วันนี้ (9 มกราคม) ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาครัฐไม่เคยปกปิดข้อมูลโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: AFS) ในประเทศ ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์โรคระบาดในสัตว์ หลังจากมีข่าวโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาดหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์เร่งตรวจสอบและแก้ปัญหา นอกจากนี้คณะรัฐมนตรียังสนับสนุนงบประมาณสำหรับการเฝ้าระวัง ป้องกัน และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ส่งเสริมการปรับปรุงยกระดับฟาร์มให้ได้มาตรฐาน GAP หรือให้ได้มาตรฐาน GFM เพื่อการป้องกันควบคุมโรค รวมทั้งมีมาตรการเยียวยาเจ้าของฟาร์ม ด้วยการจ่ายค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558
นอกจากนี้ธนกรยังชี้แจงสำหรับกระแสข่าวที่ว่ามีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทยแล้วว่า กรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ตามขั้นตอน หลักวิชาการ และมาตรฐานสากล หากพบการแพร่ระบาดจะต้องแจ้งการพบโรคไปยังองค์การสุขภาพสัตว์ระหว่างประเทศเพื่อแจ้งเตือนให้ประเทศสมาชิกทราบด้วย ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่สามารถปกปิดข้อมูลและพร้อมรายงานให้สาธารณชนทราบตามความเป็นจริง โดยกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตามบัญชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดชุดเฉพาะกิจลงตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยง สุ่มตรวจเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น เจ้าหน้าที่กองสารวัตรและกักกันจะเข้าไปสำรวจโรคและเก็บตัวอย่างจากเลือดสุกรเพื่อนำไปตรวจหาโรคโดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ พร้อมทั้งประเมินพื้นที่เสี่ยงและความเสี่ยงระดับฟาร์ม หากพบมีความเสี่ยงสูงและไม่สามารถปรับปรุงระบบการป้องกันโรคได้จะทำลายสุกรเพื่อลดความเสี่ยงและจ่ายเงินชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือเกษตรกรหากพบสัตว์ป่วยต้องแจ้งกรมปศุสัตว์ตามกฎหมาย เพื่อควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด ลดความเสียหายแก่เกษตรกร ที่ผ่านมาการเกิดโรคระบาดในสุกรไทยเป็นโรค PRRS เป็นกลุ่มอาการของโรคในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร แต่ไม่พบว่ามีการเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
สำหรับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2464 ที่ทวีปแอฟริกา และลุกลามไปทั่วโลก ปัจจุบันยังไม่สามารถพัฒนาวัคซีนในการป้องกันโรคได้ ซึ่งประเทศจีนได้มีการทำลายสุกรไม่น้อยกว่า 500 ล้านตัว ในเวียดนามสุกรเสียหายไม่น้อยกว่า 5 ล้านตัว และยังพบการระบาดในเมียนมา, สปป.ลาว และกัมพูชาด้วย
ธนกรยังกล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรียังให้มีการแก้ปัญหาโรคระบาดในสุกรอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการวิจัย พัฒนาวัคซีน ขณะนี้กรมปศุสัตว์ร่วมกันกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาวัคซีน ผลิตโปรโตไทป์ ได้ผล 60-70% กำลังเข้าสู่การทดสอบฉีดในสุกรในห้องทดลอง หากประสบความสำเร็จจะเป็นครั้งแรกของโลกที่มีวัคซีนมาใช้ควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จะช่วยปกป้องอุตสาหกรรมสุกรของไทยทั้งระบบที่มูลค่าการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรรวมทั้งผลิตภัณฑ์จากสุกรมากกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งคนไทยผู้บริโภคทุกคนด้วย
สำหรับกรณีราคาเนื้อหมูแพง รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์เปิด 667 จุดบริการทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 116 หน่วยบริการ รถโมบายล์ตระเวนตามพื้นที่ 50 คัน ตั้งจุดบริการ 50 แห่ง และสมาคมฯ 16 แห่ง ต่างจังหวัด 551 แห่ง เพื่อจำหน่ายเนื้อหมูราคาถูก เพิ่มช่องทางในการเลือกซื้อเนื้อหมู ช่วยลดภาระค่าครองชีพ เป็นมาตรการเสริมถึงสิ้นเดือนนี้