วันนี้ (7 มีนาคม) ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญกับการใช้ งบ ประมาณให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศโดยรวม เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศให้เจริญเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายบูรณาการให้มีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่า ไม่ซ้ำซ้อน มีการบูรณาการอย่างจริงจัง
โดยให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐพิจารณาปรับลดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และลดการบรรจุอัตรากำลังใหม่ ให้มีเฉพาะที่จำเป็นตามกรอบอัตรากำลัง ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.พ. กำหนดไว้ เพื่อนำงบประมาณในส่วนที่ปรับลดไปจัดสรรเป็นงบประมาณรายจ่ายลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ชัยกล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีย้ำว่าการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในด้านต่างๆ มีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งด้านภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ภาคการผลิต ภาคเกษตร การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ด้านพลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ล้วนดำเนินการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สอดคล้องกับบริบทและการพัฒนาของโลก รวมถึงให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจและฐานะทางการเงินการคลังของประเทศ ตลอดจนแนวทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
ชัยกล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 นายกรัฐมนตรีบอกว่าได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และคณะอนุกรรมาธิการด้านต่างๆ ว่ายังมีการตั้งงบประมาณซ้ำซ้อนกันในหลายหน่วยงาน เนื่องจากขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำยังคงมีสัดส่วนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายด้านการลงทุน
ดังนั้นในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ขอให้รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลแผนงานบูรณาการต่างๆ ให้ความสำคัญกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายให้มีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่า ไม่ซ้ำซ้อน และมีการบูรณาการกันอย่างจริงจัง
“สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำ นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐพิจารณาปรับลดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น งบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ งบประมาณด้านการฝึกอบรมและดูงาน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการเช่ายานพาหนะ โดยให้ใช้การส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์หรือการจัดประชุมผ่านระบบออนไลน์ให้มากขึ้น รวมทั้งการลดการบรรจุอัตรากำลังใหม่ โดยให้มีเฉพาะที่จำเป็นตามกรอบอัตรากำลัง ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.พ. กำหนดไว้เท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อจะได้นำงบประมาณในส่วนที่ปรับลดนี้ไปจัดสรรเป็นงบประมาณรายจ่ายด้านการลงทุน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ” ชัยกล่าว