×

Platform of the People: แพลตฟอร์มดิจิทัลของประชาชนเพื่อการให้บริการสาธารณะ

14.06.2021
  • LOADING...
digital platform

HIGHLIGHTS

  • เบลเยียมเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคโควิด-19 ซึ่งภาครัฐไม่สามารถจัดหาหน้ากากอนามัยได้เพียงพอ ภาคเอกชนจึงร่วมมือผลิตหน้ากากเอง กลายเป็นโครงการที่ชื่อ ‘Mask Coronavirus Brussels’
  • โครงการ Masks Coronavirus Brussels เป็นตัวอย่างที่ดีของ ‘บริการสาธารณะของประชาชน’ ซึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนรูปแบบเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปเปิดโอกาสให้เรา ‘คิดใหม่’ ว่าบทบาทของภาครัฐและภาคเอกชนในการให้บริการสาธารณะควรเป็นอย่างไร
  • กุญแจสำคัญที่เปลี่ยนรูปแบบการจัดสรรบริการสาธารณะอย่างสิ้นเชิงคือ เทคโนโลยีแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็น ‘พื้นที่เปิด’ ที่สามารถรองรับการสร้างและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความต้องการรับและให้บริการสาธารณะ
  • ในอนาคตแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการให้บริการสาธารณะจะไม่จำกัดอยู่แค่ตัวกลางในการระดมทุนเท่านั้น แต่จะมีฟังก์ชันที่หลากหลายขึ้น เช่น แพลตฟอร์มที่จับคู่โครงการสาธารณะกับผู้ผลิตสินค้าขั้นกลาง 
  • คำถามสำคัญคือ ไทยจะสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการให้บริการสาธารณะขึ้นมาได้อย่างไร และต้องอาศัยปัจจัยใดบ้างที่จะเอื้อให้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการให้บริการสาธารณะเกิดขึ้นได้จริง

Because primarily of the power of the Internet, people of modest means can band together and amass vast sums of money that can change the world for some public good if they all agree.

– วิลเลียม เจ. คลินตัน

 

เบลเยียมเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยเฉพาะในเดือนตุลาคม 2020 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่สูงถึงเกือบ 25,000 คนต่อวัน การแพร่ระบาดเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและรวดเร็วจนรัฐไม่สามารถจัดหาหน้ากากอนามัยได้เพียงพอกับความต้องการของโรงพยาบาลและประชาชนทั่วไป เมื่อหน้ากากอนามัยขาดแคลนเข้าขั้นวิกฤต ภาคเอกชนในกรุงบรัสเซลส์จึงหันมาร่วมมือกันเพื่อผลิตหน้ากากอนามัยด้วยตัวเอง จนกลายมาเป็นโครงการที่มีชื่อ ‘Mask Coronavirus Brussels’

 

Mask Coronavirus Brussels เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตและจัดส่งหน้ากากอนามัยไปยังโรงพยาบาลและบ้านเรือนที่ขาดแคลน โดยเชื่อมต่อเข้ากับหน่วยงานเอกชนและแพลตฟอร์มดิจิทัลหลากหลายฝ่าย เช่น เชื่อมต่อเข้ากับแพลตฟอร์มจับคู่แรงงานกับธุรกิจเพื่อสังคมที่มีชื่อว่า Travie เพื่อรับอาสาสมัครเข้ามาผลิตหน้ากาก เชื่อมต่อกับสถานศึกษาเพื่อประสานขอให้นักศึกษาด้านการออกแบบเข้ามาช่วยออกแบบหน้ากากอนามัยและฝึกสอนการตัดเย็บหน้ากากให้กับอาสาสมัคร ตลอดจนเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มผู้ให้บริการขนส่งที่มีชื่อว่า Urbike ให้เข้ามาดูแลการส่งชุดเครื่องมือให้อาสาสมัครและส่งหน้ากากที่ผลิตเสร็จแล้วไปยังโรงพยาบาลและประชาชน โดย Mask Coronavirus Brussels สามารถผลิตและส่งหน้ากากอนามัยได้มากกว่า 240,000 แผ่นภายในเวลา 1 เดือนครึ่ง (รูปที่ 1)

