วันนี้ (1 เมษายน) จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ 8 กระทรวง อาทิ กระทรวงมหาดไทยเร่งดำเนินการในการจัดทำแผนและมาตรการภัยพิบัติต่างๆ โดยให้มีการแบ่งหน้าที่และขั้นตอนการทำงานอย่างชัดเจน และให้นำกลับเข้ามารายงานต่อที่ประชุม ครม. อีกครั้ง
นอกจากนี้ยังสั่งให้กระทรวงการต่างประเทศ เร่งศึกษากับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ที่มีความพร้อมที่อยู่ในแนวแผ่นดินไหว อาทิ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศนิวซีแลนด์ หรือบางประเทศในสหภาพยุโรป รวมทั้งประเทศอิสราเอล
ให้กระทรวงสาธารณสุขเขียนแผนรับมือ ทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติ อุบัติเหตุใหญ่ และอุบัติภัยสำคัญ ว่าควรจะทำแบบไหนอย่างไร และรูปแบบของโรงพยาบาลสนาม, รูปแบบการปฏิบัติตัว การรองรับการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ
นายกรัฐมนตรียังสั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เร่งสื่อสารกับนักท่องเที่ยว ว่า การท่องเที่ยวในประเทศไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่อื่นๆ ในประเทศไทยได้ปกติ
ส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ระดมนักวิชาการธรณีวิทยาเพื่อรวบรวมข้อมูลในการจัดทำข้อเสนอแนะและมาตรการที่ถูกต้อง ปลอดภัย พร้อมตรวจสอบอุปกรณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าใช้การได้มากน้อยเพียงใด เช่น ชายฝั่งอันดามัน ที่เคยเกิดเหตุสึนามิ ที่เคยมีการวางทุ่นในทะเล ให้สำรวจว่ายังใช้การได้อยู่หรือไม่ และให้นำกลับมารายงานที่ประชุมอีกครั้ง
นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรจุเรื่องการปฏิบัติตนในขณะแผ่นดินไหว และการเกิดอุบัติภัยต่างๆ เข้าไปในแบบการเรียนการศึกษาของเด็กและเยาวชนเนื่องจากประเทศไทยของเรา ไม่เคยมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ และไม่เคยเกิดเหตุในลักษณะเช่นนี้มาก่อน
ขณะเดียวกันมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมตรวจสอบการเดินทางทุกมิติ ทั้ง ทางน้ำ ทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ว่าโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีพี่น้องประชาชนใช้บริการสามารถใช้บริการได้หรือไม่ มีความแข็งแรงและสามารถรองรับภัยธรรมชาติได้มากน้อยเพียงใด เพื่อทำข้อมูลสรุปต่อที่ประชุมต่อไป
ส่วนสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สรุปมาตรการเยียวยาของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา และให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นศูนย์กลางในการกระจายข่าวสารอย่างถูกต้องและทั่วถึง
ขณะที่ช่วงเช้าที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ได้รายงานแผนการปฏิบัติต่อนายกรัฐมนตรีว่าหากเกิดเหตุ ให้มีการรายงานผ่านทางรวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) ซึ่งถือเป็นระเบียบวิธีปฏิบัติในการเผชิญเหตุในสถานการณ์ฉุกเฉินของประเทศไทย
ด้าน พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะกำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้รายงานต่อที่ประชุม ครม. ว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI ได้รับเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นคดีพิเศษเรียบร้อยแล้ว
เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รายงานว่า ผลของการตรวจสอบเหล็กพบว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐานโดยจะส่งข้อมูลให้พนักงานสอบสวน เพื่อประกอบสำนวนการสอบสวนต่อไป
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบพบว่า บริษัทดังกล่าวรับงานส่วนราชการไปทั้งหมด 11 งาน โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 งาน ส่วนงานที่แล้วเสร็จเป็นอาคารเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งจะเข้าดำเนินการตรวจสอบต่อไป