วันนี้ (16 มกราคม) พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนกรณีที่นายกรัฐมนตรีถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาหลอกลวงว่า ขณะนี้กำลังประสานข้อมูลกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง แต่การหลอกลวงลักษณะนี้คือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้เสียหายหลายคน จึงฝากย้ำเตือนประชาชนว่าการหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่, อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ, หลอกว่าเป็นผู้ให้บริการต่างๆ รวมถึงใช้เสียงปลอมในรูปแบบ AI ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนระมัดระวัง ไม่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมพวกนี้
เมื่อถามว่ากรณีของนายกรัฐมนตรีแสดงให้เห็นว่ามีข้อมูลส่วนตัวหลุดออกไปใช่หรือไม่นั้น พล.ต.ท. ไตรรงค์ ระบุว่า การหลอกลักษณะนี้มิจฉาชีพได้ปลอมเป็นเสียงของบุคคลที่อ้างว่ารู้จักมาหลอกลวงเป้าหมาย ซึ่งแก๊งคอลเซ็นเตอร์พวกนี้มีฐานปฏิบัติการที่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะหว่านเป้าหมายไปหมด โดยข้อมูลของบุคคลเป้าหมายเป็นข้อมูลที่สามารถหาได้ในระบบออนไลน์ในปัจจุบัน เช่น กรณีที่มีอดีตผู้บังคับบัญชาท่านหนึ่งออกมายอมรับว่าพลาดท่าตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ใช้เสียง AI มาหลอก อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าหน่วยงานปราบปรามทั้งรัฐบาลและ บช.สอท. ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในทุกมิติ แต่อาจมีประชาชนอีกหลายคนที่รู้ไม่เท่าทัน
เมื่อถามว่ากรณีของนายกรัฐมนตรีนั้นจะต้องมีการเพิ่มการป้องกันด้านต่างๆ หรือไม่ พล.ต.ท. ไตรรงค์ ระบุว่า จะต้องมีการตรวจสอบ สอบสวน สืบสวนเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบถึงกลุ่มแก๊งที่ก่อเหตุ แต่ตำรวจมีข้อมูลอยู่แล้วส่วนหนึ่งว่าฐานปฏิบัติการอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน
ส่วนนายกรัฐมนตรีได้กำชับหรือขีดเส้นตายในเรื่องนี้หรือไม่ พล.ต.ท. ไตรรงค์ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เรื่องของการปราบปรามอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะอาชญากรรมออนไลน์ ตำรวจไซเบอร์มีการปฏิบัติการอย่างเข้มข้นมาตลอด ทั้งการปราบปรามอย่างจริงใจและจริงจัง รวมถึงการป้องกัน แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องดูหลายมิติ เพราะไม่ใช่ปัญหาประเทศไทยเพียงประเทศเดียว จะเห็นว่าการกระทำความผิดเป็นรูปแบบองค์กรอาชญากรรมที่มีผู้ร่วมกระทำความผิดหลายชาติ
ส่วนกรณี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาเสนอให้ดำเนินการตัดสัญญาณสื่อสารแก๊งคอลเซ็นเตอร์ของประเทศเพื่อนบ้าน พล.ต.ท. ไตรรงค์ ระบุว่า เรื่องนี้มีความคืบหน้า ทาง บช.สอท. ได้ดำเนินการทันที โดยร่วมกับหลายหน่วยงานเปิดปฏิบัติการได้ในระดับหนึ่ง แต่ยอมรับว่าจะต้องมีความยากลำบาก เพราะมิจฉาชีพมีช่องทางลักลอบกระทำความผิดอีกเรื่อยๆ อาศัยความทันสมัยของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน
ส่วนล่าสุดที่ทางเมียนมาได้พูดคุยกับผู้ประกอบการที่ลงทุนในเมียนมาในเรื่องนี้นั้นถือเป็นสัญญาณที่ดีหรือไม่ พล.ต.ท. ไตรรงค์ มองว่าเป็นสัญญาณที่ดี และการประชุมในวันนี้ (การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 5) จะพูดคุยยกระดับเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์
ส่วนการประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องนี้ พล.ต.ท. ไตรรงค์ ระบุว่า เป็นระดับรัฐบาลและรัฐมนตรีที่จะดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่ง ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว