วันนี้ (24 กันยายน) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยระบบอาหารโลก (Food Systems Summit 2021) ณ สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดย ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
ไทยในฐานะประเทศที่มีภาคเกษตรกรรมขนาดใหญ่ ตระหนักถึงความสำคัญของระบบอาหารต่อความอยู่รอดของทุกชีวิต โดยสถานการณ์โควิดช่วงที่ผ่านมาได้เผยให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความเปราะบางของระบบอาหาร ไทยจึงขอผลักดันให้ประชาคมโลกร่วมมือกันพลิกโฉมระบบอาหารให้ยั่งยืนและสมดุลในทุกมิติ สร้างความมั่นคงทางอาหารที่ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
หนึ่งในโครงการที่สำเร็จด้านการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารและภาวะทุพโภชนาการในพื้นที่ทุรกันดาร คือโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากนี้การพลิกโฉมระบบอาหารทั้ง 5 ด้าน ตามข้อเสนอของสหประชาชาติ สอดคล้องกับแนวทางของไทย นโยบายเกษตรและอาหาร ‘3S’ ประกอบด้วย
- ความปลอดภัยทางอาหาร (Safety)
- ความมั่นคง (Security)
- ความยั่งยืนของทรัพยากรและนิเวศการเกษตร (Sustainability)
ประเทศไทยอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อการพัฒนาอย่างสมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม ตลอดจนให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรดินและน้ำ ผ่านการร่วมมือกับสหประชาชาติจัดตั้งวันดินโลก และร่วมกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) มอบรางวัลให้แก่ประเทศ องค์กร หรือบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาหรือจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน
ในช่วงท้าย พล.อ. ประยุทธ์ ยืนยันความพร้อมที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคีเครือข่ายภายในและระหว่างประเทศ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบอาหารโลก นำไปสู่การพลิกโฉมระบบอาหารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ FoodSystems4SDGs ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สำหรับการเข้าร่วมการประชุมร่วมกับประมุขของรัฐ ผู้นำรัฐบาล และหัวหน้าคณะตัวแทนจากประเทศต่างๆ เป็นโอกาสให้ไทยได้นำเสนอแนวคิดในการเปลี่ยนผ่านระบบอาหารให้มีความยั่งยืน เป็นธรรม และดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้น ตั้งแต่การผลิตจนถึงการบริโภค และแสดงความมุ่งมั่นในการเป็นครัวของโลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ร่วมกับนานาประเทศขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2030