แม้การออมในยุคนี้จะไม่เพียงพอจนเราต้องมองหาการลงทุน แต่การลงทุนแบบหน้ามืดตามัวเกินตัวเกินกำลังก็ทำให้ชีวิตพังได้
ฟังเรื่องจริงจากเคสที่ลงทุนคอนโดมิเนียมไปถึง 19 ห้อง กับอีกเคสที่ซื้อห้องหรูรวม 24 ล้าน แล้วพบกับปลายทางเดียวกันคือขายต่อไม่ได้ จนสุดท้ายต้องมาพึ่งมันนี่โค้ช
01.35
- ยุคสมัยนี้เราหลีกหนีการลงทุนไม่พ้น เพราะแค่การเก็บออมไม่พออีกต่อไปแล้ว อย่างสมัยก่อนเราแค่ทำงานหนัก และเก็บออม ผลลัพธ์จากอัตราดอกเบี้ยจะนำพาความมั่งคั่งมาหาเราเอง นั่นคือก่อน พ.ศ. 2540 ที่ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 10-12%
- ยุคนี้เงินฝากประจำเหลือ 1% ส่วนเงินเฟ้ออยู่ที่ 2-3% เพราะฉะนั้น ถ้าเราเอาเงินไปฝากไว้ เงินเราจะด้อยมูลค่าลงไป จึงเป็นที่มาให้เราแสวงหาการลงทุน
03.10
- กูรูหลายท่านบอกว่าการลงทุนเป็นเรื่องง่าย แต่มันนี่โค้ชจะสวนทางเสมอ เพราะการลงทุนไม่ง่าย ถ้าง่ายทุกคนต้องรวยกันหมดแล้ว
- สิ่งที่สำคัญของการลงทุนไม่ใช่แค่ความรู้ด้านการลงทุน แต่เป็นประสบการณ์และการบริหารความคิด
- มันนี่โค้ชเองศึกษาเรื่องการลงทุนเยอะมากก่อนเล่นหุ้นครั้งแรก สุดท้ายขาดทุนไปประมาณ 30%
05.17
- มีคนกลุ่มหนึ่งที่เร่งร้อนอยากรวยเร็ว เกิดการลงทุนแบบเกินตัว (Over Invest) ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้มองจากผลกำไรเป็นสำคัญ มองว่าเราจะได้อะไรมากกว่าความเสี่ยง แต่คนที่ลงทุนแล้วประสบความสำเร็จจะนึกถึงความเสี่ยงเป็นอันดับแรก
06.16
- ตัวอย่างแรกของการลงทุนแบบเกินตัว (Over Invest)
- ผู้หญิง อายุ 35 ปี ทำงานระดับ Senior มีรายได้เดือนละประมาณ 40,000-50,000 บาท มาปรึกษากับมันนี่โค้ชว่า ลงทุนกับคอนโดมิเนียม 19 ห้อง
- เกิดจากการเรียนสัมมนาที่หนึ่ง เจ้าของคอร์สสัมมนาพาไปดูคอนโดมิเนียม ประกอบกับเวลานั้นอสังหาริมทรัพย์ขาขึ้นมาก แค่ใบจองก็สามารถทำกำไรกันได้แล้ว
“วงจรทางเศรษฐกิจทุนนิยมไม่เคยเปลี่ยนไป เริ่มต้นตื่นตัว เฟื่องฟู ฟองสบู่ ถดถอย จม ติดลบ แล้วก็กลับวงจรเดิมไม่เคยเปลี่ยนไปเลย แต่เมื่อไรที่การลงทุนบางอย่างที่ใครเข้าไปสามารถทำกำไรได้ ตลาดแบบนี้กำลังจะใกล้ฟองสบู่”
09.00
- เจ้าของคอร์สพาไปที่ไหนผู้หญิงคนนี้ก็จองหมด เพราะ 5,000 บาท ก็จองได้แล้ว แล้วเขาก็จะนัดมาทำสัญญา ผ่อนดาวน์ โอน ตามขั้นตอน ซึ่งเราสามารถขายต่อที่ขั้นตอนไหนก็ได้ ช่วงที่เฟื่องฟูมากๆ ขายได้ตั้งแต่ใบจองด้วยซ้ำ
- ปรากฏว่าผู้หญิงคนนี้ขายใบจองไม่ได้ เลยทำสัญญาและผ่อนดาวน์ ซึ่งในระยะแรกจะผ่อนในอัตราที่ต่ำและค่อยๆ สูงขึ้นเป็นลำดับ
- พอเริ่มเดือนที่ 3 อัตราที่ต้องจ่ายกระชากสูงขึ้นมา ต้องใช้เงินเก็บที่สะสมมาตลอดชีวิตการทำงานผ่อนจ่าย และเริ่มหมด จึงมาปรึกษามันนี่โค้ช
- มันนี่โค้ชให้กลับไปหาเจ้าของคอร์สที่แนะนำ แต่โดนตอบกลับมาว่า ‘คุณต้องรู้ว่าการลงทุนมีความเสี่ยง’ ผู้หญิงคนนี้เลยต้องรับไปเต็มๆ