 

การผลิตและขนส่งหน้ากากอนามัยบนแพลตฟอร์ม Mask Coronavirus Brussels

 

Masks Coronavirus Brussels เป็นตัวอย่างที่ดีของ ‘บริการสาธารณะของประชาชน’ แนวคิดที่ว่าภาคเอกชนสามารถเป็นผู้ให้บริการสาธารณะได้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนรูปแบบเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปเปิดโอกาสให้เรา ‘คิดใหม่’ ว่าบทบาทของภาครัฐและภาคเอกชนในการให้บริการสาธารณะควรเป็นอย่างไร และจะ ‘ปฏิรูป’ รูปแบบและวิธีการให้บริการสาธารณะอย่างไรให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนมากขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น และมีประสิทธิภาพขึ้น เราจะมามองหาความเป็นไปได้ร่วมกันในบทความฉบับนี้ครับ

 

บริบททางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีในอดีตมอบบทบาทในการจัดสรรบริการสาธารณะให้กับรัฐ

ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์ บริการสาธารณะมีลักษณะพิเศษ 3 ประการ ประการแรก ผู้ที่จ่ายซื้อบริการสาธารณะไม่สามารถกันไม่ให้ผู้อื่นเข้ามารับบริการด้วยได้ (Non-Excludable) ประการที่สอง เมื่อเรารับบริการสาธารณะแล้ว บริการไม่ได้มีปริมาณหรือคุณภาพลดลง จึงไม่ได้เบียดเบียนบริการที่ผู้อื่นได้รับ (Non-Rivalrous) ลักษณะพิเศษ 2 ประการแรกทำให้ความต้องการรับบริการสาธารณะมีลักษณะที่ต้อง ‘จ่ายด้วยกัน’ และ ‘ใช้ด้วยกัน’ ประการที่สาม การให้บริการสาธารณะมีต้นทุนสูง เช่น การสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างเมืองต้องใช้เงินทุนสูงในการวางโครงสร้าง เป็นต้น

 

ลักษณะพิเศษทั้ง 3 ประการทำให้กลไกตลาดไม่สามารถทำงานเพื่อจัดสรรบริการสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ธรรมชาติของบริการสาธารณะที่ต้องจ่ายด้วยกันและใช้ด้วยกัน ทำให้ปัจเจกบุคคลแต่ละคนสื่อสารแลกเปลี่ยนความต้องการรับและให้บริการสาธารณะระหว่างกันได้ยาก จนกลายเป็น ‘ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยก่อนที่ตลาดยังไม่มีเทคโนโลยีสารสนเทศที่สมบูรณ์ นอกจากนี้เนื่องจากแต่ละคนสามารถไปรับบริการสาธารณะที่คนอื่นจ่ายซื้อมาได้ (Free-Ride) จึงไม่มีแรงจูงใจที่จะซื้อบริการสาธารณะด้วยตนเอง

 

เมื่อระบบตลาดไม่สามารถจัดสรรบริการสาธารณะได้ สังคมมนุษย์ในสมัยก่อนจึงตั้ง ‘ตัวแทน’ ขึ้นมาทำหน้าที่จัดสรรบริการสาธารณะ ในอารยธรรมเมโสโปเตเมียหรืออียิปต์โบราณ คนในหมู่บ้านจะเลือกผู้นำขึ้นมาดูแลการขุดลอกคูคลองเพื่อวางระบบชลประทาน เมื่อหมู่บ้านเติบโตขึ้นเป็นชุมชน เป็นเมือง และเป็นรัฐ บริการสาธารณะจึงเปลี่ยนรูปแบบไปเป็น ‘ความมั่นคงของรัฐ’ เช่น การป้องกันประเทศหรือการทำสงครามเพื่อขยายดินแดน เป็นต้น ขณะเดียวกันตัวแทนก็เปลี่ยนรูปแบบไปเป็น ‘รัฐ’ ผู้ทำหน้าที่รวบรวมและบริหารกำลังพลเพื่อปกป้องรัฐ ในที่สุดก็วิวัฒน์มาเป็นรัฐที่เราพบเห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยรูปที่ 2 แสดงกระบวนการจัดสรรบริการสาธารณะผ่านรัฐ

