วันนี้ (18 กุมภาพันธ์) ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ครั้งที่ 1/2568 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในหัวข้อ ‘พลิกฟื้นอ่าวไทยสู่ความยั่งยืน’ (Resilience and Sustainable AO THAI)
ทันทีที่มาถึง นายกรัฐมนตรีได้เดินเยี่ยมชมบูธอาหารพื้นเมืองและสินค้าขึ้นชื่อ ก่อนจะถ่ายภาพร่วมกับคณะรัฐมนตรีและนำประชุม ครม.
จากนั้นนายกรัฐมนตรีเปิดการประชุม โดยรับรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ของปี 2567 ได้สั่งการภายหลังจากการลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลา การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุม ครม. นอกสถานที่ครั้งที่ 2 ของรัฐบาล และนับเป็นครั้งแรกของปีนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การรายงานตัวเลขเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปี 2567 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2568 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4 มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยขยายตัว 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงผลของมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ดำเนินการตลอดมา
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะตัวเลขการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น แต่การใช้กำลังการผลิตในประเทศ (Capital Utilization) กลับลดลง จึงขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันเร่งหามาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าวอย่างเร็วที่สุด
ทั้งนี้ จากการที่เมื่อวานนี้ลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดพัทลุงและสงขลาก่อนมาประชุม จึงได้รับฟังปัญหาจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงขอสั่งการดังนี้
- ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์เร่งหาแนวทางสนับสนุนการปลูกกล้วยสายพันธุ์ของพัทลุงและทุเรียนภูบรรทัด ทั้งในด้านส่งเสริมการเพาะปลูกให้แพร่หลาย รวมทั้งการหาตลาดรองรับผลผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าในชุมชนให้มากขึ้น
- พื้นที่ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง มีศักยภาพสูงทั้งด้านการท่องเที่ยวและการประมง ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชน โดยทางจังหวัดและภาคเอกชนมีข้อเสนอให้ขุดลอกทะเลน้อย กำจัดวัชพืชต่างๆ ฟื้นฟูนิเวศ คืนธรรมชาติ พร้อมฟื้นการประมงและส่งเสริมอาชีพให้กับท้องถิ่น โดยขอให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้
2.1 ขอให้กระทรวงทรัพยากรฯ ศึกษาและกำหนดแนวทาง พร้อมทั้งจัดเตรียมงบประมาณที่จำเป็นสำหรับดำเนินการ
2.2 ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หามาตรการในการสนับสนุนและให้ความรู้ทางวิชาการอย่างถูกต้องสำหรับการทำประมงในพื้นที่จังหวัดสงขลา อาทิ การเลี้ยงปลาดุกนา ทั้งในส่วนของระบบการหมุนเวียนน้ำและพันธุ์ปลา เพื่อยกระดับให้มีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น
2.3 ขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้มากขึ้นด้วย
2.4 ขอให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เร่งหามาตรการในการเพิ่มแสงสว่างให้กับสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางและไม่กระทบต่อระบบนิเวศ
- การเยี่ยมชมกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยนที่ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการส่งออกอาหารทะเลไปต่างประเทศ โดยมีข้อเสนอสำคัญที่จะขอให้กรมประมงส่งเสริมการวิจัยพัฒนาพันธุ์กุ้งอย่างจริงจัง ฟื้นฟูความเข้มแข็งด้านการเลี้ยงกุ้งเพื่อการส่งออกที่ไทยเคยเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกครั้ง
- ตัวเมืองจังหวัดสงขลามีศักยภาพสูงด้านการท่องเที่ยวเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ (Cruise) ขอให้กระทรวงคมนาคมเร่งศึกษาการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญ และขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับท้องถิ่นพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โดยมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นเจ้าภาพในการเป็นศูนย์กลางการประสานหน่วยงานต่างๆ ที่จะลงมาร่วมพัฒนาด้วย
สำหรับวาระการประชุม ครม. สงขลา จะมีการพิจารณาโครงการต่างๆ ที่จะช่วยเหลือพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยประกอบด้วย 5 จังหวัด คือ จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา เช่น การฟื้นฟูสาธารณูปโภคน้ำท่วม 3 จังหวัดชายแดนใต้ วงเงิน 304 ล้านบาท และแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา (พ.ศ. 2567-2571) วงเงิน 402 ล้านบาท
รวมทั้งการให้ทุนนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยวงเงิน 32 ล้านบาท การจัดเที่ยวบินขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจญ์ รวมถึงโครงการรถไฟทางคู่เชื่อมไทย-มาเลเซีย และรับรายการความคืบหน้าโครงการแลนด์บริดจ์
นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาโครงการที่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยเสนอมาทั้ง 12 โครงการ วงเงิน 300 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยเสนอเข้ามา 2 โครงการ วงเงิน 50 ล้านบาท
ส่วนที่เหลืออีก 10 โครงการ เป็นโครงการของ 5 จังหวัด คือ จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา ซึ่งเสนอขอโครงการจังหวัดละ 50 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 250 ล้านบาท เช่น โครงการพัฒนาระบบ Soft Power เพื่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โครงการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ตลาดท่องเที่ยว มหกรรมอาหาร และสตรีทฟู้ด โครงการพัฒนาศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารภาคใต้ ครัวใต้สู่ครัวโลก
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางจังหวัดสงขลายังได้จัดอาหารว่างต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เช่น ลูกพลับ เมลอน ขนุนตาล ลูกชุบ และสาคูเห็ดหอม ฯลฯ ขณะที่อาหารกลางวันเป็นอาหารขึ้นชื่อของจังหวัด เช่น แกงคั่วปูใบชะพลู ไข่พะโล้ และผัดผักรวมกุ้ง