วันนี้ (4 กรกฎาคม) ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มุ่งสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการผลักดันอุตสาหกรรม Soft Power ไทยให้เติบโต ยกระดับทักษะขั้นสูงแก่แรงงานไทย พร้อมต่อยอดความสำเร็จจากการจัดงาน THACCA SPLASH – Soft Power Forum 2024 เมื่อวันที่ 28-30 มิถุนายน 2567 นับเป็นก้าวสำคัญในการผลักดัน 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยสู่เวทีระดับโลก ตั้งเป้า 4 ปี สร้างตัวเลขเศรษฐกิจ 4 ล้านล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า งาน THACCA SPLASH – Soft Power Forum 2024 ซึ่งแม้จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่สามารถดึงดูดผู้ชมได้หลายช่วงวัย สร้างแรงบันดาลใจ สร้างเวทีแลกเปลี่ยน และสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพของ Soft Power ไทย โดยนับเป็นก้าวสำคัญในการผลักดัน 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยสู่เวทีระดับโลกอย่างเป็นรูปธรรมดังนี้
- สาขาหนังสือ ส่งเสริมงานแปลและงานเขียนไทยสู่ตลาดต่างประเทศ โดยมีแนวทางที่จะนำโครงการแปลหนังสือไทยไปต่างประเทศ รวมทั้งยังมีโครงการสร้างนักแปล สร้างนักวาดภาพประกอบ
- สาขาภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชัน ผลักดันการตั้งสภาภาพยนตร์ และการจัดหลักสูตรให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในสาขานี้
- สาขาอาหาร จัดทำโครงการ ‘หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย’ โดยปีนี้ตั้งเป้าพัฒนาคนในอุตสาหกรรมอาหาร 6,500 คน และจะเพิ่มเป็น 15,000 คน ในปี 2568 ฝึกอบรมกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนพืชสมุนไพร
- สาขาการออกแบบ ผลักดันนักออกแบบไทยสู่สากล จัดทำนิตยสารเผยแพร่ผลงานนักออกแบบไทย และเปิดตัวนิตยสารไปยังเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก พร้อมนำนักออกแบบไทยไปพบชุมชนนักออกแบบของแต่ละเมือง รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้จ้างนักออกแบบภายในประเทศ
- สาขาการท่องเที่ยว ส่งเสริมบูรณาการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว แหล่งวัฒนธรรม กระจายรายได้สู่จังหวัดที่น่าเที่ยวอื่นๆ รวมถึงพัฒนาหลักสูตรการเป็นเจ้าบ้านที่ดี และการบริหารจัดการภายในธุรกิจ
- สาขาดนตรี ส่งเสริมบุคลากรด้านดนตรี ให้โอกาสเด็กไทยได้เรียนรู้ พร้อมๆ กับบุคคลที่ประสบความสำเร็จ สนับสนุนศิลปินไทย เพลงไทย รวมถึงผลักดันดนตรีพื้นถิ่นสู่เวทีโลก สร้างกลไกให้คนไทยเข้าถึง เพื่อสนับสนุนเพลงไทย ควบคู่กับการส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญา
- สาขาเกม เปลี่ยนคนเล่นเกมให้เป็นรายได้ โดยจะจัดการแข่งขันเกมระดับท้องถิ่น เพิ่มสัดส่วนมูลค่าของเกมในประเทศไทย และจัดงานอีสปอร์ตให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค
- สาขาเทศกาล ถ่ายทอดเรื่องราวและประวัติศาสตร์ไทยผ่านการท่องเที่ยว รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ให้ผู้คนในท้องถิ่นสามารถเป็นผู้จัดงานเทศกาลได้ด้วยตนเองผ่านหลักสูตรเฟสติวัล อะคาเดมี พร้อมกับอบรมให้แก่ผู้ที่เป็น KOL (Key Opinion Leader) ให้สามารถเล่าเรื่องราวจากงานเทศกาลประเพณีเพื่อให้เกิดจดจำและบอกต่อไปทั่วโลก
- สาขาศิลปะ การท่องเที่ยว วัฒนธรรม ส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล Thailand Art Move แหล่งข้อมูลครบวงจรของวงการศิลปะในประเทศ พร้อมเปิดให้ชมผลงานศิลปะที่มีมูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท ในปี 2568 และฝึกอบรมพัฒนาคน การพัฒนาวงการศิลปะ
- สาขาแฟชั่น เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ความงาม และงานฝีมือ ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบและช่างฝีมือภายในประเทศ ผ่านการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพของศิลปินให้มีสถานที่พัฒนาทักษะ ร่วมกับอุตสาหกรรมสาขาอื่นๆ
- สาขากีฬา การผลักดันมวยไทยสู่เวทีโลก โดยจะสร้างบุคลากรทางมวย มีผู้ผลิตสินค้ามวยขายทั้งในประเทศและส่งออก ผลักดันให้คนเข้าถึงกีฬาและกิจกรรมที่เกี่ยวกับมวยไทย
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายตามแนวนโยบายยุทธศาสตร์ Soft Power ภายในระยะเวลา 4 ปีว่า จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 4 ล้านล้านบาท ยกระดับชีวิตของคนไทยทุกครัวเรือนให้มีรายได้ 200,000 บาทต่อปี สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชน ตลอดจนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จำนวน 20 ล้านตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (One Family One Soft Power: OFOS) เพื่อ Upskill และ Reskill ทักษะสร้างสรรค์ของตนเอง ซึ่งสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าอบรมหลักสูตรที่ต้องการเพื่อเรียนรู้และพัฒนาทักษะได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านเว็บไซต์ https://ofos.thacca.go.th
“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าไทยมีศักยภาพพร้อมจะได้รับการผลักดันสนับสนุน โดยการจัดงานครั้งนี้เป็นปฐมบทสำคัญสู่การเชื่อมโยงการดำเนินงานจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรม สร้างแรงบันดาลใจ ประสบการณ์ และความคิดสร้างสรรค์ เป็นทิศทางสำหรับอนาคตให้แก่ Soft Power ไทย ซึ่งรัฐบาลพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่าย พัฒนาทักษะและศักยภาพของคนไทย เพื่อเพิ่มโอกาส สร้างความมั่นคงให้แก่วิถีชีวิตของประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ชัยกล่าว