×

นายกฯ หารือประธานาธิบดีเปรู ดันเจรจา FTA ให้เสร็จภายในปี 68 สานต่อความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ Microsoft-Google-TikTok

โดย THE STANDARD TEAM
15.11.2024
  • LOADING...
FTA

วานนี้ (14 พฤศจิกายน) ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ซึ่งช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง ณ Lima Convention Center แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบหารือทวิภาคีกับ ดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู ในระหว่างการเข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC) ครั้งที่ 31 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้นำทั้งสองประเทศถือเป็นผู้นำหญิงเพียงสองคนในการประชุมครั้งนี้

 

ไทยและเปรูให้คำมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในทุกมิติ และยังเห็นพ้องที่จะผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-เปรู ให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 ซึ่งปัจจุบันบรรลุความตกลงแล้วถึงร้อยละ 70 และเชื่อว่าเมื่อจัดทำ FTA ให้สมบูรณ์จะยิ่งเพิ่มการค้าการลงทุนจากภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งเตรียมการเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและเปรูในปี 2568 ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีดีใจที่ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยได้รับความนิยมอย่างสูงในเปรู ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ไทย เพลงไทย หรือกีฬามวยไทย พร้อมชื่นชมความสำเร็จในการเปิดท่าเรือ Chancay ซึ่งจะส่งเสริมให้เปรูเป็นประตูการค้าในภูมิภาคลาตินอเมริกา ขณะเดียวกันโครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ที่จะทำให้ไทยเป็นประตูการค้าในภูมิภาคอาเซียนสำหรับประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาได้

 

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้เชิญชวนเปรูให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งเพิ่มความร่วมมือด้านแฟชั่น ซึ่งเปรูมีผ้าที่ทำจากขนอัลปากาและไทยมีผ้าไหม ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายพร้อมส่งเสริมความร่วมมือในกรอบพหุภาคี โดยเฉพาะในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งไทยสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของเปรูได้ 

 

หารือ US-APEC Business Coalition สานต่อความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ 

 

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้หารือกับองค์กรและบริษัทชั้นนำระดับโลก ดังนี้

 

ในการหารือผู้แทน US-APEC Business Coalition นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำในเรื่องของโอกาส ความพร้อม และความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับธุรกิจ การลงทุน และพร้อมที่จะขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจร่วมกันกับสหรัฐอเมริกา และรัฐบาลไทยพร้อมสำหรับความร่วมมือกับ APEC และ IPEF รวมทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการเสนอสิทธิพิเศษทางด้านธุรกิจ และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานสะอาด เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืน

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ชูวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมการค้าเสรีและข้อตกลง FTA พร้อมขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในกรอบ OECD และเน้นย้ำความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา โดยชี้ให้เห็นว่าการลงทุนของสหรัฐอเมริกาในไทยเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2566 มีมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 70% จากปีก่อน ซึ่งรัฐบาลไทยยังมุ่งสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย, ส่งเสริมความร่วมมือด้านเซมิคอนดักเตอร์, ส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs, การพัฒนาทักษะบุคลากรและฝีมือแรงงาน เพื่อเตรียมรับอุตสาหกรรมในอนาคต 

 

หารือ Google เสริมทักษะแรงงาน การศึกษา และภาครัฐ

 

จากนั้นนายกรัฐมนตรีหารือกับ คารัน บาเทีย รองประธานบริษัท ด้านการดูแลและกำหนดนโยบายสาธารณะและความสัมพันธ์กับรัฐบาล บริษัท Google ว่า Google เคยประกาศการลงทุนจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้าง Data Center และ Cloud Region ในไทย ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของไทย 

 

ขณะที่บาเทียยืนยันว่าพร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลในด้านการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีสำหรับการศึกษาและแรงงานไทย รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการทำงานของภาครัฐ และเห็นพ้องถึงการขยายความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัล, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์และ AI, การเสริมทักษะด้านดิจิทัล AI ให้กับคนไทย ต่อยอดจากบันทึกความเข้าใจที่ Google ได้ลงนามกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเมื่อปี 2566 โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว เพราะเรื่องนี้กระทบกับพี่น้องประชาชนคนไทยจำนวนมาก 

 

ขอ TikTok หนุน MSMEs นำเสนอสินค้าบนแพลตฟอร์ม  

 

ต่อมานายกรัฐมนตรีหารือกับ โจวโซ่วจือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท TikTok พร้อมกล่าวถึงอิทธิพลและความนิยมของ TikTok ในประเทศไทย ซึ่งมีผู้ใช้ชาวไทยเกือบ 50 ล้านบัญชี และขอบคุณที่ TikTok ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการชาวไทย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (MSMEs) ผ่านทางอีคอมเมิร์ซและการสร้างดิจิทัลคอนเทนต์ 

 

พร้อมเชิญชวน TikTok ร่วมมือกับรัฐบาลในการสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นของไทย เพื่อนำเสนอสินค้าไทยผ่านแพลตฟอร์ม รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ผ่านการสร้างคอนเทนต์ด้านการท่องเที่ยวสู่เวทีโลกและสายตาคนทั่วโลก 

 

หารือ Microsoft ดันไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค 

 

นายกรัฐมนตรียังได้หารือกับ แอนโทนี คุก รองประธานบริษัทและรองที่ปรึกษาฝ่ายทั่วไปและบริการลูกค้า บริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) พร้อมสานต่อจากการพบหารือระหว่าง เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี กับ สัตยา นาเดลลา ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) ที่ผ่านมา เพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค 

 

นายกรัฐมนตรีหวังว่าบริษัท Microsoft จะเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและความร่วมมือในด้านดิจิทัล ซึ่งไทยเดินหน้านโยบายอย่างครอบคลุม โดย ‘Go Cloud First’ ถือเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลภายใต้แพลตฟอร์มเดียว 

 

ขณะที่รองประธานบริษัทและรองที่ปรึกษาฝ่ายทั่วไปและบริการลูกค้าของบริษัท Microsoft กล่าวถึงวิสัยทัศน์และศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค โดยยืนยันว่าบริษัท Microsoft พร้อมที่จะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศไทย เพื่อฝึกอบรมทักษะดิจิทัลให้แรงงานไทย ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันจากประเทศไทยให้สูงขึ้น 

 

โดยนายกรัฐมนตรีสวมชุดผ้าไหมไทยจากศูนย์ศิลปาชีพของไทยชมเมืองลิมา และอุดหนุนสินค้าท้องถิ่นในเปรูอีกด้วย

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X