- มันนี่โค้ชจึงแนะนำว่า 1. ให้เจรจากับโครงการ เพื่อขอปรับอัตราผ่อนชำระให้ไปหนักช่วงท้าย 2. ขอขายคืน โครงการอาจจะปรับก็ได้ ซึ่งขายคืนได้บางส่วน 3. รีบประกาศขายให้ได้
- คนที่ลงทุนแบบเกินตัวจะเจอกับการขายทิ้งทรัพย์สินที่มี จากขายทำกำไรเหลือแค่ขอแค่ทุนคืนก็พอ สุดท้ายขาดทุนนิดหน่อยก็ต้องยอม เลยประกาศขายตัดราคาตัวเองเพื่อจะพาตัวเองออกจากวิกฤต
- นี่เป็นเคสที่อยากฝากเอาไว้ว่า การลงทุนประเภทที่มักจะใช้เงินคนอื่นได้ (Other People Money) มักจะมีต้นทุนที่สูงคือดอกเบี้ย และต้องระมัดระวังอย่าเกินตัว เพราะบางทีเราถือไว้พร้อมกันได้ทั้งหมดแต่จ่ายมันไม่ได้
15.30
- อีกเคสหนึ่งเป็นผู้หญิงที่ทำงานเป็นเลขานุการผู้บริหาร เงินเดือนประมาณ 150,000 บาท ซื้อคอนโดมิเนียมทั้งหมด 4 ห้อง ราคา 3 ล้าน, 5 ล้าน, 7 ล้าน และ 9 ล้านบาท ตามลำดับ
- ห้องราคา 3 ล้าน และ 5 ล้านบาท ประกาศขายเท่าไรก็ไม่มีใครซื้อ จนต้องโอนเป็นชื่อตัวเอง ส่วนห้อง 7 ล้านบาท กำลังจะโอนในสัปดาห์หน้า จึงมาปรึกษามันนี่โค้ช เพราะธนาคารไม่ปล่อยกู้ เนื่องจากเห็นว่าน่าจะผ่อนไม่ไหว
- มันนี่โค้ชแนะนำว่าเบื้องต้นให้ลองขายตัดราคา หรือขายคืนโครงการก่อน ปรากฏว่าขายไม่ได้ และโครงการก็ไม่รับซื้อคืน
- จึงขอยืดระยะเวลาโอนออกไปอีก 1 เดือน ช่วงจังหวะนั้นเองก็มีคนซื้อไป
- ส่วนห้อง 9 ล้านบาท ทำอย่างไรก็ไม่มีคนซื้อ แต่พอถึงจังหวะจะโอน เป็นความโชคดี เพราะโครงการไม่เสร็จตามกำหนดสัญญา เราในฐานะผู้ซื้อมีสิทธิ์ขอเลิกสัญญาได้ สุดท้ายก็รอดพ้นจากสภาวะนี้ แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนความคิดด้านการลงทุน เพราะไปออกรถใหม่และลงทุนรถใหม่คล้ายแบบเดิม
- เคสนี้จึงเป็นปมในใจมันนี่โค้ชว่า ถ้าเราหาทางแก้ปัญหาให้เขาเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้บอกวิธีคิดที่เหมาะสมถูกต้อง หรือให้เขาพยายามแก้ปัญหาเอง สุดท้ายเขาก็จะไม่รู้สึกว่าสิ่งนั้นเป็นปัญหาหรือบทเรียน
20.00
- อีกลักษณะของการลงทุนแบบเกินตัวที่มันนี่โค้ชเจอ บางคนไปศึกษาการลงทุนบางอย่างแล้วตื่นเต้น จึงเกิดการลงทุนที่ไม่ระมัดระวัง เช่น กลุ่มธุรกิจบางกลุ่มที่แนะนำสินค้าและสอนให้มีการกักตุน
- หลายคนอยากมีธุรกิจส่วนตัว พอไปเจอกลุ่มธุรกิจที่มีการเชียร์อัพกันว่าสินค้าขายได้อยู่แล้ว ซื้อไปเลย มุมหนึ่งอาจจะไม่ใช่การหลอกหลวง แต่บางทีสินค้าอาจจะไม่ใช่ของดีที่ปล่อยขายกันได้ง่ายๆ
- บางคนอาจจะเริ่มต้นเล็กๆ ลงทุนแค่ 20,000 บาท แต่พอเกิดการเชียร์อัพกันจึงเพิ่มไปที่ 200,000 บาท
22.00
- เรื่องของการลงทุนแบบเกินตัวจะเกิดขึ้นเสมอเมื่อ
- 1. มีความโลภเข้ามาเกาะกินความคิด เราอยากได้มากขึ้นเลยลงทุนหนักขึ้น เมื่อไรที่โลภและไม่เข้าใจกลไกของโลกว่าทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไปจะมีปัญหา
