เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศกำหนดให้เศษพลาสติกภายใต้พิกัดศุลกากรประเภท 39.15 เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
องค์กรภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำงานเพื่อยุติมลพิษพลาสติกในประเทศไทยขอชื่นชมมาตรการดังกล่าว และมีความเห็นว่า การห้ามนำเข้าขยะพลาสติกเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งรองรับขยะพลาสติกจากต่างชาติ และป้องกันผลกระทบจากมลพิษพลาสติกภายในประเทศไม่ให้รุนแรงยิ่งขึ้น โดยจะช่วยตัดวงจรอุปทานของโรงงานจัดการขยะและรีไซเคิลพลาสติกนำเข้าอันตราย นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวยังเป็นการปกป้องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศ รวมไปถึงรายได้และวิถีชีวิตของกลุ่มซาเล้งและคนเก็บขยะ
ปัญหาการนำเข้าขยะพลาสติกกลายเป็นวาระระดับชาติเมื่อปี 2561 หลังประเทศจีนประกาศห้ามนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอีกหลายชนิดเข้าประเทศตั้งแต่สิ้นปี 2560 เป็นต้นไป ส่งผลให้ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศในสหภาพยุโรป ที่เคยส่งออกขยะไปประเทศจีน ส่งออกขยะมาที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจำนวนมาก รวมถึงประเทศไทยด้วย
ขยะพลาสติกที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยส่งผลให้เกิดการขยายตัวของโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลพลาสติกขึ้นมาก โรงงานจำนวนไม่น้อยเป็นการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากทุนจีน ทั้งยังพบว่าโรงงานเหล่านี้มักประกอบกิจการโดยผิดกฎหมาย และไม่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน การที่รัฐบาลไทยประกาศห้ามนำเข้าเศษพลาสติกหรือขยะพลาสติกดังกล่าว ภาคประชาสังคมเห็นว่าเป็นมาตรการที่จะป้องกัน ‘การส่งออกมลพิษจากประเทศพัฒนาแล้วมายังประเทศไทย’ ซึ่งพฤติการณ์ส่งออกขยะข้ามแดนจากกลุ่มประเทศเหล่านี้เสมือนเป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้าง ‘อาณานิคมขยะ’ เพื่อรองรับของเสียที่ประเทศของตนไม่ต้องการ
กฎหมายห้ามนำเข้าขยะพลาสติกมีผลในปี 2568
ตั้งแต่ปี 2561 ภาคประชาสังคมหลายองค์กรได้ร่วมกันเคลื่อนไหวคัดค้านการส่งออกขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์มายังประเทศไทย รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลไทยได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2561 เพื่อกำหนดมาตรการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ และแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงยังมีการจับกุมผู้นำเข้าขยะพลาสติกและโรงงานรีไซเคิลพลาสติกที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนมากในระหว่างปี 2561-2562
อย่างไรก็ตาม การประกาศห้ามนำเข้าขยะพลาสติกประสบปัญหาและเสียงคัดค้านจากผู้นำเข้าและผู้ประกอบการรีไซเคิลพลาสติก ทำให้การดำเนินมาตรการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกล่าช้าออกไป จนกระทั่งในปี 2564 องค์กรภาคประชาสังคม 72 องค์กร ร่วมกันออกแถลงการณ์กระตุ้นให้รัฐบาลไทยเร่งออกกฎหมายห้ามนำเข้าขยะพลาสติกโดยเด็ดขาด
ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติห้ามนำเข้าขยะพลาสติก โดยจะมีผลหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป ปัจจุบันมติ ครม. ดังกล่าวกลายเป็นกฎหมายโดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2567 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568
ย้ำ ต่อไปนี้ต้องบังคับใช้อย่างจริงจัง
