพอ ตรงนั้นแหละครับ
ผมเชื่อว่าตรงนี้คนส่วนใหญ่ไม่รู้
คนส่วนใหญ่จะรู้จักเราว่าเป็นอุปสรรคหรือเป็นตัวขัดขวาง ทำให้เขาไม่ได้กู้สมใจ อันนี้เป็นสิ่งที่เครดิตบูโรที่ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ทั่วโลกเลยต้องต่อสู้กับความเชื่อนี้แหละครับ ในอินเดียก็เหมือนกัน ในกัมพูชาก็เหมือนกัน
จงทราบไว้ว่าเครดิตบูโรปกป้องเงินฝากด้วย
ให้ข้อมูลคนตัดสินใจเอาเงินฝากไปปล่อยกู้
เพราะฉะนั้นใน พ.ศ. 2540 ที่เกิดปัญหาต้องเอาภาษีมาอุดหนุน เกิดจากการปล่อยกู้ให้กับคนกู้
เรามีข้อมูลไม่ครบ เราไม่รู้ว่าคนที่มาขอกู้เรานั้นมีหนี้ที่ไหนบ้าง มีหนี้เท่าไร แล้วแต่ละบัญชีที่เขากู้ เขามีนิสัยการชำระหนี้อย่างไร ไม่กลัว ไม่มี ไม่หนี ไม่ให้หรือเปล่า เขาไม่รู้ จึงเป็นที่มาของเหตุ
แล้วเครดิตบูโรเกิดขึ้นเมื่อไร
เครดิตบูโรเกิดขึ้นเมื่อเราต้องเบิกเงินจาก IMF ประมาณรอบที่ 4 เขาบอกว่า เอาล่ะ ระบบสถาบันการเงินเราต้องเหมือนกับนานาประเทศต้องมีสิ่งนี้ ก็มีการจัดตั้งเครดิตบูโรขึ้นมา 2 บริษัทในอดีต แล้วต่อมาสองบริษัทนี้ก็รวมกิจการให้เหลือบริษัทเดียว แล้วก็มีกฎหมายออกมาเพื่อจะกำกับดูแล เนื่องจากเครดิตบูโรไปเก็บข้อมูลที่เป็นความลับของคน ดังนั้นเราก็ต้องไปดูแลว่าอย่านอกลู่นอกทาง เพราะถ้านอกลู่นอกทางจะมีโทษถึงขั้นจำคุก อย่างนี้เป็นต้น
ทำงานเสี่ยงนะครับเนี่ย
ต้องเรียนตรงๆ ว่าไม่ใช่ผมจะติดคุกติดตาราง คือตัวอยู่ในตารางอยู่แล้ว อยู่ที่กุญแจจะลั่นวันไหน (หัวเราะ)
08.06
ปัจจุบันนี้ทราบว่าเครดิตบูโรจะเก็บข้อมูลทั้งบริษัทและบุคคล ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่ฟังจะสนใจส่วนของบุคคลเป็นพิเศษ คนที่มีข้อมูลอยู่ในเครดิตบูโรนี่มีอยู่สักเท่าไร
ประมาณ 29 ล้านคนครับ เรามีประชากรไทย 70 ล้านคนโดยประมาณ เรามีคนที่อยู่ในวัยทำงาน 45 ล้านคน เรามีคนที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงิน 96 แห่ง ที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร ทั้ง 96 แห่งมีตั้งแต่แบงก์ 16 แห่ง นอน-แบงก์ เช่าซื้อรถยนต์ เช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ บริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งไทยและเทศ สถาบันการเงินทั้ง 96 ที่นี้ก็จะส่งข้อมูลมา ใน 29 ล้านคนมีบัญชีสินเชื่อทั้งหมดที่อยู่ในระบบ 95 ล้านบัญชีสินเชื่อ อย่าลืมว่าเรามีคนอยู่ 29 ล้านลูกหนี้
เฉลี่ยแล้วคนละ 2-3 บัญชี
ใช่ครับ
09.19