 

กระบวนการจัดสรรบริการสาธารณะผ่านรัฐ

 

ในอดีต การมอบหมายให้รัฐเป็นผู้จัดสรรบริการสาธารณะเป็นเรื่องสมเหตุสมผล นอกจากจะทดแทนระบบตลาดที่ไม่สามารถทำงานได้แล้ว รัฐยังมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ในการให้บริการสาธารณะสองประการ ประการแรก สังคมและเทคโนโลยีในสมัยก่อนไม่ได้เอื้อให้เกิดการเผยแพร่องค์ความรู้ในการบริการสาธารณะ รัฐซึ่งสะสมและส่งต่อองค์ความรู้ในการให้บริการสาธารณะมาเป็นเวลานานจึงมีความชำนาญ ประการที่สอง รัฐมีความประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนในจัดสรรบริการสาธารณะ เช่น รัฐอาจบริหารการก่อสร้างสวนสาธารณะหลายแห่งพร้อมกัน จึงสามารถซื้อวัสดุอุปกรณ์จำนวนมากในราคาที่ถูกลง และมีอำนาจต่อรองกับผู้รับเหมา เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี การมอบหมายให้รัฐจัดสรรบริการสาธารณะมีเงื่อนไขที่ว่า ประชาชนต้องสามารถ ‘สื่อสาร’ ถึงความต้องการรับและให้บริการสาธารณะผ่านตัวแทนได้ ขณะที่รัฐจะต้องจัดสรรบริการสาธารณะตามต้องการของประชาชน แต่ในความเป็นจริงประชาชนอาจไม่สามารถติดตามและตรวจสอบคำขอของตนได้อย่างสมบูรณ์ คำขอจึงอาจตกหล่นระหว่างทางหรืออาจถูกบิดเบือน นักเศรษฐศาสตร์เรียกปัญหานี้ว่า ‘Moral Hazard’ ซึ่งเป็นปัญหาจากความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารอีกประเภทหนึ่งที่ทำให้การจัดสรรบริการสาธารณะผ่านรัฐด้อยประสิทธิภาพลง

 

แพลตฟอร์มดิจิทัลและบริบทใหม่จะเอื้อให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการให้บริการสาธารณะมากขึ้น

เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความต้องการรับและให้บริการสาธารณะเปลี่ยนตาม โดยในปัจจุบันความต้องการรับบริการสาธารณะเปลี่ยนจากความมั่นคงของรัฐไปเป็นระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็มี Comparative Advantage ในการให้บริการสาธารณะมากขึ้น โดยเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่เอื้อให้เอกชนสามารถสร้าง สะสม และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการให้บริการสาธารณะได้เอง วิจัย ขณะเดียวกันเอกชนก็เป็นผู้รับบริการสาธารณะเอง จึงเข้าใจถึงความต้องการของผู้รับบริการสาธารณะเป็นอย่างดี

 

แต่กุญแจสำคัญที่เปลี่ยนรูปแบบการจัดสรรบริการสาธารณะไปอย่างสิ้นเชิงคือ เทคโนโลยีแพลตฟอร์ม โดยแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็น ‘พื้นที่เปิด’ ที่สามารถรองรับการสร้างและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความต้องการรับและให้บริการสาธารณะ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลไกตลาดสามารถทำงานเพื่อจัดสรรบริการสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ปัจจุบันเราเริ่มพบเห็นการจัดสรรบริการสาธารณะผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลเกิดขึ้นในประเทศรายได้สูงเป็นจำนวนมาก ผมขอยกตัวอย่างการจัดสรรที่แพร่หลายที่สุด คือ Civic-Crowdfunding Platform (CCP) หรือแพลตฟอร์มระดมทุนเพื่อผลิตและส่งมอบสินค้าสาธารณะ

