วันนี้ (3 พฤษภาคม) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมลาออกว่า ได้รับทราบจากสื่อมวลชนวานนี้ (2 พฤษภาคม) และได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมาพูดคุยเน้นย้ำเรื่องงานว่าอย่างไรงานก็ต้องเดิน แต่ไม่ได้พูดคุยกับอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมโดยตรง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
เมื่อถามว่า เขาใช้เหตุผลว่าถูกกดดันการทำงาน นายกฯ ย้อนถามว่า ตนไม่แน่ใจว่าการกดดันคืออะไร แต่หากเป็นเรื่องของการตามงาน การสั่งงาน การให้ความสำคัญกับปัญหา ถ้าถือว่าเป็นการกดดันก็คือกดดัน เพราะตนมองอีกแบบหนึ่ง ตนมองว่าเราเน้นเนื้องานเป็นหลัก
ส่วนที่มีการเชื่อมโยงไปถึงวันที่นายกฯ ลงพื้นที่จังหวัดระยองและได้ตำหนิอธิบดีกรมโรงงานฯ ตรงนั้น นายกฯ กล่าวว่า “ก็ชัดเจน ก็ตามนั้นครับ”
เมื่อถามถึงปัญหาเรื่องสารเคมีที่ขณะนี้เกิดขึ้นจำนวนมาก ใช่เวลาที่ลาออกหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับลาออกหรือไม่ลาออก แต่ตนเชื่อว่าเป็นเรื่องของเนื้องานมากกว่าที่ต้องพยายามตามถึงรากฐานของปัญหาจริง แล้วมันเชื่อมโยงกันหรือไม่กับปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายโรงงานขณะนี้ ซึ่งวานนี้ก็ได้พูดคุยกันและให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าไปช่วยดูตรงนี้ด้วย
เมื่อถามว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่าจำเป็นต้องดึงฝ่ายความมั่นคงเข้ามาด้วย เพราะหากมีการวางเพลิงเพื่อกลบหลักฐานก็จะถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง นายกฯ กล่าวว่า แน่นอน เพราะเมื่อวานนี้ก็ได้พูดคุยกับรัฐมนตรีเรื่องนี้ และการสนทนาส่วนมากก็เป็นเรื่องนี้ทั้งหมด และตนก็ได้ต่อสายถึงหน่วยงานด้านความมั่นคงแล้ว
เมื่อถามว่า จำเป็นต้องมีมาตรการอะไรที่จะทำให้ผู้ประกอบการแคร์ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นายกฯ กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปไกลถึงการไม่แคร์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะมีหลายผู้ประกอบการให้ความสำคัญ แต่ต้องดูความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน บุคคลเดียวหรือไม่
นายกฯ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวให้ความสำคัญและจริงจังต่อการแก้ปัญหาโรงงานเก็บสารเคมี ทั้งจากการลงพื้นที่ การสั่งการ และติดตามงานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ลงพื้นที่ตลอด และวานนี้รัฐมนตรีก็ขอเข้าพบตนเพื่อขอความช่วยเหลือด้านความมั่นคง ตรงนี้ตนว่าชัดเจน
มั่นใจคุณสมบัติพิชิตไม่กระทบรัฐบาล ชี้หากต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความก็ต้องทำ
นายกฯ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า ก็ต้องติดตามตามขั้นตอน แต่ก็ได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีทุกคนผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาไปแล้ว
ส่วนที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตนั้น นายกฯ กล่าวว่า ตนไม่ทราบเรื่องขั้นตอน แต่หากจำเป็นก็ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องนี้
เมื่อถามว่า จากคดีของพิชิตทำให้มีการตั้งคำถามเรื่องมาตรฐานจริยธรรมของคนที่จะเป็นรัฐมนตรี นายกฯ มองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ก็ต้องให้โอกาสกับคนที่ถูกพาดพิงด้วย ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย และมั่นใจว่าเรื่องนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อตนเองในฐานะที่เป็นผู้เสนอชื่อพิชิตเป็นรัฐมนตรี และหากจะมีการยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบตนเองในเรื่องนี้ ก็ให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
มั่นใจขับเคลื่อนนโยบายผ่านพรรคร่วมรัฐบาลได้แน่
นายกฯ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถูกคุมโดยพรรคพลังประชารัฐแบบเบ็ดเสร็จว่า ตนมองว่าอย่าไปมองว่าเป็นกระทรวงของใครหรือของพรรคการเมืองไหน และใครจะเป็นรัฐมนตรี ตนว่าเราทำงานในพรรคร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีการประสานงานพูดคุยกันตลอดระหว่างรัฐมนตรีและ สส. ในพื้นที่ มีการร้องเรียนแจ้งให้ทราบถึงปัญหา โครงการที่ควรจะทำทั้งหลาย และมั่นใจแน่นอนว่าจะขับเคลื่อนผ่านพรรคร่วมรัฐบาลได้
“เราเป็นรัฐบาลเดียวกัน เราทำเพื่อพี่น้องประชาชน อย่ามองว่าพรรคไหนเลยดีกว่า” นายกฯ กล่าว
เตรียมผุดรายการ นายกฯ พบประชาชน
นายกฯ กล่าวถึงการจัดรายการ นายกฯ พบประชาชน ซึ่งมีรายงานว่าจะมีกำหนดจัดขึ้นเดือนละ 1 ครั้ง โดยจะมีการพูดคุยกับประชาชนผ่านทางสถานีโทรทัศน์ NBT, สถานีวิทยุ อสมท, ช่องทางโซเชียลมีเดีย และสื่อออนไลน์ ซึ่งจะเริ่มออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 11 พฤษภาคมว่า ไม่แน่ใจว่าจะใช้ชื่อรายการว่าอะไร แต่จะเป็นการสื่อสารกับประชาชนอย่างสม่ำเสมอ ขณะนี้อยู่ในช่วงการเตรียมการ ส่วนจะเป็นการจัดนอกสถานที่หรือไม่นั้นจะปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่ให้เกิดความน่าเบื่อ เพราะตนเองก็ลงพื้นที่อยู่เรื่อยๆ แล้วแต่สถานการณ์ ซึ่งลักษณะรายการจะเป็นการพูดคุยแบบสบายๆ เป็นกันเอง และยังไม่ทราบว่าจะเป็นรายการสดหรือการบันทึกเทป ขอให้เจ้าหน้าที่ได้เตรียมการก่อน
ส่วนมีการส่งสัญญาณไปยังสภาเพื่อกำหนดวันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คาดว่าจะมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาและแถลงราววันที่ 4-6 มิถุนายน 2567 ซึ่งถือว่าเป็นวาระพิเศษ