×

พบฟอสซิลที่สมบูรณ์ที่สุดของไพลโอซอร์ อสูรยักษ์​แห่งทะเลจูราสสิก

โดย Mr.Vop
14.12.2023
  • LOADING...
ไพลโอซอร์

นักบรรพชีวินวิทยา ฟิลลิป​ จาค็อบส์ (Philip Jacobs)​ และ สตีฟ เอตเชส (Steve Etches)​ ขุดพบฟอสซิลส่วนกะโหลกศีรษะอายุ 150 ล้านปีของไดโนเสาร์​นักล่าจอมโหดแห่งท้องทะเล ‘ไพลโอซอร์’ (Pliosaur)​ บริเวณ​หน้าผาจูราสสิก ซึ่งเป็นหน้าผาโบราณ​ที่ทอดยาวจากอีสต์เดวอนไปถึงอ่าวสตัดแลนด์​ในมณฑลดอร์เซ็ต ทางตอนใต้ของเกาะอังกฤษ

 

ชิ้นส่วนฟอสซิล​ดังกล่าวมีขนาดใหญ่​โตมาก ความยาวโดยรวมถึง 2 เมตร และมีน้ำหนักถึงครึ่งตัน ประมาณ​การว่าขนาดร่างกายของสัตว์​โบราณ​ตัวนี้​อาจมีความยาวโดยรวมได้ถึง 15 เมตร

 

“การค้นพบครั้งนี้เต็มไปด้วยเรื่องน่าอัศจรรย์” ดร.สตีฟ เอตเชส นักบรรพชีวินวิทยา ผู้ซึ่งง่วนอยู่กับ​การขุดหาฟอสซิล​ต่างๆ ในคิมเมอริดจ์​มานานกว่า 40 ปี เปิดเผยถึงที่มาของการค้นพบ 

 

“ฟิลลิป​ จาค็อบส์ เพื่อนของผม เดินสะดุดกับส่วนปลายจมูกของเจ้าไพลโอซอร์​เข้าโดยบังเอิญ​ขณะเดินอยู่​บนพื้นหินเหนือหน้าผา เขาโทรหาผมทันที” สตีฟเล่าอย่างตื่นเต้น

 

เราพบว่าจากปลายจมูกลงไปคือส่วนปลายขากรรไกรบนล่างของมันนั้นปิดสนิท นั่นหมายถึงเรากำลังจะได้พบฟอสซิลที่สมบูรณ์อย่างยิ่ง​เข้าให้แล้ว

 

“การเตรียมงานขุดค้นเริ่มขึ้นทันที ผมและเพื่อนอีกคนคือ คริส มัวร์ (Chris Moore) พร้อมทีมงาน ใช้โดรนบินสำรวจเพื่อทําแผนผังหน้าผา จากนั้นก็วางแผนการขุดค้น ตำแหน่งของฟอสซิลหัวกะโหลกไพลโอซอร์ชิ้นนี้ถูกฝังลึกลงไปในหน้าผา ซึ่งอยู่เหนือพื้นดินด้านล่างขึ้นมาประมาณ 11 เมตร และต่ำลงไปจากพื้นผิวด้านบนหน้าผา 15 เมตร” ดร.เอตเชส อธิบาย 

 

“เราทำงานแข่งกับเวลา เราไม่อยากให้กระแสลมที่ค่อนข้างแรงช่วงนี้พัดเข้ามาทำฟอสซิลเสียหาย ถึงอย่างนั้นเราก็ยังต้องใช้เวลาไปทั้งสิ้น 3 สัปดาห์ และอย่างที่บอกว่าการค้นพบครั้งนี้เต็มไปด้วยเรื่องน่าอัศจรรย์” ดร.เอตเชส กล่าวต่อ “การที่ฟอสซิลนี้ยังคงอยู่ในสภาพที่ดีเช่นนี้ ก็เพราะไพลโอซอร์ตัวนี้บังเอิญตายในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มันตายบริเวณทะเลที่เต็มไปด้วยตะกอน และจังหวะที่มันตายร่างกายมันก็ได้จมลงไปในตะกอนและถูกฝังอย่างรวดเร็ว”