 

CCP ทำงานในลักษณะของ ‘พื้นที่กลาง’ ที่ประชาชนสามารถเข้ามาลงประกาศถึงความต้องการรับบริการสาธารณะหรือริเริ่มโครงการสาธารณะ และเป็นช่องทางในการระดมทุน (รูปที่ 3) ปัจจุบัน มี CCP เกิดขึ้นมากในประเทศรายได้สูง เช่น Ioby ของสหรัฐอเมริกา และ Spacehive ของสหราชอาณาจักร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์ม Crowdfunding ทั่วไปซึ่งเปิดให้มีการระดมทุนเพื่อให้บริการสาธารณะ อาทิ Goteo ของสเปน ปัจจุบันมี CCP ที่รองรับโครงการสาธารณะหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างเสาไฟฟ้า สวนสาธารณะ ไปจนถึงบริการสุขภาพและการศึกษาทางเลือก นอกจากนี้ CCP มีอัตราการระดมทุนสำเร็จสูง โดยงานวิจัยของ Hudik and Chovanculiak (2019) พบว่า ในช่วงปี 2009-2016 แพลตฟอร์ม Ioby สามารถระดมทุนสำเร็จ 1,060 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านยูโร และคิดเป็นอัตราการลงทุนสำเร็จ 87%

 

กระบวนการจัดสรรบริการสาธารณะบนแพลตฟอร์มดิจิทัล

 

ปัจจัยที่ทำให้ CCP ประสบความสำเร็จคืออะไร? CCP ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เอื้อให้ผู้ใช้แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความต้องการรับและให้บริการสาธารณะระหว่างกัน ผู้ระดมทุนสามารถสื่อสารกับผู้ลงทุนได้อย่างสะดวก โดยสามารถชี้แจงรายละเอียดโครงการ แสดงรูปภาพ และอัปเดตระยะเวลาคงเหลือในการระดมทุนให้เป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ CCP ยังเป็น ‘โครงสร้างเชิงสถาบัน’ ที่เอื้อให้ผู้ใช้สามารถรวมกลุ่มและตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการสาธารณะร่วมกัน คล้ายกับการรวมกลุ่มภายในชุมชน ต่างกันตรงที่ว่าประชาชนสามารถรวมกลุ่มกันที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้

 

การจัดสรรบริการสาธารณะผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลยังมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพตามหลักเศรษฐศาสตร์ ในแง่ของประสิทธิผล CCP มีเทคโนโลยีที่เอื้อให้ผู้ริเริ่มโครงการสามารถออกแบบโครงการสาธารณะเพื่อรองรับลักษณะเฉพาะของบริการสาธารณะที่ Non-Excludable และ Non-Rivalrous ยกตัวอย่างในกรณีของแพลตฟอร์ม CrowdTilt โดยผู้ริเริ่มโครงการสาธารณะสามารถตั้งเป้าหมายการระดมทุนไว้ 2 ระดับ โดยตั้งระดับแรกให้ต่ำเพื่อการันตีว่าจะสามารถระดมทุนได้ครบ เงินทุนก้อนแรกจะสร้างความมั่นใจให้ผู้ลงทุนรายอื่นและลดความกังวลว่าจะถูก Free-Rider เอาเปรียบ นอกจากนี้ CCP ยังเอื้อให้ผู้ริเริ่มโครงการสาธารณะสามารถปรับรูปแบบของบริการและตั้งราคาเสมือนกับว่าบริการสาธารณะเป็นสินค้าทั่วไปที่ Excludable และ Rivalrous ดังเช่นตัวอย่างของบริการตำรวจเอกชนในย่าน Rockridge California ซึ่งผู้ริเริ่มโครงการเสนอ Add-ons ให้นักลงทุนสามารถซื้อรายงานผลการปฏิบัติงาน การแจ้งเตือนฉุกเฉินและบริการเฝ้าบ้าน เป็นต้น

