ก่อนที่จะได้ทราบบทสรุปในคดีที่ 40 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดที่ 12 ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 82 ในช่วงรักษาการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอน ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันสืบเนื่องมาจากการแต่งตั้ง ‘พิชิต ชื่นบาน’ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีใน ครม.เศรษฐา 1/1 ทั้งที่รู้หรือควรรู้ว่าขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ
เนื่องจาก ‘พิชิต ชื่นบาน’ เคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของเศรษฐาและพิชิตสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
พิชิต ชื่นบาน สวมเครื่องแบบข้าราชการปกติขาว
เดินทางมาร่วมถ่ายรูปรวมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567
ภาพ: ฐานิส สุดโต
ทั้งนี้ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคดีดังกล่าว 2 วัน ‘พิชิต’ ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของพิชิต ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 ไว้พิจารณา
จากนั้นในวันที่ 23 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง รับคำร้องเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา แต่มติ 5 ต่อ 4 เสียง ไม่สั่งให้เศรษฐาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี
หนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น (30 พฤษภาคม) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้ง ‘วิษณุ เครืองาม’ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขอคำปรึกษาด้านกฎหมาย ในตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางการถูกจับตาว่า เศรษฐาดึง ‘วิษณุ’ ที่สื่อให้ฉายา ‘บิดาแห่งข้อยกเว้น’ เข้ามาช่วยดูแลด้านกฎหมายในคดีถอดถอนโดยเฉพาะ ขณะที่ ‘เศรษฐา’ เองก็ยอมรับว่าวิษณุเป็นหนึ่งในคนที่เขาต้องไปขอคำปรึกษาในคดีดังกล่าวนี้จริง
2 เดือนถัดมา มีเอกสารชี้แจงของนายกรัฐมนตรีต่อศาลรัฐธรรมนูญออกมาจำนวน 32 หน้า โดยมีใจความสำคัญว่า ตนเองไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใดในการเสนอชื่อพิชิตเป็นรัฐมนตรี แต่เป็นการกระทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและคำนึงถึงผลประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
อีกทั้งตัวเองไม่มีภูมิหลังทางการศึกษาด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ และมีประสบการณ์ทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินที่จำกัด จึงไม่อาจรู้หรือควรรู้ว่าพิชิตเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
ทำไมเศรษฐาถึงรอดจากคดีถอดถอน 100%
ไม่ว่าผลคำวินิจฉัยในช่วงบ่ายวันนี้จะเป็นอย่างไร THE STANDARD สนทนากับ รศ. ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะอาจารย์ผู้ที่สอนวิชากฎหมาย ถึงหลักการทางกฎหมายว่าจากคดีดังกล่าว เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จะต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่
รศ. ดร.มุนินทร์ กล่าวกับ THE STANDARD โดยให้ความเห็นส่วนตัวว่า คดีนี้ไม่ควรที่จะต้องขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก ด้วยเหตุผลตามหลักกฎหมายประการแรกคือ การจะทำให้นายกรัฐมนตรีหลุดพ้นจากตำแหน่งนั้น ควรเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีที่ฝ่าฝืนการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง
ที่ต้องระบุเช่นนี้เนื่องจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมาก เป็นหัวหน้าสูงสุดของฝ่ายบริหาร การที่จะเอานายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งควรเกิดขึ้นได้โดยยาก หากมีช่องทางที่ก่อเกิดการตีความได้ว่าสามารถออกจากตำแหน่งได้โดยง่าย และการที่อนุญาตให้ใครก็ตามสามารถยื่นร้องเรียนผ่านศาลรัฐธรรมนูญ สุดท้ายจะมีการใช้ช่องทางนี้เพื่อหวังผลทางการเมือง
รศ. ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แฟ้มภาพ: THE STANDARD
ทุกครั้งที่มีการยื่นคำร้องขอให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ แม้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือยกคำร้องไป แต่ทุกครั้งที่ศาลได้รับคดีในลักษณะนี้ไว้พิจารณา มันได้ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในทุกๆ ด้าน ทั้งความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้นควรจะมีเกราะกำบังให้รัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีที่ไม่ควรถูกร้องได้โดยง่าย
