วันนี้ (18 ตุลาคม) ที่มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Coperration: BRF) ครั้งที่ 3
จากนั้นได้รับฟังสรุปผลการประชุมขยายโอกาสทางธุรกิจการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน ซึ่งในการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี ได้มีผู้แทนภาคเอกชนไทย 50 ราย จากกว่า 20 บริษัท เดินทางเยือนจีน เพื่อร่วมกิจกรรมขยายโอกาสทางธุรกิจการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน โดยเข้าร่วมงานเสวนาโต๊ะกลม Strengthening Thailand-China Business Partnership ที่กรุงปักกิ่ง รวมถึงผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจีนเข้าร่วม ตลอดจนนักธุรกิจสาขาต่างๆ
โดย ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้เข้ารับฟังรายงานผลจากนักธุรกิจไทยด้วยตนเอง เนื่องจากเห็นถึงความสำคัญของบทบาทภาคเอกชนที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ซึ่งสิ่งที่ภาคเอกชนไทยจะผลักดันต่อไปคือการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างผู้ประกอบการไทย-จีน การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวจีน การยกระดับอุตสาหกรรมของสองประเทศ การเร่งขับเคลื่อนนวัตกรรมและการพัฒนาร่วมกันของห่วงโซ่อุตสาหกรรม เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนายกรัฐมนตรีจะพิจารณาใช้ประโยชน์ในการหารือทวิภาคีกับ หลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ในวันนี้ (18 ตุลาคม) และ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ในวันพรุ่งนี้ (19 ตุลาคม)
ชัยเปิดเผยด้วยว่านักธุรกิจไทยส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้มาในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เช่น สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้แทนประธานสมาคมธนาคารไทย รวมทั้ง ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน และบริษัทรายใหญ่อื่นๆ ที่ค้าขายลงทุนกับจีน เช่น SCG, อมตะ คอร์ปอเรชัน, บ้านปู, มิตรผล, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย ฯลฯ
ชัยระบุว่า จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้หารือกับ Wang Tongzhou, Chairman บริษัท CHEC ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างในโครงสร้างสาธารณูปโภคที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยดำเนินกิจการในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และบริษัทยินดีที่จะเข้าร่วมโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยด้วย ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังได้หารือกับ Daniel Li, CEO บริษัท Geely ถึงโอกาสการลงทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและกิจการต่อเนื่องในประเทศไทย ซึ่งบริษัทมีแผนจะนำรถกระบะไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายในไทยในเดือนตุลาคม 2566 โดยนายกฯ ย้ำว่าไทยมีศักยภาพรองรับ และอยากเชิญชวนบริษัทมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ ตั้งแต่อะไหล่ เครื่องยนต์ ไปจนถึงการประกอบรถยนต์เพื่อส่งออก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย มูลค่าการค้ารวมเมื่อปี 2565 อยู่ที่ 105,404 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้จีนยังเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับหนึ่งของไทย โดยในปี 2565 มีจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 158 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 77,381 ล้านบาท