 

‘ไพลโอซอร์’ คือเครื่องจักรสังหารแห่งทะเลจูราสสิก ในปากของหัวกะโหลกฟอสซิลชิ้นนี้มีฟันรูปสามเหลี่ยมเรียงรายมากมายถึง 130 ซี่ ด้านหลังของฟันแต่ละซี่มีลักษณะที่คมกริบดุจดั่งใบมีด รูปทรงฟันแบบนี้ทำให้ไพลโอซอร์สามารถกัดเข้าไปที่ร่างกายของเหยื่อได้โดยง่าย จากนั้นก็จะอ้าปากถอนคมเขี้ยวออก แล้วงับซ้ำลงไปอีกครั้งได้อย่างรวดเร็ว

 

ศาสตราจารย์ด้านบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยบริสตอลแห่งสหราชอาณาจักร เอมิลี เรย์ฟิลด์ (Emily Rayfield) กล่าวถึงไพลโอซอร์ว่า มันมีพลังในการกัดรุนแรงมากหากเทียบกับจระเข้น้ำเค็ม ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีแรงงับของขากรรไกรที่ทรงพลังที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน (16,000 นิวตัน)​ ไพลโอซอร์นั้นจะสามารถงับได้แรงกว่าจระเข้น้ำเค็มถึงกว่า 2 เท่า (33,000 นิวตัน)​ เลยทีเดียว

 

“ขนาดร่างกายอันใหญ่โตของไพลโอซอร์ตัวนี้ผมคิดว่าจะทำให้มันสามารถล่าเหยื่อในทะเลได้แทบทุกชนิดที่หลงเข้ามาในอาณาเขตหากินของมัน” ดร.อันเดร โรว์ (Andre Rowe) จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน ให้ความเห็น 

 

อาหารมื้อใหญ่ของไพลโอซอร์ นอกจากสัตว์ทะเลทั่วไปในยุคนั้น ยังรวมถึงสัตว์เลื้อยคลานทะเลคอยาว ‘เพลซิโอซอร์’ (Plesiosaurs) ที่เป็นญาติของมันเอง รวมทั้ง ‘อิกทีโอซอร์’ (Ichthyosaur) สัตว์เลื้อยคลานทะเลที่คล้ายโลมาด้วย นอกจากนี้ยังเคยมีหลักฐานทางฟอสซิลที่ค้นพบก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่า ในบางครั้งสัตว์ร้ายนี้ก็กินพวกเดียวกันเป็นอาหาร

 

ทางด้าน ดร.จูดิธ แซสซูน (Judyth Sassoon) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากมหาวิทยาลัยบริสตอล ได้กล่าวถึงลักษณะของฟอสซิลที่ทีมงาน ดร.เอตเชส ค้นพบล่าสุดว่า มันมีลักษณะเฉพาะหลายอย่างที่ชี้นำว่าหัวกะโหลก​ที่พบอาจเป็นของไพรโอซอร์สปีชีส์ใหม่ที่เราไม่เคยเห็น​มาก่อน ยกตัวอย่าง​เช่น ​ลักษณะของสันกระดูกคล้ายหงอนด้านหลังหัวกะโหลก (Sagittal Crest) ที่มีขนาดใหญ่ 

 

“ความสูงของหงอนอาจเป็นข้อบ่งชี้ถึงความแตกต่างระหว่างเพศของไพลโอซอร์ที่ค้นพบใหม่นี้” 

 

และอีกเรื่องซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญกว่าก็คือ ฟอสซิลชุดนี้มีอายุน้อยกว่าอายุของไพลโอซอร์ที่พบที่แหล่งขุดค้นอื่นถึง 3 ล้านปี นั่นหมายถึงมันมีวิวัฒนาการ​มากกว่าไพรโอซอร์​รุ่นก่อนหน้า​นี้ จนทำให้มันเป็นหนึ่งในนักล่าแห่งผืนน้ำที่น่ากลัวที่สุดในยุคของมัน

 

ภาพ: Ben Stansall / AFP / BBC Studios

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X