แล้วมีหนี้อะไรที่เข้าอยู่ในเครดิตบูโรไหม เพราะมีการขู่กันเหลือเกินว่าสหกรณ์ กยศ. อันนี้เป็นเรื่องจริงหรือเปล่าที่กำลังจะเข้าไปด้วย
เอาอันแรกก่อน หนี้บ้าน บัตร รถ สินเชื่อบุคคล กู้ซื้อมอเตอร์ไซค์ สินเชื่อเกษตร อันนี้อยู่กับเครดิตบูโรมาครบแล้ว มีหนี้อยู่ 2 ตัวที่อยู่ระหว่างพิจารณาอยู่ หนึ่งคือ กยศ. อยู่ในระหว่างการพิจารณาตัดสินใจว่าจะเข้ามาดีหรือไม่ เนื่องจากตัว กยศ. เองเขาก็มีกฎหมายใหม่ของเขา ซึ่งให้สิทธิ์นายจ้างหักและนำส่ง เขาก็จะไปพิจารณาว่าเขาแฮปปี้ไหม หรือเห็นประโยชน์ไหมที่จะเข้ามาในระบบนี้ เพราะการเข้ามาในระบบนี้มันมีภาระที่จะส่งข้อมูลให้เราด้วย
อันต่อไปคือสหกรณ์ออมทรัพย์ เฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ คือตั้งแต่ทรัพย์สินตั้งแต่ 5 พันล้านบาทขึ้นไป ทางรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนและผลักดันให้รายใหญ่ๆ เข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร ตามมติคณะรัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ก็เป็นระบบสมัครใจ คือแต่ละที่ต้องตัดสินใจว่าจะเข้ามาเป็นสมาชิกเราไหม ปัจจุบันถ้าเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ก็มีเข้ามาเป็นสมาชิกแล้ว 2 แห่ง คือสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น และสหกรณ์กรมป่าไม้ ที่เข้ามาในระบบเราแล้ว
ที่บอกว่าสเกลเกิน 5 พันล้าน
ทรัพย์สินของสหกรณ์นั้นเกิน 5 พันล้านคือสหกรณ์ขนาดใหญ่ เล่าให้ฟังอย่างนี้ครับ หนี้ครัวเรือนไทยทั้งหมด ตัวเลขคือ นาย ก. นาย ข. ไม่รวมบริษัทที่ไปกู้สถาบันการเงินทุกสิ่งอัน รวมกันเบ็ดเสร็จ 11.5 ล้านล้านบาท มี 87% อยู่ที่เครดิตบูโร ปริมาณหนี้ประมาณนี้
ช่วงหนึ่งเคยมีข่าวว่าค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ จะเข้าเครดิตบูโรด้วย
คืออย่างนี้ครับ มีแนวความคิดอยู่ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ แล้วถูกผลักดันโดยธนาคารโลกว่าคนที่เขาไม่มีเงินเดือนประจำ พูดง่ายๆ คือคนไม่มีสลิปเงินเดือน ถามว่าคนเหล่านั้น เช่น พ่อค้าขายข้าวมันไก่ หรือพ่อค้าขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ข้างสาขาแบงก์ในตลาดสด เขาไม่มีสลิปเงินเดือน แต่เขาเป็นคนที่ทำมาค้าขาย แล้วเขาคนนั้นก็มีรายได้ เอกสารที่บอกที่มาของรายได้เขาในแต่ละเดือนมันคือเงินสดที่วิ่งเข้าวิ่งออกในเก๊ะเงินของเขา แต่ร้านเขาอยู่ติดกับแบงก์เลยนะ ถ้าตัวเขาเองคิดอยากจะได้บ้านสักหลัง ทำไมเขากู้ไม่ได้ เพราะว่าหลักฐานในการแสดงที่มาของรายได้มันไม่มี ถูกไหมครับ ก็เกิดความคิดว่าถ้าอย่างนั้นคนยากจนที่อยู่ต่างจังหวัดที่เขารับจ้างรายวัน แต่เขาเป็นคนมีวินัย เขาควรจะได้เข้าถึงบริการทางการเงินไหม เราก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นไปดูซิว่าหลักฐานอื่นที่เขาแสดงวินัยทางการเงินคืออะไร เช่น การจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ในต่างประเทศ ก็เป็นการยืนยันว่าเขาเป็นคนใช้ครบ ใช้ตรง เป็นหนี้ เขาใช้หนี้ ดังนั้นข้อมูลชุดนี้มันอาจเอามาทดแทนกับสลิปเงินเดือนได้ไหม
แต่ในประเทศไทยมันมีความต่างจากต่างประเทศ หนึ่ง มิเตอร์น้ำ-ไฟ อาจจะไม่ใช่ของเจ้าตัวคนคนนั้น เช่น บ้านเช่า มิเตอร์เป็นของผู้ให้เช่าหรือเจ้าของห้องเช่า แต่คนใช้จริงๆ เป็นอีกคนหนึ่ง มันไม่ได้สะท้อนถึงความจริง สอง ข้อมูลมันไม่ได้อัพเดต เพราะมันมีโอกาสเป็นไปได้ที่มิเตอร์หนึ่งมันรุ่นอาก๋ง เกือบจะเสียแล้ว แต่คนใช้เป็นหลาน วินัยมันต้องสะท้อนที่ตัวหลาน ไม่ใช่สะท้อนตัวอาก๋งที่ไปแล้ว อย่างนี้เป็นต้น แต่มีอีกมุมคิดหนึ่งว่าคนที่เขาไม่เห็นด้วย เขาบอกว่าน้ำ-ไฟไม่น่าเกี่ยว เพราะเป็นสาธารณูปโภค เราไม่ใช้ เราก็ถูกลงโทษด้วยการตัดน้ำ-ตัดไฟแล้ว และอีกอย่างหนึ่ง ในประเทศเราอาจจะยังไม่พร้อม เรื่องนี้เรียนตรงๆ ว่าจนถึงวินาทีนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจใดๆ ทั้งสิ้นว่าจะทำไหม บางประเทศทำ เช่น มาเลเซีย แต่บางประเทศไม่ทำ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเทศนั้นพัฒนาหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับทัศนคติและมุมมองในแต่ละประเทศ บางประเทศเขามองว่าสัญญาว่าจะใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม คือไปใช้บริการแล้ว แล้วก็เอาเงินไปจ่าย อย่างนี้เรียกว่าเป็นหนี้หมด อีกประเทศหนึ่งเขาบอกเอาเฉพาะที่เป็นหนี้เงิน อย่างนี้เป็นต้น
แสดงว่าตอนที่มีข่าวกันขึ้นมา จุดมุ่งหมายคืออยากช่วยเหลือหรือให้โอกาส
บางกลุ่มครับ ว่าเอาตรงนั้นมาแทนได้ไหม ลักษณะคืออย่างนี้ เขามีข้อมูลเท่าที่มีในกระเป๋าสตางค์เขา อย่างอื่นเขาไม่มีแล้ว เราจะปล่อยกู้เขาได้ยังไง เราจะต้องมีเอกสารยืนยัน ถ้าเราช่วยคนกลุ่มนี้ได้ เขาไม่ต้องหนีไปนอกระบบ อันนี้ก็คือหลักการ
ตอนนี้ถ้าพูดกันตรงๆ ถ้าตัดเรื่องน้ำ-ไฟออกไป ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นในบ้านเรา ถ้าเกิดคนที่ปัจจุบันเขาไม่มีหนี้อะไรเลย เขาก็จะไม่มีข้อมูลในเครดิตบูโรหรือเปล่า
ถ้าไม่มีหนี้อะไรเลย ทุกอย่างใช้จ่ายเป็นเงินสด จะไม่มีประวัติในเครดิตบูโร มาตรวจที่เครดิตบูโรจะมีแต่ชื่อ นามสกุล เลขที่บัตรประชาชน แล้วก็ขึ้นว่าศูนย์บัญชี
16.50
เวลาจะไปยื่นกู้ธนาคาร กลไกที่ธนาคารย้อนกลับมาดูข้อมูลในเครดิตบูโร เขาทำอย่างไรบ้าง
มันเริ่มต้นอย่างนี้ครับ นายสุรพล คนขอกู้ อยากจะได้รถ 1 คันแบบเช่าซื้อ ผมก็ไปติดต่อไฟแนนซ์ แล้วก็ยื่นใบสมัคร เขาจะมีใบสมัครมาให้เรา เราก็กรอกใบสมัคร อายุ อาชีพ รายได้ วันเดือนปีเกิด เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่ เขียนสรตะนี่คือใบสมัคร จากนั้นเราจะเซ็นอีกใบหนึ่งเรียกว่าหนังสือให้ความยินยอม คือการยอมให้เครดิตบูโรเปิดเผยประวัติเราให้กับไฟแนนซ์รายนี้ดู เรายอมให้เขาดูเพราะเราไปขอกู้เขา เราก็เซ็น พอเราเซ็นเสร็จ เขาก็เข้ามาดูข้อมูลเรา เขาจะดูรายได้ รายได้เราพอไหม อาชีพเรามั่นคง ตำแหน่งหน้าที่เราเป็นอย่างไรบ้าง อันนั้นเราเรียกว่าดูความสามารถในการชำระหนี้ คือทั้งสลิปเงินเดือน สเตทเมนต์ อีกอย่างคือดูความตั้งใจในการชำระหนี้ คือก่อนมากู้รถที่เขา คุณเคยไปกู้ไว้ที่ไหน แล้วตอนที่คุณไปกู้ไว้ที่โน่นที่นี่ นิสัยของเราที่ไปชำระหนี้นั้นเป็นอย่างไรบ้าง ใช้ครบ ใช้ตรงไหม ติดๆ ขัดๆ หรือเปล่า ตะกุกตะกักไหม ผ่อนงวดติดงวด เลี้ยงงวด หรือว่าไม่จ่ายเลยแล้วก็ปิดบัญชี แล้วมาขอกู้ใหม่ หรือว่าจ่ายครบ จ่ายตรงตลอดแล้วก็ปิดบัญชี มันจะมีลักษณะอาการต่างๆ นานา
ทีนี้เขาจะเอาความสามารถในการชำระหนี้และความตั้งใจในการชำระหนี้มาตัดสินใจว่าจะให้หรือไม่ให้
พอดูข้อมูลแล้วธนาคารบอกว่าโอเค ความสามารถในการชำระใช้ได้ นิสัยใจคอเดิมน่าเชื่อถือเลยให้กู้ พอทำเรื่องให้กู้ ข้อมูลจากธนาคารจะถูกส่งมาบันทึกที่เครดิตบูโรเมื่อไร
เป็นคำถามที่ผมอยากตอบมาก คือเมื่อได้รับอนุมัติปุ๊บแล้วเปิดบัญชี ทันทีที่มีเลขบัญชีสินเชื่อใหม่เกิดขึ้น ซึ่งมันจะอยู่ประมาณ 1 เดือน ข้อมูลจะถูกส่งเข้าที่เครดิตบูโรในเดือนนั้นเลย ตอนที่เขาส่งข้อมูลให้เครดิตบูโร ธนาคารหรือคนให้กู้เขาจะมีหนังสือมาถึงเรา 1 ฉบับภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันอนุมัติ เขาจะบอกเราว่าคุณได้มากู้นะ แล้วแบงก์เป็นสมาชิกเครดิตบูโรตามกฎหมาย นับแต่นี้ต่อไปเราจะส่งข้อมูลของคุณให้กับเครดิตบูโรทุกเดือนนะ หนังสือนั้นเรียกว่าเป็น Notice มาบอกแล้ว