 

ในแง่ของประสิทธิภาพ โครงการสาธารณะสามารถเข้าถึงผู้ลงทุนจำนวนมากบนแพลตฟอร์ม จึงเพิ่มโอกาสในการระดมทุนสำเร็จ นอกจากนี้แพลตฟอร์มระดมทุนยังสามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการเจรจาเพื่อซื้อขายปัจจัยการผลิตบริการสาธารณะ จึงทำให้โครงการสาธารณะได้รับประโยชน์จากความประหยัดต่อขนาดเช่นเดียวกับรัฐ 

 

CCP ยังมีจุดเด่นที่เอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดสรรบริการสาธารณะอย่างทั่วถึง คนทั่วไปสามารถเข้าสู่แพลตฟอร์มได้ง่าย ณ ต้นทุนต่ำ ขณะเดียวกันข้อมูลข่าวสารบนแพลตฟอร์มดิจิทัลก็มีความโปร่งใส นั่นแปลว่า ‘คำขอ’ ของผู้ใช้แพลตฟอร์มทุกคนจะดังเท่ากัน และผู้ใช้ทุกคนจะมีส่วนร่วมในการจัดสรรบริการสาธารณะอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถติดตามและตรวจสอบการจัดสรรบริการสาธารณะได้ จึงเชื่อมั่นได้ระดับหนึ่งว่าคำขอจะไม่ตกหล่นหรือถูกบิดเบือนระหว่างทาง ดังนั้น CCP ที่ออกแบบอย่างเหมาะสมจะสามารถแก้ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร รวมไปถึงปัญหา Moral Hazard ได้ดี

 

อนาคต: ระบบนิเวศของการให้บริการสาธารณะ

ในอนาคต แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการให้บริการสาธารณะจะไม่จำกัดอยู่แค่ตัวกลางในการระดมทุนเท่านั้น แต่จะมีฟังก์ชันที่หลากหลายขึ้น เช่น แพลตฟอร์มที่จับคู่โครงการสาธารณะกับผู้ผลิตสินค้าขั้นกลางหรือผู้รับเหมา เป็นต้น นอกจากนี้ ผมเชื่อว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการให้บริการสาธารณะจะลึกขึ้นและขยายขอบเขตครอบคลุมบริการสาธารณะหลากหลายประเภท จนในที่สุดแพลตฟอร์มจะพัฒนาไปเป็นระบบนิเวศของการให้บริการสาธารณะ ซึ่งมีผู้ซื้อและผู้ขายที่เชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายของการให้บริการสาธารณะที่สมบูรณ์ ระบบนิเวศของการให้บริการสาธารณะจะปฏิรูปรูปแบบและวิธีการให้บริการสาธารณะอย่างสิ้นเชิง ดังที่เราเริ่มเห็นแล้วจากตัวอย่างของ Mask Coronavirus Brussels

 

ผมหวังว่าจะได้เห็นระบบนิเวศของการให้บริการสาธารณะเกิดขึ้นและวิวัฒน์ในประเทศไทย ระบบนิเวศดังกล่าวมีคุณลักษณะในการตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน มีประสิทธิภาพ และประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำได้จริง

 

คำถามสำคัญที่ตามมาคือ ไทยจะสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการให้บริการสาธารณะขึ้นมาได้อย่างไร แพลตฟอร์มจะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง แต่ละองค์ประกอบจะเชื่อมต่อกันอย่างไร และจะต้องอาศัยปัจจัยใดบ้างที่จะเอื้อให้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการให้บริการสาธารณะเกิดขึ้นได้จริง เรามาหาคำตอบร่วมกันในบทความฉบับต่อไปครับ

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X