วันนี้ (26 กันยายน) มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 กันยานที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 247/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีการเข้าค้นบ้านพักของข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่และเคหสถานอื่นอีกหลายแห่งทั่วประเทศ
ความว่า ตามที่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังเข้าค้นบ้านพักข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และเคหสถานอื่นอีกหลายสิบแห่งในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เนื่องจากพบว่า มีข้อมูลเชื่อมโยงเส้นทางการเงินเกี่ยวกับเว็บไซต์การพนันออนไลน์ เมื่อวันที่ 25 กันยายนและที่จะดำเนินการต่อเนื่องไปนั้น
โดยที่กรณีดังกล่าวเป็นที่สนใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งกระทบกระเทือนต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมอย่างรุนแรง ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายขจัดผู้มีอิทธิพลและการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพนันออนไลน์ ให้หมดสิ้นไปอย่างจริงจัง สมควรที่สังคมจะมีโอกาสทราบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตลอดจนพฤติกรรมและพฤติการณ์ของบุคคลผู้เกี่ยวข้อง
ภายใต้หลักความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีการเข้าค้น บ้านพักของข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่และเคหสถานอื่นอีกหลายแห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย
- ฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการ
- ชาติพงษ์ จีระพันธุ อดีตรองอัยการสูงสุด กรรมการ
- พล.ต.อ. วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจำนวนไม่เกิน 2 คนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ข้อ 2 คณะกรรมการตามข้อ 1 มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าค้นบ้านพักข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่และเคหสถานอื่นอีกหลายแห่งทั่วประเทศเมื่อวันที่ 25 กันยายน และที่จะดำเนินการต่อเนื่องไป แล้วรายงานนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วัน
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวได้ตามที่เห็นสมควร ในกรณีที่จำเป็น นายกรัฐมนตรีอาจมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาตามวรรคหนึ่งออกไปอีก ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการรายงานความคืบหน้าต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะทุก 10 วัน
ข้อ 3 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามคำสั่งนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจเชิญหรือประสานขอความร่วมมือ หรือขอเอกสารต่างๆ จากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบ สอบถาม หรือขอความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาได้ และให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐที่ได้รับเชิญหรือขอความร่วมมือ ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการ โดยถือเป็นลำดับความสำคัญเร่งด่วนที่สุด
ข้อ 4 ให้คณะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการได้รับเบี้ยประชุมตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะทำงานเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อพิจารณา ศึกษา หรือปฏิบัติการ อย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้ โดยให้คณะทำงานได้รับค่าตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด เบี้ยประชุมตามวรรคหนึ่งและค่าตอบแทนตามวรรคสอง ให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ เศรษฐากล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้ตั้งกรอบระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าวไว้เป็นเวลา 15 วัน