และทุกเดือนข้อมูลจะเข้ามาที่เครดิตบูโร เดือนที่ 1 เดือนที่ 2 จะอยู่เหนือเดือนที่ 1 เรียงเป็นขนมชั้น เดือนที่ 2 ไม่ไปทับเดือนที่ 1 ส่วนเดือนที่ 3 อยู่เหนือเดือนที่ 2 ข้อมูลจะเรียงเป็นขนมชั้นขึ้นไปจนครบ 36 ชั้น พอครบ 36 ชั้น หรือ 3 ปี เดือนที่ 37 เข้า เดือนที่ 1 ออก เดือนที่ 38 เข้า เดือนที่ 2 ออก เดือนที่ 39 เข้าเดือนที่ 3 ออก ใหม่เข้าเก่าออก ณ จุดใดจุดหนึ่งของเวลา เวลาถ้ามองนิสัยคนคนหนึ่ง เราจะเห็นลึกที่สุดคือ 3 ปี สมมติผมกู้ไว้ 10 ปี ผมกู้ปีที่ 1 แล้วก็ผ่อนไป 10 ปี แต่ประวัติผมที่โชว์ในวันนี้จะเห็นปีที่ 10, 9, 8 ปีหลังจากนั้นจะไม่มีข้อมูล จะเห็นแค่ 3 ปี เรียกว่า 3 ปีย้อนหลัง
คือพอมีเลขสัญญากู้ปุ๊บ ภายใน 1 เดือน ข้อมูลจะต้องมาที่เครดิตบูโร ผู้กู้จะได้ Notice จากสถาบันการเงินที่เราติดต่อบอกว่าข้อมูลคุณจะต้องถูกส่งมาที่นี่ ส่วนทางของเราก็จะเรียงข้อมูลไปเรื่อยๆ
ซึ่งตรงนี้ผมอยากจะแนะนำนะครับว่าทันทีที่มีเอกสารแบบนี้มาให้เราดู เพราะเราไม่เคยไปขอกู้ที่ไหน ทำไมมันมีเอกสารนี้มา แสดงว่ามีคนฉ้อฉลเอาเอกสารเราไป ทุกอย่างที่ส่งมา ให้เราเปิดอ่านสักนิดนึง มันมีประโยชน์ทั้งสิ้น อย่าตีว่ามันเป็นขยะแล้วฉีกทิ้งทั้งหมด
22.16
พอไปขอข้อมูลมันจะเป็นรายงาน ยิ่งถ้าใครมีหนี้หลายรายการจะลายตาไปหมด เราต้องดูยังไงว่าอันนี้คือเครดิตชั้นดี อันนี้คือเครดิตชั้นไม่ดี
พอได้รายงานมาปุ๊บ ในรายงานจะมีท่อนแรกเป็นชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด สถานภาพสมรส ดูก่อนว่ามันใช่ตัวเราไหม ถูกต้องหรือเปล่า บางทีนายเป็นนางบ้าง นายเป็นนางสาวบ้าง ชื่อสะกดผิดถูก จากนั้นมาดูทีละบัญชี แต่ละบัญชีมันจะมีเขียนไว้ในนั้นเลยว่า บัญชีที่ 1 2 3 ไล่ดูทีละบัญชี บัญชีนั้นปกติหรือเปล่า มันจะมีคำว่า รหัสสถานะบัญชี ภาษาอังกฤษคือ Account Status เป็นการบอกว่าสถานะปัจจุบันอัพเดตที่สุด บัญชีนี้ปกติหรือไม่ปกติ ถ้าปกติถือว่าปัจจุบันโอเค ทีนี้ดูจากปัจจุบันโอเคปุ๊บ ให้ดูย้อนหลังทีละบรรทัดอย่างที่ผมบอก บรรทัดที่มันแสดงอยู่ที่รายงาน มันจะมีบรรทัดเรียงกันเป็นตับลงมาให้ไล่ดู บรรทัดนั้นมีเดือนอยู่ เริ่มจากเดือนปัจจุบันย้อนกลับไปในอดีต เราก็ดูย้อนไปทุกบรรทัด มี 34 บรรทัด ดูทั้ง 34 บรรทัด ทุกบรรทัดจะต้องมีคำว่าไม่ค้างชำระ
แสดงว่ามันมีโอกาสว่าข้างหน้าสรุปว่าปกติ แต่ก็มีโอกาสที่บางบรรทัดขึ้นว่าค้างชำระ