- 2. เวลาลงทุนมั่นใจในตัวเองมากเกินไป
“ศัตรูที่สำคัญที่สุดในการลงทุนคือตัวเราเอง เราเชื่อในตัวเองมากเกินไป เรามั่นใจในตัวเองมากเกินไป หลายครั้งอาจทำให้ผลการลงทุนผิดเพี้ยนได้”
- 3. ไม่ตระหนักในความเสี่ยง การลงทุนทุกอย่างบนโลกนี้ทั้งหุ้นอสังหาริมทรัพย์ หรือการสร้างธุรกิจ เราหลีกเลี่ยงสิ่งที่เรียกว่าความเสี่ยงไม่ได้เลย ไม่มีอะไรที่ไม่เสี่ยง เสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย คนที่ทำธุรกิจแล้วกำไรเป็นล้านในสัปดาห์เดียวได้ต้องเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีแบรนด์แข็งแกร่ง ธุรกิจเริ่มต้นจะทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ตระหนักถึงความเสี่ยงบอกได้คำเดียวว่าต้องเจ็บปวด
23.55
- เวลาลงทุนอะไรผมจะมีคาถาว่า สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราจะต้องถามตัวเองอยู่เสมอก็คือ นอกเหนือจากทำแล้วจะได้กำไรมากน้อยเท่าไรแล้ว คำถามที่ต้องถามคือ
- 1. ทุกอย่างที่เราวาดหวังไว้ มันไม่ได้เป็นไปตามคาด มันจะเกิดผลเสียอะไรกับเราบ้าง คนที่เป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จได้ต้องมองความเสี่ยง แล้วต้องถามตัวเองให้ได้ว่าเจ็บสุดได้แค่ไหน
- 2. ถ้าทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามที่เราคิด เรารับมือไหวหรือเปล่า
- ทั้งหมดคือจะกลับไปที่แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง
- คนเราถ้าอยู่ในสังคมทุนนิยมมากเกินไป เราจะรู้สึกอยากได้ อยากมี อยากเป็นให้มากที่สุด แต่พอถึงจุดหนึ่ง เราจะพบว่าการลงทุนต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า แค่ไหนที่เพียงพอกับการดูแลชีวิตของเรา
“คำว่าพอประมาณเป็นคำที่ลึกซึ้ง ทั้งเงินที่เราใส่ ทั้งชีวิตและเวลาที่เราควรจะให้กับเงิน มันไม่ควรเยอะเกินไป”
- มีเหตุผล รู้ว่าการรวยเร็วมันไม่มีอยู่จริง รู้ว่าการทำงานหนักและการศึกษาอย่างถ่องแท้จะเป็นตัวช่วย ก็ให้เวลากับการศึกษา และรู้ว่าความสามารถเท่านี้จะทำเงินได้ประมาณนี้ และสุดท้ายคือมีภูมิคุ้มกัน
- มันนี่โค้ชมองว่านักลงทุนไทยไม่ค่อยมองเรื่องความเสี่ยงกันเท่าไร เพราะฉะนั้นอยากฝากไว้สำหรับคนที่คิดอยากจะลงทุน นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมองเรื่องความเสี่ยงเป็นตัวตั้ง
- และคนที่เตรียมพร้อมรับมือกับเรื่องร้ายๆ ชีวิตจะเจอแต่เรื่องดีๆ
Credits
The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์
Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์
Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director กริณ ลีราภิรมย์
Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
Photographer อธิษฐาน กาญจนพงศ์
Music Westonemusic.com