วันนี้ (27 ธันวาคม) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวระหว่างเยี่ยมห้องสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ถึงกรณีหลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแฮปปี้กับเรื่องอะไรมากที่สุดตลอด 3 เดือนที่รับตำแหน่ง
เศรษฐากล่าวว่า ยังไม่มีอะไรแฮปปี้ที่สุด ทุกอย่างยังสามารถทำให้ดีขึ้นได้อีก และการที่ได้มาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ถือว่าเป็นหน้าที่ ไม่มีสิทธิ์พูดว่าแฮปปี้หรือไม่แฮปปี้ เหนื่อยหรือไม่เหนื่อย ไม่มีสิทธิ์พูด เพราะเสนอตัวมาทำหน้าที่แล้วต้องทำหน้าที่ให้เต็มที่ และต้องมีความสุขกับงาน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถทำงานไปได้ตลอด 4 ปี เนื่องจากแบกความหวังของคนไทยไปกว่า 69 ล้านคน
“ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกภูมิใจกับคำนิยามทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่ในทางกลับกัน รู้สึกเห็นใจผู้สื่อข่าว จะพยายามปรับจูนการทำงานเพื่อให้ได้เนื้องานมากขึ้น และตัดจำนวนงานให้น้อยลง ผู้สื่อข่าวจะได้มีเวลาในการทำงานมากขึ้น ซึ่งเป้าหมายของการทำงานมากหรือน้อยมีประชาชนเป็นตัวตั้ง” เศรษฐากล่าว
โยกงานรองนายกฯ ตามความเหมาะสม
ส่วนกรณีที่มีการเซ็นคำสั่งมอบหมายงานใหม่ให้กับรองนายกรัฐมนตรีแต่ละคน ปรากฏว่า สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ไม่ได้รับผิดชอบกระทรวงยุติธรรม เกี่ยวข้องกับคดีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น เศรษฐาระบุว่า เป็นไปตามความเหมาะสม โดยมอบให้สมศักดิ์ไปดูงานของกระทรวงสาธารณสุขแทน เนื่องจากเป็น สส. ในพื้นที่น่าจะมีความเข้าใจความต้องการของประชาชนมากกว่า
เศรษฐากล่าวต่อว่า ขณะที่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้รับมอบหมายให้ดูแลกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากเป็นอดีตผู้พิพากษา และมีความรู้ความสามารถ ทุกอย่างเป็นไปตามความเหมาะสม พร้อมขอสื่อมวลชนอย่าคิดมาก แค่วางคนให้ตรงจุดเท่านั้น ซึ่งหากสังเกตจะเห็นว่าพีระพันธุ์ไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ยึดติดว่าใครเป็นพรรคไหนต้องอยู่ตรงไหนเสมอไป ว่าอยากให้หลายๆ ภาคส่วนทำงานร่วมกันได้อย่างไร พร้อมยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับที่สมศักดิ์วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกรมราชทัณฑ์อย่างแน่นอน
ปรับตัวเรื่องสื่อสาร เหตุคนคาดหวัง
เศรษฐากล่าวถึงการวัด KPI ของตนเองว่า ตนก็เซ็ตอัพของตน มีไทม์ไลน์ว่าในระยะสั้นต้องการอะไร ต้องการให้ใครมาลงทุนบ้าง น้ำต้องไม่ท่วม ซึ่งเป็นความโชคดีที่ปีนี้ในประเทศเราไม่ค่อยเกิดปัญหาน้ำท่วม มีแค่พื้นที่ภาคใต้ที่ค่อนข้างหนัก แต่ที่เห็นได้ชัดคือจังหวัดอุบลราชธานีที่ท่วมน้อยลงกว่าทุกปี
เมื่อถามว่าจากนักธุรกิจก้าวมาเป็นนักการเมือง มีการปรับตัวอย่างไรบ้าง เศรษฐากล่าวว่า “มีการปรับทุกเรื่อง และยอมรับว่าได้เตรียมใจมาแล้วว่าการทำงานในภาคราชการจะต้องติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมายและกรอบเวลา ซึ่งจะมีหลายเสาหลักเข้ามามีส่วนในการตรวจสอบ เพราะฉะนั้นมันไม่ง่าย มีองค์กรอิสระที่เราต้องให้ความเคารพที่อาจต้องมีข้อสงสัย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่นายกรัฐมนตรีต้องเตรียมพร้อมและเตรียมตัว”
ส่วนเรื่องของความคาดหวังในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เศรษฐากล่าวว่า บางครั้งปากก็พูดไปแล้ว แต่มีขั้นตอนอีกหลายขั้นตอนกว่าจะทำได้ ต้องระมัดระวังตรงนี้ เพราะเวลานายกรัฐมนตรีพูดก็มีความคาดหวัง และหากเขาคาดหวังแล้วทำไม่ได้ ก็จะเกิดความผิดหวังขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีการปรับเรื่องของความเป็นไปได้และการพูดให้สอดคล้องกัน
เมื่อถามว่า เช่นเดียวกับเรื่องของเงินดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ที่คนคาดหวังเยอะ เศรษฐากล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ครับๆ”