อาจจะมีเดือนใดเดือนหนึ่งในอดีตค้างชำระ ลักษณะอย่างนั้นเขาเรียกว่าคนเคยค้าง ก็คือว่าครั้งหนึ่งฉันเคยไปค้าง แต่ปัจจุบันฉันเคลียร์แล้ว มันมีเรื่องจริงเกิดขึ้นนะครับ เจ้าหนี้แบงก์ถามลูกค้า ทะเลาะกันอยู่ 2 ชั่วโมงต่อหน้าผม แบงก์ถามว่าพี่เคยค้างใช่ไหม คำตอบของฝั่งลูกค้าเขาบอกว่าปัจจุบันเคลียร์แล้ว แบงก์ก็ถามครั้งที่ 2 ว่าในอดีตพี่เคยค้าง ลูกค้าก็ตอบว่าตอนนี้เคลียร์แล้ว สองคนนี้เขาคุยกันคนละมิติเวลา ถาม ก. ตอบ ข. พอแบงก์ถามครั้งที่ 3 บอกว่าผมดูจากประวัติแล้ว ตรงนี้มีคำว่าค้างอยู่ ฝั่งลูกค้าก็จะบอกว่าแล้วจะถามทำไม เริ่มมีอารมณ์ ผมอยากเรียนให้ทราบอย่างนี้ นายสุรพลเรียนดี เกรดเฉลี่ย 3 กว่า ได้ A 20 แต่มี C โผล่มาตัวหนึ่งตอนปี 3 เทอม 3 ผมไปสมัครงานที่บริษัทใหญ่ๆ ถามสิว่าถ้าเราเป็นคนสัมภาษณ์ เราจะถามนายสุรพลถึงตัว A หรือตัว C กรรมการจะถามว่า A ท่านได้แต่ใดมา หรือตัว C ท่านได้แต่ใดมา นายสุรพลอยากตอบหรืออยากให้เห็นตัว C ไหม เพราะว่าตัว C อาจส่งผลลบ แต่เขาอยากจะถาม ตัว C นั้นคือประวัติค้างชำระหรือเคยค้างในอดีตนั่นเอง แต่คำถามคือ ใครคือคนทำให้เกิดตัว C ก็ตัวเราเอง แล้วเราไปโทษสำนักทะเบียนประมวลผลได้ไหม ก็เขาเก็บความเป็นจริงไง แต่เราต้องบอกเหตุผลเขาว่าทำไมวันนั้น เวลานั้น เดือนนั้น เราถึงค้างชำระ หมุนไม่ทัน มีอุบัติเหตุ ถูกเพื่อนยืมไปแล้วไม่เอามาคืน เหตุผลต่างๆ นานาเหล่านั้นมีไหม แต่เหตุผลที่มันไม่ใช่เหตุผลสิ ที่มันนำพามาซึ่งความไม่น่าเชื่อถือของเรา เช่น เราไปบอกว่าลืม กลับข้างกัน สมัยมัธยมเราให้เพื่อนยืมเงิน ทุกวันนี้เราจำได้ไหมว่าเพื่อนที่ยืมเงินเราคือใคร เราเป็นเจ้าหนี้ เราจำได้หมด ทำไมเราเป็นลูกหนี้ถึงลืมได้ หรือเราบอกว่าก็ไม่มีใบทวงเงินมา ถ้าเราเป็นเจ้าหนี้ แล้วอีกคนมายืมเงินเรา แล้วลูกหนี้คนนั้นมาบอกเราว่าเธอไม่ส่งใบทวงเงินมาให้ ก็เลยไม่จ่าย มันใช่หรือเปล่า ใจเขาใจเรา ใจเจ้าหนี้ ใจลูกหนี้ มันมีต่างกรรมต่างวาระ อย่าไปพูดสิ่งนี้ถ้ามันไม่ใช่ความจริง
คำพูดที่พูดกันมาตลอดคือไปต่างประเทศ พอไปต่างประเทศ คนที่เป็นเจ้าหนี้ก็บอกว่าทำไมไม่ใช้วิธีหักชำระอัตโนมัติก็ได้ แล้วทุกวันนี้ไปต่างประเทศก็ใช้ Mobile Banking โอนเงินก็ได้ แล้วถ้าเกิดเขาถามว่างั้นเอาพาสปอร์ตมาดูหน่อยซิว่าคุณปั๊มตราช่วงเวลานั้นจริงหรือเปล่า ถ้าเกิดเราไม่มีให้เขาดูคือโกหก โกหกคือไม่น่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้นคำพูดของคนที่เป็นลูกหนี้ ถ้าจะให้มีความน่าเชื่อถือคือมันต้องมีเหตุผลและความเป็นจริง
