วันนี้ (17 มิถุนายน) ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขับเคลื่อนการดำเนินนโยบาย Aviation Hub ส่งเสริมการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญ อำนวยความสะดวก พัฒนาอุตสาหกรรมการบินของไทยสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเจรจาสิทธิการบินระหว่างไทย-อินเดียเป็นผลสำเร็จ สู่การทำข้อตกลงร่วมกันในการเพิ่มที่นั่งในเที่ยวบินระหว่างไทย-อินเดีย ในเที่ยวบินที่เดินทางไปยัง 6 เมืองสำคัญของอินเดีย โดยจะสามารถดำเนินการได้ในเดือนพฤศจิกายน 2567
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินนโยบายตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรีกำหนดวิสัยทัศน์ โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้หารือร่วมกับคณะผู้แทนจากกระทรวงการบินพลเรือนอินเดีย และสายการบินของอินเดีย ประเด็นการขยายสิทธิการบินไทย-อินเดีย โดยจากผลการเจรจาส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายจะได้รับสิทธิทำการบินโดยมีจำนวนที่นั่งเพิ่มขึ้น และจะขยายสิทธิความจุและความถี่เพิ่มขึ้นอีก ตามเงื่อนไขว่า สายการบินฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องทำการบินถึง 80% ของสิทธิที่ได้รับ พร้อมขยายการทำการบินไปยังเมืองสำคัญเพิ่มขึ้นอีกฝั่งละ 7,000 ที่นั่งต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 2,000 คนต่อวัน ไปยัง 6 เมือง ได้แก่ มุมไบ เดลี เจนไน กัลกัตตา บังคาลอร์ และไฮเดอราบาด
ทั้งนี้ ทางหน่วยงานได้ประสานงานสายการบินของไทยเพื่อจัดสรรจำนวนที่นั่งให้เหมาะสมตามที่ได้รับมา ให้สามารถทำการบินได้ในเดือนพฤศจิกายน 2567 และให้สายการบินของไทยดำเนินการด้านการขออนุญาตทำการบินเข้า และการขอเวลาการทำการบินตามเส้นทางที่ได้รับการจัดสรรจากหน่วยงานฝั่งอินเดีย
ซึ่งผลการเจรจาครั้งนี้จะทำให้สายการบินของไทยและอินเดียสามารถทำการบินระหว่างกันได้มากขึ้น อีกทั้งจะช่วยส่งเสริมการเดินทางไปยังเมืองหลักและเมืองรอง เพิ่มปริมาณการเดินทางให้สอดรับกับการขยายมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง ส่งเสริมการเดินทางและการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ
รวมทั้งผลจากการดำเนินมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Free) ให้กับนักท่องเที่ยวชาวอินเดียของไทย ระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 – 10 พฤษภาคม 2567 และได้ขยายเวลามาตรการดังกล่าวออกไปจนถึง 11 พฤศจิกายน 2567 ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวอินเดียจำนวนมากเดินทางมายังประเทศไทย
โดยตลอดทั้งปี 2566 พบว่ามีนักท่องเที่ยวชาวอินเดียมาเยือนประเทศไทยเป็นจำนวนมากกว่า 1.62 ล้านคน นอกจากนี้ ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 มกราคม – 9 มิถุนายน 2567 พบว่า ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวอินเดียมาเยือนเป็นจำนวน 903,248 คน โดยมีความเชื่อมั่นว่าข้อตกลงในการจัดสรรสิทธิการบินดังกล่าวจะสามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวอินเดียได้อย่างมีนัยสำคัญ
“นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้ไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญสำหรับนักท่องเที่ยว และที่ผ่านมานักท่องเที่ยวอินเดียเป็นอีกกลุ่มที่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย จึงเชื่อมั่นว่าการเพิ่มจำนวนที่นั่งเที่ยวบินในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างไทยและอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีความสำคัญในภูมิภาคเอเชียใต้ และเป็นโอกาสขยายความร่วมมือไปยังมิติอื่นที่ยังมีโอกาสของการเจริญเติบโต เช่น ความร่วมมือภาคประชาชน อุตสาหกรรมภาพยนตร์ เทคโนโลยี ขับเคลื่อนกลไกความร่วมมือเพื่อต่อยอดสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์จริงต่อไป” นายชัยกล่าว