เมื่อถามต่อว่าเพราะไม่มีอยู่ในงบประมาณปี 2567 คนจึงกลัวว่าจะไม่ได้ เศรษฐาระบุว่า เป็นเพราะว่าต้องออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน ตอนนี้ยังรอคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาในช่วงหลังปีใหม่
นายกฯ อวยพร มีกินมีใช้สุขภาพแข็งแรง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีอยากพูด 1 ประโยค จากใจนายกรัฐมนตรีถึงหูประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่อย่างไร เศรษฐาระบุว่า ตนไม่เก่งเรื่องแบบนี้ หากพูดอะไรออกไปก็จะเป็นวาทกรรมทางการเมือง อยากให้มีกินมีใช้ อยากให้สุขภาพแข็งแรง ก็เป็นสิ่งที่ตนอยากให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ต้องมองในระยะยาวว่าอยากให้ทุกคน จนจบภารกิจของนายกเศรษฐา มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหายาเสพติด ต้องลดลงไป เช่น สิทธิและเสรีภาพในการเลือกที่จะเป็นใคร, พ.ร.บ.อากาศสะอาด, สิทธิในการรับอากาศสะอาด และมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงผ่านสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค รวมไปถึงเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งตนอยากให้ดูระยะยาว ไม่ใช่ให้ดูแค่วันที่ 1 มกราคม เพราะเป็นเพียงแค่วันหนึ่งเท่านั้น อยากจะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคนให้ดีขึ้น และจะทำอย่างไรที่จะไม่ทิ้งคนไว้ข้างหลัง เป็นสิ่งสำคัญ
คาดวันที่ 2 มกราคม 2557 เริ่มนอนทำเนียบ
เศรษฐายังเปิดเผยถึงการพักผ่อนหลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า ไม่สามารถตอบเวลาที่แน่นอนได้ แต่จะพยายามนอนในช่วงเวลาไม่เกิน 23.00 น. แต่ก็จะไหลไปถึงเวลา 23.45 น. ตลอด
ส่วนที่เคยบอกว่าจะเข้ามานอนที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น เศรษฐาระบุว่า ให้ทีมงานเตรียมดูว่าจะให้เข้ามานอนวันไหน ซึ่งไม่แน่ใจว่าวันที่ 2 มกราคม 2567 จะนอนได้หรือไม่
ค่าแรงขั้นต่ำ ทำสะเทือนใจ
ส่วนช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีเรื่องอะไรที่ทำให้บั่นทอนจิตใจหรือไม่ เศรษฐาหยุดคิดสักครู่ก่อนจะกล่าวว่า “เอาตรงๆ เลยนะ เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกี่ยวกับฝ่ายการเมือง ฝ่ายผู้สื่อข่าว แต่เรื่องที่สะเทือนใจที่สุดคือเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของไตรภาคี ผมไม่ได้เสียใจที่มีคนกล่าวหาว่านายกฯ ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งช่วงเช้าผมก็ได้พูดไปแล้ว”
เศรษฐายังได้ถามกลับผู้สื่อข่าวว่า “เอางี้ พวกคุณจบมาย้อนหลังไป 10 ปี ถ้าเงินเดือนคุณ 15,000 บาท นั่นหมายความว่าเงินเดือนคุณจะขึ้นเป็น 17,000 บาทตลอดระยะเวลากว่า 9 ปี เพราะขึ้นแค่ 12%” และถามกลับว่าทุกคนแฮปปี้ไหม
เมื่อถามว่าตอนที่นายกฯ เป็นผู้บริหารบริษัทเอกชน ทำอย่างไรกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เศรษฐากล่าวว่า ให้ไปดู Digital Footprint ว่าตนเคยโวยวายหรือไม่
เมื่อถามต่อว่า นายกฯ ได้ไปดูในสมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ว่าทำไมถึงทำได้ในการปรับขึ้นค่าแรง หรือไม่ เศรษฐากล่าวว่า สมัยก่อนกับสมัยนี้ยุคสมัยเปลี่ยนไป ซึ่งไม่แน่ใจว่า 9 ปีที่แล้วไตรภาคีมีอำนาจกับการปรับขึ้นค่าแรงหรือไม่ แต่ทั้งนี้แม้ว่าตนเองไม่สามารถทำอะไรได้ก็จะผลักดันต่อไป พร้อมระบุว่าเราอาจคุยในแต่ละสาขาอาชีพ และให้แก้ไขกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเรื่องแก้ไขกฎหมายเป็นวิธีคิดซึ่งสามารถคิดได้
ทั้งนี้ เศรษฐากล่าวย้ำด้วยว่า การขึ้นค่าแรงอยากให้นึกถึงใจเขาใจเรา เช่น เรียนจบมา 9 ปี ได้เงินเดือน 30,000 บาท มาถึงตอนนี้ได้เงินเดือนแค่ 33,700 บาท พอใจหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า แล้วมีเรื่องอะไรที่นายกฯ แฮปปี้ที่สุด หลังจากเป็นนายกฯ เศรษฐาระบุว่า “ไม่มีอะไรแฮปปี้ที่สุด การได้มาเป็นนายกฯ ถือว่าเป็นหน้าที่”