พอไปขอข้อมูลจากเครดิตบูโรมา ที่บอกว่าเครดิตคือด้านหน้าปกติ ส่วนที่เป็นบทสรุปก็ข้อมูลถูกต้อง พอเข้ามาดูเป็นรายเดือนก็ไม่มีค้างชำระ อย่างนี้คือดีที่สุด
ดูรายเดือน ดูทุกบัญชีนะครับ เหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่จะเป็นปัญหาที่ผมเจอคือมีคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นผู้สูงวัย 2 ท่านเดินมาหาผมด้วยอารมณ์โกรธ บอกว่าในชั่วชีวิตที่ค้าขาย แกไม่เคยค้างชำระใครเลย แกจำได้ว่ามีอยู่ 4 บัญชี แกถามผมเลยนะว่าเป็นลูกคนจีนหรือเปล่า ผมบอกว่าผมเป็นลูกแต้จิ๋ว แกก็ถามผมว่าทำไมมาใส่ประวัติว่าแกค้าง ผมบอกว่างั้นตรวจเครดิตบูโรครับ ตรวจของตัวเองมาดู พอตรวจเครดิตบูโรตัวเองปุ๊บ มันมี 5 บัญชีครับ มันไม่ใช่ 4 บัญชี บัญชีที่ 5 ที่เกิดขึ้นคือบัญชีที่เตี่ยไปกู้รถให้ลูก เพราะลูกเรียนจบจะทำงาน และลูกไม่ไปชำระตามเวลาที่กำหนด แต่ชื่อเป็นเตี่ยกู้ เพราะฉะนั้นนิสัยลูกหรือพฤติกรรมลูกกลายมาเป็นความน่าเชื่อถือของตัวเตี่ย อาซ้อที่เป็นคนมาด้วยแกก็กระตุกแขนอาเจ็กท่านนั้นแล้วก็บอกว่า อันนี้น่าจะเป็นของไอ้ตั่วมัน ตั่วนี่คือลูกชายคนโต เราลองนึกภาพสิครับว่าคนที่เขาเชื่อมั่นในตัวเองมา แล้วเขาอุตส่าห์สร้างหนี้ให้ลูก ให้ลูกมีรถเอาไปทำงาน แล้วลูกก็บอกว่าชำระตรง ชำระตลอด แม้แต่เวลานั้นก็ยังบอกว่าชำระ จนส่งโทรศัพท์มาแล้วผมก็ถามเขาว่าชำระครบทุกงวดหรือเปล่า เขาก็บอกว่ามีบางงวดส่งช้า มันก็กลายเป็นประวัติว่าเคยค้างชำระ มันส่งผลกระทบมาเป็นเครดิตของเตี่ย
ในตอนนี้น่าจะได้เห็นข้อมูลคร่าวๆ ของเครดิตบูโรนะครับว่าเก็บข้อมูลยังไง ข้อมูลที่ดีเป็นแบบไหน อย่างไร เชื่อว่าทุกคนก็อยากจะมีข้อมูลเครดิตที่ดี แล้วก็น่าจะได้มุมมองในการที่จะเอาไปตรวจสอบทางการเงินของตัวเอง
เรื่องเราเยอะมาก น่าจะต้องมีอีกตอน ตอนต่อไปคงต้องให้พี่สุรพลตอบคำถามทางบ้านมากันยกใหญ่เลย สำหรับในตอนนี้ The Money Case By The Money Coach ก็ต้องขอลาไปก่อนแล้ว ตอนต่อไปพี่สุรพลจะอยู่กับเราต่อ และจะตอบทุกคำถาม เคลียร์ข้อข้องใจเพื่อให้คุณเข้าใจเครดิตบูโรได้ดีขึ้น สำหรับตอนนี้ สวัสดีครับ
Credits
The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์
Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์
Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director กริณ ลีราภิรมย์
Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
Music Westonemusic.com