ภาคประชาสังคมเห็นว่า หลังจากที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในปีหน้าแล้ว รัฐบาลไทยจะต้องดำเนินการให้มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัดและจริงจัง
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กล่าวว่า การห้ามนำเข้าขยะพลาสติกของประเทศควรเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2564 แต่คณะอนุกรรมการผ่อนผันให้กับบริษัทผู้นำเข้าและผู้ประกอบการรีไซเคิลได้มีเวลาปรับตัวเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งก็ครบกำหนดแล้ว แม้การออกกฎหมายจะล่าช้าไปบ้าง แต่การประกาศใช้กฎหมายนี้ถือเป็นสิ่งที่ดีมาก และประเทศไทยถือเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนที่มีกฎหมายห้ามนำเข้าขยะพลาสติก
“ดังนั้นภาคประชาสังคมจะต้องติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องต่อไปว่าผลการบังคับใช้กฎหมายนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป และจะยังมีการลักลอบนำเข้าเหมือนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กฎหมายห้ามนำเข้าแล้ว แต่ก็ยังมีการลักลอบนำเข้าอีกจำนวนมากหรือไม่” เพ็ญโฉมระบุ
ปุณญธร จึงสมาน นักวิจัยโครงการพลาสติก มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) ระบุว่า เมื่อมีกฎหมายแล้ว หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมควบคุมมลพิษ ที่เป็นหน่วยงานหลัก จะต้องร่วมมือกันในการป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าขยะพลาสติกภายใต้พิกัดศุลกากรประเภท 39.15 จะต้องพัฒนาระบบและแนวทางการทำงาน เพื่อการติดตามและตรวจจับการนำเข้าขยะผิดกฎหมาย รวมไปถึงการส่งคืนแก่ประเทศต้นทาง
“นอกจากนี้ กฎหมายปัจจุบันไม่ได้มีการควบคุมการส่งผ่าน นั่นหมายความว่าประเทศไทยอาจยังถูกใช้เป็นทางผ่านในการส่งขยะพลาสติกไปประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องป้องกันไม่ให้เกิด”
ขณะที่ พิชามญช์ุ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า กฎหมายฉบับปัจจุบันเป็นการห้ามนำเข้าสินค้าภายใต้พิกัดศุลกากรประเภท 39.15 เพียงพิกัดเดียว แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีการนำเข้าขยะพลาสติกโดยสำแดงภายใต้พิกัดศุลกากรอื่น เช่น สำแดงว่าเป็นกระดาษ รัฐบาลไทยควรประเมินและตรวจหาพิกัดศุลกากรที่มีความเสี่ยงในประเด็นนี้ เพื่อพิจารณาขยายขอบเขตของการห้ามนำเข้าหากเหมาะสม ในการทำงานเหล่านี้ภาครัฐควรเปิดให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมและมีการสื่อสารการดำเนินงานต่อสาธารณชนอย่างโปร่งใส
ภาคประชาสังคมเห็นว่าการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกในปี 2568 ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำของภูมิภาคอาเซียนในการแก้ไขปัญหาอาณานิคมขยะ ประเทศไทยควรใช้โอกาสและบทบาทนี้ในการผลักดันการควบคุมและยับยั้งปัญหาการค้าขายขยะข้ามพรมแดนในระดับภูมิภาคและในระดับโลก โดยสามารถส่งมอบประสบการณ์และองค์ความรู้ให้กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รวมไปถึงพัฒนาแนวทางในการควบคุมการนำเข้าขยะมาในภูมิภาคอาเซียน และการควบคุมการค้าขายและเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนภายในภูมิภาคเองด้วย นอกจากนั้น ประเทศไทยควรมีบทบาทในการผลักดันการควบคุมการส่งออกขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดภาระของประเทศผู้นำเข้าและประเทศที่ขยะถูกส่งผ่านในการติดตามตรวจสอบ แล้วไปควบคุมประเทศผู้ส่งออกให้มากขึ้น โดยมาตรการดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาแล้วในการเจรจาเพื่อจัดตั้งมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยมลพิษพลาสติก หรือ ‘สนธิสัญญาพลาสติกโลก’