รศ. ดร.มุนินทร์ กล่าวอ้างตามหลักการข้อที่ 2 ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลเดียวที่มีตุลาการทั้งสิ้น 9 คน หากคำวินิจฉัยไม่ถูกต้องหรือไม่สอดคล้องกับหลักการตามกฎหมาย นายกรัฐมนตรีต้องหลุดออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที โดยไม่มีโอกาสในการยื่นอุทธรณ์เหมือนคดีอื่นๆ
“หากคิดว่านายกรัฐมนตรีทำผิดกฎหมาย ให้ไปฟ้องตามมาตรา 157 และเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีได้พิสูจน์ว่าตัวเองบริสุทธิ์หรือไม่ ผ่านกระบวนการที่มีความรอบคอบในระดับหนึ่งของศาลยุติธรรม ซึ่งมีกลไกที่จะทำเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว เพื่อให้นายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสต่อสู้ถึง 3 ศาล ที่อย่างน้อยที่สุด ให้นายกรัฐมนตรีมีเวลาในการทำงานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองตามหลักกฎหมาย และคดีในลักษณะนี้ไม่ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาได้ง่ายๆ การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญควรจะเป็นเรื่องที่สำคัญๆ กว่านี้”
รศ. ดร.มุนินทร์ ยังกล่าวอีกว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยถอดถอนนายกรัฐมนตรีพ้นออกจากตำแหน่งในครั้งนี้เป็นเรื่องของการเสนอชื่อคนที่ขาดคุณสมบัติ เป็นเรื่องเล็กน้อยมาก เนื่องจากเรื่องดังกล่าวนี้ต้องพิจารณาถึงเจตนาด้วยว่านายกรัฐมนตรีทราบหรือไม่
ดังนั้นในคดีนี้หากมองตามหลักกฎหมาย ‘เป็นเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง’ และ ‘ไม่ควรที่จะถึงศาลรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่แรก’ ซึ่งตนเองเห็นด้วยกับแนวทางการต่อสู้ของนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ หากให้พิจารณาตามหลักกฎหมาย อะไรที่จะทำให้นายกรัฐมนตรีรอดหรือไม่รอดจากคดีนี้ รศ. ดร.มุนินทร์ กล่าวว่า ต้องยึดตามหลักเกณฑ์กฎหมายและตามหลักกรอบกฎหมาย กล่าวคือ ในคดีดังกล่าวนี้จะต้องอธิบายถึงเจตนาให้ได้ว่านายกรัฐมนตรีทราบอยู่แล้วหรือไม่ว่าพิชิตขาดคุณสมบัติ
ขณะเดียวกันพิชิตผ่านการตรวจสอบตามกระบวนการภายในของฝ่ายบริหาร ผ่านการยื่นทูลเกล้าฯ รวมถึงผ่านการลงพระปรมาภิไธยมาแล้ว ซึ่งทุกอย่างสามารถเชื่อโดยสุจริตใจได้ว่าคุณสมบัติของพิชิตจะไม่มีปัญหาทางกฎหมาย โดยส่วนตัวคิดว่านายกรัฐมนตรีสามารถต่อสู้เรื่องของเจตนาได้ว่า ‘ไม่รู้’ เนื่องจากยังไม่มีการวินิจฉัยของศาลและองค์กรอิสระอย่างเป็นทางการว่า ‘พิชิตขาดคุณสมบัติ’
ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีจะไม่รอดนั้น รศ. ดร.มุนินทร์ กล่าวว่า ศาลต้องมีการตีความให้ครบองค์ประกอบ กล่าวคือ ศาลต้องอธิบายให้ได้ว่าคดีดังกล่าวนี้เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักกฎหมายอย่างไร, เจตนาของนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างไร, ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยด้วยว่าพิชิตไม่มีคุณสมบัติที่เป็นรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีทราบว่าพิชิตไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวแต่ยังยื่นทูลเกล้าฯไป
“แต่ผมคิดว่าโอกาสที่จะพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุผลนี้มันเป็นเรื่องยากมาก และหากเป็นจริงก็จะส่งผลกระทบอันร้ายแรงต่อระบบกฎหมายและระบบการเมือง ที่นับจากนี้จะไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างราบรื่นเลย”
วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
ส่วนที่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง ‘วิษณุ เครืองาม’ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเสริมความมั่นใจคดีนี้นั้น รศ. ดร.มุนินทร์ มองว่า การดึงวิษณุเข้ามาช่วยในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างความมั่นใจทางด้านกฎหมายให้มีความรอบคอบมากขึ้น รวมถึงช่วยพิจารณาเรื่องต่างๆ และปิดช่องที่จะถูกยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
แต่สุดท้ายหากศาลรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ใครก็ได้สามารถยื่นคำร้องเข้ามาได้ ดังนั้นอำนาจอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ต่อให้จะมีวิษณุหรือไม่ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าบุคคลที่ถูกร้องจะรอดไปได้ทุกครั้ง
รศ. ดร.มุนินทร์ กล่าวอีกว่า ในคดีดังกล่าวนี้เป็นการสะท้อนถึงรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจแก่ศาลธรรมนูญมากและกว้างเกินไป ทั้งที่ความเป็นจริงศาลรัฐธรรมนูญควรที่จะปฏิเสธและไม่รับคำร้องดังกล่าวนี้ด้วยซ้ำ
“ผมพูดตามหลักกฎหมาย ในคดีนี้นายกรัฐมนตรีรอด 100% เพราะคำร้องดังกล่าวนี้ไม่เข้าเกณฑ์ตามหลักกฎหมาย” รศ. ดร.มุนินทร์ กล่าวทิ้งท้าย